โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เสือค้ายางปรับโครงสร้างบริษัท ชาวสวนเฮรัฐจ่ายโลละ 20 บาท

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 25 ส.ค. 2562 เวลา 13.09 น. • เผยแพร่ 25 ส.ค. 2562 เวลา 13.40 น.
ยางพารา_1-728x484

สวนยางเฮ 1 ตุลาฯรอรับเงินชดเชยก้อนแรก “เฉลิมชัย” สั่งตั้ง 4 ทีมทำงานประกันราคายางอุดช่องโหว่กันทุจริต เบื้องต้นใช้เงิน 30,000 หมื่นล้าน ใน 6 เดือน ด้าน “วงศ์บัณฑิต” สยบข่าวลือปิดโรงยาง 3 จังหวัด แค่ปรับโครงสร้างภายใน-รับซื้อยางตามปกติ

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ชาวสวนยางกลุ่มแรกจะได้รับเงินชดเชยราคายางตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ราคาเป้าหมายยางแผ่นดิบที่ราคา 60 บาท/กก.จำนวน 25 ไร่/ครัวเรือน กำหนดให้มีการจ่ายชดเชยระยะเวลา 6 เดือน เบื้องต้นกำหนดงบประมาณไว้ที่ 30,000 ล้านบาท โดยใช้เงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำรองจ่ายไปก่อน ต่อจากนั้นจะจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 เพื่อชดเชยต่อไป

ระยะเวลาชดเชยราคายางแผ่นดิบกำหนดไว้ 6 เดือน จ่ายเงินทุก ๆ 2 เดือนระยะเวลาดำเนินโครงการเดือนตุลาคม 2562-กุมภาพันธ์ 2563 โครงการจะครอบคลุมชาวสวนยางในพื้นที่ขึ้นทะเบียนไว้ 13,326,540 ไร่ เกษตรกร 1,129,336 ราย โดยเงินชดเชยการประกันรายได้จะแปรผันไปตามราคายางพาราที่เคลื่อนไหวตลอดระยะดำเนินโครงการ ตามสูตรเงินชดเชยประกันรายได้ในแต่ละครั้งเท่ากับราคาประกันรายได้ หักราคาอ้างอิง และปริมาณการขายผลผลิตยางพาราตามเนื้อยางที่กรีด 240 กก./ไร่/ปี โดยกำหนดการประกันราคายางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กก. ประกันรายได้ราคาน้ำยางสด 57 บาท/กก. และประกันรายได้ราคายางก้อนถ้วย 50 บาท/กก.

ทั้งนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 4 คณะเพื่อมาดำเนินการคือ คณะกรรมการบริหารโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง, คณะทำงานกำหนดราคากลางอ้างอิง, คณะกรรมการบริหารโครงการระดับจังหวัด และคณะทำงานโครงการระดับตำบล โดยชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินจะต้องหามาตรการอื่นมารองรับ

อย่างไรก็ตาม จากการประเมินเบื้องต้นชาวสวนมีสวนยางพาราจำนวน 25 ไร่ จะมีรายได้จากเงินชดเชยประมาณ 60,000 บาท (ราคาอ้างอิง 40 บาท/กก. ราคาประกัน 60 บาท/กก. จ่ายชดเชย 20 บาท/กก.) รัฐบาลจะใช้เงินทั้งหมด 33,200 ล้านบาท แต่ในความเป็นจริงเกษตรกรไทยมีการผลิตยางพาราแตกต่างกัน หากคิดราคาเฉลี่ย ณ เดือน ส.ค. 2562 แบ่งเป็น ยางแผ่นดิบ 28.515 ล้าน กก. หรือสัดส่วน 10.68% ของผลผลิตทั้งหมด ราคาจะอยู่ที่ 39.92 บาท/กก. รัฐบาลต้องชดเชย 20.08 บาท/กก. หรือใช้เงิน 572.59 ล้านบาท

น้ำยางสดมีปริมาณ 88.323 ล้าน กก. สัดส่วน 33.08% ของผลผลิตทั้งหมด ราคาประกัน 57 บาท/กก. ราคาชดเชย 17.60 บาท/กก. ใช้งบประมาณ 1,554.49 ล้านบาท ยางก้อนถ้วย ปริมาณ 149.466 ล้าน กก. สัดส่วน 55.98% ของผลผลิตทั้งหมด ราคาประกัน 50 บาท ราคาเฉลี่ย 33.10 บาท/กก. ราคาชดเชย 16.90 บาท/กก. ใช้งบประมาณ 2,525.98 ล้านบาท หรืองบประมาณรวม 28,950 ล้านบาท

ส่วนกรณีมีรายงานข่าวเข้ามาว่า บริษัทวงศ์บัณฑิต ปิดโรงงานยางใน 3 จังหวัดคือ บจ.วงศ์บัณฑิต ชุมพร-บจ.วงศ์บัณฑิต ชุมพร เอ็น อาร์, บจ.วงศ์บัณฑิต สุราษฎร์ธานี และ บจ.วงศ์บัณฑิต อุดรธานี เนื่องจากประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องมาหลายปีนั้น ล่าสุด นายบัณฑิต เกิดวงศ์บัณฑิต รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทได้ปรับโครงสร้างการบริหารงานด้วยการควบรวมบริษัทลูก 5 บริษัทมาอยู่ภายใต้ “วงศ์บัณฑิต” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแผนการลงทุนที่วางไว้ การดำเนินการควบรวมนี้ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 ไม่ใช่เพิ่งเริ่มทำในปีนี้ โดยบริษัทเตรียมจะเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และอยู่ระหว่างการเจรจากับจอยต์เวนเจอร์กับพันธมิตรหลายรายจากหลาย ๆ ประเทศไม่ใช่เฉพาะจีน

“จริงอยู่ที่ผลประกอบการของเราไม่ดีต่อเนื่องหลายปี แต่ขณะนี้เราก็ยังซื้อขายยางพาราอยู่ ไม่ได้ปิดกิจการ จะมีหยุดซื้อไปเมื่อสัปดาห์ก่อน 1 สัปดาห์เพื่อตรวจสอบสต๊อก ตอนนี้เปิดรับซื้อปกติแล้ว โดยราคายางแผ่นที่ กก.ละ 42 บาท เศษยาง กก.ละ 35 บาทเศษ” นายบัณฑิตกล่าว

อย่างไรก็ตาม บริษัทยอมรับว่าสถานการณ์การส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกไม่ค่อยดี ปริมาณการส่งออกยางภาพรวมลดลง ในส่วนของบริษัทก็ลดลงเช่นเดียวกัน โดยมีสาเหตุจากปัญหาสงครามการค้า ทำให้ความต้องการใช้ยางในตลาดโลกลดลง ประกอบกับภาวะภัยแล้งทำให้มีปริมาณยางลดลง ทางบริษัทได้ปรับแผนลดกำลังการผลิตลงประมาณ 30-40% จากกำลังการผลิตรวมทั้งหมด 2 ล้านตันต่อปี ส่วนแนวโน้มครึ่งปีหลังก็น่าจะยังไม่ดีขึ้น ดังนั้นภาพรวมยอดขายของบริษัททั้งปียังประเมินว่า ไม่ปรับลดลงตามภาพรวมการส่งออกยาง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0