โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เริ่มต้นด้วยสุขภาพการเงินที่ดี - โค้ชหนุ่ม The Money Coach

THINK TODAY

เผยแพร่ 13 มิ.ย. 2562 เวลา 10.23 น.

สิบปีก่อน ตอนเริ่มต้นสอนหลักสูตรการเงินส่วนบุคคล ผมนั่งคิดอยู่นานว่า จะสรุปหลักการเงินพื้นฐานที่คนเราจำเป็นต้องรู้ ซึ่งมีอยู่มากมายหลายหัวข้อ ให้เป็นหลักคิดหลักปฏิบัติอย่างง่ายสำหรับคนทุกคนได้อย่างไร 

จำได้ว่าตอนนั้นหยิบกระดาษมาหนึ่งแผ่น เขียนประเด็นสำคัญทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของคนเราตั้งแต่เกิดจนตาย เขียนออกมาทีละข้อ แล้วเอามาจับกลุ่ม จัดเรียง ปรับคำ เขียนแล้วลบ เขียนแล้วแก้อยู่หลายรอบ เพราะอยากได้ข้อความที่ฟังแล้วเพราะ สัมผัสกัน และง่ายต่อการจดจำ

 สุดท้ายผมสรุปหลักปฏิบัติเพื่อสุขภาพการเงินที่ดี (MONEY FITNESS) เป็นข้อความสั้นๆ 6 ข้อความ โดยรวบรวมหลักการเงินส่วนบุคคลที่จำเป็น ไว้อย่างครบถ้วน และชวนให้ปฏิบัติกันอย่างง่ายๆ ได้ว่า

สภาพคล่องดี

ปลอดหนี้จน

พร้อมชนความเสี่ยง

มีเสบียงสำรอง

สอดคล้องเกณฑ์ภาษี

บั้นปลายมีทุนเกษียณ

ในตอนที่เริ่มเผยหลักสูตรการเงินส่วนบุคคล มีหลายคนถามผมว่า “กะอีแค่เรื่องการเงินพื้นๆ พวกนี้ ต้องเรียนต้องสอนกันด้วยหรือ?” 

ยอมรับว่าช่วงแรกที่ถูกถาม ก็แอบมีเขวอยู่บ้าง แต่พอสอนไปเรื่อยๆ ได้พูดคุยกับคนที่มาเรียน รวมถึงได้ช่วยหลายคนแก้ไขปัญหา ก็ยิ่งทำให้มั่นใจว่า "การเงินพื้นฐานที่ดูง่ายๆ ดูพื้นๆ นี่แหละ! หลายคนยังทำไม่ได้กันเลย" 

การมุ่งสู่ทุกความสำเร็จ จำเป็นต้องมีพื้นฐานหรือเบสิคที่แข็งแกร่ง

นักบอลระดับโลก เวลาฝึกซ้อมพวกเขายังต้องฝึกเรื่องง่ายๆ อย่างรับส่งบอลกันทุกวัน คนที่อยากมั่งคั่ง ไม่อยากมีปัญหาทางการเงินเข้ามาวุ่นวายในชีวิต ก็ต้องเก่งและแม่นในเรื่องการเงินพื้นฐานด้วยเหมือนกัน 

สำหรับใครที่อย่างมั่งคั่ง อยากมีความสุขทางการเงิน ผมแนะนำให้เริ่มต้นด้วยการเช็คสุขภาพการเงินของตัวเอง โดยเปรียบเทียบกับหลักปฏิบัติเพื่อสุขภาพการเงินที่ดี ตามแนวทาง 6 ข้อ ดังต่อไปนี้ 

1. ในแต่ละเดือนคุณมีเงินกินใช้ และมีเงินเหลือเก็บได้อย่างน้อย 10% ของเงินทั้งหมดที่หาได้ในแต่ละเดือน (สภาพคล่องดี)

2. คุณไม่มีหนี้บริโภค อาทิ หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล บัตรกดเงินสด ผ่อนของ หนี้นอกระบบ ฯลฯ คงค้างอยู่ในบัญชีเลย (ปลอดหนี้จน)

3. หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน เจ็บป่วย เกิดอุบัติเหตุ ทรัพย์สินเสียหาย คุณมีเงินสำรองหรือมีตัวช่วย (สวัสดิการ หรือประกัน) ไว้พร้อมสำหรับจัดการกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น (พร้อมชนความเสี่ยง)

4. หากวันนี้ต้องตกงานหรือสูญเสียรายได้ไป คุณมีเงินเก็บหรือเงินสำรอง เอาไว้สำหรับจัดการค่าใช้จ่ายได้สัก 6 เดือน ในระหว่างรอรายได้กลับมาเป็นปกติ (มีเสบียงสำรอง)

5. คุณสามารถวางแผนภาษีให้กับตัวเองได้ ใช้สิทธิลดหย่อนได้ถูกต้องและเกิดประโยชน์สูงสุด (สอดคล้องเกณฑ์ภาษี)

6. คุณรู้เป้าหมายเงินเกษียณที่ตัวเองต้องการ และเริ่มเก็บเงินสำหรับเกษียณแล้ว (บั้นปลายมีทุนเกษียณ)

ยังไงลองถามตัวเองดูนะครับ ข้อไหนตอบว่า “ใช่” ตอบว่า “ทำได้” ก็ให้ทำต่อไปนะครับ เพราะนั่นหมายถึงสุขภาพการเงินในประเด็นนั้นเราดีอยู่แล้ว 

แต่ถ้าข้อไหนที่ตอบว่า “ไม่ใช่” หรือยังทำไม่ได้ อันนี้ต้องเริ่มต้นศึกษาหาความรู้ และแก้ไขข้อนั้น พัฒนาไปทีละข้อ วันหนึ่งคุณก็จะถึงเป้าหมายทางการเงินในแบบที่ต้องการได้

เป็นกำลังใจให้กับทุกท่านที่เพิ่งเริ่มต้นศึกษาเรื่องการเงิน และขอให้มีสุขภาพการเงินที่ดี มี MONEY FITNESS กันทุกคนนะครับ

#TheMoneyCoachTH

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0