โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เมื่อกำนันดีเด่น จ.สุราษฎร์ธานี ปี 2561 กลายเป็นผู้จ้างวานฆ่ากำนันหญิงนักพัฒนา จ.หนองคาย

สยามรัฐ

อัพเดต 17 ก.พ. 2563 เวลา 02.56 น. • เผยแพร่ 17 ก.พ. 2563 เวลา 02.56 น. • สยามรัฐออนไลน์
เมื่อกำนันดีเด่น จ.สุราษฎร์ธานี ปี 2561 กลายเป็นผู้จ้างวานฆ่ากำนันหญิงนักพัฒนา จ.หนองคาย

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. นำชุดจับกุมแถลงผลการจับกุมทีมสังหาร “กรรณิการ์ วงค์ศิริ” หรือ กำนันเตี้ย อายุ 52 ปี กำนันตำบลผาตั้ง เหตุเกิด วันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดย 1 ในผู้ต้องหานั้น มีนายสามารถ ทิพยศักดิ์ อายุ 57 ปี อดีตกำนัน ต.สมอทอง อ.ท่าชนะ จ.สุราษฏร์ธานี รวมอยู่ด้วย ในฐานะของผู้จ้างวานสั่งตายกำนันหญิง ค่าหัวร่วม 2 แสนบาท

ตั้งแต่วันเกิดเหตุจนมาถึงวันนี้ วันที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุม ผู้จ้างวาน คนรับงานและดูแลมือปืน รวมทั้ง มือปืนได้ ผมพูดและยืนยันมาตลอดว่าคดีนี้ตัดทุกประเด็นไปได้เลย สำหรับผมฟันธงว่าประเด็นเรื่องที่ดินคือชนวนเหตุใบสั่งฆ่ากำนันเตี้ย

ข่าวหลายสำนักข่าวที่นำเสนอออกไป มีเพียงข่าว 3 มิติของทีมงาน คุณมนตรี อุดมพงษ์ ที่นำเสนอตรงประเด็นชัดเจนที่สุดคือเรื่องที่ดินคือชวนเหตุทั้งหมด
และวันนี้ (16 ก.พ. 63) ผมนั่งเขียนรายละเอียดข่าวนี้กลางป่าที่ ต.ผาตั้ง อ.สังคม ข้อเท็จจริง ทุกประเด็น จากปากคำของมือปืน (นายธนภูมิ พรหมมาตร) ที่สารภาพและพาตำรวจนำชี้จุดเกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ รวมทั้งบอกเล่าให้นักข่าวฟัง ผมยังอดคิดในใจไม่ได้ว่า ทำไมมือปืนถึงให้ความร่วมมือกับตำรวจอย่างเต็มที่ ผมจึงถามมือปืนไปตรงๆว่า ทำไมถึงรับสารภาพ และเขาก็ตอบตรงๆว่า ไม่อยากให้ครอบครัวเขาเดือดร้อนไปมากกว่านี้ และผมยังถามต่ออีกว่าทำไมถึงทุบ นายประสิทธิ์หรือยุทธ อินทร์เนื่อง (คนรับงานและดูแลมือปืน) ต่อหน้า ผบ.ตร. เขาก็ตอบตรงๆว่าโมโหที่ นายประสิทธิ์หรือยุทธ อินทร์เนื่อง ปฏิเสธไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและบอกไม่รู้จักเขา เขาจึงโกรธมาก นั้นก็เป็นสิทธิของผู้ต้องหาที่จะรับสารภาพหรือปฏิเสธ ศาลเท่านั้นจะเป็นผู้ตัดสิน

