โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เลือกตั้งรอบนี้ ไปใช้สิทธิให้ลุงกลัว : คุยกับ จอห์น วิญญู

The MATTER

อัพเดต 20 มี.ค. 2562 เวลา 03.24 น. • เผยแพร่ 19 มี.ค. 2562 เวลา 08.43 น. • Pulse

จาก ‘เจาะข่าวตื้น’ จนมาถึง ‘หาเรื่องคุย’ เราได้เห็น จอห์น—วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ หยิบจับประเด็นสำคัญในสังคมการเมือง มาปรุงรส บอกเล่าเรื่องราวได้อย่างเผ็ดร้อน พร้อมกับชวนคนดูตั้งคำถามถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นในสังคม

ในช่วงที่การเมืองกำลังร้อนแรง และบรรยากาศกำลังดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเข้าสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง อุณหภูมิการเมืองผ่านเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ของจอห์นเองก็เข้มข้นไม่แพ้กัน

อะไรทำให้เขาหัวร้อน? เราบุกไปคุยกับเขาที่ออฟฟิศแห่ง Spokedark TV กับคำถามว่าด้วยการเมืองบนโลกโซเชียล และการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ในการเลือกตั้งครั้งนี้

เราเห็นคุณบนโลกโซเชียลมีเดียบ่อยๆ ทั้งทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก คุณเห็นความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่บนโลกนี้ยังไงบ้าง

ผมคิดว่าสำหรับคนรุ่นใหม่ตื่นตัวกว่าเยอะ เพราะว่าโตขึ้นมากับการที่เคยชินกับการรับข้อมูลข่าวสารที่มันเร็ว เยอะ และเหมือนเป็นธรรมชาติของเขา เหมือนเวลาคนโตขึ้นมาแล้วก็ปั่นจักรยานเป็น คือมันเหมือนโอเค ล้มลุกคลุกคลานอยู่แปปหนึ่ง แล้วพอเป็นปุ๊ป มันจับทางถูก แล้วก็รู้เลยว่าจะต้องปั่นจักรยานยังไง

ผมรู้สึกว่าคนรุ่นใหม่เป็นอย่างงั้นเหมือนกัน กับการใช้โซเชียลมีเดีย แล้วก็การใช้อินเทอร์เน็ต

จริงๆ ก็เห็นความตื่นตัวของทั้งคนรุ่นใหม่ และคนรุ่นก่อนหน้านี้นะ เพราะว่าคนรุ่นก่อนหน้านี้ เอาง่ายๆ อย่างพ่อเราเอง (รศ.ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์) ก็ตื่นตัวกับโซเชียลมีเดียมาก เล่นทุกวัน เช็กทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก เป็นไลน์ พ่อก็จะมีกลุ่มไลน์ของเขา แล้วก็มีกลุ่มไลน์ครอบครัวที่เพื่อเอาไว้ดูหลาน ดูอะไรต่างๆเหล่านี้ แต่โชคดีว่าพ่อเป็นคนจะไม่เชื่อข่าวแชร์ในไลน์ (หัวเราะ)

คุณพ่อเล่นเฟซบุ๊กไหม

คุณพ่อชอบเล่นเฟซบุ๊ก เพราะว่าเขาชอบทั้งตัวเฟซบุ๊กที่เป็นส่วนตัว เพื่อจะเข้าไปอ่านข่าว ในขณะเดียวกันก็เป็นคนที่มีแฟนเพจ เขาก็จะคอยอัพพวกเรื่องราวที่เขาสนใจ บทความของเขาแล้วก็เข้าไปดูว่าคอมเมนต์ของคนเป็นยังไงบ้าง

ผมคิดว่าคนที่เป็นสไตล์คล้ายๆ คุณพ่อผมเนี่ย ก็มีอยู่จำนวนหนึ่งเลยนะ แล้วก็คนรุ่นก่อนหน้านี้ที่ไม่ได้คุ้นเคยกับโซเชียลมีเดียที่ใช้โซเชียลมีเดีย โดยที่แบบไม่เข้าใจว่าจริงๆ แล้วโซเชียลมีเดียมันมีความกว้างขวาง กว้างใหญ่ไพศาลมากๆ มันมองด้วยมุมที่แคบไม่ได้ มันจะต้องมองภาพรวมอะไรต่างๆด้วย แล้วก็รับฟังมุมมองของคนจำนวนเยอะมาก

ยิ่งใกล้เลือกตั้งเข้าไปเรื่อยๆ คุณเห็นอะไรที่เป็นจุดร่วมกันของคนรุ่นใหม่ในโลกโซเชียลมีเดียบ้าง

การแสดงความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ในโลกโซเชียลมีเดีย หรือโลกออนไลน์ มันเป็นอะไรที่เรารู้สึกตื่นตาตื่นใจมาก เพราะว่าผมไม่เคยเห็นคนตื่นตัวขนาดนี้มาก่อนนะกับการเลือกตั้ง

มันอาจจะเป็นเพราะกว่าเราจะได้เลือกตั้ง มันก็ 7-8 ปีแล้ว หรือว่าถ้าพูดถึงการเลือกตั้งที่กลายเป็นโมฆะ ตอนนั้นคนก็มีกระแสตื่นตัวกันพอสมควร เพราะว่าหลายคนก็แบบ กูอยากไปเลือกตั้ง บางคนก็บอกว่าไม่เอา อย่าไปเลือก ต้องให้มันเป็นโมฆะ หรือว่าต้องไปปิกนิก ไปขวาง โอเค เราก็เห็นอะไรประมาณนึง

แต่ว่าคือถ้านับย้อนกลับไปตอนนั้น ความตื่นตัว หรือการใช้โซเชียลมีเดีย มันยังไม่ได้แพร่หลายขนาดนี้ แต่สำหรับรอบนี้ผมเห็นการแสดงความคิดเห็น แล้วก็การเข้าไปมีส่วนร่วม การแสดงออกในมุมมองของการเลือกตั้ง และการมีส่วนร่วมกับการวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานที่ดูแลในเรื่องของการเลือกตั้งอย่าง กกต. เรื่องของการสรรหา ส.ว. เรื่องของการยุบพรรค เรื่องของแฮชแท็กอะไรต่างๆ คือเราเห็นความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่เยอะจริงๆ จนเรารู้สึก

ในมุมผมนะ หลายๆ ครั้งพอพูดถึงการเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมา อย่างการยึดอำนาจครั้งล่าสุด ผมก็ท้อ แล้วผมก็เฟลไปหลายเดือนเหมือนกันจนลุกขึ้นมาใหม่ แล้วก็กลับมาลุยต่อ เพราะว่ายังมีความเชื่อกับคนรุ่นใหม่ แล้วผมรู้สึกตื้นตันใจมาก สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ แม้ว่าผลจะออกมาแล้ว อาจจะยังมีความวุ่นวายตามมาอยู่ดี แต่ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้งก็ตาม ผมรู้สึกตื้นตันใจแล้วผมรู้สึกดีใจที่ตอนนั้นเราลุกขึ้นมาทำด้วยความเชื่อที่อยากเปลี่ยนแปลง

ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่ เขาไม่เอาหรอกกับวิธีการเดิมๆ หรือว่าสไตล์เดิมๆ หรือว่าวิธีการแก้ปัญหาแบบเดิมๆ ของคนรุ่นก่อน หรือคนที่กำลังถืออำนาจอยู่ในตอนนี้ เพราะฉะนั้นผมรู้สึกดีใจที่มันพิสูจน์แล้วว่า เฮ้ย คนรุ่นใหม่ตื่นตัวจริงๆ แล้วก็คนรุ่นใหม่ส่งเสียงจริงๆ

คิดว่าความตื่นตัวแบบนี้มันจะนำไปสู่อะไรบ้าง

ผมมั่นใจเลยว่าถ้าเกิดอะไรที่มันไม่ถูกต้อง ไม่แฟร์ และผิดปกติ มันมีความชัดเจนในความไม่โปร่งใส คนรุ่นใหม่ไม่ยอมหรอก เพราะว่าต่อไปมันคืออนาคตเขาไงครับ แล้วเขาไม่มีทางที่คิดว่า จะมาให้อนาคตพวกเรา ถูกตัดสินด้วยคนกลุ่มนี้ต่อไปหรอ

แม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ อย่างเรื่องแบบค่าตั๋วรถไฟใต้ดิน หรือว่าค่าไปหาหมอ เรื่องอะไรเล็กๆ ทั่วๆ ไปก็ตาม ทางเดิน ทางเท้าอะไรต่างๆ หรือเรื่องฝุ่น PM2.5 ซึ่งคนรุ่นใหม่ตื่นตัวกับปัญหาเหล่านี้นะ

แล้วคนรุ่นก่อนบางคน ก็พูดเหลือเกินว่าตัวเองรู้ดีที่สุด แต่ทำไมประเทศเรายังจมปลักอยู่อย่างนี้ เราก็ยังคงเป็นประเทศกำลังพัฒนาแบบนี้มากี่สิบปี กี่ทศวรรษแล้วก็ไม่รู้ แล้วก็มีคนแค่ไม่กี่คน ไม่กี่ครอบครัวไม่กี่กลุ่ม ที่รวยติดอันดับ forbes หรือว่าติดอันดับโลก แต่ในขณะที่ประเทศนี้ยังคงเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา แล้วก็มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดติดอันดับของโลก

