โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

เสียงสะท้อนจากคนไทยในจีนและ ถนนเส้นเดียวกัน ของ รัฐกับประชาชน ในวันที่ COVID-19 ระบาด

Techsauce

เผยแพร่ 04 เม.ย. 2563 เวลา 09.10 น. • ARTHITTAYA BOONYARATANA

เสียงรถพยาบาลได้ดังติดต่อกันเป็นเวลาหลายคืนในช่วงปลายเดือนมกราคม จนถึงกุมภาพันธ์ 2563 ที่เมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งของมหาวิทยาลัยดังและบริษัทหลายแห่ง รวมไปถึงสำนักงานใหญ่อีคอมเมิร์ซเจ้าดังอย่างอาลีบาบา (Alibaba) ด้วย และเมืองหางโจวนี้ก็ยังเป็นเมืองรอบนอกของมณฑลหูเป่ย์ ที่มีจำนวนมีผู้ติดเชื้อสูงที่สุดในขณะนั้นด้วย
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่กินเวลายาวนานมากว่าหนึ่งไตรมาส โดยเริ่มแพร่ระบาดจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนและบานปลายกลายเป็นวิกฤตระดับโลก ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนและกระทบต่อเศรษฐกิจจนสร้างความเสียหายมหาศาล ทั้งนี้ธนาคารโลก (World Bank) ได้ประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียน โดยผลกระทบจากไวรัส COVID-19 นั้น ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยหดตัวหนักที่สุดในอาเซียน หนำซ้ำผลกระทบนี้ยังผกผันกับกราฟตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในประเทศไทยที่กำลังทะยานขึ้นอย่างน่าใจหาย

ช่วงเวลาที่ผ่านมา ผู้เขียนได้เฝ้าติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ขยายวงกว้างจากศูนย์กลางการระบาดในประเทศจีนออกสู่นอกประเทศอย่างรวดเร็ว จนในที่สุดก็ได้กินพื้นที่การแพร่ระบาดครอบคลุมไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยมี ‘ยอดผู้ติดเชื้อ’ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และทะยานขึ้นสู่ ‘หลักล้าน’ ไปเรียบร้อยแล้วในไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา
ประเทศไทย ณ เวลานี้ (วันที่ 2 เมษายน 2563) มีรายงานยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมเพิ่มเป็น 1,875 ราย จากการระบาดในพื้นที่กทม. ก็ได้ขยายวงกว้างไปสู่จังหวัดในประเทศไทยทั่วทุกภาค เมื่อเทียบกันระหว่างยอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสมในโรงพยาบาลในกรุงเทพและปริมณฑลกับสัดส่วนของผู้ป่วยใน 57 จังหวัดรวมกัน พบว่ามียอดผู้ป่วยสะสมรวมแล้วมากกว่ากรุงเทพ สมุทรปราการและนนทบุรีถึง 80%

                                  ที่มา: https://covid19.workpointnews.com/

ในขณะที่กราฟตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมกำลังทยานขึ้น การแพร่ระบาดจากกทม.ก็ได้ขยายวงกว้างไปสู่ท้องถิ่นและชุมชนที่ห่างไกลจากสถานพยาบาล ดูเหมือนว่าสถานการณ์นี้เกินกว่าจะคาดการณ์ความเสียหายทั้งด้านเศรษฐกิจ ความปลอดภัยของชีวิตและสภาพจิตใจของประชาชน

 ที่มา: https://covid19.workpointnews.com/
เราอาจจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เกินกว่าจะสามารถควบคุมได้ หากยังดำเนินการควบคุมโรคแบบทั่วๆ ไป หากรัฐบาลกับประชาชนเดินบนถนนคนละเส้นและถ้าขาดความร่วมมือร่วมใจในการควบคุมแล้ว ความหวังที่จะพาเราไปสู่จุดสิ้นสุดของไวรัส COVID-19 ดังเช่นการคาดการณ์ของ ‘ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข’ ได้คาดการณ์ผ่านฉากทัศน์ถึงแนวโน้มการระบาดที่คาดการณ์แนวโน้มและความรุนแรงเอาไว้ 3 ระดับ โดยได้ประมาณการณ์ว่าปัญหานี้อาจจะกินเวลาไปถึงเดือนมีนาคม 2564 

