โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

'เพิ่งเข้างานใหม่ ทำยังไงให้ผ่านโปรฯ' คำแนะนำสำหรับคนกำลังทดลองงาน จาก The Guardian

The MATTER

อัพเดต 24 ต.ค. 2562 เวลา 02.57 น. • เผยแพร่ 23 ต.ค. 2562 เวลา 11.00 น. • Brief

มนุษย์เงินเดือนจะทราบกันดีว่า ‘ช่วงทดลองงาน’ (probation period) หรือที่เรียกติดปากว่า ‘ช่วงโปรฯ’ คืออะไร มันคือ 90 วันอันตราย (อาจน้อยหรือมากกว่านั้น) ที่เต็มไปด้วยความรู้สึกกดดัน เพราะแม้จะเป็นช่วงเวลาที่ได้เรียนรู้งานใหม่ สังคมใหม่ แต่ในขณะเดียวกันมันก็คือเส้นตายที่ขีดชะตาชีวิตว่าเราจะได้ไปต่อในบริษัทหรือองค์กรนั้นหรือไม่ เพราะถ้าไม่ผ่านโปรฯ แปลว่าเราจะต้องเสียเวลาไปเริ่มต้นหาที่ทำงานใหม่อีกแน่นอน

เชื่อว่าถ้าเป็นเด็กจบใหม่ ใครๆ ก็อยากจะผ่านโปรฯ กันทั้งนั้น ยิ่งเป็น ‘งานแรก’ ในชีวิตหลังเรียนจบ ยิ่งอยากให้ราบรื่นและผ่านไปได้ด้วยดี เพราะอุตส่าห์ได้เข้ามาทำงานในบริษัทที่อยากทำมานานทั้งที แต่ถ้าดันโดนปลดออกกลางคันแบบงงๆ ก็คงจะเจ็บใจไม่ใช่น้อย แถมการเปลี่ยนงานบ่อยๆ นั้นทำให้รู้สึกท้อแท้ได้เหมือนกัน

ส่วนบางคนก็อาจจะสงสัยว่าช่วงโปรฯ มีไว้เพื่ออะไร รับเข้าทำงานแล้วก็ถือว่าเราเป็นพนักงานประจำเลยสิ เสียเวลาทดลองงานอีกทำไมกัน แต่ทางบริษัทไม่ได้คิดเช่นนั้น การลงทุนกับทรัพยากรมนุษย์ถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่และต้องใช้เงินจำนวนมาก บริษัทจึงต้องมั่นใจว่าเลือกจ้างพนักงานมาถูกคน ซึ่งจะให้ดูจากเรซูเม่หรือแฟ้มสะสมผลงาน ก็คงจะไม่เห็นภาพเท่ากับให้ลองทำงานจริงๆ นี่คือเหตุผลที่หลายบริษัทมีช่วงโปรฯ เพื่อประเมินตัวบุคคลก่อนจะจ้างจริง

ปัจจุบัน เกือบทุกบริษัททั่วโลกมีการกำหนดช่วงเวลาก่อนผ่านโปรฯ เอาไว้ สำหรับประเทศไทยเองก็เช่นกัน ตามกฎหมายแรงงานไทยได้อนุญาตให้บริษัทในไทยมีช่วงโปรฯ ได้ไม่เกิน 119 วัน หรือประมาณสี่เดือน เมื่อผ่านช่วงเวลาที่กำหนดไปแล้ว หากทางบริษัทเห็นสมควรว่าจะให้อยู่ต่อ พนักงานคนนั้นจะได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายแรงงานไทยทันที (เท่ากับว่าเป็นพนักงานประจำอย่างเป็นทางการ) สำนักข่าว The Guardian จึงแนะนำทริกการทำงาน ที่จะทำให้เจ้านายประเมินผ่านโปรฯ และเราไม่ต้องมองหางานใหม่ไปเรื่อยๆ

lifestyles in Barcelona home one woman
lifestyles in Barcelona home one woman

สื่อสารให้เป็นประโยชน์ (be connected)

บทสนทนาและการสื่อสารเป็นสิ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนให้การทำงานออกมาราบรื่น ยิ่งเป็นช่วงเริ่มต้น เราจะต้องเรียนรู้สภาพแวดล้อมการทำงาน กระบวนการทำงาน วัฒนธรรม และกฎระเบียบต่างๆ ขององค์กร การติดต่อพูดคุยกับเจ้านายและเพื่อนร่วมงานอยู่บ่อยๆ จะช่วยให้เราได้รู้ฟีดแบ็กของงานและแนวทางการทำงานที่ถูกต้อง มีอะไรสงสัยให้ถามและปรึกษาทันที อย่าทึกทักไปเอง และอย่าปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยที่ไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ เพราะอาจเกิดข้อผิดพลาดที่สายเกินกว่าจะกลับไปแก้ไขได้

เข้าหาคนอื่นก่อนเสมอ (be proactive)

