โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เร็วหรือช้า ผลคดียุบ "อนค." เริ่มขยับ ดีลพรรคสำรอง "พิธา" รับไม้ต่อ "ธนาธร"

ไทยโพสต์

อัพเดต 14 ธ.ค. 2562 เวลา 17.01 น. • เผยแพร่ 14 ธ.ค. 2562 เวลา 17.01 น. • ไทยโพสต์

 

        แวดวงการเมืองดูจะไม่แปลกใจกับปฏิกิริยาท่าทีของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่เริ่มออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกรัฐสภา ด้วยการเชิญชวนประชาชนให้ออกมาเคลื่อนไหวการเมืองเมื่อวันเสาร์ที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา ณ สกายวอล์ก ปทุมวัน

        เพราะส่วนใหญ่ประเมินไว้อยู่แล้วว่า ธนาธรจะต้องเดินมาแนวนี้ เพียงแต่ที่ประหลาดใจกันบ้างก็คือ ไม่นึกว่าธนาธรจะออกแอคชั่นเร็วเช่นนี้ เพราะก่อนหน้านี้มองกันว่าธนาธรน่าจะเริ่มเคลื่อนไหวหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ในคดีเงินกู้ 191 ล้านบาท ซึ่งหากพรรคอนาคตใหม่ไม่รอด ยังไงกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ทั้งหมดก็จะต้องโดนตัดสิทธิ์ทางการเมืองตามไปด้วย

        รวมถึงแวดวงการเมืองวิเคราะห์กันว่า ธนาธรและพลพรรคอนาคตใหม่น่าจะเริ่มทำการเมืองบนท้องถนนในช่วงเข้าด้ายเข้าเข็ม ในจังหวะการเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เช่น ตอนช่วงที่มีการเสนอให้แก้ไข รธน. โดยเฉพาะมาตรา 256 เพื่อปลดล็อกให้แก้ไข รธน.ทำได้ง่ายขึ้นในที่ประชุมร่วมรัฐสภา

        ที่คนมองกันว่าช่วงดังกล่าว หากสุดท้ายมีการเสนอญัตติให้แก้ไข รธน. แล้วบางฝ่าย เช่น ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล-สมาชิกวุฒิสภา มีท่าทีไม่เอาด้วย กลุ่มที่ต้องการให้แก้ไข รธน.อย่างเช่น พรรคฝ่ายค้าน และกลุ่มพรรคอนาคตใหม่ น่าจะออกมาทำการเมืองนอกรัฐสภาอย่างเต็มรูปแบบ เพราะเป็นธงการเมืองของอนาคตใหม่อยู่แล้ว ที่ต้องการแก้ไข รธน. เพื่อนำไปสู่การยกร่าง รธน.ใหม่ทั้งฉบับ

        แวดวงการเมืองเลยมองไว้ก่อนหน้านี้ว่า ธนาธรน่าจะออกแอคชั่นช่วงดังกล่าว

        อย่างไรก็ตาม การที่ธนาธรเริ่มคิกออฟการเมืองนอกรัฐสภาดังกล่าว ก็ทำให้สิ่งที่หลายคนประเมินไว้ก่อนหน้านี้เป็นสิ่งที่ไม่เหนือการคาดการณ์

        และทำให้ฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาล ความมั่นคง ที่ก่อนหน้านี้ไม่เชื่อว่าจะมีการเมืองบนท้องถนนเกิดขึ้นอีก ก็คงต้องประเมินสถานการณ์การเมืองกันใหม่ และคงจะมีการเพิ่มการจับตามองธนาธรและพรรคอนาคตใหม่มากขึ้นกว่าที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

        เพราะตอนนี้ก็ถือว่า คดียุบพรรคอนาคตใหม่ ในเงินกู้ 191 ล้านบาท ก็เดินหน้าไปตามลำดับและมีความรวดเร็วไม่ใช่น้อย