คุณกำลังจะบอกว่า ความสงสัยในปัญหาที่ไม่ได้ถูกแก้ไขสักทีมันก็เกิดขึ้นมาด้วยในเวลานี้เหมือนกัน

เขาต้องเอ๊ะ! ขึ้นมาอยู่แล้วล่ะครับ แล้วเขาก็ต้องเริ่มมองหาแล้วคนที่ต้องมารับผิดชอบ แล้วสังคมในช่วงที่ผ่านมา ไม่เคยมีใครต้องรับผิดชอบอะไรเลย ถ้าเลือกตั้งไม่สำเร็จจะมีใครรับผิดชอบรึเปล่า รอบนี้ถ้ามันเป็นโมฆะขึ้นมา หรือว่ารอบนี้บัตรมีปัญหาอะไรขึ้นมา มีใครรับผิดชอบเปล่า ไม่มี การทำรัฐประหาร ก็ไม่เคยต้องรับผิดชอบ เพราะว่ามีนิรโทษกรรม

ผมเชื่อว่ารุ่นใหม่อาจจะกลายเป็นกลุ่มคนที่อาจจะลุกขึ้นมาบอกก็ได้นะว่าตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ใครทำรัฐประหาร คนนั้นต้องรับผิดชอบ

คนรุ่นใหม่มองอะไรที่เป็นเบสิกมากๆ เลย เช่น อันนี้ถูกก็คือถูก อันนี้ผิดก็คือผิด ก็กติกามันเป็นอย่างนี้ เขาคุ้นเคยกับการโตมากับการเล่นเกมที่มันมีกติกา

เขาโตมากับโลกแบบนี้ที่มันอธิบายง่ายๆ ว่า อันนี้มันผิดกติกา ยอมไม่ได้ หรือว่าเล่นเกมปุ๊ป แล้วมันมีสูตรแบบว่าเล่นคอนทรา หรือว่าเล่นเกมอะไรก็ตามแล้วมันมีสูตรโกง คือเขาก็จะมองว่าคนที่เล่นเกมโกงๆ ด้วยสูตรโกงแบบนี้ ถ้าไม่ใช่คนขี้โกง ก็คงเป็นคนที่ไม่แน่จริงนี่หว่า

คนรุ่นใหม่โตมากับสภาพแวดล้อมแบบนี้ พร้อมกับอะไรบางอย่างที่มันทำให้พวกเขาเข้าใจกฎเกณฑ์กติกามากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าเมื่อเขาเจออะไรที่มันมีความผิดปกติ ขี้โกง มั่ว ไม่เป็นขั้นตอน ข้ามขั้นตอน เอาเปรียบกัน พวกเขาก็ไม่ยอมหรอก

คิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็นทางออกให้กับปัญหาได้อย่างไร ในเมื่อหลายคนก็รู้สึกว่าถูกผู้ใหญ่บังคับให้มีอนาคตแบบนึงมาแล้ว โดยเฉพาะเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ในมุมผมนะ อันนี้ผมอาจจะผิดก็ได้ แต่ผมรู้สึกว่าเด็กอาจจะไม่ได้มองหรอกว่า “เออ เฮ้ย คุณมาวางอนาคตอะไรให้ผม 20 ปีวะ” เพราะผมว่าลึกๆ เขารู้ว่าการวางกฎกติกา วางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เอาคนของตัวเองเข้ามาเป็น ส.ว. แม้ว่ามันจะมีภาพเหมือนว่าเรามาวางอนาคตให้คุณ หรืออะไรต่างๆ แต่ผมว่าคนรุ่นใหม่เขารู้นะว่า ไม่อะ นี่มันเป็นการวางเกมของคนที่จะอยู่ในอำนาจนานๆ แล้วก็ใช้คำสวยหรูว่าเป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีมาวางอนาคตให้เรา

ผมว่าลึกๆ ประชาชน หรือว่าคนรุ่นใหม่ก็รู้ว่าอันนี้มันเป็นการวางเกม วางแผนอะไรสักอย่าง ผมว่าคนรุ่นใหม่รู้ คนรุ่นใหม่ไม่โง่ จริงๆ แม้ว่าเขาจะรู้สึกอยู่อย่างนั้นอยู่ด้านบน แต่ลึกๆ เขารู้อยู่แล้วว่าไม่หรอก มันคือการคุมอำนาจไว้ก็เท่านั้นเอง

