โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เพราะมีห้องน้ำมากมายจึงโดดเดี่ยว 

The101.world

เผยแพร่ 27 ก.พ. 2563 เวลา 08.43 น. • The 101 World
เพราะมีห้องน้ำมากมายจึงโดดเดี่ยว 

รชพร ชูช่วย เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เบสเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยปี 3 บ้านอยู่ชานเมืองกรุงเทพฯ ในหมู่บ้านใหญ่ที่มีรั้วรอบขอบชิด อยู่กันมาตั้งแต่เรียนชั้นประถมต้น เป็นบ้านขนาดกลางๆ พอมีบริเวณบ้าง ไม่มากนักแต่ก็พอปลูกต้นไม้ได้ไม่น้อย

ก่อนจะย้ายมาอยู่บ้านนี้ ครอบครัวอยู่รวมกันในบ้านย่า ที่พี่น้องสามคนต้องนอนรวมกันในห้องเดียว และใช้ห้องน้ำร่วมกันกับพ่อแม่ แต่เบสจำอะไรไม่ได้มากนัก เพราะยังเด็กมาก ตอนจะย้ายมาอยู่บ้านนี้ พ่อแม่บอกลูกๆ อย่างดีใจว่าทุกคนจะได้ห้องนอนและห้องน้ำเป็นของตัวเอง ตั้งแต่จำความได้ เบสจึงมีห้องนอน มีเตียง มีห้องน้ำส่วนตัว ที่เป็นพื้นที่ของตัวเองไม่ต้องแบ่งกับใคร ไม่เคยต้องแย่งพื้นที่กับใคร พ่อแม่หรือพี่น้องก็ไม่มีสิทธิมายุ่งเกี่ยวในห้องนอนของเบสมากนัก

ตั้งแต่เด็กเวลามีปัญหาหรือทะเลาะกับคนในครอบครัว เบสจะใช้วิธีเข้าห้องปิดประตูเงียบอยู่คนเดียว ไม่ลงมากินข้าวหรือดูทีวีร่วมกันกับคนอื่นๆ ในบ้าน เพราะในห้องนอนมีครบทุกอย่างที่ทำให้ใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างดี  มีคอมพิวเตอร์ที่ดูหนังหรือคุยกับใครๆ ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด มีตู้เย็นเล็กๆ ที่แอบลงไปเอาน้ำหรือของกินมาจากในครัวตอนกลางคืนมาตุนไว้ได้ และมีเครื่องปรับอากาศที่ทำให้ปิดหน้าต่างประตูได้มิดชิด แทบจะไม่ได้ยินเสียงของคนในบ้านเลย พี่น้องของเบสก็ทำตัวเหมือนกันเวลามีปัญหา โดยเฉพาะในช่วงที่ทุกคนอยู่ ม.ปลาย บางทีอยู่ในห้อง 2-3 วันแทบไม่ได้เจอใครถ้าไม่ต้องไปโรงเรียน พ่อแม่ก็ปล่อยเพราะแค่ต้องทำงานก็ยุ่งและเหนื่อยมากพอแล้ว

2-3 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่เข้ามหาวิทยาลัย เบสไม่ค่อยได้เจอคนที่บ้านเพราะตารางเวลาไม่ตรงกัน ไม่ต้องไปโรงเรียนตอนเช้าพร้อมพ่อแม่อีกแล้ว กลับมาก็ไม่เจอใคร เพราะแม้ว่าทุกคนจะอยู่บ้านแต่ก็มักขึ้นห้องตัวเองไปตั้งแต่หัวค่ำ ต่างคนต่างอยู่ห้องนอนของตัวเอง ไม่มีใครอยากดูทีวีร่วมกันเพราะแต่ละคนอยากดูคนละช่อง คนละเรื่อง นานๆ จะเจอกัน กินข้าวร่วมกันสักทีตอนวันหยุดสุดสัปดาห์ พอไม่ได้เจอกันนานๆ เข้า ก็ไม่รู้จะคุยอะไร พ่อแม่ถามคำก็ตอบคำ

