โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

หลักฐาน"การฝังมุก"ชายไทยในอดีต จากเอกสารต่างชาติ หรือจะมาจากการหึงหวงใน "ชายรักชาย"

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 29 มิ.ย. 2566 เวลา 20.28 น. • เผยแพร่ 29 มิ.ย. 2566 เวลา 20.25 น.
ปริศนาโบราณคดี-2047-3 (1)

บทความชิ้นนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอเรื่องลามกอนาจาร หรือเรื่องใต้สะดือที่เป็นของต้องห้ามต่อสื่อสาธารณะแต่อย่างใด

ทว่า ดิฉันต้องการนำเสนอ “ข้อมูลชุดหนึ่งเกี่ยวกับความลับของบุรุษเพศที่ถูกมองข้าม” ไม่ใคร่มีใครกล่าวถึงมากนัก อาจเนื่องมาจากการที่สังคมไทยเป็นเมืองพุทธศาสนา นักวิชาการกระแสหลักจึงละอายแก่ใจที่จะหยิบยกประเด็นเรื่อง “สรีระในร่มผ้า” มาวิพากษ์วิจารณ์กันในที่แจ้ง

การนำเสนอเรื่อง “การฝังมุกที่เครื่องเพศชาย” ครั้งนี้ ก็เพื่ออยากให้สังคมไทยช่วยกันนำข้อมูลในอดีตที่ดิฉันไปศึกษาค้นคว้ามา วิเคราะห์สังเคราะห์ถึงปมปัญหาที่มาที่ไปร่วมกัน

มุมมองจากพ่อค้าโปรตุเกส

เอกสารชิ้นแรกที่มีการเปิดเผยเรื่องดังกล่าวคือบันทึกเรื่อง“Suma Oriental” (หรือภาษาอังกฤษคือ Siam Oriental) เขียนโดยนาย “โตเม่ ปิรืช” (Tome Pires) แต่เนื่องจากนาม “ปิรืช” เป็นภาษาโปรตุเกสที่ออกเสียงยาก เอกสารไทยจึงเรียกว่า“โตเม่ ปิเรส” แทน

บันทึกของปิเรสเขียนขึ้นเมื่อ ค.ศ.1512-1515 (พ.ศ.2055-2058) ตรงกับแผ่นดินสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (นามเดิมพระเชษฐา) ของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา หรือสมัยพระเมืองแก้วของอาณาจักรล้านนา

ถือเป็นชาวโปรตุเกสรุ่นแรกที่บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับสยามในเชิงประวัติศาสตร์สังคม ก่อนหน้าที่จะเข้ามาในสยาม ปิเรสเดินทางไปยังอินเดีย มลายู พม่า ปะหัง และจามปามาก่อนแล้ว

ปิเรสได้พรรณนาถึง “ผู้ชายชาวสยาม” ไว้อย่างน่าสนใจ โดยมักเปรียบเทียบกับผู้ชายชาวมอญในหงสาวดี ที่ปิเรสเรียกว่าพะโค ดังนี้

“พวกเขามีรูปร่างสูง ผิวคล้ำ ผมเกรียนเหมือนชาวพะโค”

“ชาวสยามนิยมฝังตะกรุดและแขวนของขลังเป็นจำนวนมาก พอๆ กับผู้ชายพะโค นอกจากนี้ พวกขุนนางจะแขวน (เอกสารแปลบางเล่มใช้คำว่า “ฝัง”) เครื่องประดับเพชรยอดแหลมและอัญมณีอื่นๆ ไว้ในบริเวณที่ลับ”

ข้อความดังกล่าวนี้เป็นการบันทึกภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ชายสยามในกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ 500 ปีก่อน โดยมีเอกสารจีนรองรับอีกชิ้นหนึ่ง

เอกสารจีนของ “หม่าฮวน”

หม่าฮวน (Ma Huan) เป็นล่ามในคณะเดินทางสำรวจของ“เจิ้งเหอ” ผู้บัญชาการทหารเรือของจีนในยุคราชวงศ์เหม็ง (หมิง) ซึ่งเข้ามาสยามตั้งแต่สมัยต้นกรุงศรีอยุธยา ราว พ.ศ.1948 ตรงกับแผ่นดินสมัยสมเด็จพระรามราชาธิราช