ดูเหมือนว่า คุณค่อนข้างเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของคนรุ่นใหม่พอสมควร ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง คิดว่า 4-5 ปีที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่จะเจ็บปวดกับเรื่องอะไรมากที่สุด

พวกเขารู้สึกกังวลกับการไม่มีอนาคตนะ ถามจริงที่อยู่กันตรงนี้ รู้สึกว่าตัวเองมีอนาคตไหม คือผมไม่ได้บอกว่าก็มีอนาคตในหน้าที่การงานนะ แต่ถามจริงคุณมองว่า คุณภาพชีวิตของคุณเป็นยังไงวะ คือต้องไปซื้อประกันชีวิตแพงๆ แล้วจะมีเงินเก็บตอนแก่ไหมวะ ทุกวันนี้ทำงานในบริษัท เรามีความมั่นคงกับหน้าที่การงานขนาดไหน ถามจริง คุณคิดว่าคุณจะอยู่บริษัทนี้กี่ปี แล้วคุณคิดว่าคุณจบไป ออกจากบริษัทนี้ไป คุณจะมีเงินเก็บอยู่กับตัวเท่าไหร่ แล้วถ้าคุณป่วยขึ้นมา คุณทำยังไง ลองคิดดูก่อนก็ได้ ผมให้เวลาคุณคิดจริงๆ

คือวันนี้มันอาจจะแบบ “ก็พอจะไปรอดได้”  ถามจริง ณ วันนี้คุณมองเห็นอนาคตไหม เพราะว่าใน 5 ปีที่ผ่านมา การบริหารจัดการต่างๆ มันไม่มีคุณภาพ มันเอื้อประโยชน์ให้คนแค่บางกลุ่ม ความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากยิ่งขึ้น คนที่มีรายได้น้อยอยู่แล้วก็มีมากยิ่งขึ้น ชนชั้นกลางที่เคยเป็นชนชั้นกลางทีมีคุณภาพชีวิตที่โอเคอยู่ ก็ตอนนี้ก็กลายเป็นว่ามันไม่มีความมั่นคงในชีวิต กลายเป็นว่าคนที่ทำธุรกิจ SMEs หรืออะไรต่างๆ เหล่านี้ก็กลายเป็นว่าเจ๊ง แล้วก็เป็นหนี้เป็นสินมากยิ่งขึ้น

แล้วรัฐที่ควรจะต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อให้คุณภาพชีวิตและเรามีโอกาสมากยิ่งขึ้น โอกาสที่คุณจะไปต่อยอดความสามารถของคุณ ต่อยอดธุรกิจของคุณ ต่อยอดคุณภาพชีวิต ในเรื่องที่ว่าคุณป่วย คุณไปหาหมอได้โดยที่ไม่ต้องกังวล เออ มีไหม อะไรพวกนี้ คุณภาพชีวิตในการคมนาคมมันมีเปล่า คนที่อยู่ต่างจังหวัด คุณอยู่กาฬสินธุ์ บึงกาฬ สตูล ฯลฯ คุณก็ควรจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่ากับคนในกรุงเทพรึเปล่า

แล้วทำไมกรุงเทพแม่งมีแต่รถไฟฟ้า ทำไมในจังหวัดเราไม่มี ทำไมต้องเดินทางเข้ามาเรียนโรงเรียนดังๆ ในกรุงเทพหรือว่าตามหัวเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น ทำไมจังหวัดเรามีไม่ได้ แล้ว 5 ปีที่ผ่านมาหรือว่าในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่มันมีการรัฐประหารขึ้นมาเทียบกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่คุณเองมีสิทธิ์ที่จะเลือกได้ ที่คุณเองมีสิทธิ์ที่จะโวยวายใส่พวกเขาได้ มันมีความแตกต่างกันขนาดไหน

ผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่เขาสัมผัสได้ แล้วผมเชื่อว่าถ้าเขาคิดดูดีๆ แล้ว เขาก็น่าจะรู้ว่า ถ้ายังฝากอนาคตไว้กับพวกลุงพวกนี้นะ พังแน่นอน

หนึ่งในเรื่องที่คนรุ่นใหม่น่าจะเจ็บปวด คือเวลามีความคิดทางการเมืองที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ บางทีแค่คิดต่างก็จะโดนบอกว่าเป็นคนเกรี้ยวกราด ก้าวร้าว เข้าใจว่า คุณเองก็เคยโดนเรื่องพวกนี้เหมือนกัน