ในฐานะประชาชนคนธรรมดา นอกจากการดูแลตัวเองและคนที่รักให้อยู่รอดปลอดภัยแล้ว เราสามารถมีส่วนร่วมเพื่อลดจำนวนการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และเพื่อดึงกราฟแนวดิ่งนี้ลงมาได้อย่างไรบ้าง?

จึงอยากชวนผู้อ่านออกเดินทางไปยังประเทศจีนและย้อนเวลากลับไปในเดือนมกราคม 2563 ซึ่งเป็นระยะเริ่มต้นของการแพร่ระบาดอย่างหนัก มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเพียงสัปดาห์ ซึ่งรัฐบาลจีนเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจแม้แต่น้อย ขณะนั้นรัฐบาลได้ออกมาตรการควบคุมและเฝ้าระวังอย่างเคร่งครัดเพื่อเพิ่มพื้นที่เฝ้าระวังและเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ รวมไปถึงยังได้ออกคำสั่งปิด (Lockdown) เมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้เป็นครั้งแรก 

เพื่อป้องกันการขยายวงกว้างการแพร่ระบาด เมืองที่อยู่รอบด้านจึงถูกสั่งปิดในเวลาต่อมาอันเนื่องมาจากมียอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับเมืองหางโจวซึ่งอยู่ในมณฑลเจ้อเจียง อีกหนึ่งเมืองที่มีการระบาดหนัก ซึ่งในเวลานั้นมียอดผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส COVID-19 สูงถึง 829 ราย

  ที่มา: https://www.worldometers.info/coronavirus/country/china/
เข้าสู่เดือนมีนาคม ช่วงเวลาที่ทั่วโลกมียอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน กลับกันประเทศจีนกลับมีจำนวนผู้ติดเชื้อในแต่ละวันลดน้อยลงและมีผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วถึง 96%

เป็นเวลายาวนานนับเดือน ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งเป็นวันแรกที่เมืองหางโจวอยู่ในภาวะ Lockdown และกินเวลาลากยาวมาถึงวันที่ 21 มีนาคม 2563 ที่รัฐบาลจีนได้ประกาศเข้าสู่ภาวะปกติ
ทว่าการ Lockdown หรือการปิดเมืองในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นกลับช่วยให้สถานการณ์ในจีนเปลี่ยนไป รัฐบาลจีนเองก็ได้รับเสียงปรบมือและได้รับคำชมจากหน่วยงานระดับโลกหลายหน่วยงาน หนึ่งในนั้นคือ องค์การอนามัยโลก (WHO) โดย "บรูซ ไอล์วาร์ด" ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO ได้กล่าวชื่นชมถึงความพยายามของจีนในการสกัดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ไม่ว่าจะเป็นการสั่งปิดเมืองและบังคับใช้ข้อจำกัดต่าง ๆ จนทำให้จำนวนผู้ที่เพิ่งติดเชื้อไวรัสดังกล่าวเริ่มปรับตัวลดลงแล้ว นอกจากนี้ “อันโตนิโอ กูเตอร์เรส” เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN) ยังแสดงความเชื่อมั่นในมาตรการรับมือการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ของจีนพร้อมทั้งกล่าวชื่นชม โดยมีใจความว่า รัฐบาลจีน ทั้งในส่วนกลางและระดับท้องถิ่นได้ระดมกำลังประสานงานและร่วมมือกันอย่างเต็มที่เพื่อจำกัดพื้นที่การแพร่ระบาดและลดจำนวนผู้ติดเชื้อ ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 น้อยกว่าที่คาดการณ์เอาไว้เป็นจำนวนมาก
มิใช่เพียงคำชื่นชมจากนานาชาติในเรื่องการรับมือกับวิกฤตการแพร่ระบาดโรคในครั้งนี้ แต่ศักยภาพการทำงานของรัฐบาลจีนยังชี้วัดผ่านตัวเลขของผู้ป่วยติดเชื้อที่เริ่มปรับตัวลดลงในแต่ละวัน ผกผันกับจำนวนของผู้ป่วยที่รักษาหาย โดยมีอัตราของผู้ป่วยที่รักษาหายเพิ่มขึ้นถึง 96%