หม่าฮวนได้บันทึกเรื่องราวในเอกสารชื่อ “Ying-Yai Sheng-Lan” แปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาจีนโดย J. V. G. Mills มีหลายตอน แต่เรื่องการฝังมุกปรากฏอยู่ในตอนที่ชื่อว่า The Country of Hsien นิตยสารศิลปวัฒนธรรมเคยตีพิมพ์รายละเอียดเรื่องนี้ครั้งแรกในฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2543 และจากนั้นมีการแปลอีกหลายสำนวน ความโดยรวมดังนี้

“เมื่อผู้ชายอายุย่าง 20 ปี พวกเขาจะถลกหนังหุ้มองคชาตออกมา แล้วใช้มีดคมบางรูปร่างคล้ายใบหอมกรีดเปิดผิวหนัง แล้วสอดใส่ลูกปัดดีบุกสักโหลหนึ่งเข้าไปข้างในผิวหนังที่เปิดแล้ว จึงปิดแผลและรักษาด้วยสมุนไพรที่เป็นยาประเภทต่างๆ

เขาจะรอจนกว่าแผลนั้นจะหายสนิทดี แล้วจึงออกไปข้างนอก และเดินเตร่ไปมาลูกปัดดีบุกเหล่านั้นเหมือนพวกองุ่น จริงๆ แล้วยังมีคนอีกชนชั้นหนึ่ง เป็นผู้จัดแจงรับจ้างในเรื่องการผ่าตัด พวกนี้เชี่ยวชาญในการฝังและหล่อเชื่อมลูกปัดดีบุกให้กับผู้คน เขาทำจนเป็นอาชีพอย่างหนึ่งทีเดียว

หากว่าเป็นชนชั้นสูง ขุนนางผู้ใหญ่ หรือคหบดี พวกเขาจะใช้ทองคำทำเป็นเม็ดกลวง ในนั้นใส่เม็ดทรายแล้วเอาฝัง ไปไหนก็ส่งเสียงกรุ๋งกริ๋ง แลถือกันว่างามนัก ผู้ชายที่ไม่มีลูกปัดคือพวกคนชั้นต่ำ นี่เป็นเรื่องพิลึกพิสดารเหลือหลาย”

มาดูหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งเป็นเหตุการณ์ในล้านนาเกิดขึ้นเมื่อ 400 กว่าปีมาแล้วเช่นกัน

จดหมายเหตุ “ราล์ฟ ฟิตช์” ชาวอังกฤษ

นายราล์ฟ ฟิตช์ (Ralp Fitch) เป็นพ่อค้าชาวอังกฤษที่เดินทางเข้ามาในล้านนาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1583 หรือตรงกับ พ.ศ.2126 หลังจากที่พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่าผู้ปกครองล้านนาในขณะนั้นเพิ่งสวรรคตได้เพียง 2 ปี (บุเรงนองสิ้นพระชนม์ พ.ศ.2124)

ราล์ฟ ฟิตช์ เดินทางมาในนามตัวแทนบริษัทร่วมหุ้นกลุ่มพ่อค้าชาวลอนดอนชื่อเลแวนท์ กำปะนี (Levant Company) เช่นเดียวกับปิเรส เขาต้องผ่านอินเดีย พม่า (พะโค และย่างกุ้ง) มะละกา (เมืองท่าอุษาคเนย์ในขณะนั้น) ก่อนจะมาสยาม และขึ้นสู่ล้านนา

จดหมายเหตุที่ราล์ฟ ฟิตช์ บันทึกไว้ ได้รับการเผยแพร่ในปี พ.ศ.2142 หลังจากที่เขากลับไปสหราชอาณาจักรแล้ว ข้อความเกี่ยวกับการฝังมุกปรากฏดังนี้

“การฝังลูกปัดขนาดเล็กในที่ลับของผู้ชายในเมืองพะโค และในเมืองอื่นๆ อาทิ อังวะ ซินเหม่ (หมายถึงเชียงใหม่-ล้านนา) สยาม และพม่า พวกผู้ชายสวมใส่ลูกกลมๆ ขนาดเล็ก 2-3 ลูกที่องคชาต พวกเขาจะกรีดหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ และนำลูกปัดใส่ลงไป ลูกหนึ่งอยู่ด้านหนึ่ง อีกลูกหนึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม

พวกเขาจะเริ่มทำเมื่ออายุระหว่าง 25-30 ปี พวกเขาจะฝังลูกกลมๆ ขนาดเล็กเพียงลูกเดียวหรือมากกว่านั้นก็ได้แล้วแต่ความพอใจ หลังจากการแต่งงาน เมื่อสามีมีบุตรคนหนึ่งเขาก็จะฝังเพิ่มอีกลูกหนึ่ง “เนื่องจากเป็นความต้องการของผู้หญิง”

