โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เมื่อเราไปเที่ยวเขื่อน ที่...ไม่มีเขื่อน - เจาะลึกตูเจียงเยี่ยนสุดยอดวิศวกรรมยุคโบราณ - เพจวันนี้ชั้นติ่งอะไร

TALK TODAY

เผยแพร่ 21 ต.ค. 2562 เวลา 17.05 น. • เพจวันนี้ชั้นติ่งอะไร

เวลาไปเที่ยว คงมีบางสถานที่ที่เราไปแล้วอยากกลับไปอีก ด้วยเหตุผลที่คาดไม่ถึง

เกือบสิบปีก่อน เราได้ไปเที่ยวแถบเสฉวน ประเทศจีน และไปยังสถานที่ชื่อ “ตูเจียงเยี่ยน” (Dujiangyan Irrigation System) มรดกโลกและเขื่อนที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ฟังมาอย่างนี้ ก็คิดภาพว่า คงเป็นแม่น้ำกว้าง ๆ มีเขื่อนดินหน้าตาแปลก ๆ อลังการ ๆ (ก็ระดับมรดกโลกเลยนะ) แต่พอไปถึง กลับไม่มีอะไรเหมือนที่คิดเลยค่ะ

มองไปรอบตัว เหมือนสวนสาธารณะขนาดยักษ์ ต้นไม้ครึ้ม ดอกไม้บานสะพรั่ง ขนาบสองฟากฝั่งน้ำที่สวยงามแต่เชี่ยวกราก มีสะพานข้ามน้ำหน้าตาหวาดเสียว เหมือนเป็นเครื่องเล่นพิสูจน์ความกล้า ถอยมองด้านหลัง เป็นเขาสูงมหึมา แต่งแต้มด้วยวัดและอาราม เราทั้งเดินเล่น ซื้อของกิน ไหว้พระ ปีนเขา สนุกสนานเฮฮา เป็นสถานที่ที่ชอบที่สุดแห่งหนึ่งเลยค่ะ

ขณะขึ้นรถไฟกลับ ก็นึกขึ้นได้

แล้วไหนล่ะเขื่อน !

จุดนั้นถึงขั้นตกตะลึง เดินมาทั้งวัน สักกระผีกเศษซากเขื่อนยังไม่มีให้เห็น ไหนล่ะมรดกโลก เราเริ่มสับสน พอลองถามคนไทยที่นั่น ยิ่งช็อกกว่า เพราะไม่มีใครไม่รู้เลยว่า แล้วเขื่อนล่ะมันอยู่ตรงไหน !!! พอถามคนจีนที่พอคุยได้ คำตอบที่ยิ่งพาสับสน ทุกคนทำหน้างง และตอบว่า ก็ตูเจียงเยี่ยนก็คือเขื่อนไง???

มันต้องมีอะไรผิดพลาดสักอย่างแน่ ๆ

เราเก็บความสงสัยนี้ไว้ หลายปีให้หลัง เก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง ถึงคราวกลับไปแก้แค้น

ตูเจียงเยี่ยนจากมุมสูง 
ตูเจียงเยี่ยนจากมุมสูง 

ช่วงปลายยุคจ้านกว๋อ หรือเมื่อประมาณ 2,300 ปีก่อน เมืองฉินยึดแผ่นดินที่ต่อมาคือเสฉวนไว้ได้ ขณะนั้นเสฉวนเหมือนบ้านเมืองทั่วไป ยามแห้งก็แล้งจัดจนคนตาย ยามฝนตกหนักก็ท่วมคร่าชีวิตไป ประมาณว่าในปีหนึ่งมีคนตายเรือนแสน

ขณะนั้นชาวฉินเริ่มอพยพเข้าสู่เสฉวน เมื่อคนมาก ปัญหาที่มียิ่งหนัก

“หลี่ปิง” (李冰, Libing) ผู้ว่าการรัฐคนใหม่ในขณะนั้น มองเห็นภาพความฉิบหาย หายนะที่กำลังเรียกหา หลังรับตำแหน่ง เขาซึ่งมีความสนใจในวิชาวิศกรรม จึงร่างแผนการหนึ่งขึ้นมา และใช้ชั่วชีวิตจากนั้น สร้างตูเจียงเยี่ยนแห่งนี้ขึ้น

