โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เลือกตั้งไทย อินเดีย และอินโดนีเซีย ต่างกันอย่างไร

The MATTER

อัพเดต 18 เม.ย. 2562 เวลา 11.14 น. • เผยแพร่ 18 เม.ย. 2562 เวลา 10.54 น. • Pulse

เลือกตั้งไทย ผ่านมาจะครบเดือน ยังหาสูตรคำนวณ ส.ส.ไม่ได้ แถมยังไม่ประกาศรับรอง ส.ส.เลยแม้แต่คนเดียว พอมีเลือกตั้งของประเทศอื่นที่ว่ากันว่ารู้ผลเร็วมาก ไม่แปลกอะไรที่คนทั่วไปจะนำไปเทียบเคียงหาข้อแตกต่าง

และในช่วงนี้ ก็ดันมีการเลือกตั้งใน 2 ประเทศที่ว่ากันว่า เป็น ‘..ที่สุดในโลก’ อยู่ด้วย

ประเทศอินโดนีเซีย ‘การเลือกตั้งรู้ผลในวันเดียวที่ใหญ่ที่สุดในโลก’ – 17 เมษายน 2562

จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 193 ล้านคน เกือบสี่เท่าของไทย ในหน่วยเลือกตั้งกว่า 8 แสนหน่วย เชื่อหรือไม่ว่า กกต.อินโดนีเซียใช้เวลาในการนับผลเพียงวันเดียวเท่านั้น

ภาพที่หลายๆ คนน่าจะได้เห็นผ่านสื่อก็คือ การแบกหีบบัตรเลือกตั้งข้ามน้ำ ข้ามเขา ขี่ช้า ขี่ม้า เพื่อลำเลียงบัตรเลือกตั้งไปให้ถึงคูหา ขณะที่ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้ง (อายุ 17 ปีขึ้นไป) จำนวนมากต่างเดินทางไปเลือกตั้งในประเทศที่เป็นหมู่เกาะกว่า 1.8 หมื่นเกาะ

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในอินโดนีเซีย จะได้รับบัตรเลือกตั้งถึง 5 ใบ เพื่อลงคะแนนเลือกประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี ส.ส. ส.ว. และสมาชิกสภาท้องถิ่น

การเลือกตั้งของอินโดนีเซีย จะเลือกผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองสำคัญ ทั้งประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี ส.ส. ส.ว. และสมาชิกสภาท้องถิ่น ในคราวเดียวกัน ทำให้แต่ละคนจะได้บัตรเลือกตั้งถึง 5 ใบ

ผลการนับคะแนน โดยเฉพาะตำแหน่งประธานาธิบดี จะรู้ภายใน 3 ชั่วโมงหลังปิดหีบ โดยผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ 95% ‘โจโก วิโดโด’ ผู้นำคนปัจจุบันมีคะแนนนำ ‘ปราโบโว ซูเบียนโต' แต่ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการทาง กกต.อินโดนีเซียจะใช้เวลาตรวจสอบ และประกาศในอีก 2-3 สัปดาห์ถัดไป

ประเทศอินเดีย ‘การเลือกตั้งที่มีจำนวนผู้มีสิทธิมากที่สุดในโลก’ – ระหว่างวันที่ 11 เมษายนถึง 19 พฤษภาคม 2562

เนื่องจากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มากถึง 900 คน ในประเทศขนาดใหญ่ ทำให้ต้องแบ่งเวลาเลือกตั้งออกเป็น 7 ช่วง และในแต่ละรัฐจะแบ่งเวลาเลือกตั้งแตกต่างกัน แต่จะเริ่มนับคะแนนพร้อมกันในวันที่ 23 พฤษภาคม ก่อนประกาศผลในวันเดียวกัน

การเลือกตั้งของอินเดียจะเข้าไปเลือก ส.ส. ทั้งหมด 543 คน โดยผู้นำของพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด หรือรวบรวมเสียงได้มากที่สุด จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี

นเรทรา โมดี จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีอินเดียต่อไปหรือไม่ ผลการนับคะแนนในวันที่ 23 พ.ค.นี้จะให้คำตอบ

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ชาวอินเดียที่มีอายุเกิน 18 ปี จะได้โหวตผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เรียกว่า Electornic Voting Machine – EVM ซึ่งมีตั้งอยู่ในหน่วยเลือกตั้งต่างๆ กว่า 1 ล้านหน่วยเลือกตั้ง โดยจะตั้งไว้หน่วยละ 2 เครื่อง เครื่องจริง 1 เครื่อง และเครื่องสำรอง 1 เครื่อง

อินเดียเริ่มใช้ EVM อย่างเดียวในการลงคะแนนเลือก ส.ส. มาตั้งแต่ปี 2547 (หลังทดลองใช้ 5 ปีเต็มๆ) ซึ่งข้อดีก็คือ ทำให้บัตรเสียเป็นศูนย์ และประหยัดเวลาการนับคะแนนจากเดิม 30-40 วัน เป็นเหลือแค่ราว 3-4 ชั่วโมง พูดง่ายๆ คือรู้ผลใน 'วันเดียว' นั่นเอง

ประเทศไทย ‘การเลือกตั้งที่ …ในโลก ?’ – 24 มีนาคม 2562

ผ่านมาเกือบเดือนแล้ว ที่ผู้มีอายุเกิน 18 ปีกว่า 35.5 ล้านคนได้ออกมาหย่อนบัตรใช้สิทธิเลือกผู้แทนของตัวเอง แต่จนบัดนี้ กกต.ไทยก็ยังไม่สามารถสรุปสูตรคำนวณจำนวน ส.ส.ได้เสียที จนต้องถามไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ที่ไม่รู้ว่าที่สุดแล้วจะได้คำตอบกลับมาหรือไม่

สารพัดปัญหาที่เกิดขึ้นเวลานี้ ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากการไม่มีประสบการณ์ของ กกต.เอง ทั้งสำนักงานและตัวกรรมการ อีกส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากกติกาที่มีความซับซ้อนชวนงุนงง เช่น สูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่สามารถแตกไปได้เป็นอย่างน้อย 3 สูตร จนมีคนเรียกว่า ‘คณิตศาสตร์มหัศจรรย์’

การเลือกตั้งในเมืองไทย ยังมีแต่ความไม่แน่นอน

และแม้เราจะรู้ผลการลงคะแนนอย่างไม่เป็นทางการภายใน 1 สัปดาห์หลังวันคะแนน แต่ 'คะแนนดิบ' ที่เปิดเผยมาก็เอาไปคำนวณหรือทำอะไรต่อไม่ได้อยู่ดี เพราะต้องรอให้ กกต.แจกใบเหลือง ใบส้ม หรือใบแดง ให้เรียบร้อยเสียก่อน แถมเส้นตายในการประกาศผลยังขยายจากในอดีต 30 วัน ไปเป็น 60 วัน

ด้วยความไม่แน่นอนต่างๆ แถมคะแนนของพรรคการเมืองทั้ง 2 ขั้วยังใกล้เคียงกันอีก ทำให้สื่อต่างชาติแสดงความงุนงงว่า เลือกตั้งมาตั้งนานแล้ว ทำไมถึงยังไม่รู้ว่าใครจะได้เป็นรัฐบาลไทยชุดต่อไปเสียที

นี่คือข้อแตกต่างของการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันนี้ใน 3 ชาติของทวีปเอเชีย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0