โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เลี้ยงลูกแบบพ่อแม่ยุคใหม่ให้เขาโตไปเป็นคนที่รักในสิ่งที่ตัวเองเป็น

HealthyLiving

อัพเดต 02 ส.ค. 2562 เวลา 05.09 น. • เผยแพร่ 31 ก.ค. 2562 เวลา 00.00 น. • Healthy Living
dare-you-to_AUG-600x600.jpg

ถ้าได้อยู่ในตำแหน่งของพ่อและแม่ ไม่ว่าใครก็อยากจะเลี้ยงลูกให้เติบโตแข็งแรง ฉลาด จิตใจดี และเป็นเจ้าของความสำเร็จในอนาคตกันทั้งนั้น แต่กับพ่อแม่ยุคใหม่ที่มีคู่มือเลี้ยงลูกอยู่ทุกที่ ทั้งตำรามีชีวิตฉบับปู่ย่าตายาย ไปจนถึงตำราจากงานวิจัยและแนวคิดมากมายในโลกอินเทอร์เน็ต ยอมรับเถอะว่าในบางครั้ง คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็คงมีสับสนกันบ้างว่าจะเลี้ยงลูกแบบไหนและต้องตอบโจทย์ใดกันแน่?

ท่ามกลางแนวคิดมากมายและหลายหลาก หนึ่งในเทรนด์การเลี้ยงลูกของพ่อแม่ ‘หัวสมัยใหม่’ ที่อยากให้ลูกเติบโตโดยไม่มีกรอบเก่าๆ มากั้นเป็นอีกเทรนด์ที่มาแรง แต่การเลี้ยงลูกให้เขาได้เป็นตัวของตัวเองมากที่สุด และหลุดจากความคาดหวังของผู้ใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ การเลิก รื้อ และทดลองสิ่งใหม่ๆ จึงก็ต้องมาพร้อมกับการประนีประนอมวิถีเก่าๆ ของปู่ย่าตายายด้วย 

และนี่คือวิธีแบบ ‘modern parents’ ที่อยากชวนพ่อแม่มาลองทำความเข้าใจ ปู่ย่าตายาย (ไปจนถึงพี่ ป้า นา อา) มาเรียนรู้ไปด้วยกัน เพราะเราต่างส่งผลต่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ของเด็กๆ เสมอ 

เลิกเป็นผู้คุมกฎ 

อย่าเป็นพ่อแม่ตามระเบียบเป๊ะจนไม่ยืดหยุ่น เข้มงวดจนแทบไม่มีเหตุผลอธิบายว่าทำไมถึงทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะคิดว่าพ่อแม่คือคนที่หวังดีกับลูกที่สุดจึงมีสิทธิ์ที่จะห้ามปรามหรือวางกฎเกณฑ์ได้ แต่นั่นก็กลายเป็นว่าลูกจะอยู่กับความกลัวมากกว่าเหตุผลและไม่ค่อยมีความภาคภูมิใจในตัวเอง ที่น่ากังวลสุดๆ คือลูกจะมีแนวโน้มในการแสดงอารมณ์ก้าวร้าวเมื่ออยู่นอกบ้าน ไม่ก็ขี้อายมากผิดปกติด้วย!

แต่ถ้าสุดไปอีกทางด้วยการตามใจทุกอย่าง ให้อิสระเต็มที่ ผลกลับเป็นว่าเด็กอาจจะไม่สามารถเรียนรู้การอยู่ร่วมกับคนอื่นได้เลยและคิดว่าตัวเองจะต้องถูกเสมอและได้ทุกอย่าง ทางที่ดี พ่อแม่ ลูก หรือคนในครอบครัวจึงควรวางกติการ่วมกันแบบฟังความคิดเห็นของลูกด้วย หากเลือกดูแลกันในมุมนี้ ลูกจะมีความมั่นใจในตัวเอง แต่ก็รู้จักกติกาสังคม อยู่ร่วมกับคนอื่นได้ดีกว่านะ 

 

เลิกแต่งตัวตามใจพ่อแม่ 

ในขณะที่คุณตาคุณยายชอบใจที่หลานสาวใส่ชุดฟูฟ่อง หลายชายแต่งตัวทะมัดทะแมงในยูนิฟอร์มเท่ๆ พ่อแม่ยุคใหม่อาจตั้งคำถามว่าทำไมลูกสาวถึงอยากจะใส่แต่ชุดเจ้าหญิงดิสนีย์ ลูกชายรบเร้าอยากได้ชุดฮีโร่ปล่อยพลัง ทุกคนจึงเอาแต่ดึงดันที่อยากให้ลูกหลานแต่งตัวตามใจตัวเอง มิกซ์แอนด์แมตช์สไตล์ให้ลูกตามใจ (ตัวเอง) ชอบ ยิ่งถ่ายรูปอัพลงโลกโซเชียลแล้วได้ยอดไลก์ยอดชมมากมาย คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ (หรือคุณตาคุณยายยุคก่อน) ก็ยิ่งจริงจังกับการแต่งตัวลูกราวกับเล่นตุ๊กตา เพราะคิดว่าเด็กยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะแต่งตัวยังไงดี

