โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เมียฝรั่ง : พ้นไปจากความถูกผิด คือชีวิตที่ต้องเดิมพัน - เพจมนุษย์กรุงเทพฯ

TALK TODAY

เผยแพร่ 02 ธ.ค. 2562 เวลา 17.00 น. • เพจมนุษย์กรุงเทพฯ

 เธอเป็นคนอีสานที่เลือกไปทำงานบริการที่เมืองพัทยา ด้วยอาชีพ ด้วยการดูแลเอาใจใส่ และด้วยนิสัยใจคอ ทำให้เธอกับเขาถูกใจกัน จนกระทั่งเธอตัดสินใจย้ายไปลงหลักปักฐานที่ประเทศเดนมาร์ก

 หลังจากผ่านขั้นตอนตามกฎหมาย คำว่า ‘เมียฝรั่ง’ กลายเป็นคำเรียกขานชีวิตใหม่ เป็นคำสั้นๆ ที่แฝงด้วยความไม่เข้าใจและการตัดสินคุณค่าในความเป็นมนุษย์ ทั้งในแง่จุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ และชีวิตประจำวันในตอนนั้น

 ความแตกต่างของทุกๆ องค์ประกอบว่าด้วย ‘ชีวิตที่ดี’ ของประเทศใหม่ ทั้งเรื่องรายได้และสวัสดิการ ทำให้ความเป็นอยู่ของเธอค่อยๆ ดีขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอตัดสินใจชักชวนเหล่าญาติและคนจากหมู่บ้านเดียวกัน เข้ามาเป็นสมาชิกของกลุ่ม ‘เมียฝรั่ง’ คนแล้วคนเล่าที่หันหลังให้กับความลำบาก เจอกับการเดิมพันที่สุ่มเสี่ยง ทั้งการปรับตัวในเรื่องภาษา วิถีชีวิต วัฒนธรรม และความคิดถึงครอบครัวและบ้านเกิด แต่ความเสี่ยงนั้นก็เพื่อการได้ไปอยู่ในโลกที่ (หวังว่าจะ) ดีกว่าเดิม

 จากหนึ่งคนเมื่อกว่ายี่สิบปีก่อน ปัจจุบันมีผู้หญิงไทยกว่าเก้าร้อยคนใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นในฐานะ ‘เมียฝรั่ง’

 เรื่องราวเหล่านั้นมาจากภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘Heartbound: A Different Kind of Love Story’ หรือในชื่อภาษาไทยว่า ‘รักเอย’ เรื่องจริงของ ‘สมหมาย’ และ ‘นีลส์’ คู่สามีภรรยา รวมทั้งผู้หญิงไทยอีกหลายคนที่ปรารถนาชีวิตที่ดีกว่าเดิม ซึ่งผู้กำกับ Janus Metz และ Sine Plambech ใช้เวลานับสิบปีในการถ่ายทำจากชีวิตจริง

 ถ้ามองเรื่องราวทั้งหมดด้วยการชี้ถูกชี้ผิด คุณอาจมองพวกเธอเป็นผู้หญิงไม่ดี ทั้งหน้าที่การงานและการย้ายถิ่นฐานเพื่อหวังผลประโยชน์ แต่หากมองลึกในความรู้สึกและมองกว้างไปยังสภาพสังคมของทั้งสองประเทศ ไม่ต้องเห็นดีเห็นงามด้วยก็ได้ แต่เชื่อว่าคุณจะเข้าใจชีวิตของพวกเธอมากขึ้น