หากแต่การออกคำสั่งและการออกกฎหมายที่ไม่ได้รับการยอมรับจากภาคประชาชน ก็อาจจะไม่ได้รับความร่วมมือจนทำให้ในวันนี้การแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ในจีนที่เคยวิกฤตได้คลี่คลายลง กระทั่งสถานการณ์ได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติอย่างรวดเร็ว

หลังจากที่รัฐบาลจีนได้ประกาศเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากที่ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เนื่องจากการแพร่ระบาดภายในประเทศ หลังจากที่ประชาชนสามารถออกไปใช้ชีวิตได้ตามปกติและการยกเลิก Health Code ยกเลิกการตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้า-ออกตามสถานที่ต่างๆ ในช่วงเวลานี้ ที่พระอาทิตย์แดนมังกรกำลังจะส่องสว่างขึ้นมาเหนือฟ้าอีกครั้ง จึงอยากชวนผู้อ่านมาร่วมสังเกตุการณ์ผ่านมุมมองของชาวไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศจีน ในเมืองหางโจ มณฑลเจ้อเจียง เมืองที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก
‘ไนท์-พฤนท์ พัวพงศกร’ หนึ่งในคนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศจีน ซึ่งปัจจุบันเขาทำงานในตำแหน่ง Design Manager ของบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่ของจีน ที่เมืองหางโจว ชายหนุ่มแนะนำภูมิหลังกับเราว่า เขาได้ย้ายเข้ามาทำงานในประเทศจีนตั้งเเต่เรียนจบจากประเทศสิงคโปร์ ในวัย 21 ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของประเทศจีนตั้งแต่วัยเด็ก เพราะเดินทางเข้า-ออกประเศจีนอยู่บ่อยๆ จนกระทั่งปัจจุบันได้ย้ายมาพำนักอยู่ใน ‘จีน’ ประเทศมหาอำนาจของโลก ซึ่งเมืองที่เขาอาศัยอยู่ก็เป็นพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 อย่างหนัก
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เมืองที่เขาอาศัยอยู่ก็เป็นอีกหนึ่งเมืองที่มีการคุมเข้ม แม้ปัจจุบันจะเริ่มยกเลิกบางมาตรการแล้ว เช่น ก่อนหน้านี้ ทุกคนจะได้รับการอนุญาตให้ออกจากบ้านได้เพียงสามวันต่อหนึ่งครั้งเท่านั้น ในแเต่ละครั้งก็จะได้รับอนุญาติให้ออกไปได้เพียงสามชั่วโมง โดยสมาชิกในบ้านจะได้รับบัตรก่อนออกจากบ้าน ซึ่งบัตรใบนี้ต้องยื่นให้กับยามหรือตำรวจที่จะประจำเเต่ละเขตคอนโดที่อยู่ชั้นล่างของตึกเพื่อตรวจเวลาเข้า - ออก โดยบ้านหนึ่งหลังจะได้รับสิทธิ์ในการออกไปทำธุระหรือไปซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคได้เพียงหนึ่งคนเท่านั้น

บัตรของบริษัทที่มอบให้แก่พนักงานเมื่อต้องออกไปทำธุระข้างนอก โดยสามารถออกไปได้เพียงเเค่สามชั่วโมงต่อสามวันเท่านั้น