อีกทั้ง “ยังป้องกันไม่ให้ผู้ชายไปทำมิดีมิร้ายกับชายอื่น” เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา ผู้คนในประเทศเหล่านี้ติดพฤติกรรมชั่วร้ายที่ว่านี้ จึงทำให้ต่างมีประชากรน้อย”

วิเคราะห์การฝังมุก เหลวไหลหรือเรื่องจริง

หากเรื่องราวการฝังมุกของเพศชายพบในเอกสารแค่เพียงชิ้นเดียว เราก็อาจคิดได้ว่า น่าจะเป็นเรื่องเลอะเทอะเหลวไหลกระมัง แต่นี่เป็นคำให้การของชาวต่างชาติที่เป็นคนละเชื้อชาติ คนละภาษา คนละศักราช ที่มากกว่าสามชิ้น (ยังมีหลักฐานอีกหลายชิ้นซึ่งไม่อาจนำมาใช้อ้างอิงได้หมดในพื้นที่อันจำกัด) ก็ย่อมแสดงว่าเรื่องราวนี้น่าจะเป็นเรื่องจริง

นำมาสู่ข้อสังเกตที่ต้องวิเคราะห์ 4 ประเด็นคือ

ประเด็นแรก การพรรณนาเรื่องดังกล่าวอย่างละเอียดลออของชาวโปรตุเกสก็ดี ชาวอังกฤษก็ดี ชาวจีนก็ดี ทำประหนึ่งว่า“ไม่เคยพบเห็นเรื่องทำนองนี้มาก่อนในสถานที่อื่นๆ ไม่ว่าในทวีปอเมริกาใต้ ทวีปแอฟริกา กลุ่มเอเชียกลาง หรือกลุ่มชาวเกาะแปซิฟิก ฯลฯ” ทั้งๆ ที่ผู้บันทึกทั้งสามท่านนี้เป็นนักเดินทางรอบโลก

เป็นเครื่องสะท้อนอย่างหนึ่งได้หรือไม่ว่า การฝังมุกเป็นวัฒนธรรมเฉพาะของบุรุษแถบอุษาคเนย์?

ประเด็นที่สอง เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วง 400-500 ปีที่ผ่านมา ทั้งในดินแดนกรุงศรีอยุธยา หงสาวดี อังวะ และล้านนา เป็นการบันทึกแบบ“โจ๋งครึ่ม” สะท้อนว่าบรรยากาศการฝังมุกยุคนั้นเป็นเรื่อง “แฟชั่น” เป็นเทรนด์ของชนชั้นสูง ถึงกับเปิดเป็นคลินิกศัลยกรรม

ประเด็นที่สาม น่าสงสัยว่า ทำไมหลังจากนั้น บันทึกของชาวต่างชาติตะวันตกที่เข้ามาติดต่อสัมพันธ์กับสยามและล้านนา ไม่ว่าด้านการทูตก็ดี ด้านการค้าก็ดี ด้านการเผยแผ่คริสต์ศาสนาก็ดี ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 4-5 กลับไม่พบการบันทึกเรื่องราวดังกล่าวอีกเลย มีแต่พูดถึงการสักยันต์ การเจาะหู การแต่งกายอื่นๆ

เป็นการยกเลิกธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้วหรือไม่ สืบเนื่องจากเหตุผลใด ศาสนา หรือกฎหมาย หรือมุมมองว่าเป็นเรื่องป่าเถื่อน? หรือว่าในความเป็นจริง ความนิยมยังมีอยู่ แต่กลายเป็นเรื่องลับ เปิดเผยไม่ได้ และคนพื้นถิ่นไม่ยินดีให้สัมภาษณ์?

ประเด็นที่สี่ เอกสารของราล์ฟ ฟิตช์ ระบุชัดเจนว่า คนที่อยากให้มีการฝังมุกนั้น หาใช่ฝ่ายชายไม่ แต่กลับกลายเป็นฝ่ายหญิงต่างหาก ที่ต้องการควบคุมพฤติกรรมทางเพศของฝ่ายชาย ไม่ต้องการให้สามีของตนไปมีเพศสัมพันธ์กับชายอื่น

สะท้อนว่าเรื่องการระแวงหึงหวงในรักข้ามเพศของ “ชายรักชาย” มีมาแล้วอย่างเป็นรูปธรรม อย่างน้อยก็ในสังคมไทยยุคเมื่อ 400-500 ปีที่ผ่านมา

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0