โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

แถลงการณ์ ยืนยัน ประธานศาลฎีกา มิได้นิ่งเฉย ปมแต่งตั้ง กรรมการ กสม.

ไทยรัฐออนไลน์ - Politics

อัพเดต 10 ต.ค. 2562 เวลา 12.46 น. • เผยแพร่ 10 ต.ค. 2562 เวลา 12.45 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

“สำนักประธานศาลฎีกา” แจงยิบ ขั้นตอน-อำนาจประธานศาลฎีกา แต่งตั้ง กสม.เป็นการชั่วคราว ยัน ประธานศาลฎีกา มิได้นิ่งเฉย หลัง “วัส ติงสมิตร” ร้อง ป.ป.ช.เอาผิด ปธ.ศาลฎีกา

วันที่ 10 ต.ค. เมื่อเวลา 18.00 น. สำนักประธานศาลฎีกา ได้ออกเอกสารแถลงการณ์ กรณีที่ปรากฏข่าวตามสื่อมวลชนว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย.62 “นายวัส ติงสมิตร” ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ยื่นคำกล่าวหา ขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาดำเนินการไต่สวนและดำเนินการอื่นๆ ต่อประธานศาลฎีกา (ขณะนั้น นายชีพ จุลมนต์) กรณีเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และยังปรากฏว่า ประธาน กสม.ให้ข่าวแก่สื่อมวลชนอีกหลายครั้ง ในทำนองว่า ประธานศาลฎีกาไม่ดำเนินการแต่งตั้ง บุคคลให้ทำหน้าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นการชั่วคราว เป็นเหตุให้ กสม.ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ทำให้ประเทศชาติ ประชาชน และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้รับความเสียหายนั้น

โดย “เลขาธิการประธานศาลฎีกา” และ “เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง” ขอชี้แจง สรุปขั้นตอนการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ กสม. ของประธานศาลฎีกา ดังนี้

ประธาน กสม. มีหนังสือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด่วนที่สุด ลงวันที่ 31 ก.ค.62 เรื่องขอให้แต่งตั้งบุคคลเพื่อทำหน้าที่เป็น กสม. เป็นการชั่วคราว กราบเรียนมายังประธานศาลฎีกา ประธานศาลฎีกาจึงโปรดมีดำริ ให้สำนักประธานศาลฎีกา ดำเนินการดังต่อไปนี้

1. มีหนังสือสอบถาม ไปยังสำนักงาน กสม. เพื่อขอทราบประวัติและผลงานของ กสม.ที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เพื่อมาประกอบการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ทำหน้าที่เป็นการชั่วคราว เพราะการแต่งตั้งบุคคลให้ทำหน้าที่ชั่วคราวดังกล่าว จะต้องเป็นไปตามมาตรา 8 คือ ต้องแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีประสบการณ์ในด้านต่างๆ ตามที่ระบุในมาตรา 8 (1) ถึง (5) ด้านละอย่างน้อย 1 คน แต่จะเกินด้านละ 2 คนไม่ได้ จึงมีความจำเป็นที่ต้องทราบประวัติ และผลงานของ กสม.ที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเสียก่อน เมื่อสำนักงาน กสม. มีหนังสือแจ้งประวัติและผลงานของ กสม. ที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่กลับมา “สำนักประธานศาลฎีกา” จึงเรียนความเห็นต่อประธานศาลฎีกา ว่า กสม.ที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ 3 คน อาจจัดว่า เป็นผู้มีคุณสมบัติ ตามมาตรา 8 อนุมาตราใด เพื่อจะได้ไม่แต่งตั้งบุคคลเข้าทำหน้าที่เป็นการชั่วคราวเกินจากที่กฎหมายกำหนด

2. มีหนังสือสอบถามไปยัง “เลขาธิการวุฒิสภา” เพื่อขอทราบรายชื่อ ข้อมูล และคุณสมบัติของบุคคลซึ่งได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหา กสม. เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง กสม. แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบ จากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, ขอทราบรายชื่อบุคคลที่ได้รับการสรรหา จากคณะกรรมการสรรหาฯ เพื่อแต่งตั้งที่ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว, ขอทราบรายชื่อประวัติและคุณสมบัติของผู้สมัคร หรือผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหา ซึ่งฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการสรรหาฯ ได้พิจารณากลั่นกรองและเห็นว่าเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่ง กสม.