ทั้งที่จริงแล้ว เด็กๆ ควรมีสิทธิ์เลือกเสื้อผ้าที่อยากจะใส่เพื่อแสดงความเป็นตัวเองเช่นผู้ใหญ่เหมือนกัน ในช่วง 3-4 ขวบ เด็กๆ จะเป็นเจ้าเผด็จการตัวน้อยที่อยากสั่งทุกอย่างให้เป็นดั่งใจ การถูกบังคับแม้แต่เรื่องเล็กๆ ว่าควรใส่เสื้อผ้าอะไรจึงเป็นการทำลายความมั่นใจของพวกเขา พ่อแม่ควรมีช้อยส์เล็กๆ ให้เขาเลือกว่าจะใส่อะไร และท้าให้พวกเขาลองแต่งตัวแข่งกับเวลาหรือทำแต่งตัวให้เสร็จเรียบร้อย ทั้งการกลัดกระดุม ผูกเชือกรองเท้า ฯลฯ นอกจากพัฒนาความมั่นใจ ยังเพิ่มทักษะในการใช้กล้ามเนื้อและการดูแลตัวเองให้เด็กๆ ได้ด้วย
อีกประเด็นที่พ่อแม่ควรรู้ไว้ หากเด็กหญิงอยากจะเป็นเจ้าหญิงขึ้นมา นั่นไม่ใช่เพราะลูกดูการ์ตูนมากไป แต่คือพัฒนาการที่เขาจะเรียนรู้อุดมคติของการเป็นเด็กหญิง เช่นเดียวกันกับการที่เด็กผู้ชายอยากเป็นฮีโร่ ทว่าหากหนุ่มน้อยนึกอยากจะใส่ชุดเจ้าหญิงขึ้นมา ผู้ใหญ่ก็อย่าทำเป็นว่าเขากำลังทำสิ่งผิดบาป เด็กทุกคนควรมีสิทธิ์ได้เรียนรู้ว่าเขาเหมาะสมกับสิ่งใด แต่สิ่งสำคัญคือผู้ใหญ่ควรบอกเล่าให้เขาได้รู้ว่า บทบาทของชายและหญิงไม่ได้อยู่ใน ‘ยูนิฟอร์ม’ เท่านั้น โลกนี้มีพยาบาลเป็นผู้ชาย ในการ์ตูนก็มีฮีโร่หญิง ให้เห็นว่าเพศไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงการแต่งตัวเท่านั้นและเขาสามารถเลือกที่จะเป็นอะไรก็ได้ที่ตัวเองอยากจะเป็น  

เลิกเอาแต่ป้อน

อย่าให้ทุกมื้ออาหารกลายเป็นสงคราม ลองให้ลูกได้เลือกและหยิบอาหารกินเองแม้กระทั่งตอนที่เขายังเด็กจนจับช้อนไม่เป็นด้วยซ้ำ วิธีนี้เรียกว่า Baby-Led Weaning (BLW) หรือการให้ลูกน้อยเลือกหยิบอาหารกินด้วยมือคู่น้อยๆ ของเขาเอง ไม่ต้องบดให้เละหรือหมั่นป้อนเหมือนเดิมๆ ที่เคยทำมา โดยวิธีนี้เริ่มได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป เน้นอาหารที่มีหลายเท็กซ์เจอร์และหยิบจับได้ในขนาดไม่ติดคอ เป็นได้ทั้งเนื้อสัตว์ ผัก หรือผลไม้ ที่เหมาะสมตามช่วงวัย หลักการสำคัญคือลูกต้องหยิบกินเอง เรียน รู้ ชิม เล่น ได้ตามใจชอบ ไม่บังคับว่าต้องกินปริมาณเท่าไหร่หรือคะยั้นคะยอจ้องจดจ่อให้กิน ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้เด็กๆ กินผักและผลไม้ง่ายขึ้น และมีพัฒนาการในการทำงานประสานกันระหว่างมือ สายตา และปาก ดีกว่าการป้อนแบบเดิมๆ หรือถ้าในช่วงแรกๆ ที่ลูกยังกินได้น้อยและเอาแต่เล่น พ่อแม่ก็ไม่ต้องกังวล เพราะในวัยก่อนขวบ อาหารเหล่านี้เป็นเพียงการเรียนรู้ เพราะมื้อหลักสำคัญมาจากนมแม่ต่างหาก

