โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

เมื่อภาษาไทยเริ่มเป็นที่นิยมของเหล่าทีมผู้พัฒนาเกม

GamingDose

เผยแพร่ 19 พ.ย. 2562 เวลา 08.58 น. • GamingDose - ข่าวเกม รีวิวเกม บทความเกมจากเกมเมอร์ตัวจริง
เมื่อภาษาไทยเริ่มเป็นที่นิยมของเหล่าทีมผู้พัฒนาเกม

หากมองย้อนไปในยุคแรกเริ่มที่ EA มีบริษัทลูกในไทย และมีการแปลเกมเป็นภาษาไทยออกมาให้ชาวไทยได้เล่นกัน แต่ดูเหมือนว่ามันจะมาก่อนกาลเวลาไปนิด ในยุคที่อินเตอร์เน็ตยังไม่แพร่หลาย ราคาของเกมที่ไม่ใช่ถูก ๆ พวกเขาจึงต้องพ่ายแพ้ไปจากปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์อันหนักหน่วงในตอนนั้น แต่ในตอนนี้ นับตั้งแต่เปิดปี 2019 ลากยาวไปจนถึงปีหน้า เราจะพบว่ามีเกมที่ประกาศรองรับการแปลเป็นภาษาไทยอยู่มากมายหลายเกม ทำให้เรารู้สึกว่า ยุคทองของเหล่าเกมเมอร์ในบ้านเราอาจจะกลับมาอีกครั้ง และการที่เรามีเกมภาษาไทยเล่นมันทำให้เรารู้สึกอย่างไรบ้าง วันนี้มาค้นหาคำตอบในหัวข้อนี้กัน

ทำไมภาษาไทยถึงกลับมาโลดแล่นในวงการเกมอีกครั้ง ?

ต้องบอกว่าประเทศไทยเป็นอีกประเทศนึงที่มีอัตราการเล่นเกม และมีเกมเมอร์อยู่เป็นจำนวนมาก รวมไปถึงสังคมของผู้เล่นเกมในไทยก็ไม่ใช่น้อย ๆ เลย ก่อนหน้านี้ หากเราอยากจะเล่นเกมภาษาไทยสักเกม แน่นอนว่ามักจะมาในรูปแบบ Mod ที่ต้องมีขั้นตอนการติดตั้งสักเล็กน้อย และเพราะความพยายามเหล่านี้นี่แหละที่ทำให้บริษัทเกมต่าง ๆ มองเห็นถึงช่องทางในการตีตลาดใหม่ ๆ นั่นคือการแปลภาษาไทยใส่ตัวเกม

ยกตัวอย่างเช่น The Witcher 3 : Wild Hunt ที่ตัวเกมมีขนาดใหญ่มาก ๆ ทั้งภารกิจหลัก และภารกิจรองเนื้อเรื่องสุดเข้มข้น แต่ทีมแปลภาษาไทยของเราก็เก่งกาจเอาเรื่อง เพราะนอกจากจะแปลออกมาได้เยอะจนเกือบจะครอบคลุมทั้งเกมแล้ว ยังแปลออกมาได้ดีมากอีกด้วย (ใครเคยเล่นแล้วจะเข้าใจ) ซึ่งการทำ Mod ภาษาไทยของ The Witcher 3 นี่แหละ ที่เหมือนกับทำให้ทาง CD Projekt RED นั้นมองเห็นความรักในการเล่นเกมของผู้เล่นไทย ผลงานใหม่ของพวกเขาอย่าง Cyberpunk 2077 เลยมีแปลไทยมาให้ซะเลย

นอกจากนั้นในปีนี้เรายังได้เห็นผลงานเกมภาษาไทยมาแล้วถึงหลายเกมไม่ว่าจะเป็น Jump Force , Ghost Recon : Breakpoint , Cat Quest รวมไปถึง SEKIRO : Shadows Die Twice ซึ่งทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าผลจากการสนับสนุนการเล่นเกมบ้านเรามันทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ตามมา

ความสนุกและความอินกับการเล่นเกมแปลเป็นภาษาไทย

ต้องบอกว่าแค่เป็นเกมภาษาไทย หลายคนก็ดีใจและพร้อมจะสนับสนุนกันอยู่แล้ว แต่มาลองดูลึกลงไปกว่านั้นว่า เกมบางเกมนั้น แม้ว่าภาษาอังกฤษจะง่ายพอที่เราจะรู้เรื่อง แต่พอเราได้เล่นเป็นภาษาไทยแล้ว มันจะเป็นอีกความรู้สึกหนึ่งเลย เพราะบางคำ หรือบางบริบทนั้น พอมันถูกแปลมาเป็นภาษาไทย มันยิ่งทำให้เราซึมซับและเข้าใจเนื้อเรื่อง หรือสถานการณ์ได้ดีกว่าเดิมมาก ๆ

แม้จะเป็นเกมเล็ก ๆ อย่าง Cat Quest แต่คุณภาพการแปลก็ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นไปกับการผจญภัยของเจ้าแมวน้อย หรือเกมที่ผู้เล่นม็อดแปลขึ้นมาเองในตอนนี้อย่างเช่น Resident Evil 7 หรือ The Witcher 3 ก็ทำออกมาได้ดีไม่แพ้กัน และพอเราเข้าใจเนื้อเรื่อง หรือสถานการณ์แล้ว เราจะยิ่งมีอารมณ์ร่วมกับเหตุการณ์ในเกมมากขึ้น มากกว่าการรู้แค่พอพื้น ๆ แล้วก็ไม่ได้มีอิมแพคท์อะไรมากนัก