โดน โดนตลอดเลย มันก็เป็นความคิดเห็นเขา ผู้ใหญ่จะว่ายังไงก็เรื่องของเขา เพราะอะไรรู้ไหม เพราะว่าผู้ใหญ่ไม่ยอมมาคุยกับเรา พอบอกว่างั้นมาคุยข้อเท็จจริงกัน เช่นเรื่องที่รัฐบาลนี้ถูกมองว่ามีคอรัปชัน ช่วยอธิบายหน่อย แล้วมันตรวจสอบไม่ได้ด้วย ความโปร่งใสในการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นอย่างไร พอเราจะคุยอะไรพวกนี้ผู้ใหญ่บางคนก็เมินหน้าหนี ไม่คุยกับเรา

ผมไปงานเสวนา มีลุงที่สนับสนุนรัฐประหารสวนขึ้นมา ผมก็บอกงั้นมาคุยกันสิ มาคุยข้อเท็จจริงกัน แล้วก็กลายเป็นว่าไปอ้างคำสอนของพระพุทธเจ้า ผมว่ามันไม่เกี่ยวกัน เรากำลังพูดถึงกฎกติกาของสังคม

พอผมบอกโอเค เออ ทหารโดนโจมตีเยอะมากว่าเกี่ยวข้องกับการคอรัปชัน ทั้งทางด้านนโยบาย ลุงตู่เองก็เป็นตัวแปรนึงที่โดนตั้งคำถามเยอะ เรื่องความโปร่งใสของรัฐบาลนี้ ก็โอเค งั้นเรามาคุยกับคนเหล่านี้ดีกว่า ผมก็เชิญทั้งโฆษกรัฐบาล โฆษก คสช. โฆษก ทบ. ไม่มีใครมาเลย โฆษกรัฐบาลเองไม่มีใครมาเลย ผมเชิญลุงตู่สมัยที่เป็นผบ.ทบ. 2 ครั้ง ไม่มา เชิญสมัยที่เป็นนายกรัฐมนตรี 3 ครั้ง ไม่มา เชิญผ่านโซเชียลมีเดียเพื่อให้คนช่วยเรียกร้องให้มา ก็ไม่มา

ลุงตู่ปฏิเสธที่จะไปออกรายการให้สัมภาษณ์ ตอบคำถามของประชาชน ไม่มา แล้วคุณจะมาบอกได้ไงว่าเด็กรุ่นใหม่เกรี้ยวกราด ก็ต้องเกรี้ยวกราดสิ เพราะไม่ได้คำตอบไง

มันไม่แปลกเลยที่คนรุ่นใหม่จะเกรี้ยวกราด ไม่แปลกเลยที่คนรุ่นใหม่จะตั้งคำถามเพราะคนรุ่นก่อนไม่ตอบคำถามเรา  คนรุ่นก่อนบอกว่าห่วงอนาคตเรา แต่ไม่รับฟังเรา พอเราจะพูดก็ดูถูกดูแคลนเรา ดูถูกดูแคลนสติปัญญาเรา

คือเราก็อยากมีอนาคตเหมือนกัน แล้วทำไมไม่ให้เกียรติเรา เรายังให้เกียรติพวกคุณเลย คุณให้เกียรติเราบ้างดิ ผมว่าคนรุ่นใหม่ไม่ผิด คนรุ่นใหม่มีความอดทนพอสมควรแล้วนะ เขาโตมาสังคมแบบนี้ซึ่งจริงๆ เขาควรจะมีอนาคตที่ดีกว่านี้ คุณควรจะโตมาในสังคมที่แบบประเทศไทยอยู่ใกล้เคียงกับเกาหลีแล้ว

รู้สึกอย่างไรเวลาถูกวิจารณ์ว่าไม่ใช่คนไทย ไม่รักชาติ เป็นพวกชังชาติ

อันดับแรกผมคิดว่า ผมโดนบ่อยบอกว่า “มึงก็ไม่ใช่คนไทยมาอาศัยที่นั่นที่นี่อยู่” ซึ่งผมก็รู้สึกตลกดีเหมือนกัน เพราะพอถามว่าคนไทยจริงๆ คืออะไร คืออะไรคิดดูดีๆ คนไทยจริงๆ คืออะไร ยังหา origin ที่มาเรายังถกเถียงกันอยู่เลยนะ

คนที่พูดในเรื่องของการชังชาติ ไม่รักชาตินั้น คำที่เขาพูดเองเขายังไม่เข้าใจเลย จริงๆ นะ ผมอยากจะให้กำลังใจคนรุ่นใหม่ที่อาจจะโดนเหมือนผม ไม่ว่าจะแง่ไหน กรณีไหน อาจจะโดนบอกว่าเป็นพวกชังชาติรึเปล่า คนไทยรึเปล่า ไม่รักชาติตัวเองอะไรต่างๆ การที่คุณวิพากษ์วิจารณ์ประเทศตัวเองเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่ควร เพราะการวิพากษ์วิจารณ์นำพาไปสู่การเปลี่ยนแปลง แก้ไขและพัฒนาให้มันดีขึ้น

