โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เรา ‘ดูด’ เพื่อดื่มตั้งแต่เมื่อไหร่กัน ประวัติย่อของวัฒนธรรมหลอดดูด

The MATTER

เผยแพร่ 13 มิ.ย. 2561 เวลา 13.10 น. • Pulse

สงสารน้องปลาวาฬ ตอนนี้เราต่างตื่นตัวเรื่องขยะพลาสติกที่สร้างความเสียหายให้กับโลกและสายพันธุ์อื่นอย่างรุนแรง พลาสติกเป็นผลิตผลของโลกสมัยใหม่ และเจ้าความคิดความเชื่อของโลกสมัยใหม่นี่แหละที่ทำให้เวลาเราเดินออกจากร้านค้า เราจะมีขยะพลาสติกจำนวนมากติดตัวมาด้วยเสมอ

โดยเฉพาะ ‘หลอดดูด’

เจ้าหลอดดูด - ยิ่งในโลกของชานมไข่มุก ถ้าเราซื้อชานมไข่มุกแล้วไม่มีหลอดมาให้ ชีวิตเราก็คงจะพังทลาย แต่ถ้าเราลองมองย้อนไปใน หลอดดูดดูจะไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับการกินดื่มขนาดนั้น หลอดมีความเป็นนวัตกรรมในระดับหนึ่ง มีความซับซ้อนที่ต้องถูกคิด ถูกออกแบบขึ้น ทุกวันนี้เราถึงพยายามแก้ไขด้วยการเอาวัสดุธรรมชาติต่างๆ มาทดแทนหลอด ซึ่งมักจะดูไม่ค่อยเวิร์กเท่าไหร่

หลอดดูดจึงไม่ใช่เรื่องของ ‘ธรรมชาติ’ ไม่ใช่ว่า เอ้อ ฉันจะเอาก้านบัวมาดูดน้ำเพื่อความเก๋กันดีกว่า การดื่มน่าจะเป็นพฤติกรรมพื้นฐานในการกินของเรามากกว่าการจะดูดหลอดเฉยๆ เจ้าหลอดดูดดูจะเป็นเรื่องของโลกสมัยใหม่ ยุคสมัยที่ทุกอย่างต้องสะอาด ใหม่ เป็นระเบียบเรียบร้อย และถูกหลักอนามัย

My Modern Met
My Modern Met

แต่ช้าก่อน! มนุษย์เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อน แล้วก็หาเรื่องสร้างความรื่นรมย์ให้กับการกินดื่มได้เสมอ นักโบราณคดีพบว่ามนุษย์มีการใช้หลอดกันมาตั้งแต่สามพันปีก่อนคริสกาล มีหลักฐานว่าอารยธรรมโบราณสำคัญ เช่น ชาวอียิปต์โบราณ อารยธรรมกลุ่มเมโสโปเตเมีย ต่างก็มีการใช้ ‘วัสดุคล้ายหลอด’ จากวัสดุธรรมชาติต่างๆ เพื่อ ‘ดูด’ เครื่องดื่มหมักดอง การใช้หลอดในยุคแรกๆ เป็นไปเพื่อการณ์เฉพาะ ไม่ได้ดูดเพื่อความเก๋ไก๋ แต่ใช้เพื่อดูดพวกเครื่องดื่มหมักดองที่มีตะกอนนอนก้น หลอดจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่เราจะใช้เพื่อดูดเอาแต่น้ำด้านบน (ตรงข้ามกับชาไข่มุกสมัยนี้)

ในสมัยก่อน การใช้หลอดไม่ใช่เรื่องแมสๆ เพราะนักโบราณคดีพบว่าหลอดในยุคแรกเป็นหลอดที่แสนจะหรูหราผลิตจากโลหะหรือหินมีค่าเช่นทองคำหินลาพิส แน่ละว่า การที่จะทำโลหะให้เป็นทรงหลอดได้ย่อมต้องใช้วิทยาการและศิลปะขั้นสูง จึงพอจะเดาได้ว่า คนทั่วๆ ไป คงไม่น่าลำบากหาทางดูดน้ำเล่นกันในชีวิตประจำวัน อนึ่งอาจจะเป็นข้อจำกัดทางโบราณคดีที่หลักฐานการใช้หลอดจากวัสดุธรรมชาติของประชาชนทั่วไปไม่ได้ถูกบันทึกเอาไว้