ดังนั้นจะบอกว่าการได้เล่นเกมเป็นภาษาไทย น่าจะเป็นอีกความสุขของเหล่าเกมเมอร์ทุกคน นอกจากจะได้สัมผัสกับเกมเพลย์ที่สนุกอยู่แล้ว เรายังเข้าใจการกระทำ เนื้อเรื่องของเกมเกมนั้นมากขึ้นอีกด้วย

แยกความสนุกกับการเรียนรู้ให้ออก

เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่นาน ๆ ทีเราจะเห็นผู้มาขัดแย้งถึงการแปลเกมเป็นภาษาไทย เพราะมักจะมีผู้เล่นบางส่วนมองว่า การแปลเกมเป็นภาษาไทยนั้น ดูเหมือนทำให้ผู้เล่นไม่ได้เรียนรู้การใช้ภาษา ในขณะที่หลายคนมักจะใช้คำว่าเล่นเกมเป็นการฝึกภาษากันเป็นประจำ

แต่อยากให้เราลองแยกประเด็นของ "ความสนุก" กับ "การเรียนรู้" ออกจากกัน อย่าลืมว่าการเล่นเกมนั้น เป้าหมายหลักของมันคือการเล่นเพื่อความบันเทิง และความสนุกเป็นหลัก (แน่นอนว่าผู้สร้างก็คิดเช่นนั้น) ดังนั้นหากอยากจะเรียนรู้ภาษา ก็ลองไปศึกษาจากตำราเรียนหรือการศึกษาเอาตรง ๆ จะได้ประโยชน์กว่ามาก เพราะอย่างที่เราบอกกันไปแล้วว่า การเล่นเกมนั้นจุดประสงค์คือเพื่อความบันเทิงเป็นหลักอยู่แล้ว การได้ภาษาบางคำหรือบางประโยคเป็นผลพลอยได้เล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีมากกว่า หากจะมีการแปลเกมเป็นภาษาไทย เพราะเราคงต้องย้ำกันชัด ๆ อีกรอบว่าสุดท้ายแล้วจุดประสงค์ในการเล่นเกมของเราก็ควรจะเป็นเพื่อความบันเทิงล้วน ๆ นั่นเอง

ร่วมส่ง Feedback ที่ดีให้ผู้พัฒนานำไปปรับปรุง

ต้องยอมรับว่าหนึ่งในเกมที่แปลไทยออกมาล่าสุดแล้วกระแสตอบรับไม่ค่อยดีเท่าที่ควรนั่นคือ Ghost Recon : Breakpoint ไม่ว่าจะเป็นการใช้สรรพนามแทนตัวบุคคลที่ผิดเพี้ยน การแปลบางจุดที่ความหมายผิด ทำให้งง ๆ กับการทำภารกิจ ซึ่งของแบบนี้ต้องส่งฟีดแบ็คที่ดีกลับไปทางผู้พัฒนา อย่าลืมว่าภาษาไทยของเราไม่ใช่ง่าย ๆ ถ้าเรารู้สึกว่าการเรียนรู้ภาษาอื่นมันยากสำหรับเรา ก็ไม่แปลกถ้าคนอื่นที่จะมาแปลภาษาไทยจะรู้สึกว่ามันยาก และผิดพลาดกันได้บ้างเช่นกัน (แม้มันจะไม่สมควรที่จะมาผิดพลาดกับเกมที่มีราคาสูงขนาดนี้ก็ตาม)

ยิ่งถ้าเราส่งฟีดแบ็คที่ดีกลับไป พวกเขาก็จะมองเห็นปัญหาได้ตรงจุด และนำมันไปแก้ได้เร็วมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นผู้ที่อุดหนุนตัวเกมก็อย่าลืมส่งฟีดแบ็คกลับไปหาเหล่าผู้พัฒนาทั้งหลาย เพื่อที่ถ้าในอนาคตมีการแปลเกมภาษาไทย มันจะได้ดียิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ นั่นเอง

ร่วมอุดหนุนเกมลิขสิทธิ์ เพื่อให้มีเกมแปลไทยมากขึ้นในอนาคต

เชื่อว่าทุกคนรู้กันดีอยู่แล้ว ว่าการที่เกมแปลภาษาไทยเริ่มกลับมามีเยอะขึ้นอีกครั้ง ก็เพราะผลจากการที่เราอุดหนุนเกมลิขสิทธิ์กัน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อผ่านทางดิจิตอลสโตร์อย่าง Steam , Origin , Uplay หรือซื้อเป็นแผ่นเกมไม่ว่าจะเป็นบน PC หรือ PS4 คุณก็กำลังมีส่วนร่วมที่จะผลักดันวงการเกมให้โตขึ้นไปเรื่อย ๆ

ในปี 2019 มีเกมแปลภาษาไทยที่เตรียมออกมาสู่สายตาพวกเราชาวไทยมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Dragon Ball Z : Kakarot , One Piece Pirate Warriors 4 รวมไปถึงสองเกมฟอร์มยักษ์ประจำปีอย่าง The Last of Us Part II และ Cyberpunk 2077

คาดว่าถ้าปีหน้าเกมเหล่านี้ยังคงทำยอดขายได้ดีในบ้านเรา เราก็น่าจะเห็นเกมแปลไทยอีกมากมายในช่วงปี 2020 เป็นต้นไปแน่นอน ว่าแล้วก็อย่าลืมอุดหนุนสินค้าลิขสิทธิ์กันนะ!

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0