กำลังหมายความว่า การวิจารณ์ไม่ใช่ความเกลียดชัง

การวิจารณ์ไม่ใช่ความเกลียดชังอะไรเลย แต่แน่นอนความเกลียดชังอาจเกิดขึ้นได้ ถ้าเกิดว่าพวกคุณไม่รับฟัง ถ้ามันเป็นการวิจารณ์ที่อยู่บนเหตุและผล และพร้อมถกเถียง มันก็เลยย้อนกลับมาไงก็คนรุ่นเก่าไม่ฟังเรา พอเราจะเอาข้อมูลเอาอะไรไปถกเถียง มาดีเบตกันกับคนรุ่นก่อน คนรุ่นก่อนไม่ยอมมาดีเบต ดูแค่นายกฯ เราดิยังไม่ดีเบตเลย เพราะฉะนั้นมันก็มีสิทธิ์อยู่แล้วที่คนเราจะเกรี้ยวกราด เพราะว่าอยากจะคุย อยากจะแก้ปัญหา อยากให้ประเทศดีขึ้น แล้วที่สำคัญที่สุดอยากจะให้อนาคตดีขึ้น

ดูใน 5 ปีที่ผ่านมา พูดเรื่องนาฬิกาก็สามารถไปได้น้ำขุ่นๆ ว่ายืมมา ล่าสุดอย่างนายกก็สรุปว่าไม่ใช่ข้าราชการ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นรัฏฐาธิปัตย์ชั่วคราว แบบ โอ้โห! มีงี้ด้วยเหรอ

แล้วคิดว่าการเลือกตั้งครั้งที่จะเกิดขึ้นนี้ มันสำคัญกับคนรุ่นใหม่ยังไงบ้าง

ผมเชื่อว่ามันจะเป็นการออกมาแสดงจุดยืนอะไรสักอย่าง ถ้าคนรุ่นใหม่ออกมาใช้สิทธิ์กันเยอะๆ แล้วก็ตอนนี้เราเห็นกันเยอะมากเลยนะครับ คนรุ่นใหม่ที่อยู่ต่างแดนก็แชร์กันเยอะมากๆ อย่างล่าสุดก็มีแฟนๆของ spokedark เจาะข่าวตื้นส่งเรื่องราวมาเยอะมาก เรื่องการลงเสียงลงคะแนนต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นที่แคดานา ที่อเมริกา ที่อังกฤษ ที่ญี่ปุ่น ปัญหาเยอะแยะมากมายเต็มไปหมดเลย เขาก็ส่งมาแชร์ มาเล่าให้ฟังแล้วก็อยากให้เราเป็นกระบอกเสียง เพื่อที่จะเล่าเรื่องนี้ต่อไป

การเลือกตั้งครั้งนี้ มันจะเป็นทางออกให้กับความขัดแย้งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาได้ยังไงบ้าง

ผมว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นมากกว่านะ ทางออกจริงๆ แล้วของสังคมนี้ มันคือการที่เป็นประชาธิปไตย ขอใช้คำนี้ละกัน คือมันต้องเป็นประชาธิปไตย แล้วเมื่อมันเป็นประชาธิปไตยปุ๊ป การเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชน มันก็จะมีมากขึ้น ความโปร่งใสมันก็จะมีมากขึ้น การตรวจสอบอะไรต่างๆ มันก็จะมีมากขึ้น คนที่จะต้องรับผิดชอบกับการกระทำของตัวเอง มันก็จะต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทุกอย่างก็จะดีขึ้น

การเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่า ถ้าคนรุ่นใหม่ออกมาส่งเสียงกันเยอะๆ ออกมาใช้สิทธิ์กันเยอะๆ เพื่อที่จะให้คนที่อยู่ในอำนาจ โดยเฉพาะคนรุ่นเก่าๆ ที่คุ้นเคยกับวิธีการแบบเดิมๆ เพื่อที่ให้ตัวเองได้ประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่คนส่วนรวม ได้มีความกลัวกันบ้าง ว่าจะทำรอบต่อไปหรือจะใช้วิธีการเดิมๆ มันไม่ได้แล้วนะ

แล้วก็คนรุ่นใหม่เองก็จะได้รู้ว่า เสียงของคุณมีพลัง คุณจะได้ไม่ท้อ แล้วคุณก็จะได้ลุกขึ้นมาสนับสนุนความเป็นประชาธิปไตยกันได้อย่างสง่าผ่าเผย เพราะ ณ เวลานั้นคุณก็จะรู้แล้วแหละว่าคนที่จะกำหนดอนาคต จริงๆ แล้วมันต้องเป็นคุณ มันไม่ควรต้องเป็นคนรุ่นก่อน