ในแง่หนึ่ง วิธีนี้ยังช่วยปลูกฝังวินัยและการอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วย เพราะเมื่อโตถึงวัยที่เริ่มต่อต้านการกิน พ่อแม่สามารถเพิ่มกติกา เช่น ต้องกินพร้อมกัน ถ้าไม่กินก็จะเก็บไปแล้วให้รอกินมื้อหน้าโดยไม่มีของว่างหรือขนมทดแทน ลูกจะเริ่มเรียนรู้และไม่เกี่ยงงอนเมื่อถึงเวลาอาหารเหมือนเด็กส่วนใหญ่ที่มักโยเยขอกินแต่ขนมด้วยนะ

เลิกแก้ปัญหาด้วยหน้าจอไอแพด 

อย่าเป็นแม่เหนื่อย พ่อเครียด แล้วส่งไอแพดให้ลูกเพื่อแก้ปัญหา แต่ก็อย่ากลัวเทคโนโลยีจนเกินไป เพราะหากใช้เป็น ใช้พอดี ลูกก็ได้เรียนรู้จากเทคโนโลยีที่รุ่นเราไม่เคยมีได้เช่นกัน ดังนั้น สิ่งที่พ่อแม่ยุคใหม่ควรเข้าใจ คือการวางกติกาเพื่อการอยู่กับเทคโนโลยีในปริมาณที่เหมาะสม เด็กๆไม่ควรอยู่กับไอแพดนานเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน ไม่ควรให้เล่นจนไม่ได้ทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น ออกไปวิ่งเล่นออกกำลังกาย อ่านนิทานกับพ่อแม่ หรือเล่นของเล่นฝึกทักษะ และไม่ควรเล่นไอแพดก่อนนอน 

คุณพ่อคุณแม่ควรบล็อกเว็บไซต์เสิร์ชเอนจิน เว็บไซต์ของผู้ใหญ่ และจำกัดการใช้งานให้เข้าถึงได้เพียงแอพพลิเคชั่น เกม เพลง และการ์ตูนที่ลูกจะได้เรียนรู้พยัญชนะ คำศัพท์ ตัวเลข หรือเกมฝึกสมองง่ายๆ เพื่อให้ลูกมีสมาธิและรู้จักโฟกัสในอนาคต และที่สำคัญที่สุด คุณพ่อคุณแม่หรือคนรอบตัวก็ต้องไม่ติดหน้าจอ หรือเอาแต่สไลด์สมาร์ทโฟนจนลูกไม่อาจเข้าใจว่าทำไมจึงถูกห้ามเล่นเพียงคนเดียวในบ้าน  

เลิกเป็นพ่อแม่เพอร์เฟ็กต์

เราอาจจะพอรู้กันอยู่ว่าการกดดันลูกให้เป็นไปตามความคาดหวังไม่ส่งผลดีต่อลูกแน่นอน (เพราะตอนเราเป็นลูก เราก็ไม่อยากถูกกดดัน) แต่สิ่งที่เราควรจะรู้เหมือนกัน คือต้องระวังไม่เผลอกดดันตัวเองมากไปด้วย แม้โลกออนไลน์จะทำให้เราเห็นพ่อแม่บ้านอื่นเพอร์เฟ็กต์อยู่เสมอ รับมือได้ดีเสมอ เข้าใจทุกอย่างเสมอ แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าพวกเขาจะเป็นอย่างนั้นเสมอไป 

พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องเป๊ะทุกอย่าง ไม่ต้องดีที่สุดตลอดเวลา เพราะนั่นจะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกโดดเดี่ยวเมื่อไม่อาจเพอร์เฟ็กต์อย่างที่พ่อแม่ (พยายาม) เป็น หากจะอยากเป็นพ่อแม่แบบไหน ควรเป็นพ่อแม่ที่พร้อมจะเรียนรู้ ผิดพลาด และโตไปกับลูกดีกว่า เพราะนั่นคือวิธีที่ลูกจะได้เรียนรู้โลกอันไม่สมบูรณ์แบบนี้โดยมีคนที่เขาไว้วางใจและพร้อมจะผิดพลาด ขอโทษ และจับมือกันลุกขึ้นไปพร้อมๆ กัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0