โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เรือ 52 ลำ กับกำลังพล 2,399 นาย ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 09 ธ.ค. 2562 เวลา 10.13 น. • เผยแพร่ 16 ก.ย 2562 เวลา 13.51 น.

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

ในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ ชาวไทยจะได้เห็นภาพความยิ่งใหญ่และสวยงามตระการตาของ ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ซึ่งเป็นการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งแรกในรอบ 7 ปี นับตั้งแต่เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จฯโดยขบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ก่อนที่เราจะได้เห็นหรือได้เป็นส่วนหนึ่งในพระราชพิธีครั้งยิ่งใหญ่นี้ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมและเรียบเรียงข้อมูลเรือทั้ง 52 ลำ ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค พร้อมทั้งรูปแบบการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคมาให้ได้อ่าน เตรียมความรู้ความเข้าใจกันก่อนที่จะได้ชมของจริง

การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ประกอบด้วย เรือทั้งหมด 52 ลำ ใช้กำลังพลประจำเรือรวม 2,399 นาย แบ่งเป็น กำลังพลฝีพาย 2,200 นาย และกำลังพลที่เกี่ยวข้อง เช่น กำลังพลจากสำนักพระราชวัง และนักดนตรีประจำเรือ 199 นาย สำหรับการจัดรูปขบวนพยุหยาตราทางชลมารค แบ่งออกเป็น 5 ริ้ว 3 สาย ดังนี้

ริ้วสายกลาง เป็นเรือสายสำคัญ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง 4 ลำ ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ นอกจากนี้มี เรืออีเหลือง (เรือกลองนอก) เรือแตงโม (เรือกลองใน) ซึ่งเป็นเรือของผู้บัญชาการขบวนเรือ พร้อมด้วยเรือตำรวจ 3 ลำ และเรือแซง 1 ลำ รวมเป็นจำนวน 10 ลำ

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์

มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ ลำปัจจุบันนี้เป็นเรือสร้างใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) แต่แล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำเมื่อ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454

ลักษณะโขนหัวเรือจำหลักเป็นรูปหงส์ ลงรักปิดทองประดับกระจก มีพู่จามรีห้อยปลายพู่เป็นแก้วผลึก ภายนอกทาสีดำ ท้องเรือภายในทาสีแดง ตอนกลางลำเรือทอดบัลลังก์กัญญา หรือบุษบก สำหรับเป็นที่ประทับ เรือมีความยาว 44.90 เมตร กว้าง 3.17 เมตร ลึก 0.94 เมตร

ใช้กำลังพลรวมจำนวน 71 นาย แยกเป็น กำลังพลประจำเรือ 64 นาย ประกอบด้วย นายเรือ 2 นาย นายท้าย 2 นาย ฝีพาย 50 นาย คนถือธงท้าย 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย คนขานยาว 1 นาย คนถือฉัตร 7 นาย และเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง จำนวน 7 นาย

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. พ.ศ. 2535 องค์การเรือโลกแห่งสหราชอาณาจักร พิจารณามอบรางวัลเรือโลกแก่เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ โดยคณะกรรมการองค์การ World Ship Trust เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญรางวัลเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เหรียญรางวัลมรดกทางทะเลขององค์การเรือโลก ประจำ พ.ศ. 2535 (The World Ship Trust Maritime Heritage Award “Suphannahong Royal Barge”) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานเหรียญรางวัลดังกล่าวแก่อธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบดูแลรักษาเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์

*เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช *

สร้างขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ส่วนลำปัจจุบันนั้นเป็นเรือสร้างใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 6 ลักษณะโขนเรือปิดทองประดับกระจกเป็นรูปพญาอนันตนาคราช หรือพญานาค 7 เศียร กลางลำเรือทอดบุษบกใช้ประดิษฐานพระพุทธรูป หรือผ้าพระกฐิน ลำเรือภายนอกทาสีเขียว ท้องเรือภายในทาสีแดง ตัวเรือมีความยาว 44.85 เมตร กว้าง 2.58 เมตร ลึก 0.87 เมตร

