โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

บันเทิง

เมื่อ"พรหมลิขิต"พาเรากลับมาพบกัน

MATICHON ONLINE

อัพเดต 09 ธ.ค. 2562 เวลา 08.09 น. • เผยแพร่ 09 ธ.ค. 2562 เวลา 08.08 น.
ปกรอมแพง01

เขาว่ากันว่าอย่าคาดหวังกับ “ภาคต่อ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคต่อของความสำเร็จอย่างถล่มทลาย เพราะส่วนใหญ่แล้วสิ่งที่รออยู่มักจะเป็นความผิดหวัง

และนิยาย “พรหมลิขิต” ของ “รอมแพง” ภาคต่อของ “บุพเพสันนิวาส” ซึ่งกลายมาเป็นละครโด่งดังเมื่อปีก่อน ก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่เดินตามประโยคที่ว่าอย่างน่าเสียดาย

เรื่องราวใน “พรหมลิขิต” เกิดขึ้นในรุ่นลูกของ “เกศสุรางค์” และ “คุณพี่เดช” พระ-นางของภาคก่อน ที่สร้างตำนานรักข้ามภพชาติกันไว้ มาคราวนี้ “พุดตาน” สาวน้อยหน้าเหมือนเกศสุรางค์จากยุคปัจจุบันที่บังเอิญขุดเจอคัมภีร์มนต์กฤษณะกาลีแล้วถูกดูดให้ย้อนกลับมาในยุคกรุงศรีฯ รัชสมัยของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 หรือพระเจ้าท้ายสระ ได้พบกับ “พ่อริด” หนึ่งในฝาแฝดลูกชายของเกศสุรางค์ที่มีกรรมผูกพันมาตั้งแต่อดีตชาติ

ตัวละครเก่าจากครั้ง “บุพเพสันนิวาส” ที่ยังมีชีวิตอยู่กันครบ เกศสุรางค์, คุณพี่เดชที่ได้เลื่อนขั้นมาเป็นพระยา คุณหญิงจำปา, พี่ผิน, พี่แย้ม, แม่มะลิ รวมถึงลูกๆ ของเกศสุรางค์ที่มีการกล่าวถึงในตอนจบของภาคก่อน เรียกได้ว่าขนตัวละครเก่ามาปะทะกับตัวละครใหม่จนล้นทะลัก

แต่ดูเหมือนว่าความสนุกจะไม่แปรผันไปตามปริมาณตัวละครสักเท่าไหร่

“ซึ่งจะบอกว่าเข้าใจได้คงไม่ผิดนัก”

ด้วยช่วงประวัติศาสตร์ที่หยิบมาเป็นฉากหลัง คือยุคของพระเจ้าท้ายสระนั้นไม่เข้มข้นและมีสีสันเท่ากับยุคของสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งเป็นฉากหลังของบุพเพสันนิวาส และอีกประการหนึ่งคือตัวผู้เขียน รอมแพงน่าจะถูกบีบด้วยระยะเวลาการเขียนและคาแร็กเตอร์ดีไซน์บางอย่างจากความโด่งดังของบุพเพสันนิวาสเวอร์ชั่นละคร

พุดตาน ที่คงเดากันได้ว่าเป็นร่างที่มีจิตของ “การะเกด” น้องสาวฝาแฝดของเกศสุรางค์อยู่ เป็นตัวละครหลักที่แม้จะทำให้เราเข้าใจการใช้ชีวิต นิสัยและรูปลักษณ์ภายนอกได้ไม่ยากนัก แต่แทบจะไม่รู้เลยว่าความรู้สึกของพุดตานนอกจากเรื่องกิน นอนและทำมาหากินแล้ว รู้สึกอะไรบ้าง ดีที่พ่อริดพระเอกของเรื่องเข้ามาเดินตามสาวเจ้าต้อยๆ เรียกรอยยิ้มเขินจากคนอ่านให้ลืมๆ เรื่องอื่นไปได้

ด้านตัวละครที่ยกมาจากบุพเพฯ คงทำให้คนที่ผูกพันกับตัวละครในภาคแรกได้ตามดูชีวิตของพวกเขาในภาคนี้ แต่ด้วยจำนวนตัวละครเยอะมากทั้งใหม่และเก่า ทำให้หลายตัวละครตกหล่น เดี๋ยวหายไปเดี๋ยวโผล่มา หรือไม่ก็หายไปเลย

การวางตัวละครเอกให้เป็น “ไพร่” เป็นสิ่งน่าชื่นชม เพราะส่วนใหญ่ในนิยายที่ตัวละครข้ามภพไปในอดีตมักจะไปโผล่ในจุดที่มีอันจะกินไม่ต้องดิ้นรนมากมาย ปรับตัวนิดหน่อยก็เข้ากับยุคที่ตัวเองหลงมาได้ไม่ยากเย็น แต่การให้พุดตาลเป็นไพร่ปากกัดตีนถีบทำมาหากินนั้นดูแปลกใหม่และน่าสนใจ ผู้เขียนเลยได้เล่นเรื่องเกร็ดประวัติศาสตร์เล็กๆ น้อยๆ และแง่มุมด้านวิถีชีวิตของชาวบ้านยุคนั้นได้อย่างเต็มที่ ซึ่งรอมแพงเล่าเรื่องสนุกอยู่แล้ว ในข้อนี้จึงไม่น่าผิดหวังนัก

น่าเสียดายที่สุดคือช่วงเฉลยปมในอดีตชาติที่ดูรีบเขียนและออกทะเลไปมาก เพราะนอกจากจะไปแตะถึงที่มาของมนต์กฤษณะกาลีที่ดูไม่จำเป็น เหตุการณ์ต่างๆ ที่ควรจะเป็นกรรมเก่าที่ทำร่วมกันมาของเกศสุรางค์และการะเกด (อย่างที่โปรยไว้ตอนบุพเพฯ) กลับเป็นเหมือนมีคนก่อกรรมอยู่ฝ่ายเดียวและไม่สมเหตุสมผลสักเท่าไหร่

บทที่ดีที่สุดกลายเป็นบันทึกเขียนโดยเกศสุรางค์ท้ายเล่ม น้ำเสียงของเกศสุรางค์ชัดเจนจนอดคิดไม่ได้ว่าหากเขียนถึงรุ่นหลานรุ่นเหลนของเกศสุรางค์ที่เจอบันทึกในช่วงใกล้เสียกรุง คงน่าสนุก

ส่วนเมื่อพรหมลิขิตเป็นละครแล้วจะเป็นอย่างไรหรือจะโด่งดังเท่าภาคแรกหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ซึ่งความคาดหวังที่กดดันผู้จัด ทีมงาม คนเขียนบท อยู่ค่อนข้างหนักหนาทีเดียว

“แต่เชื่อว่าจะอย่างไรหลายคนคงตั้งตารอดู”

โดย มีน เกวลิน

 

 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0