โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เฟิร์ส-ชนะวัฒน์ เทียมบุญประเสริฐ เกษตรกรผู้สร้างโปรเจกต์ “ดอกไม้กินได้”

BLT BANGKOK

เผยแพร่ 01 มิ.ย. 2563 เวลา 05.02 น. • BLT Bangkok
เฟิร์ส-ชนะวัฒน์ เทียมบุญประเสริฐ เกษตรกรผู้สร้างโปรเจกต์ “ดอกไม้กินได้”

โปรเจกต์ “ดอกไม้กินได้” นับเป็นหนึ่งในการปรับตัวของคุณเฟิร์ส-ชนะวัฒน์ เทียมบุญประเสริฐ เกษตรกรฟาร์มผักสลัดสเตชั่น (Salad Station) ฟาร์มผักย่านชานเมืองกรุงเทพฯ ที่ได้รับพิษจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอย่างสาหัส แต่ด้วยความรู้ในการทำเกษตรที่สั่งสมมานานกว่า 9 ปี ประกอบกับการลองผิดลองถูก จึงเกิดเป็น “ดอกไม้กินได้” ที่แม้จะยังไม่ได้เป็นผลผลิตหลักของสวน แต่ก็สามารถสร้างรายได้ และเลี้ยงปากท้องของทุกคนในฟาร์ม จนเกิดเป็นรอยยิ้มที่สวยงามไม่แพ้ “ดอกไม้กินได้” เลยทีเดียว

การปรับตัวของฟาร์มเมอร์ในวิกฤตโควิด-19

“จริง ๆ เราอยู่ในแวดวงเกี่ยวกับการทำเกษตรมาตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยเลยครับ เพราะเราเรียนจบปริญปริญญาตรี และปริญญาโทจากคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัพระจอมเกล้าลาดกระบัง แต่จบมาก็ไปทำงานบริษัทอยู่ประมาณ 2 ปี จากนั้นก็มาเริ่มทำธุรกิจของตัวเองอย่าง ฟาร์มผักสลัดสเตชั่น (Salad Station) ซึ่งตอนนี้ก็ทำมาได้ประมาณปีที่ 9 แล้ว โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็อาจจะเปลี่ยนพืชที่ปลูกไปเรื่อย ๆ เริ่มช่วงแรก ๆ ที่ผักสลัดกำลังบูม ๆ ก็ปลูกผักสลัดมาได้ประมาณ 6-7 ปี ต่อมาก็เริ่มมีพืชอื่นมาเพิ่ม พวกสมุนไพร ผักไทย ฯลฯ โดยฟาร์มเรามีพื้นที่ปลูกประมาณ 3 ไร่ แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ตอนนี้เลยมีพื้นที่ปลูกอยู่แค่ประมาณ 1-2 ไร่ เน้นไปที่คุณภาพมากกว่า

“โดยในฟาร์มเราก็จะมีลูกน้อง 3 คน มีพี่ที่เขามาช่วยดูเวลาเราไม่อยู่ แล้วก็มีอาจารย์ที่ลาดกระบังก็มาช่วยให้คำแนะนำเราบ้าง ซึ่งฟาร์มเราเป็นการเช่าที่ทำ ไม่ใช่ที่ดินของตัวเอง แต่ด้วยความที่อยู่ชานเมือง ทำให้ไม่ได้เช่าแพงอะไรมาก ซึ่งช่วงแรก ๆ ที่เกิดวิกฤตไวรัส ลูกค้าที่มารับผลผลิตของเราก็หายไปเกือบ 80% เพราะส่วนใหญ่ ลูกค้าที่มารับทั้งผัก และดอกไม้ที่ปลูกจะเป็นพวกโรงแรมกับร้านอาหาร แล้วพอไม่มีแขกเข้าพัก หรือทางร้านอาหารโดนสั่งปิด เขาก็ไม่รับของเรา หรือจะเป็นแม่ค้าทำสลัดโรลที่มารับผลผลิตของเราไปขายบ้างก็ลดลง เลยต้องมีการปรับตัวตั้งแต่การเน้นขายปลีกมากขึ้น ต้องลดต้นทุนทุกอย่างลง ต้องไปวิ่งขายตามหมู่บ้านแทน รับออเดอร์ผ่านออนไลน์ ส่งให้ตัวแทนไปขายตามพื้นที่ออนไลน์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ก็ถือว่าเป็นการปรับตัวที่พยายามสู้กันไป”    

“ดอกไม้กินได้” ผลผลิตที่เปี่ยมทั้งความสวยงาม และยังสามารถกินได้

“จริง ๆ ตัวดอกไม้กินได้ เราพึงจะมาปลูกได้ประมาณ 1 ปี ซึ่งปกติดอกไม้กินได้นี่ก็มีคนปลูกกันมาอยู่บ้างแล้ว และมีเพื่อนของเราที่เคยปลูกส่งอยู่บ้าง ก็เลยมาคุยกันว่าอยากให้เราลองมาปลูก ซึ่งช่วงที่เริ่มตอนแรกมันก็ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง บางตัวก็อาจจะยังไม่เวิร์ก บางตัวก็เวิร์ก เราก็ลองผิดลองถูกกันสัก 3-4 เดือน จากที่จริง ๆ มันต้องลองให้ครบปี เพื่อที่จะเช็กความเหมาะสมในการปลูกในทุกฤดู แต่เราก็ใช้การเร่งศึกษาด้วยการหาข้อมูลตามที่ต่าง ๆ บ้าง ลองกินดูบ้าง”