ใช้กำลังพลรวมจำนวน 72 นาย แยกเป็น กำลังพลประจำเรือ 69 นาย ประกอบด้วย นายเรือ 2 นาย นายท้าย 2 นาย ฝีพาย 54 นาย คนถือธงท้าย 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย คนถือฉัตร 7 นาย คนขานยาว 1 นาย พนักงานเห่เรือ 1 นาย และเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง จำนวน 3 นาย

*เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 *

จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษกแห่ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2539 โดยกองทัพเรือร่วมกับกรมศิลปากรได้นำโขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 มาเป็นต้นแบบ โดยกองทัพเรือสร้างในส่วนที่เป็นโครงสร้างเรือ พาย และคัดฉาก ส่วนกรมศิลปากรดำเนินการในงานที่เกี่ยวกับศิลปกรรมของเรือทั้งหมด

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางกระดูกงูเรือ ณ กรมอู่ทหารเรือ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 5 ก.ย. พ.ศ. 2537 และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระราชอิสริยยศขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในพิธีปล่อยเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ลงน้ำเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2539

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เคยเป็นเรือพระที่นั่งทรงเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539

ลักษณะโขนเรือจำหลักรูปพระวิษณุประทับยืนบนครุฑ พระวรกายคล้ำ ในพระกรทั้ง 4 ทรงถือจักร สังข์ คฑา และตรีศูล ประทับบนครุฑยุดนาค หรือครุฑที่จับนาค 2 ตัวชูขึ้น ที่หัวเรือเบื้องใต้ครุฑเป็นช่องสำหรับใส่ปืนใหญ่ กลางลำเรือทอดบัลลังก์กัญญาและมีแท่นประทับ ท้องเรือภายในทาสีแดง ตัวเรือมีความยาว 44.30 เมตร กว้าง 3.20 เมตร ลึก 1.10 เมตร

ใช้กำลังพลรวมจำนวน 71 นาย แยกเป็น กำลังพลประจำเรือ 64 นาย ประกอบด้วย นายเรือ 2 นาย นายท้าย 2 นาย ฝีพาย 50 นาย คนถือธงท้าย 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย คนถือฉัตร 7 นาย คนขานยาว 1 นาย และเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง จำนวน 7 นาย

 

*เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ *

เป็นเรือสร้างใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ซึ่งเป็นเรือที่งดการเข้าร่วมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เมื่อ พ.ศ. 2510 เนื่องจากอยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก ต่อมาใน พ.ศ. 2512 ได้รับการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ และบูรณะซ่อมแซมแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2515

ลักษณะหัวเรือลงรักปิดทองลายรดน้ำเป็นรูปพญานาคเล็ก ๆ จำนวนมาก ตอนกลางลำเรือทอดบัลลังก์กัญญา ซึ่งเป็นที่ประทับเปลื้องเครื่อง หรือเปลื้องพระชฎามหากฐิน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก่อนเสด็จขึ้นหรือลงเรือพระที่นั่งอีกลำ ลำเรือภายนอกทาสีชมพู ท้องเรือภายในทาสีแดง ตัวเรือมีความยาว 45.67 เมตร กว้าง 2.91 เมตร ลึก 0.91 เมตร

ใช้กำลังพลรวม 82 นาย แยกเป็น กำลังพลประจำเรือจำนวน 75 นาย ประกอบด้วย นายเรือ 2 นาย นายท้าย 2 นาย ฝีพาย 61 นาย คนถือธงท้าย 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย คนถือฉัตร 7 นาย คนขานยาว 1 นาย และเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง 7 นาย

*เรือตำรวจ *

เรือตำรวจมีหน้าที่เป็นองครักษ์ มีพระตำรวจหลวงชั้นปลัดกรมนั่งคฤห์ มีจำนวน 3 ลำ ไม่พบประวัติการสร้าง

รูปร่างและขนาดของเรือทาน้ำมันสีดำเกลี้ยงตลอดทั้งลำเรือ ความยาว 20.97 เมตร ความกว้าง 1.41 เมตร ความลึกท้องเรือ 0.47 เมตร