หลังจากผ่านวิกฤตมาได้ ชายหนุ่มผู้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงคนนี้ยังบอกเล่าและอัพเดทสถานการณ์กับเราว่า หลังจากที่สถานการณ์ได้คลี่คลายลงแล้ว ผู้คนยังคงปฎิบัติตามกฏอย่างเคร่ครัด เช่น ประชาชนยังคงสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องออกจากบ้าน หากต้องเดินทางด้วยการขนส่งสาธารณะ จะไม่ได้รับอนุญาตไม่ให้ใช้บริการหากไม่สวมหน้ากากอนามัย ส่วนในร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าและร้านทำผม เมื่อเข้าไปใช้บริการก็ยังต้องถูกวัดอุณหภูมิ ต้องกรอกชื่อ-นามสกุลและเบอร์โทรศัพท์ก่อนเข้า
ในหนึ่งวันหากต้องเข้า-ออกสถานที่หลายๆ แห่ง ก็ยังจำเป็นต้องกรอกข้อมูลเหล่านั้นโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ  ซึ่งการกรอกข้อมูลเหล่านี้ ก็เพื่อที่ว่าหากสถานที่นั้นๆ มีการค้นพบผู้ป่วย ข้อมูลเหล่านี้จะสามารถ Track ได้ว่าในสถานที่นั้นและในเวลานั้นมีใครอยู่บ้าง มาตรการนี้ออกมาก็เพื่อจำกัดการเดินทางของประชาชนและลดการเเพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ข้อมูลเหล่านี้จึงเป็นข้อมูลสำคัญและเป็นตัวชี้วัดอัตรากราเพิ่มหรือลดลงของการแพร่ระบาดโรค โดยทุกคนต้องปฏิบัติตามมาตรการนี้อย่างเคร่งครัด

เขาบอกกับเราด้วยว่า เขาคิดว่ามาตรการนี้ได้ผลดีและช่วยลดการเเพร่ระบาดเชื้อไวรัสอย่างเห็นได้ชัด ในส่วนของผู้ที่ฝ่ากฎนั้น จะถูกบันทึกชื่อเอาไว้และจะได้รับการลงโทษหากทำผิดซ้ำ แต่โดยส่วนใหญ่คนจีนให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเป็นอย่างดีเพราะเขาเห็นเป้าหมายเดียวกันและเมื่อสถานการณ์คลี่คลายขึ้นแล้ว กฎเหล่านี้ก็ถูกยกเลิกไป 

ปัจจุบัน หลายบริษัทได้เปิดทำการและให้พนักงานกลับมาทำงานในออฟฟิศแล้ว เมื่ออยู่ในพื้นที่ส่วนรวม ในออฟฟิส ทุกคนก็ยังต้องใส่หน้ากากและยังเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล (social distancing) อยู่
แม้จะสร้างความลำบากในการใช้ขีวิตประจำวัน แต่มาตรการที่รัฐบาลจีนออกมานั้นก็ได้สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนว่าจะสามารถยุติการระบาดของไวรัส COVID-19 ได้ในเร็ววัน ซึ่งสิ่งสำคัญที่ทำให้จีนสามารถบรรลุภารกิจนี้ได้คือ ‘การร่วมมือกัน’ ระหว่าง ‘รัฐบาล’ และ ‘ประชาชน’ แม้ว่าความสะดวกสบายจะลดลง เเต่คนจีนต่างก็ยินดีให้ความร่วมมือและปฎิบัติตาม
‘ในวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 นี้ เห็นได้ชัดเลยว่า การร่วมมือของทุกคนในสังคมนั้นสำคัญ แม้ว่ารัฐบาลจะออกแบบกติกาและมาตรการมาดีเพียงใด หากคนในสังคมไม่ปฎิบัติตามก็ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ จากวิกฤตในครั้งนี้ เห็นได้ว่าคนจีนสามัคคีกันมาก ไม่มีใครบ่นเรื่องกฏ-ข้อบังคับเลย เเม้ว่าหลายๆ กฏจะทำให้ชีวิตลำบากมากขึ้นก็ตาม เเต่เพื่อส่วนรวมแล้วพวกเขาต่างก็ยอมปฎิบัติตาม และที่สำคัญสุดคือรัฐบาลจีนมีความเข้มงวด เด็ดขาดและรวดเร็ว 