“โดยขั้นตอนจริง ๆ อันดับแรกต้องหาก่อนว่าดอกไหนกินได้ แล้วก็ค่อยมาดูอีกทีว่าดอกที่กินได้ มีดอกไหนปลูกได้บ้าง เหมาะกับพื้นที่เพาะปลูกของเราไหม ซึ่งดอกไม้มันก็มีข้อจำกัดตรงที่มันเหี่ยวเร็ว ทำให้การเลือกปลูกดอกไม้กินได้ ต้องดูองค์ประกอบ 4 อย่างคือ ดอกไม้ต้องกินได้ เหมาะกับพื้นที่เพาะปลูก เหมาะกับภูมิอากาศบ้านเรา และสุดท้ายคือต้องเก็บรักษาได้นาน โดยตัวที่ออกดอกเร็วที่สุดก็ประมาณ 2 เดือน ส่วนตัวที่ออกช้าที่สุดก็ประมาณ 4 เดือน ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ และปัจจัยแวดล้อมหลาย ๆ อย่าง”

พันธุ์ดอกไม้กินได้ต่าง ๆ ของทางฟาร์ม

“คือจริง ๆ ดอกไม้ที่เราปลูกอยู่ในฟาร์มมันมีหลายพันธุ์มาก ๆ โดยเราปลูกสลับไปตามฤดูกาล โดยคร่าว ๆ ก็จะมีดอกดาวเรืองฝรั่งเศษ ดอกผีเสื้อ ดอกเวอร์บีน่า ดอกหน้าไวโอล่า ดอกเข็มอินเดีย ดอกพิทูเนีย ดอกบีโกเนีย ดอกแววมยุรา ดอกลาเวนเดอร์ ฯลฯ ก็ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพอากาศ โดยดอกไม้ทุกดอกก็ตัดดอกออกมาล้าง แล้วก็กินได้เลย ส่วนรสชาติก็แล้วแต่คนชอบ จริง ๆ ส่วนใหญ่คนที่ซื้อไปเขาไม่ได้เน้นกินเท่านั้น ด้วยสีสันของดอกไม้ที่สวยงาม เขาก็นิยมเอาไปใช้ประดับตกแต่งจากอาหาร จานขนมได้ด้วย ใช้ทำเบเกอรี่ อะไรประมาณนี้ หรือถ้าจะทานจริง ๆ ก็เป็นส่วนแกล้มกับผักสลัด และน้ำสลัด ก็จะได้ทั้งรสชาติที่แปลกใหม่ และความสวยงามของจานสลัดที่เพิ่มขึ้น จากสีสันของดอกไม้กินได้”

“ซึ่งจริง ๆ รายได้หลักของทางฟาร์มเราจะเป็นผักมากกว่า มีทั้งผักสลัด ผักไทย แต่ดอกไม้กินได้เป็นเหมือนแค่ส่วนเสริมครับ เพราะตลาดมันยังแคบ โดยช่วงนี้ก็มีทั้งที่เราไปส่งเอง แล้วก็มีพ่อค้าแม่ค้ามารับ เราก็ต้องเน้นขายปลีกมากขึ้น เพราะขายส่งยากขึ้น แต่ก็ถือว่าช่วยสร้างรายได้ให้กับทางฟาร์มของเราได้อย่างดีเลยทีเดียว”

กิจกรรมเรียนรู้การทำเกษตรกับฟาร์มผักสลัดสเตชั่น (Salad Station)

“ด้วยความที่ฟาร์มของเราไม่ได้อยู่ตามต่างจังหวัด หรือพื้นที่ชนบท แต่อยู่ในเขตชานเมืองกรุงเทพฯ ทำให้การทำงานส่วนหนึ่งที่เราอยากทำคือสร้างการเรียนรู้แก่ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับการทำเกษตร ให้กับคนในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ โดยฟาร์มผักสลัดสเตชั่น (Salad Station) ก็มีการเปิดให้เข้ามาเยี่ยมชมการปลูกพืชผลต่าง ๆ ในฟาร์มแบบทุกขั้นตอน โดยมีการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่นการจัดอบรมของมหาวิทยาลัยก็จะมีการพาผู้อบรมมาดูงานที่ฟาร์มเรา มีนักศึกษาด้านการเกษตรมาฝึกงานกับทางสวนเรา มีการเปิดให้คนในพื้นที่ หรือน้อง ๆ นักเรียนในโรงเรียนใกล้เคียงได้เข้ามาดูงาน เราก็เปิดรับหมด เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะได้ส่งต่อเรื่องของการทำเกษตรแก่คนที่สนใจ เพื่อสร้างสังคมการทำฟาร์มที่มีคุณภาพต่อ ๆ กันไป”

ลองสั่ง “ดอกไม้กินได้” หรือผลผลิตอื่น ๆ ของทางฟาร์มผักสลัดสเตชั่น (Salad Station) ได้ที่

คุณเฟิร์ส-ชนะวัฒน์ เทียมบุญประเสริฐ / เบอร์โทรศัพท์ 086-977-1944

ที่ตั้งฟาร์มผักสลัดสเตชั่น (Salad Station) : 29/12 ซ.8 ถ.บึงขวาง แขวง แสนแสบ เขต มีนบุรี กรุงเทพมหานคร 10510

FB : Salad Station Hydroponics Farm

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0