โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

แกะเนื้อ อนาคตสดใส สัตว์เศรษฐกิจที่ใช้พื้นที่น้อย จับขายได้เร็ว

เทคโนโลยีชาวบ้าน

อัพเดต 17 ก.ย 2562 เวลา 14.44 น. • เผยแพร่ 17 ก.ย 2562 เวลา 09.23 น.
ดาวเรือง W

*สวัสดีครับ ผมระหกระเหเร่ร่อนสัญจรไปพบพี่น้องเกษตรกรมาทั่วประเทศ และอีกหลายประเทศก็เคยไป ผมพบว่าผืนแผ่นดินสำหรับทำการเกษตรมันลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่มีที่ดินทำกินจำกัดเหลือเกิน ยิ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนายิ่งไปใหญ่ ปัญหาการถือครองที่ดินของเกษตรกรยิ่งรุนแรง เกษตรกรมีที่ดินน้อยลง เรื่องเหล่านี้เป็นปัญหามาตลอด ไม่ว่าสมัยไหนรัฐบาลใดก็ไม่สามารถแก้ไขให้เกษตรกรตาดำๆ พ้นบ่วงกรรมนี้ไปได้ *

ในมุมมองของผม พี่น้องเกษตรกรรายย่อยควรตื่นตัวมองหาช่องทางทำกินให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ที่ดินน้อยก็ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะกับการใช้พื้นที่น้อย ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ที่สามารถขายได้เร็ว ผลผลิตสูง ราคาดี มีตลาดรองรับ ในด้านปศุสัตว์ผมเคยนำเสนอแพะและแกะให้เป็นสัตว์ที่เกษตรกรรายย่อยน่าจับตาและควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง ด้วยความเหมาะสมในหลายๆ ด้าน มาฉบับนี้ผมนำเรื่องแกะเนื้อมารายงานอีกครั้งเพื่อเสนอเป็นทางเลือกให้พี่น้องเกษตรกรคนจำนวนมากแต่เสียงแผ่วเบา ให้เข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้นครับ

เลิกปลูกอ้อย หันมาเลี้ยงแพะ

พาท่านมาพบกับ คุณฐษณพร ทิพย์รักษ์ ที่ ตำบลศรีมงคล อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี คุณฐษณพร เริ่มเล่าให้ฟังว่า เดิมพื้นที่ที่มีอยู่ใช้ในการปลูกอ้อยมาก่อน แต่เห็นว่าในพื้นที่มีกระถินขึ้นอยู่เยอะ คิดว่าน่าจะเหมาะกับการเลี้ยงแพะ จึงไปซื้อแพะเนื้อมา 18 ตัว เมื่อ ปี พ.ศ. 2551 โดยใช้พื้นที่ที่เคยเป็นไร่อ้อย ประมาณ 30 ไร่ เปลี่ยนมาเลี้ยงแพะ โดยเริ่มต้นเลี้ยงแพะพันธุ์ลูกผสมพื้นเมืองกับแองโกลนูเบียน จากแพะจำนวน 18 ตัว เมื่อเริ่มต้นขยายจำนวนมาเป็น 100 กว่าตัวในเวลาปีกว่าๆ

“เราเห็นว่าแพะน่าจะเหมาะกับการเลี้ยงในพื้นที่ของเรา และตอนนั้นตลาดมีความต้องการแพะเนื้อเพิ่มมากขึ้น เราจึงตัดสินใจขยายฝูงออกไปอีกจาก 100 เป็น 200 กว่าตัว ในเวลา 2-3 ปี” คุณฐษณพร เล่าให้ฟัง

3
3

ลดจำนวนแพะ เพิ่มจำนวนแกะ

คุณฐษณพร เล่าต่อไปว่า “ช่วงประมาณปี 2552 มีพ่อค้ามาขายแกะพันธุ์ลูกผสมพม่าหางยาวให้ จำนวน 9 ตัว เราก็เลี้ยงรวมๆ กับแพะที่มีอยู่ 200 กว่าตัว” แกะพันธุ์พม่า หรือที่นิยมเรียกว่า พันธุ์พม่าหางยาว นี้มีขนสีน้ำตาลหรือน้ำตาลไหม้ หน้าโหนกไม่แหลม มีหางยาว โคนหางใหญ่ แกะพันธุ์นี้มีน้ำหนักมากกว่าพันธุ์พื้นเมืองของไทย ประมาณ 10-20 กิโลกรัม นิยมใช้เป็นพ่อพันธุ์ ผสมกับแม่พันธุ์พื้นเมืองของไทยเพื่อให้ได้ลูกผสมที่โตเร็วและน้ำหนักสูงขึ้น หลังจากเลี้ยงแพะและแกะรวมกันมาได้สักระยะ คุณฐษณพร ก็พบว่า แกะเลี้ยงง่ายกว่า กินน้อยกว่า และใช้เวลาเลี้ยงสั้นกว่าแพะ จึงเพิ่มจำนวนแกะขึ้นไปถึง 200 กว่าตัว