สำหรับเรื่องราวทั้งหมดของการสั่งฆ่ากำนันเตี้ย คือ นายสามารถ ทิพยศักดิ์ มีที่ดิน (บุกรุกป่า) และได้ปลูกสวนยางพาราไว้จำนวนมาก ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยกับเรื่องการทวงคืนผืนป่าก่อนหน้านั้น แต่สวนยางพาราของ นายสามารถ กำลังจะถูกทวงคืนผืนป่า โดยมี กำนันกรรณิการ์ ต้องเป็นผู้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอน ซึ่งนายสามารถเคยเห็นแล้วว่า ปี 2558-2559 มีการทวงคืนผืนป่า กำนันกรรณิการ์ ได้ร่วมปฏิบัติหน้าที่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยึดพื้นที่ป่าจากนายทุน เพราะอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติป่าพรานพร้าว และป่าแก้งไก่ และเมื่อยึดคืนแล้ว แปลงนี้มีมติให้ทำเป็นป่าชุมชน โดยกำนันกรรณิการ์ ได้ให้ชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการ ทำให้เกรงว่าพื้นที่ปลูกยางพาราของตนเองที่ลงทุนไปเป็นเงินจำนวนมาก มีแนวโน้มจะถูกยึดและนำไปบริหารจัดการเหมือนของนายทุนที่บุกรุกป่า จึงเป็นที่มาของการจัดหาคนมาจัดการกำนันกรรณิการ์

นายสามารถ ทิพย์ศักดิ์ จึงเริ่มปรึกษากับ นายสำริด สังข์สิงห์ เพื่อวางแผนฆ่ากำนันกรรณิการ์ โดยที่นายสำริด มีบ้านอยู่ที่บ้านดงต้อง หมู่ 6 ต.ผาตั้ง หมู่บ้านเดียวกับกำนันกรรณิการ์ และรู้จักกันดีกับครอบครัวของกำนันกรรณิการ์ แต่ นายสามารถ กับ นายสำริด เป็นญาติกัน และเป็นคน จ.สุราษฏร์ธานี เหมือนกัน อีกทั้งพื้นที่ปลูกสวนยางพาราที่ถูกกำนันกรรณิการ์พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยึดคืนเนื่องจากบุกรุกป่า ก่อนหน้านั้น (2558-2559) นายทุนที่บุกรุกก็เป็นญาติๆของนายสำริด สังข์สิงห์!!!

การวางแผนสังหารกำนันกรรณิการ์จึงเริ่มเดินเครื่องทันที โดย นายสามารถ ทิพย์ศักดิ์ ได้ให้ นายสำริด สังข์สิงห์ ประสาน นายประสิทธิ์ อินทร์เนื่อง ((คนรับงานและดูแลมือปืน) ซึ่งมีบ้านอยู่ที่ บ้านเสียว ต.หนองปลาปาก อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ซึ่งในแวดวงนักพนันรู้ดีในฉายา “เสี่ยยุทธ” โดยเปิดทั้งร้านคาราโอเกะ และ “บ่อนมวยตู้” รวมทั้งการพนันอื่นๆในพื้นที่ บ้านเสียว โดยประวัติของ “เสี่ยยุทธ” ทุกคนรู้แต่ว่าเป็นคนมาจากภาคใต้ แต่ข้อเท็จจริงหนีคดีมาจากภาคใต้ มาชุบตัว ฟอกตัวที่ จ.หนองคาย โดยทำธุรกิจสีเทา ยันสีดำในพื้นที่ อ.ศรีเชียงใหม่ อ.โพธิ์ตาก และ อ.ท่าบ่อ ร่วมกับคนใน จ.หนองคาย ซึ่งคนใกล้ชิด “เสี่ยยุทธ” จะรู้ดีว่าจะไม่ให้ใครรู้ชื่อ นามสกุลจริง โดยใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่หลายสิบปี แต่พึ่ง “ทำบัตรประชาชน” เมื่อคดีที่ก่อไว้หมดอายุความ
การเสียชีวิตของกำนันกรรณิการ์ ทำให้สังคมได้รู้เห็นหมดว่าขบวนการบุกรุกป่า บุกรุกที่ ส.ป.ก. รวมทั้งคนจากพื้นที่อื่นแฝงตัวมาอยู่ที่ จ.หนองคาย เป็นอย่างไร อิทธิพลขนาดไหน ใหญ่ระดับไหนถึงกล้าสั่งฆ่ากำนันในพื้นที่ได้ ทั้งๆที่คนสั่งฆ่าไม่ใช่คนในพื้นที่