ผมเชื่อว่าวิกฤตในครั้งนี้จะเปลี่ยนนิสัยคนจีนไปอย่างมาก เราจะเห็นคนจีนมีระเบียบมากขึ้น ขาก-ถุยลงพื้นน้อยลง รักความสะอาดมากขึ้นและสามัคคีกันยิ่งกว่าเดิม’ --- 'ไนท์-พฤนท์ พัวพงศกร’ บอกกับเราก่อนจบบทสนทนา

เพราะอะไร ‘รัฐบาลจีน’ กับ ‘ประชาชน’ จึงสามารถเดินบนถนนเส้นเดียวกัน จนเอาชนะวิกฤตใหญ่ครั้งนี้มาได้ในเวลาอันสั้น

‘น้ำเพชร - จารุกิตติ์ ลิ้มวชิรานนท์’ เป็นอีกหนึ่งเสียง ที่สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาระดับชาติหากรัฐบาลกับประชาชนร่วมมือ ร่วมใจและใช้ความสมัครสมานสามัคคีเป็นอาวุธ ก็จะช่วยให้ชาติฝ่าวิกฤตไปได้

‘น้ำเพชร - จารุกิตติ์’ เข้ามาพำนักอยู่ในประเทศจีนตั้งแต่ปี 2015 เธอเดินทางมาเพื่อเรียนปริญญาเอก สาขา Food Sciences วิจัยด้าน Functional Food ที่มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง เมืองหางโจว
ในฐานะคนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศจีนมากว่าครึ่งทศวรรษ เธอเล่าถึงมุมมองในการเอาชนะวิกฤตใหญ่ครั้งนี้ของจีนผ่านบทเรียนวิชาไวร้ส COVID-19 ว่า
‘คิดว่าที่จีนผ่านมาได้เพราะความสามัคคี ทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี ต่างคนต่างรับผิดชอบในส่วนที่ตัวเองควรรับผิดชอบ รัฐบาลเองก็เลือกประชาชน เมื่อรัฐบาลเอาประชาชนเข้าไปใส่ไว้ในใจทำงานอย่างโปร่งใส ผลงานจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนเอง จากนั้นความร่วมมือร่วมใจและการปฏิบัติตามกฎหมายก็จะตามมา’
เมื่อรัฐบาลกับประชาชนเดินอยู่บนถนนเส้นเดียวกัน จึงเป็นเรื่องง่ายมากที่จะขับเคลื่อนประเทศจะเดินไปข้างหน้า

