โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"เสธ.โหน่ง" จ่อชงถอนอำนาจ คสช. ซัดทหารทำเหมือน "เกสตาโป" ยุคนาซี

Manager Online

เผยแพร่ 25 มิ.ย. 2562 เวลา 12.45 น. • MGR Online

รองหัวหน้าอนาคตใหม่ ยันแม้ตั้งรัฐบาลใหม่อำนาจ คสช.ยังไม่หมด ชี้คำสั่งหัวหน้า คสช.ให้ตั้งกรรมการประเมินภัยคุกคาม มีแม่ทัพภาคนั่งหัวโต๊ะ เกิดศูนย์รวมความคิดทิศทางเดียวกัน ซัดทำเหมือนเกสตาโปยุคนาซี เข้าถึงได้ทุกบ้าน เล็งร่วมพรรคอื่นเสนอกฏหมายถอนอำนาจ เตือนส่อเข้าเงื่อนไขสงครามหากคุกคามคนเห็นต่าง

วันนี้ (25 มิ.ย.) ที่พรรคอนาคตใหม่ เมื่อเวลา 12.30 น. พล.ท.พงศกร รอดชมภู ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงกรณีที่อำนาจของ คสช.จะหมดไปภายหลังตั้งรัฐบาลใหม่ว่า ไม่เป็นความจริง เพราะยังคงมีกฏหมายต่างๆ แฝงอยู่ในร่างพระราชบัญญัติ และระเบียบต่างๆ ของทางราชการ อาทิ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ที่มีการระบุว่าจะรับไม้ต่อจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อนจะออกมาปฏิเสธในภายหลัง นั่นหมายความว่าการเคลื่อนไหวของทหารใน กอ.รมน.และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่จะมีต่อประชาชนยังคงมีต่อไป ยกตัวอย่างคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 51/60 ในมาตรา 3 ระบุว่าให้มีการประเมินภัยคุกคามซึ่งอาจจะเกิดขึ้น ม.11 มีการเพิ่มเติมให้แม่ทัพภาคต่างๆ เป็นหัวหน้าคณะกรรมการร่วมกับส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น อัยการสูงสุด ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน มาเป็นกรรมการ ซึ่งปกติแล้วเวลาจะดำเนินในด้านกระบวนการยุติธรรม อำนาจต่างๆ ต้องแยกออกจากกัน อย่างอัยการกับตำรวจไม่ควรจะอยู่ร่วมกัน แล้วพอมาอยู่ด้วยกันภายใต้การดูแลของแม่ทัพภาคมันก็จะเกิดการรวมศูนย์ความคิดไปในทิศทางเดียวกัน โดยไม่มีการถ่วงดุลอันนี้เรื่องใหญ่มาก

พล.ท.พงศกร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ใน ม.13 ก็ถ่ายอำนาจลงไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดให้รับนโยบายต่อไป ซึ่งจะไปยัง 2 ทางก็คือท้องถิ่นที่ปัจจุบันนี้อยู่ในความควบคุมไม่ได้อยู่ในกำกับของส่วนภูมิภาคและผู้ว่าฯ อีกต่อไปตาม พ.ร.บ.ปกครองส่วนท้องถิ่นใหม่ และท้องที่คือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็อยู่ในความควบคุมตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ดังนั้นประชาชนจะไม่มีที่พึ่ง เราจะเห็นว่าโครงสร้างเครือข่ายตั้งแต่ระดับรัฐบาลคือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คณะกรรมการปฏิรูปต่างๆ เรื่อยไปจนถึงประชาชนอยู่ในการควบคุมของระบบกลไกที่มาจาก คสช.