ภาพสลักดินเหนียวของอารยธรรมสุมาเรียน มีการนั่งชิวใช้หลอดดูดเครื่องดื่ม
ภาพจาก ancient-origins.net
ภาพสลักดินเหนียวของอารยธรรมสุมาเรียน มีการนั่งชิวใช้หลอดดูดเครื่องดื่ม ภาพจาก ancient-origins.net

จากหลักฐานเท่าที่มี หลอดดูจะถูกใช้เพื่อฟังก์ชั่นและแฟชั่นของชนชั้นสูง ในทศวรรษ 1880s สุภาพบุรุษทั้งหลายมีแฟชั่นในการดื่มวิสกี้จากหลอดยาวๆ แต่เจ้าหลอดนั้นก็เวรี่ออร์แกนิกคือผลิตจากลำต้นของธัญพืช จากข้าวไรย์ ปัญหาคือมันเก๋ก็จริงแต่ไม่ทน ดูดๆ ไป ก้านก็เละ แถมเหม็นเขียวอีกต่างหาก ตรงนี้เหมือนจะเป็นปัญหาเดียวกับหลอดผักบุ้งที่บ้านเราพยายามทดลองใช้กันอยู่

ทีนี้ ทั้งขอบคุณและโทษมิสเตอร์ Marvin C. Stone เจ้าของธุรกิจกระดาษที่ผลิตก้านสำหรับสูบบุหรี่ขาย ชายผู้สร้างหลอดดูดและจดสิทธิบัตรในปี 1888 นายมาร์วินคนนี้แค่อยากจะดื่มเครื่องดื่มเย็นๆ ในวันที่อากาศร้อนๆ โดยที่ซดไปแล้วใบมินต์ในแก้วไม่ติดฟัน พี่แกเลยทดลองคิดหลอดดูดขึ้นมา ซึ่งก็มีการลองผิดลองถูกหลายครั้ง เช่น เอากระดาษไปห่อดินสอแล้วติดกาวบ้าง แต่ดูดไปกาวก็ละลาย สุดท้ายเลยใช้วิธีการม้วนแล้วเคลือบด้วยพาราฟิน

จากปี 1888 ที่หลอดถูกคิดและสามารถผลิตปริมาณมากๆ ได้ เราก็ต้องไปต่อ ในปี 1937 นาย Joseph Bernard Friedman เห็นลูกสาวทุลักทุเลในการดูดมิลค์เชกจากหลอดที่มันตรงๆ คุณพ่อที่แสนน่ารักเลยเอาไอเดียนี้มาสร้างนวัตกรรมทำให้ ‘หลอดงอ’ ได้ โดยการใช้สกรูเข้าไปช่วย ในขณะที่ทำการม้วนกระดาษให้เป็นทรงหลอด ด้วยแนวโน้มว่าเจ้าหลอดนี้ต้องกลายเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมในการบริโภค สุดท้ายคุณพ่อนักคิดจึงลงทุนเปิดบริษัททำโรงผลิตหลอดของตัวเองในช่วงปี 1939 และในช่วงปี 1960 อุตสาหกรรมผลิตหลอดจากกระดาษค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยพลาสติก

ด้วยนวัตกรรมกระดาษและพลาสติกที่เราใช้ผลิตหลอด โรงพยาบาลจึงเป็นหนึ่งในลูกค้าที่บริษัทหลอดให้ความสำคัญ หลังจากผลิตหลอดได้แล้ว เราก็เลยเริ่มมีแนวคิดเรื่องสุขอนามัย เพราะหลอดเป็นของใหม่ เป็นการบริโภคที่ดูสะอาดเรียบร้อยกว่า ในช่วงปี 1945 ถึงขนาดมีบทความในหนังสือพิมพ์ที่พูดถึงประโยชน์การใช้หลอดเพื่อหลีกเลี่ยงการเอาริมฝีปากไปสัมผัสปากขวดอันเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค

ซ้ายเป็นสิทธิภาพการผลิตหลอด ขวาคือสิทธิบัตรการผลิตหลอดแบบงอ, ภาพจาก bbvaopenmind.com
ซ้ายเป็นสิทธิภาพการผลิตหลอด ขวาคือสิทธิบัตรการผลิตหลอดแบบงอ, ภาพจาก bbvaopenmind.com

อ้างอิงข้อมูลจาก

www.bbvaopenmind.com/en/great-little-inventions-the-drinking-straw

www.thoughtco.com/history-of-drinking-straws-1992399

www.supercall.com/culture/the-boozy-history-of-the-straw

www.atlasobscura.com/articles/straws-history

Illustration by Yanin Jomwong

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0