นึกไม่ถึง สองพันกว่าปีให้หลัง แม้หลี่ปิงจากไป ราชวงศ์ล่มสลาย วัฏจักรอำนาจหมุนวนไม่รู้กี่ครั้ง มันยังคงอยู่ตรงนั้น และแผ่นดินเสฉวนที่เคยแห้งกรัง แปรสภาพเป็นแผ่นดินเขียวชอุ่ม ที่สวยงามที่สุดของแผ่นดินจีน

Dujiangyan Irrigation System เป็นระบบจัดการน้ำที่เก่าแก่ที่สุด ที่ยังหลงเหลือและใช้งานได้บนโลก เป็นมรดกโลกที่วิศวกรในสายนี้อยากมาเยือนสักครั้งก่อนตาย เป็นบทพิสูจน์อัจฉริยะภาพและความอุตสาหะของมนุษยชาติ

หลี่ปิงทำอะไรเมื่อสองพันกว่าปีก่อน

ตูเจียงเยี่ยนคือสุดยอดแห่งวิศวกรรม มันคือการขุดแผ่นดินพลิกผืนน้ำ สร้างเกาะแก่งและทางน้ำ บังคับการไหลของแม่น้ำ ให้เป็นดังใจต้องการด้วยการคำนวณขั้นสูง

บริเวณที่บัดนี้คือตูเจียงเยี่ยน แรกเริ่มคือจุดที่แม่น้ำหมินไหลจากภูเขาลงบรรจบพื้นราบ ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของที่ราบเสฉวน

หลี่ปิงให้ขุดเกาะกลางน้ำรูปรียาว มีปลายรูปแหลมหันเข้าสู่สายน้ำ เรียกว่า “ปากปลา” (Yuzui) ทำหน้าที่แยกกระแสน้ำทั้งหมดออกเป็น 2 ส่วน

ส่วนแรก คือส่วนนอก ไหลเรื่อยตามเส้นทางน้ำตามธรรมชาติ

ส่วนที่สอง คือส่วนใน ถูกแยกไปตามทางน้ำรูปโค้ง และไหลเข้าสู่คลองขุด แจกจ่ายไปยังส่วนต่าง ๆ ของที่ราบเสฉวน

แต่หากทำแค่นี้ หลี่ปิงคงมิใช่รัฐบุรุษตลอดกาล ที่ได้รับการบูชาดุจเทพ

แผนผังแสดงบริเวณและทิศทางน้ำโดยคร่าว ลูกศรสีแดง แสดงทางเดินน้ำขณะเมื่อมวลน้ำเกินความต้องการ ลูกศรสีน้ำเงิน แสดงทางเดินน้ำยามปกติ 
แผนผังแสดงบริเวณและทิศทางน้ำโดยคร่าว ลูกศรสีแดง แสดงทางเดินน้ำขณะเมื่อมวลน้ำเกินความต้องการ ลูกศรสีน้ำเงิน แสดงทางเดินน้ำยามปกติ 

ปัญหาสำคัญคือการบังคับน้ำ ยามแล้งให้ไหลเข้าส่วนในมากหน่อย ยามหลากให้ไหลออกส่วนนอกมากหน่อย หลี่ปิงทำได้อย่างไร

เมื่อน้ำเข้าสู่สายน้ำส่วนใน ไหลเรื่อยถึงปากทางเข้าสู่ที่ราบเสฉวน (Baopingkou) จุดนั้นหลี่ปิงบังคับน้ำให้ทำมุมโค้ง (เพื่อไหลเข้าคลองขุดสู่ตัวเมือง) ด้วยการก่อเนินหาดมหึมา (Feishayan) กั้นไว้

เนินหาดนี้จะกั้นน้ำได้ถึง 350 ลบ.ม./วินาที หากมากกว่านี้ น้ำจะทะลักผ่านเนินหาดออกสู่ทางน้ำส่วนนอก ไหลไปตามธรรมชาติเรื่อยไป นั่นคือแม้น้ำมากก็ระบายได้

ไม่เพียงเท่านั้น เขายังออกแบบปากทาง ที่น้ำเข้าสู่ที่ราบเสฉวนให้มีลักษณะบีบแคบเป็นชะง่อนยื่น เมื่อน้ำปริมาณมากเกินไปไหลถึงปากทาง จะสะท้อนชะง่อนนี้ ออกไปในทิศที่ต้านกับน้ำที่ตามเข้ามา เมื่อมีแรงต้านออกไป น้ำย่อมเข้าไม่ได้ และไหลผ่านเนินหาด (Feishayan) ออกสู่ทางธรรมชาติ