นายวัส ติงสมิตร” ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)
นายวัส ติงสมิตร” ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

ล่าสุด เพื่อประกอบการพิจารณาของประธานศาลฎีกา และประธานศาลปกครองสูงสุดในการแต่งตั้งบุคคลเพื่อทำหน้าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นการชั่วคราว เมื่อ “เลขาธิการวุฒิสภา” ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการสรรหาฯ แจ้งรายละเอียดและข้อมูลดังกล่าว มายังสำนักประธานศาลฎีกา ในวันที่ 30 ส.ค.62 แล้ว ประธานศาลฎีกา และประธานศาลปกครองสูงสุด ได้ร่วมกันพิจารณามอบหมายให้ “เลขาธิการประธานศาลฎีกา” เป็นผู้ติดต่อไปยังบุคคล ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 และเป็นบุคคลที่ได้รับการสรรหา จากคณะกรรมการสรรหาฯ และได้รับความเห็นชอบ จากสนช.ทำหน้าที่วุฒิสภา ให้ดำรงตำแหน่ง กสม.แล้ว เพื่อสอบถามความประสงค์ในการได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ กสม.เป็นการชั่วคราว แต่บุคคลดังกล่าวทั้งสองคน ไม่ประสงค์รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็นการชั่วคราว

ต่อมาวันที่ 1 ต.ค.62 ประธานศาลฎีกา (นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์) และประธานศาลปกครองสูงสุด ได้หารือที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาฯ ครั้งที่ 6/2562 กรณีประธาน กสม. มีหนังสือแจ้งให้ประธานศาลฎีกา และประธานศาลปกครองสูงสุด เร่งดำเนินการแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับ กสม. เพื่อทำหน้าที่เป็น กสม. ซึ่งที่ประชุมเสียงข้างมากเห็นชอบให้ “เลขาธิการวุฒิสภา” ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการสรรหาฯ ดำเนินการเสนอชื่อบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับ กสม. ที่เป็นปัจจุบัน ต่อประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดภายใน 30 วัน (คือวันที่ 31 ต.ค.นี้) โดยขณะนี้ยังไม่ครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว

กรณีดังกล่าว “เลขาธิการประธานศาลฎีกา” และ “เลขาธิการศาลปกครอง” พิจารณาแล้ว เห็นว่า การแต่งตั้งบุคคลให้ทำหน้าที่ กสม.เป็นการชั่วคราว มีประเด็นข้อกฎหมายที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่จะต้องพิจารณา คือ จะต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้เวลาและขั้นตอนในการตรวจสอบ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดอันอาจส่งผลเสียหายโดยรวมต่อประเทศชาติ ประชาชน และ กสม. จะต้องได้บุคคลที่มีความรู้ ความสามารถและความเหมาะสม ตลอดจนความเสียสละในการเข้ารับหน้าที่เพียงชั่วคราว ซึ่งอาจส่งผลในอนาคตต่อการเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการในองค์กรอิสระอื่นๆ ตาม

และเมื่อ “ประธานศาลฎีกา” ได้โปรดร่วมกันพิจารณากับ “ประธานศาลปกครองสูงสุด” ให้สำนักประธานศาลฎีกา เชิญบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม มาสอบถามความประสงค์และความยินยอมในการรับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ กสม.เป็นการชั่วคราวแล้ว ก็ไม่มีผู้ใดที่แจ้งความประสงค์และยินยอมที่จะได้รับการแต่งตั้ง กรณีจึงมีเหตุจำเป็นที่ทำให้การแต่งตั้งไม่แล้วเสร็จ อีกทั้งยังรอรายชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายที่เป็นปัจจุบัน

“ขอชี้แจงเพิ่มเติมทำความเข้าใจมายังทุกฝ่ายว่า ประธานศาลฎีกา และประธานศาลปกครองสูงสุด มิได้เพิกเฉยต่อการแต่งตั้งบุคคลในเรื่องดังกล่าว เมื่อได้รับรายชื่อของบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เป็นปัจจุบัน จะได้นำกราบเรียนประธานศาลฎีกา และประธานศาลปกครองสูงสุดเพื่อโปรดพิจารณาต่อไป”

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0