โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เมื่อ “พรมแดงคานส์” ไม่ใช่แค่เรื่องของ “ภาพยนตร์”

Positioningmag

อัพเดต 16 พ.ค. 2561 เวลา 07.28 น. • เผยแพร่ 16 พ.ค. 2561 เวลา 07.21 น.

เมื่อพรมแดงของเทศกาลหนังเมืองคานส์กลายเป็นที่โชว์ตัวของดารา, เหล่าพรีเซ็นเตอร์จากสินค้ายี่ห้อต่าง ๆ ได้รับความสนใจมากมาย “ภาพยนตร์” จึงอาจจะไม่ใช่สิ่งไฮไลต์ของ “เมืองคานส์” ในสายตาของบางคนอีกต่อไป 

“เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์” งาน “ปิด” ที่ไม่ได้ไปกันง่าย ๆ

“เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์” หรือถ้าจะอ่านให้ถูกต้องว่า “เทศกาลภาพยนตร์เมืองกาน” ซึ่งเป็นเมืองทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส เป็นเทศกาลภาพยนตร์เก่าแก่ของวงการหนัง ที่จัดกันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1946 จนได้ชื่อว่าเป็นงานที่จัดกันมาอย่างยาวนาน, มีชื่อเสียง และทรงอิทธิพลมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

แต่สิ่งที่แตกต่างจากเทศกาลภาพยนตร์อีกหลาย ๆ งาน ในโลก (อย่าง ซันแดนซ์ หรือ โตรอนโต)  ก็คือ คานส์เป็นงานแบบ“ปิด” ที่เปิดเฉพาะให้คนในวงการ และที่ได้รับเชิญ เท่านั้นจึงจะเข้ามามีส่วนร่วมได้ การจัดฉายหนังเรื่องต่าง ๆ จะไม่ได้เปิดกว้างให้ “ประชาชนทั่วไป” ได้มีโอกาสซื้อตั๋วเข้าไปชม แต่คนดูทั้งหมดคือ คนในวงการภาพยนตร์, สื่อมวลชน และผู้ที่ได้รับเชิญโดยตรงเท่านั้น

ซึ่งหากต้องการจะเข้าร่วมจริง ๆ ทางเลือกหนึ่งก็คือ การลงทุนซื้อ Badge สำหรับส่วนของตลาดภาพยนตร์ที่ราคาสูงถึง 300 ยูโร “คนธรรมดา” ส่วนใหญ่ที่อยากจะมีส่วนร่วมในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์จึงเลือกที่จะรอลุ้นกันเอาหน้างาน ด้วยการใส่สูท หรือชุดราตรีมารอหน้างาน “เผื่อฟลุ๊ค” มีบัตรเหลือ จากคนที่สละสิทธิ์ไม่ดูหนัง ก็อาจจะโชคดีได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลภาพยนตร์คานส์

และถ้าการเข้าไปดูหนังเรื่องต่าง ๆ จะไม่ใช่ของง่าย ๆ แล้ว การได้เดินพรมแดงของงานเทศกาลเมืองคานส์ก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก โดยนอกจากการเดินพรมแดงในงานเปิด และปิดแล้ว ก็จะมีการเดินสำหรับการฉายรอบปฐมทัศน์ของหนังในแต่ละวันด้วย โดยปัจจุบันดูเหมือนว่าการเดินพรมแดงจะกลายเป็นเรื่องใหญ่กว่าการฉายหนังเรื่องนั้น ๆ ไปแล้ว

ตามปกติคนที่จะได้ “รับเชิญ” ให้มาเดินพรมแดงในงานของคานส์ “อย่างเป็นทางการ” นั้นแต่ละวันนักนั้นจะประกอบไปด้วยคน 4 คนกลุ่มคือ (1) คนที่เกี่ยวข้องกับหนังเรื่องนั้น ๆ โดยตรง อาจจะเป็นนักแสดง, ผู้กำกับ, ผู้อำนวยการสร้าง, นายทุน หรือทีมงานคนสำคัญ (2) แขกของหนังเรื่องต่าง ๆ ที่ผู้อำนวยการสร้างอาจจะเชิญมาร่วมงาน บางครั้งอาจจะเป็นเพื่อน หรือสมาชิกในครอบครัว (3) คนดัง หรือ บุคคลสำคัญจากวงการต่าง ๆ อาจจะเป็นในวงการหนัง หรือวงการอื่น ๆ ที่มาเป็นเกียรติให้กับหนัง และ (4) สื่อ และแขกของเหล่าสปอนเซอร์ที่เป็นผู้สนับสนุนเทศกาลหนังโดยตรง … ซึ่งกลุ่มสุดท้ายนี่เอง ที่จะเป็นช่องทางให้เหล่า “เซเล็ปคนดัง” ได้มีโอกาสเข้าร่วมในเทศกาลหนังที่สำคัญที่สุดในวงการ