        เห็นได้จากการที่เมื่อวันศุกร์ที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้นำสำนวนคำร้องของ กกต.ไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัยแล้ว 

       ตามขั้นตอนต่อจากนี้ ก็ต้องรอดูว่าที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณารับคำร้องคดีดังกล่าวไว้พิจารณาหรือไม่ และหากรับคำร้องไว้แล้ว ผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไร

       ทั้งนี้ หากดูตามรูปคดีแล้ว ก็ไม่น่าจะมีอะไรเซอร์ไพรส์ คือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ น่าจะรับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัย

       แม้จะเริ่มมีการพูดถึงกันบ้างแล้วว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันเสียงข้างมาก 5 คน กำลังจะหมดวาระลงแล้วในอนาคตอันใกล้ หากที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบรายชื่อ 5 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญภายในกลางเดือนมกราคมปีหน้า จึงไม่ควรที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไว้วินิจฉัย เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องการวินิจฉัยคดีในช่วงเปลี่ยนผ่านได้

       อย่างไรก็ตาม มองอีกแง่หนึ่งก็ต้องยอมรับว่า กระบวนการพิจารณาให้ความเห็นชอบรายชื่อ 5 ตุลาการศาล รธน.ในชั้นวุฒิสภา ก็ไม่ได้มีอะไรแน่นอน เช่น การพิจารณาของวุฒิสภาอาจไม่เกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนมกราคม โดยอาจมีการเลื่อนการพิจารณาออกไปอีกถึงเดือนกุมภาพันธ์ก็เป็นไปได้ โดยอ้างว่ากระบวนการตรวจสอบประวัติ รายชื่อว่าที่ตุลาการศาล รธน.ชุดใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ

        รวมถึงก็ไม่แน่ คดียุบพรรคอนาคตใหม่ในสำนวนคำร้องเรื่องเงินกู้ 191ล้านบาท ก็อาจจะเสร็จก่อนการพิจารณาให้ความเห็นชอบรายชื่อ 5 ตุลาการศาล รธน.ของวุฒิสภาก็ได้

        ภายใต้สมมุติฐานที่ว่า หากเสียงข้างมากของตุลาการศาล รธน.เห็นว่า การพิจารณาคดีเงินกู้ 191 ล้านบาทดังกล่าว สามารถพิจารณาในแง่ข้อกฎหมายเพียงอย่างเดียวก็ได้ เพราะพยานหลักฐานต่างๆ ก็ครบถ้วนหมดแล้ว และเป็นเอกสารเปิดเผยทั้งหมด เนื่องจากมีการทำสัญญาเงินกู้ระหว่างนายธนาธรกับพรรคอนาคตใหม่อย่างเป็นทางการ และเป็นเอกสารที่ไปปรากฏในเอกสารบัญชีทรัพย์สินหนี้สินที่ธนาธรยื่นต่อสำนักงาน ป.ป.ช.

       จึงมีความเป็นไปได้เช่นกันที่เสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมตุลาการศาล รธน.อาจเห็นว่า เมื่อพยานหลักฐานครบถ้วนดีแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเปิดห้องพิจารณาไต่สวนคดี โดยก็ดูที่ตัวคำร้องของ กกต.แล้วให้ฝ่ายพรรคอนาคตใหม่ชี้แจงข้อกล่าวหา เพื่อหักล้างคำร้องของ กกต. จากนั้นก็วินิจฉัยในปมปัญหาข้อกฎหมายไปได้เลยว่า การกู้เงินดังกล่าวเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.พรรคการเมือง ตามที่ กกต.ร้องมาหรือไม่

       ดังนั้นหากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใช้เกณฑ์การพิจารณาเช่นนี้ จะทำให้สามารถรู้ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้เร็ว เพราะเป็นแค่การพิจารณาข้อกฎหมายอย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องไต่สวนสืบข้อเท็จจริงอะไร เปรียบไปก็เหมือนกับกรณีของคดีคำร้องยุบพรรคไทยรักษาชาติ ที่ศาล รธน.วินิจฉัยได้เร็ว เพราะเป็นแค่เรื่องการวินิจฉัยในปมปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้น

