โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เมืองในอิตาลีที่ไม่มีผู้เสียชีวิตช่วงโรคระบาดรุนแรงศตวรรษที่ 17 เมืองนี้ทำอะไรบ้าง?

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 15 ก.ค. 2565 เวลา 08.38 น. • เผยแพร่ 15 ก.ค. 2565 เวลา 00.47 น.
โรคระบาด มิลาน อิตาลี 1630
ภาพวาดเหตุการณ์ในเมืองมิลาน อิตาลี ขณะเกิดโรคระบาดราว ค.ศ. 1630 ภาพจาก G. Nicodemi, ‘Un curioso documento iconografico della peste del 1630 a Milano’, Archivio storico lombardo, 5th series 9 (1922), 361–63 (p. 362). [ภาพ Public Domain ไฟล์จาก Wikimedia Commons]

ในยุคศตวรรษที่ 17 อิตาลีเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมหาศาล แต่มีเมืองหนึ่งในแถบนั้นที่ไม่มีผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดเลย สถานที่นั้นคือเมืองเฟอร์ราร่า (Ferrara) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของอิตาลี

บันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์บ่งชี้เกี่ยวกับโรคระบาดในอิตาลีระหว่าง 1629-1631 อิตาลีเผชิญหน้ากาฬโรคต่อมน้ำเหลืองระบาด (bubonic plague) ซึ่งถูกขนานนามกันว่า Great Plague of Milan หรือการระบาดครั้งใหญ่แห่งมิลาน ตัวเลขผู้เสียชีวิตในเมืองมิลานคาดว่ามากถึง 60,000 ราย ขณะที่จำนวนประชากรโดยรวมช่วง ค.ศ. 1630 คาดว่ามีประชากรรวมทั้งหมด 130,000 คน เมืองอื่นที่มีผู้เสียชีวิตหลักหมื่นปรากฏชื่อเมืองใหญ่ทั้งเวนิซ (Venice) เสียชีวิตประมาณ 46,000 คน (ตัวเลขจนถึงปี 1631), เวโรน่า (Verona) เสียชีวิต 33,000 คน, โบโลญญา (Bologna) เสียชีวิต 15,000 คน ขณะที่ฟลอเรนซ์ (Florence) คาดว่ามีผู้เสียชีวิต 9,000 รายจากประชากรทั้งหมด 76,000 คน

ท่ามกลางโรคระบาดอย่างรุนแรง บันทึกตัวเลขผู้เสียชีวิตในเมืองเฟอร์รารา กลับไม่มีผู้เสียชีวิตเลย เดฟ รูส (Dave Roos) คอลัมนิสต์เว็บไซต์ history.com อธิบายว่า เมืองเฟอร์ราร่า ไม่มีผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดมาตั้งแต่ค.ศ. 1576 ด้วยซ้ำ ขณะที่ละแวกเพื่อนบ้านต่างมีผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดกันถ้วนทั่ว

ย้อนกลับไปตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 ซึ่งเกิดกาฬโรคระบาดหลายพื้นที่ทั่วโลก เป็นที่รู้จักกันในนามเหตุการณ์ Black Death คาดว่าเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1347 หลายเมืองในอิตาลีได้รับผลกระทบมาก จอห์น เฮนเดอร์สัน ศาสตราจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์อิตาลียุคเรอเนซองส์จากมหาวิทยาลัยลอนดอน ผู้เขียนหนังสือ “ฟลอเรนซ์เมื่อถูกปิดล้อม : การเอาตัวรอดจากโรคระบาดในเมืองช่วงต้นยุคสมัยใหม่” (Florence Under Siege: Surviving Plague in an Early Modern City) ให้สัมภาษณ์ว่า ช่วงเวลานั้นหลายเมืองเริ่มใช้มาตรการแยกตัวผู้มีอาการป่วย กักตัวผู้ต้องสงสัยเป็นพาหะ และจำกัดการเดินทางที่มาจากพื้นที่ซึ่งปรากฏการระบาด โรคระบาดยังปรากฏขึ้นต่อเนื่องตลอดช่วง 3 ทศวรรษนับตั้งแต่นั้นมา ด้วยประสบการณ์จากการรับมือทำให้เห็นมาตรการต่างๆ มากขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว หลายเมืองในแถบอิตาลีต่างมีมาตรการรับมือโรคระบาดด้วยกันทั้งสิ้น

โรคระบาดเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดระเบียบการรับมือหรือมาตรการทางสาธารณสุข ซึ่งระเบียบข้อหลักๆ นั้นก็ถูกพัฒนาขึ้นในยุคเรอเนซองส์ (Renaissance) และยุคใหม่ช่วงต้นๆ จนกลายเป็นต้นแบบของมาตรการในยุคหลัง เฮนเดอร์สัน อธิบายว่า จากการศึกษาแล้ว มาตรการเหล่านี้ปรากฏขึ้นในอิตาลีระหว่างศตวรรษที่ 15-17 และถูกนำมาใช้แบบเต็มรูปแบบอย่างชัดเจนในช่วงเกิดโรคระบาดในฟลอเรนซ์ ราว 1930-1931

ขณะที่เมืองเฟอร์ราร่า ซึ่งขณะนั้นมีประชากรราว 30,000 คน เป็นเมืองที่ประสบความสำเร็จในแง่การรับมือโรคระบาดมากที่สุด

ข้อมูลที่กล่าวอ้างข้างต้นนี้อ้างอิงจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ซึ่งทีมวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยเฟอร์ราร่า ได้สืบค้นเอกสารทางการท้องถิ่นและเอกสารชั้นต้นทางประวัติศาสตร์ เมื่อวิเคราะห์จากเอกสารแล้ว ทีมวิจัยสรุปว่า เมืองเฟอร์ราร่า ประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคระบาดจากองค์ประกอบหลายข้อ อาทิ การตรวจตราเขตพรมแดนอย่างเข้มงวด มาตรการสุขอนามัยที่เข้มข้น และวินัยส่วนบุคคลซึ่งปรากฏการใช้สารทางธรรมชาติที่มีคุณสมบัติต้านจุลชีพ ใช้ทั้งสมุนไพร น้ำมัน หรือแม้แต่แมงป่องและงูพิษ

พื้นที่ของเมือง

เมืองเฟอร์ราร่า เป็นเมืองที่มีทิวทัศน์งดงาม มีกำแพงตามแนวแม่น้ำโป (Po River) ไปจนถึงช่วงพื้นที่ตรงกลางจากระยะห่างระหว่างเมืองปาดัว (Padua) และโบโลญญา ซึ่งเมืองทั้งสองแห่งนี้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโรคระบาดช่วง ค.ศ. 1930 เมืองเฟอร์ราร่า เริ่มปรากฏการวางถนนครั้งแรกเมื่อ 1375 และมีระบบระบายน้ำในปี 1425

หากมองภาพรวม ช่วงศตวรรษที่ 15 คือห้วงเวลาที่เมืองใหญ่ในอิตาลีอย่างเวนิซ และฟลอเรนซ์ ติดต่อสัมพันธ์กับเมืองขนาดเล็กอื่นๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการระบาด ข้อมูลเหล่านี้ถูกใช้เพื่อวางมาตรการแต่ละระดับให้สอดคล้องกับความรุนแรง และร่วมกันหามาตรการทางสาธารณสุขเพื่อรับมือสถานการณ์

สำหรับมาตรการสูงสุดของเฟอร์รารา พวกเขาปิดประตูเมือง จัดทีมตรวจตราที่มีตารางสลับเปลี่ยนกัน ทีมประกอบไปด้วยขุนนางที่มีฐานะดี, เจ้าหน้าที่ทางการ, แพทย์ และเภสัชกร ใครก็ตามที่มุ่งหน้ามาทางประตูเมืองต้องมีเอกสารประจำตัวที่เรียกว่า “Fedi” เพื่อการันตีว่าพวกเขามาจากพื้นที่ซึ่งไม่มีการระบาด หากมีเอกสารพร้อมจึงจะถูกตรวจร่างกายว่ามีอาการที่เป็นสัญญาณว่าติดโรคหรือไม่