*“พรมแดง” กลายเป็น “ไฮไลท์” *

เพราะภาพของการเดินพรมแดงเมืองคานส์กลายเป็นที่สนใจมากมายนี่เอง ที่ทำให้คนดังจำนวนมากต้องการไปเดินโชว์ตัว ซึ่งหากไม่ได้เป็นคนสำคัญจากวงการใด ๆ, ไม่ได้มีส่วนร่วมในหนังเรื่องนั้น ๆ การเป็น “ตัวแทน” ของสินค้าที่สนับสนุนเทศกาลหนังเมืองคานส์โดยตรง ก็คือทางที่เปิดกว้างที่สุดสำหรับเหล่าคนดัง

ปัจจุบันแบรนด์อย่าง Chopard, Magnum, Grey Ghoose หรือ Kering ที่เป็นผู้สนับสนุนเทศกาลหนังเมืองคานส์โดยตรง จะได้รับโควตาในการส่งพรีเซนเตอร์มาร่วมโชว์ตัวในพรมแดงของเทศกาลหนังเมืองคานส์เป็นประจำ ร่วมถึง L'Oréal ที่ส่ง ชมพู่ อารยา ให้ไปร่วมงานในทุก ๆ ปี และดาราอินเดียอย่าง ไอศวรรยา ราย ที่มางานนี้เกิน 10 ปีติดต่อกันแล้วก็มาในฐานะพรีเซนเตอร์ของ L'Oréal เช่นเดียวกัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันภาพของการเดินพรมแดง กลายเป็นภาพจำจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ที่ถูกเผยแพร่ในสื่อต่าง ๆ มากที่สุดไปโดยปริยาย จนคนแทบจะไม่ได้สนใจด้วยซ้ำไปว่าคนดัง และเซเล็บต่าง ๆ ไปเดินพรมแดงเมืองคานส์กันทำไม อย่างเมื่อ 4 ปีก่อนจะมีใครทราบว่าการเดินพรมแดงของ “ชมพู่ อารยา” ได้ไปร่วมงานเดินพรมแดงในรอบปฐมทัศน์ของภาพยนตร์เรื่อง The Search ผลงานเรื่องใหม่ของผู้กำกับชื่อดัง มิเชล ฮาซานาวิเชียส เจ้าของรางวัลออสการ์จากหนัง The Artist

ซึ่งแน่นอนว่าตัวแทนของเหล่าสปอนเซอร์แทบจะมาร่วม “เดินพรมแดง” เท่านั้น ส่วนใหญ่เมื่อสิ้นสุดพรมก็จะเดินออกจากงานไป โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปชมหนังในโรงภาพยนตร์แต่อย่างใด เคยมีข่าวว่าดาราชาวอังกฤษ เชอริล โครว์ ตัวแทนอีกคนของ L'Oréal เคยเข้าไปดูหนังแล้วก็เดินออกจากโรงไปหลังหนังฉายไปแค่ 10 นาทีเท่านั้น

ที่เมืองจีนดาราสาว ฟ่านปิงปิง“เจ้าประจำ” ของเมืองคานส์ก็มักจะถูกแซวบ่อย ๆ ว่าชอบมาร่วมงานทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีหนังเข้าฉายในเทศกาลเลย กว่าจะได้มาเยือนเมืองคานส์ “อย่างเป็นทางการ” แบบ “มีบทบาท” จริง ๆ ก็เป็นเมื่อปีก่อนนี่เอง ที่เธอได้รับเชิญให้มาเป็นกรรมการตัดสินรางวัล

“คานส์” ไม่ใช่เรื่องของหนังเท่านั้น (อีกต่อไป)

แน่นอนว่าไม่ใช่คนทุกคนที่รับได้กับการเปลี่ยนแปลงของเทศกาลหนังเมืองคาน รุ่นใหญ่ในวงการคนหนึ่งบอกอย่างเหนื่อหน่ายว่าคานส์เคย “มีระดับ” กว่านี้ แต่ตอนนี้มีแต่เรื่องของ “ธุรกิจ” เต็มเทศกาลไปหมด

ขณะที่ช่างภาพชื่อดัง เดฟ โฮแกน ในวงการมานาน มองว่าตอนนี้ธุรกิจ และการ “ขายของ” เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลหนังเมืองคานส์ โดยเฉพาะในส่วนของพรมแดงแบบแยกออกจากกันไม่ได้ไปแล้ว เขาอธิบายว่า คานส์ แทบจะกลายเป็นอีเวนต์แฟชั่นที่ใหญ่กว่า ปารีส หรือ ลอนดอน แฟชั่น วีค ไปเรียบร้อยแล้ว บริษัทต่าง ๆ ยินดีที่จะออกเงินค่าตั๋วเครื่องบินให้คนดังมาเดินพรมแดงที่นี่ เพราะเชื่อว่าสินค้า และพรีเซนเตอร์ของแบรนด์จะได้รับความสนใจจากสื่อต่าง ๆ อย่างท่วมท้น

“แค่ภาพถ่ายชุดเดียวก็คุ้มแล้ว ….. พรมแดง ถูกใช้สำหรับการขาย, ขาย แล้วก็ขาย สาวทุกคนมาเพื่อขายของ ไม่ว่าจะเป็นชุดที่เธอสวม, เครื่องประดับ หรือเครื่องสำอาง” ช่างภาพผู้คร่ำหวอดแสดงความเห็น และบอกว่าในบางมุมของ “เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์” ภาพยนตร์อาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุดเสมอไป.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0