โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

เศรษฐกิจโลกฟื้น เร็วสุด Q1 ปีหน้า

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 21 พ.ย. 2562 เวลา 23.20 น.

 

เศรษฐกิจโลกอาจจะพลิกฟื้นพ้นภาวะชะลอตัวในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า(2563) หากการเจรจาสงบศึกการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มในเชิงบวก ประกอบกับปัจจัยร่วมอย่างเช่นการนำนโยบายผ่อนคลายทางการเงินมาใช้มากขึ้นในหลายๆประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ตาม หากการเจรจาระหว่าง 2 มหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐฯ ไม่ประสบผล และสหรัฐฯเดินหน้าขึ้นภาษีสินค้าจีนอีกระลอกในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ตามที่เคยประกาศไว้ คาดว่าเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะชะลอตัวต่อไป โดยจะขยายตัวในอัตราเพียง 2.8% เท่านั้น และการฟื้นตัวจะเลื่อนออกไปเป็นช่วงไตรมาส 3 ของปี 2563

แนวโน้มดังกล่าวเป็นการวิเคราะห์ของมอร์แกน สแตนลีย์ สถาบันการเงินชั้นนำของสหรัฐฯ ที่มองว่าบรรยากาศความตึงเครียดของการเผชิญหน้าทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนมีท่าทีที่ผ่อนคลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น และเนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นปัจจัยหลักที่ฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก จึงเชื่อว่าหากปมนี้ได้รับการคลี่คลาย ความไม่มั่นใจต่างๆ ก็จะหมดไป และทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ภาครัฐนำมาใช้มีแนวโน้มสัมฤทธิผลมากขึ้น

 

 

คาด GDP โลกปี63 โต3.2%

มอร์แกน สแตนลีย์ เปิดเผยรายงานวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2020 (พ.ศ. 2563) เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกในภาพรวมของปี 2563 จะมีการขยายตัวที่อัตรา 3.2% ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มสูงกว่าปี 2562 นี้ ที่คาดการณ์ว่าจะโตเพียง 3.0%

ความคาดหวังในเชิงบวกเกี่ยวกับการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนว่าทั้ง 2 ฝ่ายน่าจะทำข้อตกลงเฟส 1 ได้ในเร็ววันนี้ ส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์ดีดตัวทำสถิติสูงเป็นประวัติการณ์เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา(15 พ.ย.) แต่บรรยากาศของความไม่แน่นอนก็ยังคงมีอยู่เนื่องจากประเด็นสำคัญเกี่ยวกับเงื่อนไขการปรับลดกำแพงภาษีที่มีอยู่ซึ่งเป็นความต้องการของฝ่ายจีนก่อนที่จะลงนามทำข้อตกลงกันนั้น เป็นสิ่งที่ฝ่ายสหรัฐฯยังไม่รับปาก และที่แย่ไปกว่านั้นคือ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกมายืนกรานว่า เขาไม่เห็นด้วยกับการลดภาษีให้สินค้าจีน ทำให้ยังมีเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่ว่า การเจรจาทำข้อตกลงการค้าฉบับแรกที่เรียกว่า“ข้อตกลงเฟส 1” นี้ จะเกิดขึ้นได้ทันกำหนดการขึ้นกำแพงภาษีสินค้าจีนครั้งต่อไปของสหรัฐฯ ที่ขีดเส้นไว้ว่าจะเป็นวันที่ 15 ธันวาคมนี้หรือไม่

 

 

 

แนวโน้มดอกเบี้ยลด

อย่างไรก็ตาม รายงาน ของมอร์แกน สแตนลีย์ ชี้ให้เห็นปัจจัยบวกอื่นๆ ว่าจะมีส่วนช่วยทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกกระเตื้องขึ้นมาได้ในปีหน้า นั่นคือการที่ธนาคารกลางของหลายประเทศเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมา ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ธนาคารกลาง 20 ประเทศจากทั้งหมด 32 ประเทศที่มอร์แกน สแตนลีย์ ติดตามความเคลื่อนไหว ได้ปรับลดดอกเบี้ยลงมาแล้ว และเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ยังจะมีธนาคารกลางอีกหลายประเทศที่จะปรับดอกเบี้ยลดลงมา ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยเฉลี่ยปรับลดลงมาสู่ระดับตํ่าสุดในรอบ 7 ปีในช่วงเดือนมีนาคมปีหน้า

 

 

ในส่วนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ รายงานระบุว่า การปรับลดดอกเบี้ยของ เฟดลงมาแล้ว 0.75% ในปีนี้ ได้เพิ่มความมั่นใจ เพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศ และกระตุ้นให้กิจกรรมทางธุรกิจขยายตัวมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจที่ชะลอตัวเริ่มแข็งแรงขึ้น แต่อานิสงส์เหล่านี้จะถูกดูดซับภายในปีนี้ที่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะเติบโตในอัตรา 2.3% จากนั้นก็จะแผ่วลงสู่ระดับ 1.8% ในปีหน้า โดยมีการเผชิญหน้ากับจีนเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญรวมถึงความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่กำหนดมีขึ้นในช่วงปลายปีด้วย

 

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,524 วันที่ 21-23 พฤศจิกายน 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0