สำหรับหน้าแล้ง หลี่ปิงใช้วิธีที่แตกต่างไป ย้อนไปทางต้นน้ำก่อนถึงปากปลา เขาขุดลอกร่องน้ำ บังคับทิศทางไปยังทางน้ำส่วนในมากกว่า ในช่วงน้ำน้อยแห้งติดร่องน้ำ น้ำส่วนมากจึงพุ่งเข้าทางน้ำส่วนใน ขณะที่น้ำมากมวลน้ำไม่ติดร่องน้ำ ก็พุ่งออกทางน้ำนอกไปตามธรรมชาติมากกว่า

ด้วยวิธีดังกล่าวนี้ ประมาณการว่า 60% ของน้ำ ยามแล้งจะเข้าส่วนในสู่ที่ราบเสฉวน ยามท่วมจะออกสู่ทางน้ำนอกไหลลงทะเลไป อัตราส่วนจะแปรผันไปมาตามความมากน้อยของมวลน้ำอย่างอัตโนมัติ

นับจากนั้นเป็นต้นมา เสฉวนยามน้ำแล้งยังชะอุ่ม ยามน้ำหลากยังมีเสียงเฮฮา ชีวิตน้ำแสนนับล้าน ตลอดระยะเวลาสองพันกว่าปีที่ผ่าน ถูกโอบอุ้มคุ้มครองด้วยสองมือของหลี่ปิงผู้นี้

ปากปลา (Yuzui) จุดที่แม่น้ำหมินแยกเป็น 2 สาย 
ปากปลา (Yuzui) จุดที่แม่น้ำหมินแยกเป็น 2 สาย 

ไม่มีสิ่งใดบนโลกได้มาโดยง่าย

ตูเจียงเยี่ยนยืนยงได้ ย่อมต้องมีสิ่งอื่นแอบแฝง

ในยุคจ้านกว๋อ หัวเมืองใหญ่น้อยเป็นอิสระต่อกัน และต่างฟาดฟันแย่งชิงความเป็นใหญ่ เมืองฉินเดิมทีได้เปรียบ เคยกรีฑาทัพยกผ่านแม่น้ำหมินเข้าต่อยตีเมืองฉู่หวังให้แตกพ่าย แต่นึกไม่ถึงที่ราบเสฉวนแห้งแล้ง ไม่นานเสบียงร่อยหรอ ทัพใหญ่ที่ยกไปกลับต้องพ่าย

แผลนี้ดับฝันเมืองฉินอยู่นานปี จนหลี่ปิงเข้ามา

ฝันของกษัตริย์ฉินกลับรุ่งโรจน์ขึ้นอีกครั้ง

ประมาณการณ์ว่าเมืองฉิน ทุ่มเทงบประมาณลงกับเมกะโปรเจคต์นี้อย่างสุดตัว กษัตริย์ฉินทรงรอคอยยาวนานถึง 14 ปี ตูเจียงเยี่ยนจึงเสร็จสมบูรณ์ และพลันที่แผ่นดินเสฉวนเปลี่ยนจากดินแดงเป็นไร่นาสีทอง ความฝันของเมืองฉินก็เรืองรองขึ้นอีกครั้ง

ไม่กี่ปีจากนั้น ที่ปลายทางของแม่น้ำหมิน เมืองฉู่ก็สิ้นชาติ

ราชวงศ์ฉินถูกสถาปนา และพวกเราก็เรียกเมืองจีนว่าจีน จากคำว่าฉินนับแต่นั้น

แต่ตูเจียงเยี่ยนมิได้จบลงที่นั่น กลับยืนยาวกว่าราชวงศ์ฉิน

หลายร้อยปีผ่านไป แม้จะรกร้างไปบ้าง แต่ตูเจียงเยี่ยนยังคงทำหน้าที่ของมันอย่างเต็มกำลัง กระทั่งล่วงเข้าปลายราชวงศ์ฮั่น

ตูเจียงเยี่ยนก็ได้กลับสู่หน้าประวัติศาสตร์อีกครั้ง  เมื่อเล่าปี่ได้พบกับจูกัดเหลียง-ขงเบ้ง 