       ถ้าทุกอย่างเดินไปตามสเต็ปดังกล่าว ก็คาดว่าอาจทำให้สามารถรู้ผลคำวินิจฉัยของศาล รธน.ได้เร็วกว่าที่หลายคนคาดคิด

       โดยผลแห่งคดีก็จะออกมาได้แค่ 2 รูปแบบเท่านั้น คือ

        1.ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องของ กกต.

        คือพรรคอนาคตใหม่ ไม่ถูกยุบพรรค ไม่ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค

       2.ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่และตัดสิทธิ์การเมือง กรรมการบริหารพรรค

        โดยกรรมการบริหารพรรคอาจมีความผิด ฐานมีส่วนร่วมรับรู้และเห็นชอบในการทำนิติกรรมการกู้เงินดังกล่าว ระหว่างพรรคกับนายธนาธร โดยกรรมการบริหารพรรคได้ประโยชน์จากเงินกู้ดังกล่าวโดยตรง เพราะเป็นเงินที่ถูกนำไปใช้ในการเลือกตั้ง จนทำให้พรรคได้ ส.ส.มาจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะกรรมการบริหารร่วม 11 คน ก็ได้เข้าไปเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ หลังการเลือกตั้ง

       อย่างไรก็ตาม แม้ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ออกมา กระบวนการเพิ่งจะเริ่มต้นนับหนึ่ง ยังเหลืออีกหลายขั้นตอนในชั้นการพิจารณาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

แต่ปรากฏว่า แวดวงการเมือง ไม่ใช่แค่พลพรรค-กองเชียร์ พรรคอนาคตใหม่ ที่ตึกไทยซัมมิทเท่านั้น แต่วงการการเมืองมองไปไกลกว่านั้นแล้ว

       คือมองและพูดกันไปแล้วว่า 80 ส.ส.อนาคตใหม่ แยกเป็นปาร์ตี้ลิสต์ 50 คน, ส.ส.เขต 30 คน หรืออาจจะเป็น 69 ส.ส. หาก กกต.ไม่ให้มีการเลื่อนอันดับผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์คนอื่นๆ ในลำดับถัดๆ ไปของพรรค ขึ้นมาแทน 11 กรรมการบริหารพรรคที่เป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แล้วโดนตัดสิทธิ์  

       พบว่าช่วงเวลานี้แวดวงการเมืองเริ่มหาข่าวกันแล้วว่า กลุ่ม ส.ส.อนาคตใหม่ดังกล่าว จะย้ายไปอยู่พรรคการเมืองไหน หลังอนาคตใหม่โดนยุบพรรค

       โดยแทบไม่มีใครสนใจติดตามกันแล้วว่าฝ่ายกฎหมายของพรรคอนาคตใหม่จะมีแท็กติกการสู้คดีเพื่อหักล้างคำร้องของ กกต.อย่างไร แต่มองข้ามช็อตไปแล้วว่า พรรคการเมืองใหม่-บ้านหลังใหม่ของกลุ่ม ส.ส.อนาคตใหม่ จะเป็นพรรคการเมืองจัดตั้งใหม่ ที่ยังไม่มี ส.ส.ในสภาฯ หรือจะเป็นพรรคการเมืองที่มี ส.ส.อยู่ในสภาฯ แล้ว และมีแนวทางที่พอไปกันได้กับอนาคตใหม่ ที่ก็คือเป็นพรรคฝ่ายค้าน ก็จะให้ย้ายไปอยู่ร่วมกันก่อน แล้วค่อยขยับขยายอีกรอบหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