ใช้กำลังพลประจำเรือลำละ 28 นาย ประกอบด้วย นายเรือ 1 นาย นายท้าย 2 นาย ฝีพาย 24 นาย พลสัญญาณ 1 นาย

*เรืออีเหลือง *

เรืออีเหลือง (เรือกลองนอก) ใช้สำหรับเป็นเรือกลองบรรเลงดนตรี มีตำแหน่งอยู่ด้านหน้าสุดของริ้วสายกลาง มีเครื่องดนตรีปี่ชวาและกลองแขกใช้ในการบรรเลง ไม่พบหลักฐานการสร้าง พบเพียงหลักฐานการซ่อมใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2524 เพื่อใช้สำหรับงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ในปี พ.ศ. 2525

ลักษณะเป็นเรือกราบ กว้าง 1.68 เมตร ยาว 24.25 เมตร ความลึก 0.55 เมตร

ใช้กำลังพลประจำเรือ 36 นาย ประกอบด้วย นายเรือ 1 นาย นายท้าย 2 นาย ฝีพาย 27 นาย พลสัญญาณ 1 นาย และนักดนตรีประจำเรือ 5 นาย

*เรือแตงโม *

เรือแตงโม (เรือกลองใน) ใช้สำหรับผู้บัญชาการกระบวนเรือ และเป็นเรือกลองสำหรับบรรเลง ไม่พบประวัติการสร้าง พบเพียงประวัติการซ่อมใหญ่ในปี พ.ศ. 2524 โดยเปลี่ยนไม้ตัวเรือที่ชำรุดและผุพังตามกาลเวลาในบางส่วน ทาสีตัวเรือใหม่ และงานส่วนอื่น ๆ อีกเล็กน้อย เพื่อใช้สำหรับงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี

ลักษณะเป็นเรือกราบ ขนาดเรือกว้าง 1.91 เมตร ยาวตลอดลำเรือ 24 เมตร ลึก 62 เซนติเมตร

ใช้กำลังพลประจำเรือ 37 นาย ประกอบด้วย นายเรือ 1 นาย นายท้าย 2 นาย ฝีพาย 28 นาย พลสัญญาณ 1 นาย และนักดนตรีประจำเรือ 5 นาย

*เรือแซง *

เรือแซงเป็นเรือที่ทำหน้าที่อารักขาพระมหากษัตริย์ เหมือนกับทหารมหาดเล็ก สามารถแซงเรือในขบวนมาอารักขาพระมหากษัตริย์ได้ มีจำนวน 7 ลำ ไม่พบหลักฐานที่สร้าง แต่มีบันทึกไว้ว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้จัดเรือแซงจำนวน 4 ลำ ไว้ท้ายขบวน และในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้เพิ่มสำหรับพระตำรวจอีก 2 ลำ โดยใน 4 ลำแรกใช้ทหาร จึงเรียกว่า “เรือแซงทหาร” ส่วนอีก 2 ลำนั้นเรียก “เรือแซง” ต่อมาในรัชกาลที่ 7 ได้ตัดเรือแซงของพระตำรวจออกไป และเรือแซงทหารได้เปลี่ยนชื่อเป็นเรือแซงจนถึงปัจจุบัน ในผังการจัดรูปขบวนเรือ เรือแซง 1-6 อยู่ในริ้วสายนอก แต่มี 1 ลำ คือ เรือแซง 7 ซึ่งเป็นลำที่ปิดท้ายขบวนนั้น อยู่ในตำแหน่งริ้วสายกลางต่อจากเรือตำรวจ

รูปร่างและขนาดเรือ ลักษณะหัวเรือเชิดขึ้นเหนือแนวน้ำทาสีดำ แต่ละลำมีขนาดไม่เท่ากัน โดยเรือแซง 1-6 มีความยาวเท่ากัน คือ 23.2 เมตร แต่มีความกว้างไม่เท่ากัน โดยอยู่ระหว่าง 1.40-1.62 เมตร ส่วนเรือแซง 7 มีความยาว 24.7 เมตร กว้าง 1.5 เมตร

