โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เมื่อ “กุน” ในคำว่า “กุนเชียง” ไม่ได้แปลว่า “หมู” หลายคนไม่รู้ แฟนคลับรู้

LINE TODAY

เผยแพร่ 03 มิ.ย. 2563 เวลา 17.01 น. • nuchthawat_p
ภาพจาก shutterstock.com/
ภาพจาก shutterstock.com

“กุนเชียง” อาหารแปรรูปคู่ครัวไทยที่บรรดาพ่อครัวแม่ครัวหัวป่าก์นำไปประกอบอาหารดัดแปลงเป็นเมนูแสนอร่อยได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ยำกุนเชียง ข้าวผัด/อบกุนเชียง ไข่กระทะ หรือจะนำไปทอดพอสุกกินกับข้าวต้มร้อน ๆ สักถ้วยก็อร่อยเหาะเช่นกัน อย่างไรก็ดี เจ้ากุนเชียงนี้ก็มีความลับ เนื่องจากยังมีหลายคนที่ไม่เคยทราบมาก่อนว่า แท้จริงแล้ว คำว่า “กุน” ใน กุนเชียง มิได้แปลว่า “หมู” แต่อย่างใด แม้วัตถุดิบหลักของกุนเชียงเดิมจะตั้งต้นจากเนื้อหมูก็ตาม 

กุนเชียง ไม่ได้แปลว่า หมูเชียง แต่ หมายถึง “ไส้กรอกอย่างจีน” ซึ่งคำว่า “กุนเชียง” มาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว โดยคำว่า “กุน” (灌) มีความหมายว่า “กรอก” (มีฐานเสียงมาจากคำว่า “ก่วง”) ส่วน “เชียง” (肠) มีความหมายว่า “ไส้” (มีฐานเสียงมาจากคำว่า “เชี้ยง”) เมื่อรวมเข้าด้วยกัน จึงมีความหมายว่า “กรอกเข้าไปในไส้” หรือ “ไส้กรอก” แบบจีนนั่นเอง 

ภาพจาก shutterstock.com
ภาพจาก shutterstock.com

ความสับสนบังเกิดเมื่อคำว่า “กุน” ใน กุนเชียง ดันไปพ้องเสียงและรูปกับ "ปีกุน" ซึ่งเป็น 1 ในปีนักษัตรตามปฏิทินสุริยคติไทยอันมีสัญลักษณ์เป็นน้องหมู คนก็เลยทึกทักเอาว่า กุนเชียง ก็คือ หมูเชียง ก่อให้เกิดสูตรประสมคำเรียกใหม่ขึ้นมาสำหรับการนำสัตว์อื่นใดที่ไม่ใช่หมูพลิกแพลงมาทำกุนเชียง คือ “เนื้อสัตว์ใด ๆ+เชียง” ไก่เชียง เนื้อเชียง เป็นอาทิ (โชคดีที่เรายังไม่แอดวานซ์ไปถึงขั้น ระกาเชียง ฉลูเชียง) ซึ่งเกิดจากความเข้าใจคลาดเคลื่อนทางภาษา 

ดังนั้น หากว่ากันตามหลักภาษาแล้ว เราจึงควรเรียกไอ้เจ้าของกินดุ้นสีแดง ๆ แสนอร่อยนี้ว่า กุนเชียงหมู กุนเชียงไก่ กุนเชียงเนื้อ กุนเชียงปลา เช่นเดียวกับที่เราเรียก ไส้กรอกหมู ไส้กรอกไก่ ไส้กรอกเนื้อ ฯลฯ นั่นแล

.

อ้างอิง

- เพจ คำไทย อ้างจากที่มาของศัพท์ภาษาจีน เฟซบุ๊ก Nirandorn Narksuriyan

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0