อาจฟังดูเหมือนง่ายแต่ก็ยากสำหรับพนักงานใหม่ เรามักเคอะเขินจนไม่กล้าเข้าหาใครก่อน แต่ถ้ามัวแต่รอให้คนอื่นเดินเข้ามาหา…คงไม่ได้งานสักทีอะเนอะ ทางที่ดีรวบรวมความกล้าแล้วเดินเข้าไปหาเลย อาจจะพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการมากเพื่อให้ช่องว่างระหว่างเราและอีกฝ่ายลดลง พอเริ่มสนิทใจพูดคุยกันแล้ว ก็ลองหาโอกาสพูดคุยหรือแบ่งปันความกังวลในใจ หรือขอความช่วยเหลือจากพวกเขาในส่วนที่เรากำลังมีปัญหาในช่วงนี้

ในภาษาอังกฤษจะมีศัพท์คำว่า ‘social butterfly’ หมายถึง คนที่ชอบเข้าสังคม มีมนุษย์สัมพันธ์ ชอบทำความรู้จักกับคนนั้นคนนี้ การเข้ามาทำงานใหม่ๆ ควรจะทำตัวแบบ social butterfly เข้าไว้ โดยคอยปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานหรือบุคลากรอื่นๆ บ้าง อย่างชวนเพื่อนร่วมงานออกไปทานข้าวกลางวันข้างนอก หรือทำกิจกรรมหลังเลิกงานด้วยกันก็ดี เพราะในเกณฑ์การประเมินอาจมีข้อ 'ปฏิสัมพันธ์กับคนในองค์กร' ด้วย นอกจากจะได้สร้างมนุษย์สัมพันธ์แล้ว การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดียังจะช่วยทำให้เราดูโดดเด่นในช่วงโปรฯ จนอาจจะได้รับความไว้วางใจจากเจ้านายให้ทำงานสำคัญๆ อีกด้วยนะ

คิดบวกเข้าไว้ (be positive)

ยิ่งสภาพแวดล้อมในการทำงานดีเท่าไหร่ แรงจูงใจในการทำงานก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น การพยายามคิดในแง่บวกเข้าไว้จะช่วยทำให้เรารู้สึกกระตือรือร้น และมุ่งมั่นที่จะทำงานอยู่ตลอดเวลา แถมยังมีอิทธิพลต่อความคิดความรู้สึกของคนรอบข้างอีกด้วย เพราะการมีทัศนคติที่ดีจะช่วยให้คนอื่นอยากเข้าหาและอยากร่วมงาน โดยเฉพาะถ้าเราเข้ามาทำงานในตำแหน่งที่มีความสำคัญกับทีมมากๆ พฤติกรรมและทัศนคติของเราจะเป็นตัวกำหนดว่าทีมกับผลงานแต่ละชิ้นจะออกมาเป็นยังไง

เราอาจจะไม่สามารถควบคุมการทำงานของใครได้ แต่เราสามารถควบคุมความคิดของเรา เพื่อให้การทำงานออกมามีประสิทธิภาพได้ พยายามรวบรวมคำติชมหรือข้อเสนอแนะต่างๆ มาปรับใช้อยู่เสมอ อย่าเก็บไปคิดมากหรือกังวล เพราะทุกๆ ความเห็นถือว่าเป็นประโยชน์กับตัวเราเอง

ทำให้ดีที่สุดเท่าที่ตัวเราไหว แม้ความท้าทายที่เราต้องเจออาจจะทำให้ท้อแท้บ้างในบางครั้ง จนคิดว่าเราต้องไม่ผ่านโปรฯ แน่ๆ เลย แต่อย่าลืมสิว่าเราไม่ได้เป็นเด็กใหม่ไปตลอดซะหน่อย สักพักเดี๋ยวเราก็จะเริ่มคุ้นชินกับอะไรมากขึ้น ถ้ามีปัญหาที่ไม่สบายใจ ลองเปิดอกคุยกับเจ้านาย และแสดงออกถึงความจริงใจ—เจ้านายคือหนึ่งในคนสำคัญที่จะสามารถให้คำแนะนำและช่วยเหลือเราได้

คำแนะนำจาก The Guardian นับเป็นคำแนะนำคร่าวๆ เพราะที่จริงแล้วก็ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของแต่ละองค์กรว่ามีความเข้มงวดมากน้อยแค่ไหน บางแห่งอาจจะดูเรื่องการแต่งกาย การเข้างานตรงเวลา หรือระเบียบวินัยที่เคร่งครัดเป็นพิเศษ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้ผ่านโปรฯ ก็คือ การคอยสังเกตคนที่ประสบความสำเร็จในองค์กรว่าพวกเขาทำงานกันยังไง อาจรวมถึงบุคลิกภาพ การวางตัว หรือการพูดคุยของเขาที่น่ายึดเอาเป็นตัวอย่าง เพราะพวกเขาเหล่านั้นผ่านโปรฯ แล้วยังไงล่ะ

แม้จะดูเป็นช่วงที่หนักหนาสาหัสไปหน่อยในการพิสูจน์ตัวเองให้เจ้านายเห็น แต่หลังจากผ่านโปรฯ ไปแล้ว…ก็คงจะสบายสินะ? เปล่า อย่าเพิ่งวางใจไป ทางที่ดีควรรักษามาตรฐานนี้ไว้ เพราะการประเมินครั้งหน้าอาจจะเสี่ยงโดนปลดออกกลางอากาศได้เช่นกัน

อ้างอิงข้อมูลจาก

theguardian.com

ssrecruitment.com

linkedin.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0