ใช้กำลังพลประจำเรือ 34 นาย ประกอบด้วย ฝีพาย 30 นาย นายเรือ 1 นาย นายท้าย 2 นาย พลสัญญาณ 1 นาย

ริ้วสายใน ขนาบข้างสายเรือพระที่นั่ง ประกอบด้วย เรือทองขวานฟ้า และเรือทองบ้าบิ่น เป็นเรือประตูหน้า เรือเสือทะยานชลและเรือเสือคำรณสินธุ์ เป็นเรือพิฆาต เรือรูปสัตว์ 8 ลำ ปิดท้ายสายในด้วย เรือเอกไชยเหินหาว และเรือเอกไชยหลาวทอง ซึ่งเป็นเรือคู่ชัก รวมเป็นจำนวน 14 ลำ

*เรือทองขวานฟ้า และเรือทองบ้าบิ่น *

ทำหน้าที่เป็นเรือประตูหน้า หรือเรือสำหรับนำหน้าขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เรือลำเดิมไม่พบหลักฐานในการสร้าง เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดจากอากาศยานที่ถล่มกรุงเทพมหานคร สร้างความเสียหายให้กับเรือพระราชพิธีทั้ง 2 ลำนี้มาก กรมศิลปากรจึงได้ตัดหัวเรือและท้ายเรือเดิมเก็บไว้ และได้สร้างตัวเรือขึ้นใหม่

เรือทั้ง 2 ลำมีลักษณะเป็นเรือดั้งทาน้ำมัน ยอดดั้งปิดทอง หัวเรือแกะสลักลวดลาย ท้ายเรือลงรักปิดทองประดับกระจก ตัวเรือความยาว 32.08 เมตร กว้าง 1.88 เมตร ลึก 64 เซนติเมตร

ใช้กำลังพลประจำเรือลำละ 43 นาย ประกอบด้วย นายเรือ 1 นาย นายท้าย 2 นาย ฝีพาย 39 นาย และผู้ให้สัญญาณ 1 นาย และมีปลัดกระทรวงกลาโหมนั่งในกัญญาเรือทองขวานฟ้า ปลัดกระทรวงมหาดไทยนั่งในกัญญาเรือทองบ้าบิ่น

เรือเสือทะยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์

เรือเสือทะยานชลและเรือเสือคำรณสินธุ์ เป็นเรือประเภทเรือพิฆาต มีหน้าที่สำหรับทำการรบโดยเฉพาะ ไม่พบหลักฐานการสร้างและจำนวนที่สร้างชัดเจน แต่ปรากฏชื่อเรือทั้ง 2 ลำ ในลิลิตกระบวนแห่พระกฐินพยุหยาตราทั้งทางสถลมารคและทางชลมารค ใน พ.ศ. 2387 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 เรือพิฆาตเหลือเพียง 1 คู่ คือ เรือเสือทะยานชลและเรือเสือคำรณสินธุ์ เรือทั้ง 2 ลำได้บูรณะซ่อมแซมใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2524 เช่น เปลี่ยนไม้ตัวเรือที่ผุชำรุดบางส่วน ตกแต่งลวดลาย ทาสีตัวเรือ เป็นต้น ตัวเรือวาดลงสีรูปเสือไว้ที่หัวเรือ ซึ่งมีช่องที่มีปืนใหญ่ยื่นออกมา ภายในท้องเรือทาสีแดง

ลักษณะตัวเรือมีความยาว 22.23 เมตร กว้าง 1.75 เมตร ความลึกท้องเรือ 0.70 เมตร

ใช้กำลังพลประจำเรือลำละ 34 นาย ประกอบด้วย นายเรือ 1 นาย นายท้าย 2 นาย ฝีพาย 26 นาย พลสัญญาณ 1 นาย และคนนั่งประจำคฤห์ 3 นาย