“หลังจากเลี้ยงแกะมาได้สักระยะก็พบกับตัวเองว่าแกะมีนิสัยขี้ขลาดกว่าแพะ ดื้อซนน้อยกว่าแพะ ในขณะที่แกะเลี้ยงง่ายกว่า ใช้คนดูแลน้อยกว่า จากเดิมเลี้ยงแพะ 200 กว่าตัว ใช้คนเลี้ยง 3 คน แต่เลี้ยงแกะ 200 กว่าตัวเท่ากัน ใช้คนเลี้ยงแค่คนเดียว นอกจากนั้น แกะยังกินง่ายกว่าแพะ แถมยังโตเร็วกว่า ใช้เวลาเลี้ยงน้อยกว่าแพะ สามารถจับขายได้เมื่ออายุเพียง 4 เดือนเท่านั้น เราจึงเริ่มลดจำนวนแพะลงแล้วเพิ่มจำนวนแกะให้มากขึ้น” คุณฐษณพร เล่า

ข้อดีของการเลี้ยงแกะเนื้อ

4
4

คุณฐษณพร เล่าต่อไปว่า “หลังจากพบว่าแกะเลี้ยงง่าย ใช้เวลาน้อย สามารถทำกำไรให้ได้มากกว่าแพะ เราจึงหันมาจริงจังกับการเลี้ยงแกะเนื้อโดยซื้อแกะพ่อพันธุ์แท้เลือด 100% เข้ามาคุมฝูง ใช้ผสมกับแกะแม่พันธุ์ที่เรามีเพื่อสร้างฝูงแกะลูกผสมของเราเอง” จากข้อมูลของคุณฐษณพร สามารถสรุปข้อดี ข้อได้เปรียบของการเลี้ยงแกะเนื้อได้ว่า

– แกะเนื้อไม่ดื้อ ไม่ซน จึงใช้คนเลี้ยงน้อยกว่าแพะ

– แกะกินอาหารได้หลากหลายกว่า เช่น กินฟางได้ซึ่งแพะไม่กิน ในสภาพเลี้ยงปล่อยแกะชอบเล็มกินหญ้าสั้นๆ ติดพื้นที่เหลือจากการกินของแพะได้

– แกะโตเร็ว สามารถจับขายตลาดเนื้อได้เร็วกว่าแพะ แกะขายได้เมื่ออายุ 4-6 เดือน ซึ่งเนื้อแกะอายุขนาดนี้เป็นที่ต้องการของตลาด

– แกะตัวเมียสามารถเป็นสัดพร้อมผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุเพียง 10 เดือน ตั้งท้องเพียง 4 เดือน 1 ปีจึงสามารถได้ลูกแกะ 2-3 ตัว ต่อแม่แกะ 1 ตัว

– แกะมีตลาดที่หลากหลายกว่าแพะ เช่น ตลาดเนื้อ ตลาดรีสอร์ต ตลาดโชว์ตัวอย่างลูกแกะป้อนนม ตลาดแกะขุน เป็นต้น

 

5
5

พันธุ์/อาหาร/แกะเนื้อ

ตอนนี้คุณฐษณพรใช้แกะเนื้อพันธุ์แท้เป็นพ่อพันธุ์คุมฝูงโดยใช้พ่อพันธุ์แกะพันธุ์ดอร์เปอร์เลือด 100% ซึ่งเป็นแกะเนื้อที่ให้เนื้อคุณภาพสูง ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี ทนแล้ง ลำตัวสีขาว หัวสีดำ ไม่มีเขา และพ่อพันธุ์ซานตาอิเนส เลือด 100% ซึ่งเป็นแกะขนาดใหญ่ ใบหูยาวปรก หน้าโค้งนูน มีหลายสี เข้ามาเป็นพ่อพันธุ์คุมฝูง พ่อพันธุ์ทั้งหมดซื้อมาในช่วงที่ยังอายุน้อย ซื้อมาราคาตัวละ 35,000 บาท จากรักษ์ฟาร์ม จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อนำมาผสมกับแม่พันธุ์พื้นเมือง แม่พันธุ์พม่าหางยาวที่มี ในอัตราพ่อพันธุ์ 1 ตัว ต่อแม่พันธุ์ 50 ตัว เพื่อให้ได้แกะเนื้อลูกผสมที่มีเนื้อมาก โตเร็ว กินง่าย และทนทานต่อสภาพแวดล้อม