ในเมือง

ในตัวเมืองย่อมมีมาตรการเฝ้าระวังในระดับที่สอดคล้องกันเพื่อตรวจหาผู้ที่มีอาการหรือผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อ เมื่อพบตัว พวกเขาจะถูกเคลื่อนย้ายไปสู่ “โรงพยาบาลโรคติดต่อ” ซึ่งตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองเฟอร์ราร่า ในฟลอเรนซ์ เองก็มีโรงพยาบาลโรคติดต่อลักษณะเดียวกันและรักษาผู้ป่วยมากกว่าหมื่นรายในช่วง 1930-1931 รัฐเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด

แพทย์ในสมัยนั้นเชื่อกันมาว่า โรคระบาดนั้นมาจากอากาศที่ปนเปื้อน ซึ่งอาจถูกปล่อยออกมาจากใต้ดินระหว่างแผ่นดินไหว การปนเปื้อนก็ถูกเชื่อว่ามาจากสิ่งเน่าเปื่อยหรือสิ่งโสโครกในเมืองและชานเมือง กระทั่งในปี 1546 จิโรลาโม ฟราแคสโตโร (Girolamo Fracastoro) แพทย์อิตาเลียนเผยแพร่ทฤษฎีเชิง “เมล็ดพันธุ์แห่งโรค” ซึ่งเขามองว่าโรคแพร่กระจายจากคนสู่คน เมล็ดพันธุ์เหล่านั้นสามารถติดมากับเสื้อผ้าและสิ่งของได้

เมืองเฟอร์ราร่า ซึ่งมีมาตรการทางสาธารณสุขที่สืบทอดกันมาจากยุคกลาง เมื่อได้รับแนวคิดจากฟราแคสโตโรอีก ทำให้พวกเขาเริ่มกำจัดขยะและจัดการสัตว์ที่มีพฤติกรรมสกปรกเช่นสุนัข แมว และไก่ มีโรยผงปูนขาวทั่วไปบนพื้นผิวใดก็ตามที่สันนิษฐานว่ามีผู้ป่วยสัมผัส

ขณะที่ในครัวเรือนเองก็ประเมินวัตถุต่างๆ เฟอร์นิเจอร์ที่เสียหายแล้วจะถูกนำมาไว้ข้างนอกและเผาทำลาย ส่วนวัตถุมีค่าและเงินจะนำมาวางไว้ใกล้ไฟ มีพ่นน้ำหอมในบ้านทุก 15 วัน เสื้อผ้าและสิ่งทอต่างๆ จะถูกนำมาตากแดด ชำระ และโรยน้ำหอมทุก 15 วัน

สำหรับเมืองฟลอเรนซ์ พวกเขามีกระบวนการสืบค้นแกะรอยหาผู้ป่วยที่ติดเชื้อรายแรก โดยเจ้าหน้าที่ทางการของเมืองฟลอเรนซ์ ระเบียบวิธีนี้เป็นหนึ่งในกระบวนการที่กระทำในช่วงโรคระบาดช่วงต้นของยุคสมัยใหม่ในอิตาลี เจ้าหน้าที่พยายามค้นหาตัวผู้ป่วยคนแรกที่นำโรคระบาดเข้ามาในเมืองหรือนครรัฐและตามตัวผู้ที่ติดต่อสัมผัสทั้งหมด และจะถูกกักตัวในบ้าน 40 วัน หรือในศูนย์กักตัวขนาดใหญ่นอกกำแพงเมือง

ในช่วงที่ประชากรเมืองฟลอเรนซ์ กักตัวอย่างสมบูรณ์ราว 1631 ทางการอนุญาตให้คนทั่วไปยืนบนดาดฟ้าหรือหลังคาในอาคารที่อาศัยอยู่ และพูดคุยกับคนที่อยู่ในถนนฝั่งตรงข้าม หรือแม้แต่ร้องเพลงได้ด้วย