 คุณนิยามว่า ‘ความรัก’ ว่าคืออะไร 

 หากเป็นความรู้สึกแบบโรแมนติกเพียงอย่างเดียว ความสัมพันธ์ของพวกเธอไม่ใช่แบบนั้นหรอก มันเกิดขึ้นและดำเนินไปเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง (สมหมายก็ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องนี้) ถามว่าฝ่ายชายรับรู้ไหม รู้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่เขาได้รับกลับมาคือการเอาใจใส่และการได้เป็นคนสำคัญ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคนรอบตัวจะคิดแบบไหน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า มันคือข้อตกลงร่วมกัน ไม่มีการแย่งชิงจากใคร ไม่มีการบังคับขู่เข็ญ ทั้งสองคนพอใจแบบนั้น ส่วนในอนาคตจะเกิดความรักแบบโรแมนติกไหม คงยากที่ใครจะคาดเดาได้

 แต่หากคุณมองพวกเธอว่า ‘รักสบาย’ ต้องเข้าใจก่อนว่า เมียฝรั่งต้องดูแลความเรียบร้อยในบ้าน พร้อมกับทำอาชีพเป็นคนใช้แรงงานด้วย เพียงแค่ผลตอบแทนต่างกันราวคนละโลก สำหรับค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทย แค่ลำพังกินอยู่ก็ไม่ง่ายแล้ว แต่อาชีพคล้ายกันที่ประเทศเดนมาร์ก รายได้มากพอต่อการเลี้ยงตัวเองให้มีชีวิตที่ดี และเพียงพอกับการส่งกลับไปให้ครอบครัวได้ลืมตาอ้าปาก แน่ล่ะ พวกเธอทำเพื่อตัวเอง แต่มากกว่านั้นคือการทำเพื่อคนข้างหลังด้วย

 “หลายคนพอได้ดูหนังเรื่องนี้ ก็เข้าใจพวกเรามากขึ้น”สมหมายพูดไว้ในการพูดคุยสั้นๆ หลังภาพยนตร์สารคดีจบลง ผมเห็นด้วยกับคำพูดของเธอ เพราะทุกๆ รายละเอียด ทั้งภาพ ถ้อยคำ และอารมณ์ที่ส่งออกมา ทำให้ผมเข้าใจหลายเรื่องมากกว่าเดิมจริงๆ 

 พูดก็พูดเถอะ สำหรับโลกใบใหม่ที่ไม่มีอะไรแน่นอน หากชีวิตเดิมสุขสบาย ใครเล่าจะอยากไปเผชิญ

 เกือบสองชั่วโมงในโรงภาพยนตร์ พาผู้ชมไปพบผู้หญิงหลายคนที่มีความหวัง (แต่สุดท้ายบางคนก็ผิดหวังจากความรัก) การตามติดชีวิตจริงในช่วงเวลาสิบปี ทำให้เห็นพวกเธอในหลากหลายมิติ จากผู้หญิงอีสานที่หันหลังให้ความลำบาก ชายหญิงที่เริ่มต้นชีวิตคู่ บทบาทแม่ พี่สาว และลูกสาว จนกระทั่งวันเวลาเปลี่ยนให้เธอเป็นคนสูงวัยที่คิดถึงบ้านเกิด แต่หาได้ต้องการทอดทิ้งคู่ชีวิต พร้อมกันนั้น เรื่องเล่าถึงผู้ชายเดนมาร์กที่มากกว่าแค่ผู้หยิบยื่นความสุขสบาย แต่เผยให้เห็นแง่มุมอ่อนไหวเปราะบางในฐานะมนุษย์คนหนึ่งด้วย

 แน่นอนว่าชีวิตจริงที่ไต่เส้นศีลธรรมอันดี แต่ละคนอาจมองเรื่องราวทั้งหมดแตกต่างกัน ทว่าพ้นไปจากรูปแบบของชีวิต สิ่งที่เหมือนกันในทุกคน คือพวกเขาใฝ่ฝันถึงชีวิตที่ดีกว่าเดิม และปรารถนาการมีใครสักคนเคียงข้าง  

 จริงหรือไม่ว่า เราต่างต้องการสิ่งนั้นเช่นกัน 

ติดตามบทความของเพจมนุษย์กรุงเทพฯ ได้บน LINE TODAY ทุกวันอังคารที่ 1 และ 3 ของเดือน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0