*เรืออสุรวายุภักษ์ และเรืออสุรปักษี *

เรืออสุรวายุภักษ์ และเรืออสุรปักษี สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) และรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เดิมใช้ชื่อว่า อสุรปักษีสมุทร หรืออสุรปักษา ทั้งนี้ เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดจากอากาศยานที่ถล่มกรุงเทพมหานคร สร้างความเสียหายให้เรือพระราชพิธีทั้งสองลำนี้มาก ต่อมากองทัพเรือร่วมกับกรมศิลปากรดำเนินการบูรณะซ่อมแซมใหญ่เรืออสุรปักษี เมื่อ พ.ศ. 2508 ส่วนเรืออสุรวายุภักษ์ได้บูรณะซ่อมแซมใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2514

ลักษณะโขนเรือของเรืออสุรวายุภักษ์ เป็นรูปครึ่งยักษ์ครึ่งนก มีองค์สีม่วง ส่วนโขนเรือของเรืออสุรปักษี เป็นรูปครึ่งยักษ์ครึ่งนก มีองค์สีเขียว ความยาว 31 เมตร ความกว้าง 2.03 เมตร ความลึกถึงท้องเรือ 0.62 เมตร

ใช้กำลังพลประจำเรือลำละ 57 นาย ประกอบด้วย นายเรือ 1 นาย นายท้าย 2 นาย ฝีพาย 40 นาย คนถือธงท้าย 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย คนกระทุ้งเส้า (ให้จังหวะ) 2 นาย และคนตีกลองชนะ 10 นาย

*เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ และเรือกระบี่ปราบเมืองมาร *

สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 1 เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดจากอากาศยานที่ถล่มกรุงเทพมหานคร สร้างความเสียหายให้กับเรือพระราชพิธีทั้งสองลำนี้มาก กรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการตัดหัวโขนเรือและท้ายเรือเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์เมื่อ พ.ศ. 2491 ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2510 ได้ทำการสร้างตัวเรือใหม่ โดยใช้หัวโขนเรือเดิมนำมาซ่อมแซมประกอบ

ลักษณะโขนเรือของเรือกระบี่ปราบเมืองมาร เป็นรูปวานร (หนุมาน) ร่างกายสีขาว ส่วนโขนเรือของเรือกระบี่ราญรอนราพณ์ เป็นรูปวานร (นิลพัท) ไม่สวมเครื่องประดับหัว ร่างกายสีดำ ความยาวเรือ 26.80 เมตร ความกว้าง 2.10 เมตร ความลึกถึงท้องเรือ 0.51 เมตร

ใช้กำลังพลประจำเรือลำละ 53 นาย ประกอบด้วย นายเรือ 1 นาย นายท้าย 2 นาย ฝีพาย 36 นาย คนถือธงท้าย 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย คนกระทุ้งเส้า (ให้จังหวะ) 2 นาย และคนตีกลองชนะ 10 นาย

*เรือพาลีรั้งทวีป และเรือสุครีพครองเมือง *

เรือพาลีรั้งทวีป และเรือสุครีพครองเมือง สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 1 แต่เดิมชื่อเรือพาลีรั้งทวีป ใช้ว่าเรือพาลีล้างทวีป

ลักษณะโขนเรือของเรือพาลีรั้งทวีป เป็นรูปวานร (พาลี) สวมมงกุฎ โดยมีร่างกายสีเขียว ส่วนโขนเรือของเรือสุครีพครองเมือง เป็นรูปวานร (สุครีพ) สวมมงกุฎ โดยมีร่างกายสีแดง หัวเรือกว้างมีรูกลมสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ ความยาวเรือ 27.54 เมตร กว้าง 1.99 เมตร ความลึกถึงท้องเรือ 0.59 เมตร

ใช้กำลังพลลำละ 41 นาย ประกอบด้วย นายเรือ 1 นาย นายท้าย 2 นาย ฝีพาย 34 นาย คนถือธงท้าย 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย คนกระทุ้งเส้า (ให้จังหวะ) 2 นาย