หญิงสาวยังเล่าต่อถึงพลังของชุมชนในภาวะวิกฤต เมื่อสัดส่วนระหว่างเจ้าหน้าที่น้อยกว่าจำนวนประชากรในเมือง  ทำให้ในบางพื้นที่ขาดเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากการสื่อสารที่ชัดเจนของรัฐบาลคือ ‘พลังชุมชนเข้มแข็ง’ คนในชุมชนจัดตั้งจุดตรวจสอบกันเอง ทุกคนเป็นหูเป็นตาแทนเจ้าหน้าที่ เมื่อมีสมาชิกในชุมชุนถูกกักตัว ก็จะมีคนคอยส่งข้าวส่งน้ำให้ มีคนคอยเช็คสุขภาพและรายงานไปยังเจ้าหน้าที่อย่างไม่ขาดสาย จนกระทั่งเมื่อผ่านพ้นช่วงเวลากักตัว คนในชุมชนก็จะช่วยกันติดต่อไปยังทีมแพทย์ให้มาเก็บสารคัดหลั่งไปตรวจและดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
ด้วยมุมที่มองผ่านประสบการณ์ น้ำเพชรยังเล่าต่อไปอีกว่า ประเทศจีนเองก็ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจค่อนข้างหนัก ทุกคนเผชิญปัญหาเดียวกันหมด ตั้งแต่พ่อค้า ผู้ประกอบการรายย่อยไปจนถึงองค์กรระดับใหญ่ นอกจากนี้คนจีนก็มีความเชื่อมั่นในสถาบันครอบครัวและจัดลำดับความปลอดภัยของคนในครอบครัวไว้อันดับหนึ่ง พวกเขาจึงเชื่อว่าเรื่องหนี้สินและหน้าที่การงานเป็นเรื่องที่เริ่มต้นกันใหม่ได้ หากวันนี้ล้มหนัก พวกเขาก็เชื่อว่าจะลุกขึ้นได้ในวันต่อไป
เธอยังเห็นว่าในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ สังคมจีนยังมีความเอื้อเฝื่อเผื่อแผ่กันอยู่ โดยจะเห็นได้ว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนแทบทุกบริษัททำงานอย่างเต็มกำลังเพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มเล็กที่ลำบากกว่า บริษัทที่ผลิตเทคโนโลยี ก็พยายามช่วยรัฐบาลอย่างเต็มที่ ที่จีนจึงไม่มีบริษัทไหนหาผลประโยชน์ในช่วงวิกฤตเช่นนี้เลย
‘สิ่งที่คนจีนมีซึ่งเป็นสิ่งที่มันทึ่งมากๆ ถึงแม้ว่าในช่วงภาวะปกติจะขัดแย้งกันบ้าง แก่งแย่งผลประโยชน์กันบ้าง แต่พออยู่ในสถานการณ์ที่วิกฤต ทุกคนต่างก็ช่วยเหลือกันเหมือนคนในครอบครัว พวกเขาประสานงานกันและช่วยเหลือกันดีมากๆ ตั้งแต่ประชาชนกลุ่มล่างสุด เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยไปจนถึงเจ้าหน้าที่ระดับสั่งการ
เมื่อมองย้อนกลับไป คิดว่าสิ่งที่คนไทยประสบอยู่ในตอนนี้อาจม่ใช่แค่เรื่องของโรคระบาด แต่มันเป็นเรื่องของรัฐบาลกับประชาชนที่เดินบนถนนคนละเส้น อยากขอให้รัฐบาลเอาประชาชนใส่ไว้ในใจก่อน และอยากให้พี่น้องชาวไทยให้ความร่วมมือ สามัคคีกันไว้ ขอแค่ให้ผ่านวิกฤตนี้ไปได้แล้วเราทุกคนค่อยมาเริ่มต้นกันใหม่’
--- น้ำเพชร - จารุกิตติ์ ลิ้มวชิรานนท์

หลังจบการสนทนา เราตระหนักดีว่าความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของรัฐบาลกับประชาชนนั้น เป็นพลัง เป็นแรงขับเคลื่อนมหาศาล โดยเฉพาะในภาวะวิกฤตเช่นนี้ นอกจากการออกกฎ มาตรการและนโยบายแล้ว รัฐบาลก็ยังจำเป็นต้องดำรงอยู่ด้วยความโปร่งใสเพื่อให้ประชาชนตรวจสอบได้ และเมื่อมีความเชื่อใจต่อกัน การร่วมมือก็สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องบังคับ
อ้างอิง:
https://covid19.workpointnews.com/
https://web.facebook.com/nrctofficial
https://www.thoracicsocietythai.org/2020/03/18/covid-19-perspectives/
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/869661
https://web.facebook.com/WorkpointNews/photos/a.153956988306921/1250769788625630/?type=3&theater

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0