โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เมื่อความสูญเสียเกิดขึ้น จะสอนลูกให้เข้าใจได้อย่างไร

Mood of the Motherhood

เผยแพร่ 23 ก.ย 2562 เวลา 11.35 น. • Features

ความตายเป็นสิ่งที่ใครหลายคนไม่อยากพูดถึง และไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่ไม่ว่าเราจะพยายามหนีเท่าไร ความตายก็เป็นสิ่งที่แสนจะธรรมชาติและเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต

แต่สำหรับเด็กๆ แล้ว ความตายและความสูญเสียที่เกิดขึ้น ใกล้ตัวที่สุด เช่น ญาติผู้ใหญ่หรือสัตว์เลี้ยงในบ้านจากไป ก็เป็นเรื่องยากที่คุณพ่อคุณแม่จะหาวิธีอธิบายให้ลูกเข้าใจเรื่องความตาย

แต่ความจริงแล้ว ยิ่งคุณพ่อคุณแม่สอนให้ลูกเข้าใจเรื่องความตายได้เร็วเท่าไร ลูกก็จะมีภูมิต้านทานในการจัดการกับความรู้สึกและทำใจรับความสูญเสียได้ดียิ่งขึ้น

1. สอนคำว่า ‘ความตาย’  ด้วยท่าทีปกติ

คุณพ่อคุณแม่สามารถพูดถึงคำว่า ‘ตาย’ ต่อหน้าลูกได้ โดยไม่ต้องพยายามเลี่ยงไปใช้คำที่คลุมเครือ เช่น คุณยายนอนหลับไปและจะไม่ตื่นขึ้นมาอีก เพราะเด็กเป็นวัยแห่งจินตนาการ เขาอาจตีความและเข้าใจว่าการนอนหลับนั้นทำให้ไม่สามารถตื่นขึ้นมาได้ จึงหวาดกลัวไม่ยอมนอน หรือแม้แต่การกระซิบกระซาบเพราะไม่อยากให้ลูกได้ยินเมื่อพูดถึงความตาย จะยิ่งทำให้ลูกเกิดความสงสัยและเข้าใจพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ผิดไป

แม้ว่าเราจะพูดถึงหรือสอนให้ลูกรู้จักคำว่าตายได้ แต่เด็กแต่ละช่วงวัยก็มีการเรียนรู้ที่ไม่เหมือนกัน หากเป็นเด็กวัยก่อน 5-6 ขวบ คุณพ่อคุณแม่จะต้องอธิบายคำว่าตายให้เขาเห็นเป็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น เช่น ร่างกายของมนุษย์เราพอผ่านไปนานๆ ก็จะเริ่มแก่หรือเก่าจนคุณหมอไม่สามารถช่วยรักษาได้ เป็นต้น

หากเป็นเด็กวัย 7-10 ขวบก็จะเริ่มเข้าใจมากยิ่งขึ้นว่าความตายคืออะไร สามารถพูดว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้เสียชีวิตได้ แต่เด็กจะขี้สงสัยและถามพ่อแม่มากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

2.สอนให้ลูกรู้จักรับมือกับความรู้สึกสูญเสีย

เมื่อความสูญเสียเกิดขึ้น ไม่ว่าจะกับญาติพี่น้องหรือสัตว์เลี้ยง คุณพ่อคุณแม่หลายคนมีความกลัวว่าลูกจมอยู่กับความเสียใจ แต่แท้จริงแล้ว เด็กเป็นวัยที่ไม่จดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานานๆ โดยเฉพาะเด็กวัยก่อน 5-6 ขวบ ที่ยังไม่ได้เข้าใจความหมายของความตายอย่างลึกซึ้ง

แต่คุณพ่อคุณแม่อาจกลัวว่าลูกจะเศร้าเสียใจ จึงพยายามหาสิ่งของหรือสิ่งใหม่มาทดแทนความรู้สึกสูญเสียทันที  แต่นั้นทำให้เด็กไม่ได้มีการเว้นระยะฝึกจัดการกับความรู้สึกสูญเสีย และทำให้ลูกไม่รู้จักการปรับตัว วิธีที่ดีที่สุดคือการฝึกให้ลูกอยู่และเผชิญกับความรู้สึกสูญเสีย อาจมีการให้ยืนระลึกถึงสิ่งที่จากไป จัดพิธีฝัง ฯลฯ เพื่อให้เขาได้ลองจัดการกับความรู้สึกที่เกิดขึ้น

3.สอนลูกเรื่องความตายด้วยสิ่งต่างๆ รอบตัว

พ่อแม่สามารถสอนลูกให้เข้าใจเรื่องความตายด้วยสิ่งของเล็กน้อยรอบตัวลูกได้ เช่น หากวันใดวันหนึ่งของเล่นของเขาพัง พ่อแม่สามารถอธิบายบอกเขาว่าของเล่นชิ้นนี้มันพังแล้ว ซ่อมไม่ได้ ลูกจะเก็บมันไว้ก็ได้นะ แต่มันจะเล่นไม่ได้เหมือนเดิมแล้ว วิธีนี้เป็นการพูดด้วยเหตุและผลจะทำให้เด็กเข้าใจเรื่องความตายง่ายขึ้น

4.อย่าดุว่าลูกเมื่อลูกถามถึงความตาย

เด็กเป็นช่วงวัยแห่งความสงสัย บ่อยครั้งที่ลูกหยิบเอาเรื่องต่างๆ มาตั้งคำถามกับคุณพ่อคุณแม่ แต่พอเป็นเรื่องของความตาย คุณพ่อคุณแม่อาจมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรพูดถึง หรือในช่วงเวลานั้นยังไม่สามารถหาคำอธิบายมาตอบลูกได้จึงใช้วิธีเลี่ยงหรือดุไม่ให้ลูกถามต่อ

แต่นั่นไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด ทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่ควรตอบคำถามลูกด้วยความจริงใจและตรงไปตรงมา

หรือถ้าคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าเวลานั้นยังไม่เหมาะสมที่จะตอบ อาจเลี่ยงด้วยการตอบว่ายังไม่แน่ใจหรือขอเวลาให้คุณพ่อคุณแม่คิดคำอธิบายง่ายๆ มาบอกลูกอีกครั้งแทนก็ได้

5.สอนให้ลูกได้ระบายความรู้สึกตัวเองออกมา

สำหรับเด็กโต หรือเด็กในช่วงวัยก่อนวัยรุ่นขึ้นไป เด็กจะเริ่มเข้าใจความหมายของการตายได้ดี ในช่วงวัยนี้สำคัญที่สุดคือการพูดคุยและถามว่าเขารู้สึกอย่างไรเมื่อต้องเผชิญกับความสูญเสีย ให้เด็กได้ระบายความในใจและความเสียใจของตนเองออกมา อย่าให้เขาคิดเองเออเองคนเดียว พ่อแม่สามารถแบ่งปันเล่าเรื่องต่างๆ ของคนที่เสียชีวิตให้ฟัง กอดให้ความอบอุ่นกับเขา จะเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกฟื้นฟูจากความเศร้าเสียใจได้เร็วมากยิ่งขึ้น

อ้างอิง

theasianparent

คณะจิตวิทยาวิทยาลัยเซนต์หลุยส์

todayline

trueplookpanya

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0