เรือครุฑเหินเห็จ และเรือครุฑเตร็จไตรจักร

เรือครุฑเหินเห็จ และเรือครุฑเตร็จไตรจักร สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 1 แต่เดิมชื่อเรือครุฑเหินเห็จ ใช้ว่าเรือครุฑเหิรระเห็จ เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดจากอากาศยานที่ถล่มกรุงเทพมหานคร สร้างความเสียหายให้กับเรือพระราชพิธีทั้ง 2 ลำนี้มาก กรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการตัดหัวโขนเรือและท้ายเรือเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ เมื่อ พ.ศ. 2491 ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2511 ได้ทำการสร้างใหม่ โดยใช้หัวโขนเรือเดิมนำมาซ่อมแซมประกอบ

ลักษณะโขนเรือของเรือทั้ง 2 ลำ เป็นรูปครุฑจับนาค 2 ตัวชูขึ้น เรือครุฑเหินเห็จกายสีแดง ส่วนเรือครุฑเตร็จไตรจักรกายสีชมพู ความยาว 28.58 เมตร กว้าง 2.10 เมตร ความลึกถึงท้องเรือ 0.56 เมตร

ใช้กำลังพลประจำเรือลำละ 41 นาย ประกอบด้วย นายเรือ 1 นาย นายท้าย 2 นาย ฝีพาย 34 นาย คนถือธงท้าย 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย คนกระทุ้งเส้า (ให้จังหวะ) 2 นาย

*เรือเอกไชยเหินหาว และเรือเอกไชยหลาวทอง *

เรือเอกไชยเหินหาว และเรือเอกไชยหลาวทอง ทำหน้าที่ลากเรือพระที่นั่ง เช่น ชักลากเรือพระที่นั่งเมื่อน้ำเชี่ยวต้องการให้แล่นเร็วขึ้น เรือทั้งสองลำสร้างขึ้นครั้งแรกในรัชกาลที่ 1 เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดจากอากาศยานที่ถล่มกรุงเทพมหานคร สร้างความเสียหายให้กับเรือพระราชพิธีทั้ง 2 ลำนี้อย่างมาก ต่อมา พ.ศ. 2491 กรมศิลปากรได้ตัดหัวเรือและท้ายเรือเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ กระทั่ง พ.ศ. 2508 กองทัพเรือและกรมศิลปากรร่วมกันบูรณะเรือ 2 ลำนี้ใหม่ โดยใช้หัวเรือเดิมมาประกอบ

เรือ 2 ลำมีลักษณะใกล้เคียงกัน คือ หัวเรือเป็นรูปดั้งเชิดสูงงอนขึ้นไป ลงรักปิดทองเขียนลายรดน้ำรูปเหรา (สัตว์ในตำนาน ลักษณะคล้ายมังกร แต่มีหัวเป็นงู หรือนาค) อย่างไรก็ตาม เรือ 2 ลำนี้มีรูปลักษณ์ของหัวเรือที่ต่างกันอยู่บ้าง เป็นที่สังเกตได้ เช่น สีของดวงตาของเหรา (เรือเอกไชยเหินหาวดวงตาสีทอง กระทงเรือมีแท่นรองฉัตร 7 ต้น ด้วยเคยเป็นเรือพระที่นั่งทรงมาก่อน ส่วนเรือเอกไชยหลาวทองดวงตาสีดำ) ตัวเรือมีความยาว 27.50 เมตร ความกว้าง 1.97 เมตร ความลึกถึงท้องเรือ 0.60 เมตร

ใช้กำลังพลประจำเรือลำละ 44 นาย ประกอบด้วย นายเรือ 2 นาย นายท้าย 2 นาย ฝีพาย 38 นาย คนถือธงท้าย 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย

ริ้วสายนอก ประกอบด้วย เรือดั้ง 22 ลำ และเรือแซง 6 ลำ แบ่งเป็นริ้วละ 14 ลำ รวมเป็นจำนวน 28 ลำ