เบสเคยถูกครูเรียกไปตักเตือน เรื่องการใช้อารมณ์รุนแรงเวลาไม่ได้ดั่งใจ ขาดความอดทน ไม่มีทักษะในการจัดการกับสถานการณ์ที่ตนเองไม่ชอบ ไม่สามารถเอาใจเขามาใส่ใจเราได้ แต่เบสก็ไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ครูบอกคืออะไรและต้องทำอย่างไร รู้แต่ว่าเวลาอยู่นอกบ้านแล้วไม่พอใจหรือไม่สบอารมณ์ในเรื่องต่างๆ นั้นเบสมักอยากกลับไปที่ห้องนอนให้เร็วที่สุดแล้วปิดห้องเสีย เพราะไม่ต้องมีใครมายุ่งเกี่ยวด้วย จริงๆ แล้วเบสมีปัญหากับเพื่อนอยู่ไม่น้อย เบสไม่รู้ว่าเพื่อนทำแบบนี้หมายความว่าอย่างไร เปลี่ยนกลุ่มเพื่อนไปมาอยู่หลายรอบ ตอนนี้เหลือเพื่อนสนิทอยู่แค่ 2-3 คนที่เป็นคนคล้ายๆ กัน หลายๆ ครั้งเบสเลือกที่จะทำอะไรคนเดียวไปเลย เพราะไม่รู้จะจัดการกับสถานการณ์ต่างๆ ในการอยู่กับเพื่อนอย่างไร โดยเฉพาะเวลาเจอหน้ากัน พ่อแม่ก็ไม่เคยคิดว่าเบสมีปัญหา เพราะการเรียนของเบสค่อนข้างดี

เบสเป็นหนึ่งในตัวอย่างของเด็กที่มักจะได้ยินเสียงบ่นกันทั่วไปว่า "เด็กสมัยนี้ไม่มีความอดทน ไม่เข้าใจคนอื่นๆ ไม่เอาใจเขามาใส่ใจเรา เล่นโทรศัพท์ทั้งวัน ทำไมพ่อแม่ไม่สอนบ้าง" ซึ่งยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายนอกจากพ่อแม่ที่ทำให้เด็กอย่างเบสมีความอดทนน้อยเช่นนี้

การอยู่อาศัยแบบครอบครัวเดี่ยวอย่างครอบครัวของเบส ที่มีพ่อแม่ลูกไม่กี่คนอยู่ในบ้านเริ่มแพร่หลายไปทั่วโลกเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สอง พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของชนชั้นกลางจำนวนมากและสาธารณูปโภค สินค้าและบริการที่เอื้อให้เกิดการอยู่อาศัยแบบครอบครัวเดี่ยวได้ รูปแบบสถาปัตยกรรมที่ตอบรับกับวิธีการอยู่อาศัยแบบครอบครัวเชิงเดี่ยวจึงเกิดขึ้น และกลายเป็น typology ที่สำคัญในการอยู่อาศัย

ในประเทศไทย การอยู่อาศัยแบบครอบครัวเดี่ยวกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญไปแล้วในปัจจุบัน โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ และหัวเมืองอื่นๆ นั้น เริ่มจากการเกิดขึ้นของบ้านจัดสรรตามชานเมืองที่เกาะตัวอยู่รอบๆ ใจกลางเมือง โดยมีความหนาแน่นยังไม่สูงนัก รูปแบบสถาปัตยกรรมที่พบเห็นกันเป็นปกติคือ ‘บ้าน 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ’ เป็นบ้านเดี่ยวที่มีที่ดิน มีที่จอดรถหนึ่งคัน มีสนามหน้าบ้านพอวิ่งเล่นเลี้ยงหมาได้ อยู่กันพ่อแม่ลูก 3-5 คนเป็นส่วนใหญ่

บ้าน 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำนั้น ชั้นล่างเป็นห้องเอนกประสงค์สำหรับนั่งเล่น รับแขก กินข้าวและห้องครัว เป็นพื้นที่ใช้ชีวิตตอนกลางวันหากอยู่บ้าน เพราะข้างบนมักร้อน ชั้นบนเป็นห้องนอน 3 ห้อง มีห้องน้ำชั้นล่าง 1 ห้องสำหรับใช้ตอนกลางวัน และให้แขกที่มาเยี่ยมเยียนใช้ ส่วนห้องน้ำห้องที่ 2 ที่อยู่ชั้นบนนั้นเป็นห้องน้ำหลักที่มักใช้กันระหว่างพ่อแม่ลูกในครอบครัว เมื่อจะเข้าห้องน้ำตอนกลางคืนก็ไม่ต้องลงมาข้างล่าง