"คิดแบบง่ายๆ มันคือเกสตาโปในสมัยนาซี เพราะจะเข้าถึงทุกบ้าน ทุกแห่ง ถ้าประชาชนอยากจะเรียกร้อง จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงก็ต้องไปร้ององค์กรอิสระ ซึ่งสุดท้ายองค์กรอิสระก็อยู่ภายใต้การกำกับอีกทีนึงของสมาชิกวุฒิสภา เพราะ ส.ว.เป็นผู้แต่งตั้ง ดังนั้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้คือวงจรของ คสช.ซึ่งไม่หมดไป จึงต้องขอให้ภาคประชาชนและสิ่งที่เราจะทำกับ ไอลอว์ ก็คือจะเสนอกฏหมายที่จะถอนอำนาจของ คสช.ทั้งหลายร่วมกับพรรคการเมืองอื่นๆ เชื่อว่า 3-6 เดือนข้างหน้า ถ้ามีการกระทำอย่างแข็งขันจริงและฝ่ายรัฐบาลเห็นด้วยในฐานะที่เป็นพรรคการเมืองด้วยกันที่เราจะถอนอำนาจของ คสช.เสียเราก็จะทำสำเร็จ"พล.ท.พงศกร กล่าว

พล.ท.พงศกร กล่าวว่า แต่ถ้าขาดความร่วมมือจากประชาชน ขาดการผลักดันจากภาคการเมืองมันจะไม่สำเร็จและเราจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดขององค์กรที่บังคับใช้กฏหมายซึ่งไม่เป็นที่ปราถนาแล้วสุดท้ายประชาชนจะมีปัญหา

เมื่อถามว่า เรื่องนี้มันจะทำให้ฝั่งทหารมีบทบาทในทางการเมืองมากกว่าภาคประชาชนหรือส่วนปกครองท้องถิ่น รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า โดยปกติแล้วราชการควรต้องเป็นผู้ให้บริการ สนับสนุน แต่อำนาจอันนี้มันเข้ามาควบคุม และงานนี้ปกติควรจะเป็นพลเรือนที่มาดูแลหรืออาจจะเป็นกระทรวงมหาดไทยและจะต้องแยกอัยการกับตำรวจออกจากกันเพื่อไม่ให้รวมความคิดด้วยกัน เพราะมันจะเกิดการบังคับใช้กฏหมายอย่างเบ็ดเสร็จเกินไป ต้องถ่วงดุลเพื่อประชาชนจะได้มีเสรีภาพมากขึ้น

เมื่อถามว่า แต่ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน ก็มีตัวแทนจากหลายฝ่ายเข้ามาร่วมไม่ใช่เฉพาะทหาร พล.ท.พงศกร กล่าวว่า คนนั่งหัวโต๊ะเป็นแม่ทัพภาค อยู่เหนือผู้ว่าฯ อัยการ ตำรวจ อันนี้เป็นปัญหา แต่เดิมเคยมีคณะกรรมการแบบนี้แต่ไม่มีอำนาจมาก ก็คือขอความร่วมมือ แต่ปัจจุบันเป็นลักษณะของการสั่งการ แล้วสิ่งที่เป็นปัญหาก็คือ ม.13 เชิญคนได้ เรียกขอเอกสารราชการและบุคคลทั่วไปได้ แปลว่าประชาชนนั่งอยู่กับบ้านก็มีคนมาเยี่ยมได้ ซึ่งจริงๆ ไม่ควรมี ประชาชนต้องร้องขอก่อนรัฐถึงมาสนับสนุนถึงจะถูก รัฐไม่มีสิทธิ์เข้าไปดูจนกว่าจะเกิดเรื่อง

เมื่อถามว่า คำสั่งที่แปรสภาพมาอยู่ใน พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน มันจะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองสำหรับคนเห็นต่างหรือไม่ พล.ท.พงศกร กล่าวว่า ถ้ามองทางการเมืองก็ใช่ ใครที่ไม่มองไปในทางเดียวกับรัฐก็จะโดนคุกคาม สิ่งนี้เขาเรียกว่าเงื่อนไขสงครามเหมือนสามจังหวัดชายแดนใต้ ที่รัฐเข้าไปกดทับจนเขาอยากต่อสู้ สิ่งที่จะอยู่ด้วยกันโดนสันติก็คือให้ทุกฝ่ายมีพื้นที่ของตัวเอง ให้ประชาชนมาใช้บริการดูแลคุ้มครองจากภาครัฐ มิใช่ภาครัฐไปดูแลประชาชนด้วยการเข้าไปอยู่เหนือกว่า

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0