        ที่กระแสข่าวเริ่มออกมาว่า สูตรการหาบ้านหลังใหม่ของ ส.ส.อนาคตใหม่ ที่ระดับแกนนำพรรคมองไว้ก็คือ จะให้ ส.ส.ของพรรคไปอยู่กับพรรคการเมืองที่ไปจดแจ้งชื่อไว้กับสำนักงาน กกต.เรียบร้อยแล้ว และเป็นพรรคที่ยังไม่มี ส.ส.ในสภาฯ เป็นสูตรที่ลงตัวมากที่สุด

        บนข่าวว่า ดีลดังกล่าวมีชื่อพรรคการเมืองอยู่ในลิสต์แล้วน่าจะประมาณ 2-3 พรรค โดยหากย้ายเข้าไปแล้ว หากไม่พอใจชื่อพรรค และต้องการให้ ส.ส.ของพรรคมีตำแหน่งต่างๆ ในพรรคดังกล่าว ก็สามารถเรียกประชุมกรรมการบริหารพรรคเปลี่ยนชื่อพรรคได้ในภายหลัง กฎหมายเปิดช่องไว้ให้ทำได้

        ผสมกับข่าวที่ออกมาหลายระลอกว่า คนที่จะมารับไม้นำพาพรรคใหม่ให้เดินไปแบบเดียวกับพรรคอนาคตใหม่ต่อจากธนาธรก็คือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค และปัจจุบันมีบทบาทในสภาฯ เป็นประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เว้นเสียแต่พิธาไม่อยากเสี่ยงแบบธนาธร-ปิยบุตร หากต้องขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคแล้วต้องเล่นบทการเมืองแบบเดียวกับธนาธร จึงไม่ขอรับไม้ต่อจากธนาธร ขอเป็น ส.ส.อย่างเดียว ถ้าออกมาแบบนี้ สูตรดังกล่าวก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงต่อไป

        โดยพรรคการเมืองตั้งใหม่ดังกล่าว แกนนำพรรคอย่างธนาธร-ปิยบุตร จะไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องใดๆ ได้โดยเปิดเผย เพราะกฎหมายเขียนไว้ว่า บุคคลที่เป็นกรรมการบริหารพรรคในพรรคการเมืองที่โดนยุบพรรค จะไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องใดๆ กับพรรคการเมืองได้อีกเป็นเวลาร่วมสิบปี

        จุดนี้แหละที่อาจทำให้เส้นทางเดินของพรรคใหม่ที่ไม่มีธนาธร-ปิยบุตร ออกมาอยู่แถวหน้าเรียกคะแนน และที่สำคัญจะขาด ”เงินทุน” จากธนาธร ที่อาจคิดว่าลงทุน-ลงแรงไป แต่ต้องอยู่หลังฉาก ทำอะไรไม่ได้ เพราะโดนตัดสิทธิ์ ก็อาจไม่ทุ่มเต็มที่แบบตอนทำพรรคอนาคตใหม่

        ถ้าเป็นแบบนี้ การขับเคลื่อนของกลุ่ม ส.ส.อนาคตใหม่ ใน แบรนด์ใหม่-พรรคใหม่ ที่ไม่มีธนาธร-ปิยบุตรอยู่ทัพหน้า ก็อาจไม่ทรงพลังเหมือนยุคแบรนด์อนาคตใหม่

        เงื่อนไขข้างต้นอาจทำให้ ส.ส.อนาคตใหม่บางส่วน โดยเฉพาะ ส.ส.เขต ลังเลใจที่จะเกาะกลุ่มไปอยู่พรรคใหม่พร้อมกันหมด สู้สวิงไปอยู่กับบางพรรค โดยเฉพาะพรรคฝ่ายรัฐบาล ที่ให้เงื่อนไขการย้ายเข้าพรรคที่ปฏิเสธได้ยาก อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ในจังหวะที่เตรียมเปิดให้แล้ว

        จึงไม่แปลกที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่า บ้านหลังใหม่ หากอนาคตใหม่โดนยุบ หลายอย่างคงไม่เหมือนเดิม.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0