*เรือดั้ง *

เรือดั้งทำหน้าที่เป็นเรือป้องกันขบวนเรือ มีจำนวน 22 ลำ ไม่พบประวัติการสร้าง คำว่า “ดั้ง” แปลว่า “หน้า” ดังนั้น เรือดั้งจึงหมายถึงเรือหน้า คำว่า เรือดั้ง พบครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ลักษณะเรือดั้ง 1-20 ทาสีน้ำมันเป็นสีดำ ส่วนเรือดั้ง 21-22 เป็นสีทอง โดยเรือดั้งทั้ง 22 ลำไม่มีลวดลาย ส่วนหัวตั้งสูงงอน เรือดั้งแต่ละลำมีความยาวไม่เท่ากัน โดยความยาวอยู่ระหว่าง 23.6-27.3 เมตร ความกว้าง 1.5-1.7 เมตร

กำลังพลประจำเรือ ประกอบด้วย นายเรือ 1 นาย นายท้าย 2 นาย พลสัญญาณ 1 นาย เส้า 2 นาย ประจำคฤห์ 5 นาย (นายทหาร 1 นาย พลทหาร 4 นาย) เหมือนกันทุกลำ แต่สำหรับกำลังพลฝีพายจะมีจำนวนแตกต่างกัน เนื่องจากความยาวของเรือไม่เท่ากัน โดยเรือดั้ง 1 มีฝีพาย 32 นาย เรือดั้ง 2-4 มีฝีพาย 30 นาย เรือดั้ง 5-11 มีฝีพาย 28 นาย เรือดั้ง 12- 22 มีฝีพาย 16 นาย

*เรือแซง (มีทั้งหมด 7 ลำ อยู่ในสายกลาง 1 ลำ) *

เรือแซงเป็นเรือที่ทำหน้าที่อารักขาพระมหากษัตริย์ เหมือนกับทหารมหาดเล็ก สามารถแซงเรือในขบวนมาอารักขาพระมหากษัตริย์ได้ มีจำนวน 7 ลำ ไม่พบหลักฐานที่สร้าง แต่มีบันทึกไว้ว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้จัดเรือแซงจำนวน 4 ลำ ไว้ท้ายขบวน และในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้เพิ่มสำหรับพระตำรวจอีก 2 ลำ โดยใน 4 ลำแรกใช้ทหาร จึงเรียกว่า “เรือแซงทหาร” ส่วนอีก 2 ลำนั้นเรียก “เรือแซง” ต่อมาในรัชกาลที่ 7 ได้ตัดเรือแซงของพระตำรวจออกไป และเรือแซงทหารได้เปลี่ยนชื่อเป็นเรือแซงจนถึงปัจจุบัน

ในผังการจัดรูปขบวนเรือ เรือแซง 7 ซึ่งเป็นลำที่ปิดท้ายขบวนนั้นอยู่ในตำแหน่งริ้วสายกลางต่อจากเรือตำรวจ ส่วนเรือแซงที่อยู่ในริ้วสายนอกมีจำนวน 6 ลำ

รูปร่างและลักษณะหัวเรือเชิดขึ้นเหนือแนวน้ำ ตัวเรือทาสีดำ แต่ละลำมีขนาดไม่เท่ากัน โดยเรือแซง 1-6 มีความยาวเท่ากัน คือ 23.2 เมตร แต่มีความกว้างไม่เท่ากัน โดยอยู่ระหว่าง 1.40-1.62 เมตร ส่วนเรือแซง 7 มีความยาว 24.7 เมตร กว้าง 1.5 เมตร

กำลังพลประจำเรือ ประกอบด้วย นายเรือ 1 นาย นายท้าย 2 นาย พลสัญญาณ 1 นาย เหมือนกันทุกลำ ยกเว้นฝีพายเรือแซง 1-6 มีฝีพาย 24 นาย ส่วนเรือแซง 7 มีฝีพาย 30 นาย

————————–

*หมายเหตุ *

1.เรียบเรียงจากข้อมูลของกองทัพเรือ, ข้อมูลของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี และหนังสือ “พระเสด็จโดยแดนชล เรือพระราชพิธีและขบวนพยุหยาตราทางชลมารค” เขียนโดย รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน

2.ภาพจากศูนย์ข้อมูลมติชน และกรมศิลปากร

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0