ในรายการ ‘หาเรื่อง’ คุณได้คุยกับ 8 พรรคการเมือง คุณได้เรียนรู้อะไรจากการคุยกับคนที่หลากหลายบ้าง

พูดยังไงดี เอาตามตรงนะสำหรับผม ผมว่าผมได้ความพึงพอใจส่วนตัวนะ อันนี้อันดับแรก ผมได้ถามในสิ่งที่ผมอยากจะถาม และผมได้ถามในวิธีของผม เพราะหลายครั้งผมดูในทีวี แล้วผมรู้สึกว่า “ทำไมไม่ถามอันนี้ ถามสิ คนเขาอยากรู้”

ในขณะเดียวกันสิ่งที่ได้อีกอย่างคือ ผมรู้สึกว่าคนที่ดูรายการผม เขาเบื่อการใช้คำถามประดิษฐ์ประดอยคำเหลือเกิน แต่เราต้องการคุยกันตรงๆ ตอบมาง่ายๆ ภาษาง่ายๆ ไม่ต้องพูดเยอะ ไม่ต้องร่ายรำอะไรเยอะ ขอแบบตรงๆ เลย ผมคิดว่าเขาได้คำตอบอะไรที่เขาตัดสินใจได้เยอะนะ

วันก่อนได้อ่านบทสัมภาษณ์พ่อของคุณ เขาเองก็ดูเป็นห่วงคุณเวลาจัดรายการเหมือนกัน อยากรู้ว่าระหว่างคุณกับพ่อ มีวิธีประนีประนอมในเรื่องความคิดยังไงบ้าง

จริงๆ ไม่ค่อยประนีประนอมนะ เพราะพ่อก็จะพูดตรงไปตรงมา บางทีเขาก็พูด “เฮ้ย พ่อก็เสียวนะอันนี้” แต่เราก็บอกเขาว่า เพราะสิ่งที่เขาสอนเรามาตลอดก็คือสอนว่าหลักการมันต้องเป็นสากล แล้วก็ถูกต้อง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรานำเสนอ เมื่อมันอยู่บนพื้นฐานของหลักการแล้วก็ความสากลที่ทุกคนยอมรับ หรือคนส่วนใหญ่ยอมรับก็ได้อย่างนี้ละกัน มันก็น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

แล้วรายการเราก็เวลานำเสนออาจจะอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง แล้วก็เคลียร์ชัดเจน แต่มันอาจจะมีความเกรี้ยวกราด ความประชดประชัน ความตรงไปตรงมามากสำหรับสังคมไทย หรือคนบางกลุ่มในสังคมเรา เพราะฉะนั้นก็จะมีความรู้สึกเป็นกังวลแทน

แต่ช่วงหลังคุณพ่อก็ดูเหมือนจะติดลูกแล้วนะ เขาก็เริ่มมีความตรงไปตรงมา และขวานผ่าซากเหมือนกันแหละ แหม! ทำเป็นมาบอกว่าลูกแรง ลูกเป็นยังไง ส่วนหนึ่งก็มาจากพ่อจากแม่นั่นแหละครับ (หัวเราะ)

ในฐานะที่คุณเองก็เป็นพ่อคนแล้ว ถ้าลูกโตขึ้นแล้วไม่อยากเป็นแบบที่พ่อเป็น อยากเป็นตัวเองบ้าง คุณจะบอกกับเขายังไง

ก็ดีแล้วนะ เพราะผมว่าผมก็เป็นอย่างงั้นกับการเป็นลูกคุณพ่อผมเหมือนกัน คุณพ่อก็เคยอยากให้ผมเป็นอย่างงั้นเป็นอย่างงี้ด้วยความรักและห่วงใยแหละ และก็อยากให้เราเรียนกฎหมาย อยากให้เป็นผู้พิพากษา อยากจะให้ไปเป็นอัยการ อยากจะให้รับราชการอะไรแบบนี้ก็ไม่แปลก แต่ในมุมผมสิ่งที่เขาพูดมาไม่ใช่เชิงบังคับ หรือต้องการให้เราทำอย่างนั้นนะ แต่เหมือนเป็นทางเลือกที่เขาเสนอให้เรามากกว่า

ผมก็คงทำแบบนั้นเหมือนกัน ซึ่งเออมันน่าสนใจนะ ถ้าทุกวันนี้ผมเป็นอัยการ ผมเป็นผู้พิพากษา ผมก็คงมีบ้านพักหรูหราอยู่บนดอยก็ได้ แหม พ่อผมก็มองเกมขาดเหมือนกันนะเนี่ย จะว่าไปแล้ว (หัวเราะ) แต่ว่าอันนั้นมันก็เป็นช้อยส์ที่พ่อผมเคยบอก แล้วผมก็คงเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน

พอลูกผมโตขึ้นมาอยู่สักประมาณมัธยมฯ แล้วเดี๋ยวกำลังจะต้องเลือกอะไรต่อ ณ เวลานั้นผมอาจจะดูสภาพสังคม สภาพเศรษฐกิจก็ได้ ถ้าประเทศไทยเป็นอย่างนี้ต่อไป ผมอาจจะบอก “ลูกเรียนโรงเรียนนายร้อยเหอะ ลูก มันดูแล้วไปยาวนะลูก ไปเป็นทหารเถอะจริงๆ อาจจะได้เป็นนายกก็ได้ หรือลูกอาจจะได้มาเลือก ส.ว.ในอนาคตก็ได้นะลูก มันสุดยอด”  คือแบบเดี๋ยวดูก่อนไงอาจจะเป็นออฟชั่นซึ่งลูกจะเลือกไม่เลือกก็ได้ ไม่รู้ แล้วแต่ก็ใช้วิธีเดียวกับพ่อ (หัวเราะ)

คุณเชื่อรึเปล่าว่าการอยู่ร่วมกับคนต่างวัยกัน เราควรคุยกันโดยเสนอทางเลือกต่างๆ ให้กันและกัน มากกว่าการบังคับ

มันดีกว่าอยู่แล้ว ถ้ามันอยู่บนพื้นนฐานหลักการที่มันโอเค เอางี้ดีกว่าอย่างสมมติว่ามีออฟชั่นให้คุณเลือกก็ได้ว่า ระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตยก็เป็นออฟชั่นก็ได้นี่หว่า ก็ให้ประชาชนเลือกดิ “ว่าโอเคเด็กๆ หนูๆ ลุงป้าทุกคนตัดสินใจดีกว่าจะเลือกอะไร ระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตยก็เลือกแค่นั้นก็จบ” ก็ได้

แต่ว่าทุกวันนี้คนที่อยู่ในอำนาจ ผมว่าเขากำลังทำทุกอย่างเพื่อให้เราไม่มีสิทธิ์เลือก เลือกไม่ได้

ถ้าตอนนั้นพ่อบังคับผมว่า “ต้องเป็นแบบนี้ เรียนแบบนี้  มีออฟชั่นให้มึงแค่นี้จริงๆ” ผมก็อาจจะออกมาจากบ้านก็ได้ อาจจะไม่ยุ่งอะไรอีกก็ได้ อันนั้นผมว่ามันเป็นการบีบบังคับคน อารมณ์แบบคนจนตรอก

แล้วคุณคิดว่า จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อคนเราถูกทำให้หมดทางเลือก

เมื่อประชาชนไร้ซึ่งทางเลือก ผมว่า ณ จุดนั้นในหลายๆ หลายคนก็ลุกขึ้นมาสู้นะ

ทุกวันนี้คนที่อยู่ในอำนาจ เขาเหมือนแบบเขาไม่มีอะไรจะเสียแล้วรึเปล่า หรืออะไรผมก็ไม่รู้เหมือนกัน เขาก็คงคิดว่ามันเป็น เฮือกสุดท้ายของคนรุ่นเขาแล้วที่กูจะต้องทำแบบนี้ เพื่อให้อยู่ยาวที่สุด ลึกๆ เขาก็อาจจะรู้ว่าเขาไม่สามารถต้านกระแสโลก

ผมคิดว่า กระแสเทคโนโลยี disruption ต่างๆ ที่ มันมาเยอะแยะมากมาย disruption คงไม่ใช่เรื่องแท็กซี่ เรื่องการดูหนังที่บ้านอะไรต่างๆ เหล่านี้ หรือไม่ใช่เรื่องการเงินเท่านั้น disruption มันกลายเป็นสิ่งที่มีอยู่ทุกแวดวง ทุกวงการ disruption ทางการเมืองก็คงเป็นเหมือนกันเช่นเดียวกับการ disruption ของคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงคนรุ่นเก่า

ผมรู้สึกว่ายุคนี้เป็นยุคของ disruption ที่มีในทุกอย่าง คนที่อยู่ในอำนาจตอนนี้ก็คงพยายามต่อสู้กับ disruption นั่นอยู่มั้ง แต่ผมรู้สึกว่าท้ายที่สุดแล้วมันไม่สามารถที่จะต้านได้

และทำอะไรไม่ได้นอกจาก ยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น

Interview by Thanyawat Ippoodom & Kornkamon Srivat

Photo by Asadawut Boonlitsak

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0