โดยผู้จ้างวานคือ นายสามารถ ทิพยศักดิ์ ยังเคยเป็นอดีตกำนัน ต.สมอทอง อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี และเคยได้รับมอบประกาศเกียรติคุณเป็นกำนันดีเด่น เมื่อปี 2561 ซึ่งรางวัลดังกล่าวมอบให้สำหรับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่ทำความดีความชอบในการปฏิบัติหน้าที่ มีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ เป็นขวัญกำลังใจ และยึดถือเป็นแนวทางการประพฤติปฏิบัติตนในฐานะผู้นำการปกครองท้องที่ แต่สุดท้ายกลับกลายมาเป็นผู้ต้องหาจ้างวานฆ่ากำนันหญิงนักพัฒนาเสียเอง

สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องที่หน่วยงานโดยเฉพาะหน่วยงานความมั่นคง ต้องลงมาดูพื้นที่อย่างเป็นระบบ รวมทั้งตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่ป่า การสวมสิทธิ ส.ป.ก. (จนป่านนี้ ส.ป.ก. หนองคาย ยังไม่ออกมาชี้แจงอะไรทั้งสิ้น) และต้องไม่ดำเนินการแค่พื้นที่ ต.ผาตั้ง อ.สังคม แต่ควรดูทั้งจังหวัด โดยเฉพาะที่ดิน ส.ป.ก. ที่มีปัญหาการสวมสิทธิ การเข้าครอบครองแบบผิดกฎหมาย รวมทั้งบุคคลจากนอกพื้นที่ ที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่ เรามีระบบตรวจสอบบุคคลอย่างไร แบบไหน คัดกรองคนในชุมชนแบบไหน หรือใครก็ได้ที่หอบเงินมาซื้อที่ดินแบบผิดกฎหมาย เข้ามาอยู่ในพื้นที่ สร้างอิทธิพล ทำสิ่งผิดกฎหมายในพื้นที่ ไม่พอใจใครก็สั่งยิงทิ้ง ชาวบ้านได้แต่นั่งมองเพราะพึ่งอำนาจรัฐไม่ได้ เราจะอยู่กันแบบไหนถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้…
อย่าให้การเสียชีวิตของกำนันกรรณิการ์ เงียบหายไปในสายลม วันเวลาทำให้ผู้คนลืมไป อย่าทำให้การเสียชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งที่ทำเพื่อชุมชน ต้องสูญเปล่า

สรุปคดียิงกำนันกรรณิการ์
ผู้ต้องหาที่ถูกจับประกอบด้วย
1.นายสามารถ ทิพยศักดิ์ อายุ 57 ปี อดีตกำนัน ต.สมอทอง อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี ผู้จ้างวาน
2.นายสำริด สังข์สิงห์ อายุ 59 ปี ผู้จ้างวาน
3.นายประสิทธิ์ อินทร์เนื่อง อายุ 55 ปี คนรับงานและดูแลมือปืนในพื้นที่
4.นายธนภูมิ พรหมมาตร อายุ 37 ปี มือปืน
5.น.ส.พนิดา จุนเด็น อายุ 31 ปี แฟนสาวนายธนภูมิ
มีเพียง นายธนภูมิ (มือปืน) เพียงคนเดียวที่รับสารภาพและให้ความร่วมมือกับตำรวจ และตอบคำถามสื่อมวลชนตรงไปตรงมา รวมทั้งเมื่อถูกนำตัวมาทำแผนที่จุดทิ้งรถจักรยานยนต์ลงน้ำปรากฏว่า รถจักรยานยนต์นายธนภูมิ ไม่ได้เอารถทิ้งน้ำ แต่นำมาจอดไว้ในป่าริมทาง และมีคนมารับเพื่อหลบหนี ก่อนที่วัยรุ่นละแวกนั้นจะมาถอดเอาล้อ ท่อไอเสีย และนำรถไปโยนทิ้งน้ำ….
ส่วนอีก 4 คน “ปฏิเสธ”…..

ภัทรวินทร์ ลีปาน
ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์สยามรัฐประจำจังหวัดหนองคาย
รายงาน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0