โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

แนวโน้มคำวินิจฉัย อนาคตใหม่ 'ยุบ-ไม่ยุบ'

กรุงเทพธุรกิจ

เผยแพร่ 20 ม.ค. 2563 เวลา 23.30 น.

วันนี้ ถือเป็นวันชี้ชะตาพรรคอนาคตใหม่ในคดียุบพรรคสำนวนแรก คือคดีล้มล้างการปกครอง ที่เรียกกันว่า"คดีอิลลูมินาติ"

คดีนี้ยิ่งใกล้วันพิพากษา กระแสยิ่งแรงว่า "ยุบแน่" แม้แต่แกนนำพรรคอนาคตใหม่เองก็ยังออกอาการ

ความจริงแล้ว คดีนี้มีโอกาสออกได้ 3 หน้า 3 แนวทางเหมือนคดีอื่นๆ ที่ขึ้นศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ

แนวทางที่ 1 ยกคำร้องแนวทางที่ 2 วินิจฉัยว่าพรรคอนาคตใหม่กระทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 49 สั่งให้หยุดการกระทำ(ที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง)แนวทางที่ 3 วินิจฉัยแบบแนวทางที่ 2 แต่มองว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง หรือ พ.ร.ป.พรรคการเมืองด้วย มีโทษถึงยุบพรรค ตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด 10 ปี หรือตลอดชีวิต

หากบีบ 3 แนวทางนี้เหลือแค่ 2 แนวทาง จะเข้าใจง่ายขึ้น คือ แนวทางแรก ยกคำร้อง อนาคตใหม่ไม่ผิด กับแนวทางที่ 2 อนาคตใหม่ผิด แต่จะมีโทษถึงระดับไหน ศาลรัฐธรรมนูญแค่สั่งหยุดการกระทำ หรือจะลามไปถึงยุบพรรคด้วย

ต้นทางของคดีนี้มาจากณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ไปยื่นเรื่องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า แกนนำพรรคอนาคตใหม่ และกรรมการบริหารพรรคมีพฤติการณ์เข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยอาศัยช่องทางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49

เนื้อหามาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าเปิดช่องให้ "ใครก็ได้" ไปยื่นคำร้องต่อศาล จริงๆ คือให้ยื่นต่ออัยการสูงสุดก่อน ถ้าอัยการสูงสุดไม่รับดำเนินการ ก็ยื่นตรงต่อศาลได้ ซึ่งกรณีของณฐพรก็เป็นแบบนี้ คือยื่นอัยการสูงสุดก่อน เมื่ออัยการสูงสุดไม่ดำเนินการภายใน 15 วัน ก็ยื่นตรงต่อศาล

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของณฐพร เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ปีที่แล้ว จากนั้นวันที่ 22 ธ.ค.ศาลก็มีมติ "ไม่เปิดไต่สวนพยาน"เพราะมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้แล้ว จากนั้นวันที่ 25 ธ.ค. ก็นัดวันอ่านคำวินิจฉัย ซึ่งก็คือวันนี้ 21 ม.ค.2563

คำถามคือ แล้วโทษยุบพรรคมาจากไหน

คำตอบก็คือโทษยุบพรรคมาจากรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 68

ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว เนื้อหาเขียนไว้ชัดว่า

ถ้าการกระทำล้มล้างการปกครองเป็นการกระทำของพรรคการเมือง

ศาลรัฐธรรมนูญ "อาจสั่งยุบพรรค" ก็ได้

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ สมมติว่าศาลเห็นว่าแกนนำพรรคอนาคตใหม่มีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองจริงตามที่ถูกกล่าวหา โทษตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ คือ "สั่งการให้เลิกการกระทำ" ที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองนั้น

จะเห็นได้ว่าเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ไม่ได้ระบุโทษ "ยุบพรรค"เอาไว้หากการกระทำล้มล้างการปกครองนั้นเป็นการกระทำของพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมือง

คำถามคือ แล้วโทษยุบพรรคมาจากไหน คำตอบก็คือโทษยุบพรรคมาจากรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 68 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว เนื้อหาเขียนไว้ชัดว่า ถ้าการกระทำล้มล้างการปกครองเป็นการกระทำของพรรคการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญ "อาจสั่งยุบพรรค" ก็ได้ นอกเหนือจากการสั่งให้หยุดการกระทำแล้ว ฉะนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญปี 60 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มาตรา 49 ไม่ได้เขียนเหมือนมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญปี 50 ก็แปลว่าความผิดนี้ไม่มีโทษยุบพรรค

คำถามต่อมาก็คือ แล้วทำไมหลายฝ่ายจึงเชื่อว่าพรรคอนาคตใหม่จะถูกยุบจากคดีนี้ คำตอบก็คือ เพราะ พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 ระบุโทษยุบพรรคเอาไว้ สำหรับพรรคการเมืองที่มีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครอง หรือกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

แต่พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 ก็เขียนไว้ชัดว่า ผู้ที่จะยื่นยุบพรรคในความผิดนี้ได้ ต้องเป็น กกต.เท่านั้น(คำว่าคณะกรรมการ หมายถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง)และเมื่อย้อนไปดูคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่รับวินิจฉัยคดีนี้ จะพบว่าเป็นการรับคำร้องของณฐพร โตประยูร เท่านั้นไม่มีคำร้องที่ กกต.ยื่นเข้าไปให้ศาลพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่

ฉะนั้นเมื่อไม่มีการร้องเข้าไป ศาลจะสั่งยุบพรรค ซึ่งเป็นการสั่ง "เกินคำร้อง" ได้อย่างไร

สรุปง่ายๆ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตั้งคำถามแบบที่เราไล่เรียงมานี้ ผลที่ออกมาก็น่าจะ "ยกคำร้อง" พรรคอนาคตใหม่รอด ไม่โดนโทษอะไรเลย แต่ก็ไม่ใช่ว่าโอกาสโดนยุบจะกลายเป็นศูนย์ เพราะทั้ง กกต.และนักกฎหมายหลายคนก็เชื่อว่า มีช่องให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ได้เหมือนกัน

โดยมีเหตุผลสนับสนุนก็คือการกล่าวหาว่าพรรคการเมืองใดใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง และศาลต้องสั่งยุบพรรคนั้น ประชาชนทั่วไปสามารถยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ โดยไม่ต้องผ่าน กกต. เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานเอาไว้เมื่อปี 2556 เมื่อครั้ง ส.ส.และ ส.ว.จับมือกันยื่นยุบพรรคเพื่อไทย กรณีเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมิชอบ (ครั้งนั้นพรรคเพื่อไทยไม่โดนยุบ แต่ศาลวางบรรทัดฐานว่า สามารถยื่นคำร้องตรงต่อศาลได้เลย)

แม้รัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่บรรทัดฐานเดิมยังคงอยู่

คำร้องของนายณฐพร อ้างถึงกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 ด้วย ไม่ได้อ้างถึงเฉพาะรัฐธรรมนูญมาตรา 49 เท่านั้น

สรุปก็คือ ถ้างานนี้ศาลยังยืนยันบรรทัดฐานเดิมและวินิจฉัยควบทั้งรัฐธรรมนูญมาตรา 49 และ พ.ร.ป.พรรคการเมืองมาตรา 92 เรียกว่า "ม้วนเดียวจบ"พรรคอนาคตใหม่ก็ถูกยุบทั้งหมดนี้ได้รู้กัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0