ส่วนเรื่องอาหารแกะนั้น คุณฐษณพร บอกว่า “ตอนเช้าก่อนจะปล่อยแกะออกจากคอก เราจะให้อาหาร อย่าง ฟาง ผิวถั่วเหลือง และมันหมักยีสต์ ที่ได้จากการโม่มันสำปะหลัง บรรจุใส่ถัง 200 ลิตร เติมยีสต์เข้าไปหมักซึ่งสามารถเก็บเอาไว้ใช้ได้นานเป็นปี แกะจะกินอาหารทั้ง 3 อย่างนี้ประมาณตัวละครึ่งกิโลกรัม ซึ่งเคยคิดเป็นราคาต้นทุนอาหารอยู่ที่ 1 บาท ต่อแกะ 1 ตัว หลังกินมื้อเช้าเรียบร้อยเราก็จะปล่อยแกะลงทุ่งให้หาหญ้าธรรมชาติ ใบไม้ต่างๆ กินตั้งแต่ 09.00-12.00 น. หลังจากนั้น จะต้อนกลับเข้าคอกเพราะอากาศร้อน ธรรมชาติของแกะมักจะนอนหลบแดด ไม่หากิน ต้อนกลับมาที่คอก 2-3 ชั่วโมง ตอนบ่าย 3 เราก็ปล่อยลงทุ่งอีกจนถึงประมาณ 6 โมงเย็น แกะจะกลับมาเข้าคอก เราจะให้อาหารเย็นเป็นผิวถั่วเหลืองกับมันหมักยีสต์อีกรอบ”

2
2

ราคาขายแกะเนื้อ

ในเรื่องราคาขาย คุณฐษณพร บอกว่า “แกะเนื้อตัวผู้จับขายตลาดเนื้อได้เมื่ออายุ 4 เดือน ราคาอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 100 บาท 1 ปีจะจับแกะขายออกไปได้ 2 รอบ โดยตลาดอยู่ที่คอกขุนที่ซื้อเพื่อนำไปขายต่อ และตลาดที่เป็นเขียงเนื้อสำหรับเนื้อชั้นดี ส่วนตลาดเพื่อการท่องเที่ยวการโชว์ตัวก็จะขายลูกแกะสำหรับนำไปหัดป้อนนมจากขวด ราคาขายลูกแกะยังไม่หย่านมตัวละ 1,500 บาท แต่หากเป็นลูกแกะที่ฝึกจนกินนมจากขวดเป็นแล้วเราขายราคาตัวละ 4,000 บาท อีกตลาดของแกะก็คือ ตลาดพันธุ์สำหรับคนที่จะซื้อไปเลี้ยงขยายฝูงขยายพันธุ์ต่อไป เราขายเป็นคู่แม่ ลูก ราคาคู่ละ 5,000 บาท”

คุณฐษณพร บอกว่า “ที่ผ่านมายังไม่มีปัญหาเรื่องโรคของแกะในพื้นที่ และในความเห็นส่วนตัวมองว่าแกะเป็นสัตว์มีอนาคตเพราะเนื้อราคาแพงกว่า คุณภาพดีกว่าเนื้อแพะ โตเร็วได้เงินเร็ว เรื่องอาหารก็ไม่มีปัญหา ในพื้นที่ฟาร์มของเราช่วงหน้าแล้งหญ้าน้อยก็ไม่มีปัญหากับแกะเพราะแกะชอบเล็มกินหญ้าสั้นๆ แต่จะให้ดีก็ควรสร้างแปลงหญ้าพันธุ์ดีเอาไว้ให้ด้วย”

นี่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับพี่น้องเกษตรกรที่มองหาอาชีพสร้างรายได้ ใครสนใจอยากได้ข้อมูล อยากพูดคุย ติดต่อ คุณฐษณพร ทิพย์รักษ์ ได้ที่ โทร. (085) 226-6741 ฉบับนี้หมดพื้นที่แล้ว ขอลากันไปก่อน สวัสดีครับ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0