ในสมัยสามก๊ก ขงเบ้งได้เสนอแผนยุทธศาสตร์ฉบับหนึ่งแก่เล่าปี่ เขาแนะนำให้เล่าปี่ใช้ที่ราบเสฉวนเป็นฐานในการชิงชัย นั่นเพราะที่แห่งนี้มีตูเจียงเยี่ยนตั้งอยู่ เสฉวนจะไม่แห้ง และไร้ซึ่งอุทกภัย อุดมสมบูรณ์ชั่วนาตาปี เล่าปี่รับข้อเสนอนี้ ตั้งเมืองหลวงที่บริเวณเฉิงตูในปัจจุบัน (เมืองหลวงเสฉวน) และจัดสรรเจ้าหน้าที่ ทั้งจัดตั้งระบบการดูแลรักษาตูเจียงเยี่ยนอย่างเป็นทางการนับแต่นั้น

ในตอนท้าย ตูเจียงเยี่ยนและที่ราบเสฉวนได้กลายเป็นฐาน และยุทธปัจจัยที่สำคัญที่สุดของจ๊กก๊ก

แม้ในตอนท้าย จ๊กก๊กไม่อาจครองทั่วแผ่นดินได้ แต่อานุภาพอันยิ่งใหญ่ของตูเจียงเยี่ยนเป็นที่ปรากฏ ฮ่องเต้และผู้มีอำนาจในยุคหลังยังคงทำนุบำรุง จัดสรรเจ้าหน้าที่ดูแล พัฒนาปรับปรุงตามความเหมาะสมแต่ละยุคสมัย

แม้เปลี่ยนขั้วอำนาจ แต่สานต่อสิ่งอันสมควร  นับร้อยนับพันปี 

เราเดินเล่นอีกพักใหญ่ ซึมซับบรรยากาศรอบด้าน วันนี้ตูเจียงเยี่ยนสดใสสง่างาม ไม่คล้ายสิ่งก่อสร้างที่ข้ามเวลานับพันปี

คิดแล้วก็เจ็บใจ

ย้อนกลับไปครั้งแรกที่มา ไม่ได้รู้ตัวเลยว่า ได้เดินอยู่บนสถานที่ที่ยิ่งใหญ่ข้ามเวลาถึงเพียงนี้ อยากตีอกชกหัวด้วยความแค้นใจ ที่ตัวเองพลาดของเด็ดไปได้อย่างไร แบบไม่ระแคะระคายสักนิดเดียว

แต่ครั้งนั้นก็ทำให้เรารู้ว่า ทุกสถานที่มีเรื่องราว บางที่มีฉากหน้าสวยงามประทับใจ แต่อีกบางที่มีเรื่องราวยิ่งใหญ่ ที่เราไม่อาจตัดสินได้ด้วยตาเห็นเพียงแวบเดียว

ป.ล.ขณะเดินเล่น เราพบบอร์ดแนะนำรายชื่อวิศวกรที่ดูแลตูเจียงเยี่ยนด้วยค่ะ ดูเหมือนตำแหน่งนี้จะเป็นอะไรที่ทรงเกียรติ เป็นความใฝ่ฝันของวิศวกรทุกคน เพราะหน้าที่นี้สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณนับพันปีเลยทีเดียว โหยยย ขนลุก

ติดตามบทความใหม่ ๆ จากเพจวันนี้ชั้นติ่งอะไรได้ทุกวันอังคารที่ 2 และ 4 ของทุกเดือน บน LINE TODAY และหากสามารถอ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่เพจวันนี้ชั้นติ่งอะไร 

อ้างอิง

1.Zhang S, Yi Y, Liu Y, Wang X. Hydraulic principles of the 2,268-year-old Dujiangyan Project in China. Journal of Hydraulic Engineering. 2012 Sep 17;139(5):538-46.

2.Hartmann R, Wang J, Ye T. A Comparative Geography of China and the U.S. Dordrecht: Springer Netherlands; 2014.

3.Doar B. Taming the floodwaters: The high heritage price of massive hydraulic projects. China Heritage Newsletter. 2005;1:1-7.

เครดิตภาพ  free photos from Travel Coffee Book via stocksnap.io และ google map 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0