สุขอนามัยส่วนบุคคล

บทความจาก history.com อธิบายว่า ประชากรเมืองเฟอร์ราร่า นิยมวิธีทางธรรมชาติหลายอย่างสำหรับป้องกันโรค วิธีที่นิยมมากที่สุดคือใช้น้ำยาที่เรียกว่า “Composito” มีกฎหมายกำหนดว่า ส่วนผสมของน้ำยาจะต้องถูกกักเก็บเตรียมพร้อมอยู่ในกล่องซึ่งถูกปิดล็อกอยู่ภายในที่ทำการของทางการและจะถูกนำมาแจกจ่ายในภาวะโรคระบาดเท่านั้น

ส่วนผสมลับของ “Composito” บัญญัติโดยแพทย์ชาวสเปนชื่อ เปโดร คาสตาโญ (Pedro Castagno) เขายังเป็นผู้ออกแบบระเบียบให้เมืองเฟอร์ราร่า เรียกว่า “กฎเกณฑ์ต่อต้านโรคระบาด” เนื้อหาส่วนหนึ่งอธิบายวิธีใช้น้ำยาชโลมร่างกายว่า

“ก่อนลุกขึ้นจากเตียงในตอนเช้า หลังเผาไม้หอม (สน, ลอเรล, ยอดเถา-juniper, laurel and vine shoots) อบเสื้อผ้า ให้ถูในพื้นที่ส่วนหัวใจก่อน อยู่ใกล้ไฟเพื่อช่วยในการดูดซึมซับ จากนั้นจึงไปที่บริเวณคอ”

“(หลังจากนั้น) ล้างมือ และใบหน้าด้วยน้ำสะอาด ผสมไวน์และน้ำส้มสายชูหมักจากกุหลาบโดยใช้ฟองน้ำ…”

ยาที่ผสมพิษ

สิ่งที่คาสตาโญ ไม่ได้ระบุคือส่วนผสมของน้ำยา แต่จากการตรวจสอบหลักฐานบันทึกสิ่งที่คาสตาโญ สั่งมา นักวิจัยสันนิษฐานว่ามันคือขี้ผึ้งที่ผสมยางไม้หอม (Myrrh) และหญ้าฝรั่น (Crocus sativus) ทั้งสองสิ่งนี้เป็นที่รู้จักจากคุณสมบัติมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียเช่นเดียวกับพิษจากแมงป่องและงู

ในภูมิภาคอื่นๆ แถบอิตาลียังมีปรากฏน้ำยาที่มีส่วนผสมคล้ายกันอันเป็นที่รู้จักในชื่อ “น้ำมันแมงป่อง” และขี้ผึ้งโบราณชื่อ “Theriac” ซึ่งมีส่วนผสมของพิษงูเช่นกัน เฮนเดอร์สัน อธิบายถึงเหตุผลที่ต้องใช้พิษนั้น เนื่องมาจากเชื่อว่าพิษธรรมชาติแท้เท่านั้นที่สามารถต่อต้านพิษจากโรคระบาดได้

หากพิจารณาโดยรวมแล้ว มาตรการในเมืองเฟอร์ราร่า ล้วนปรากฏในเมืองอื่นสำหรับต่อสู้กับโรคระบาดเช่นกัน ในมุมมองของเฮนเดอร์สัน เขาเชื่อว่า สิ่งที่สร้างความแตกต่างคือระดับความเข้มข้นของการบังคับใช้

อ้างอิง :

DAVE ROOS. “How One 17th-Century Italian City Fended Off the Plague”. History. Online. Published 3 APR 2020. Access 10 APR 2020.

Khadilkar, Dhananjay. “17th-century Florence: When lockdown became the template to fight pandemics”. rfi. Online. Published 7 APR 2020. Access 10 APR 2020.

https://en.wikipedia.org/wiki/1629%E2%80%931631_Italian_plague

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 เมษายน 2563

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0