 

แปลนบ้าน 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ

 

บ้านในรูปแบบนี้ มีความเป็นส่วนตัวในระดับการนอนที่แต่ละคนมีห้องเป็นของตนเอง (บางครั้งพี่น้องสองคนอาจจะนอนร่วมกันบ้าง) แต่กิจกรรมอื่นๆ ยังต้องใช้ร่วมกันกับสมาชิกคนอื่นๆ ภายในครอบครัว เมื่อทีวียังเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าราคาแพง ในแต่ละบ้านมักจะมีทีวีแค่หนึ่งเครื่องที่อยู่ในห้องนั่งเล่นอเนกประสงค์ ต้องแบ่งกันดูรายการต่างๆ ไม่มีใครอยากดูช่องที่ตนเองชอบได้ตลอดเวลา อาจจะต้องถึงกับมีการทะเลาะหรือแย่งช่องกัน จะแยกหนีขึ้นไปในห้องส่วนตัวในตอนกลางวันก็อาจจะไม่ค่อยสบายเพราะอากาศร้อน (ฉนวนกันความร้อนยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพมากนัก และเครื่องปรับอากาศยังมีราคาแพงอยู่มาก) สมาชิกในครอบครัวจึงต้องอดทนและหาวิธีอยู่ร่วมกัน มีการใช้เวลาร่วมกันในพื้นที่เดียวกันค่อนข้างมากด้วยข้อจำกัดต่างๆ เหล่านี้

ห้องน้ำก็เช่นกัน ในบ้านที่มีห้องน้ำแค่ 2 ห้อง ในเวลาเช้าอันเร่งรีบ สมาชิกทุกคนต้องจัดสรรเวลาในการใช้ห้องน้ำ เพื่อที่จะออกจากบ้านไปทำงาน ไปโรงเรียนได้ทันเวลา หลายครั้งต้องอดทนรอคนอื่นใช้ห้องน้ำ หรือต้องวางแผนตื่นก่อนเพื่อจะมาใช้ห้องน้ำก่อน แน่นอนว่าการกระทบกระทั่งกันเป็นเรื่องปกติประจำวัน ยังไม่นับถึงการทิ้งของไว้ในห้องน้ำ ใช้ห้องน้ำไม่เรียบร้อย ที่ก็เป็นปัญหามาตรฐานทั่วไปของการใช้ห้องน้ำร่วมกัน

เมื่ออุปกรณ์อำนวยความสะดวกมีราคาถูกลง ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ในอาคารได้รับการพัฒนามากขึ้น เวลาและความสะดวกสบายกลายเป็นประเด็นสำคัญที่สุดในการดำรงชีวิต ความเป็นส่วนตัว (privacy) เป็นการแสดงให้เห็นถึงฐานะทางเศรษฐกิจของเจ้าของบ้าน บ้าน 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำที่เป็นมาตรฐานของบ้านเดี่ยวที่ขายกันทั่วไปในโครงการหมู่บ้านจัดสรรสำหรับครอบครัวชนชั้นกลางนั้น จึงมีจำนวนห้องน้ำมากขึ้นเป็นลำดับ เริ่มจากการเพิ่มห้องน้ำส่วนตัวในห้องนอนหลัก (master bedroom) แต่ห้องนอนอื่นๆ ยังใช้ห้องน้ำร่วมกัน จนในที่สุดปัจจุบันห้องน้ำเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็น ‘บ้าน 3 ห้องนอน 4 ห้องน้ำ’ หรือ ‘บ้าน 4 ห้องนอน 5 ห้องน้ำ’ (ห้องน้ำมากกว่าห้องนอนไปในที่สุด) การมีห้องน้ำสำหรับห้องนอนทุกห้องได้กลายเป็นมาตรฐานของบ้านเดี่ยวทั่วๆ ไปแล้ว

ห้องนอนแต่ละห้องในบ้านเดี่ยวแบบนี้จึงกลายเป็นอพาร์ตเม้นต์ขนาดเล็กๆ ที่รวมกันอยู่ในบ้านโดยปริยาย แต่ละมีห้องอุปกรณ์อำนวยความสะดวกครบครัน มีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อไปยังโลกกว้างได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เป็นพื้นที่ส่วนตัวที่ควบคุมได้โดยไม่มีใครมาแทรกแซง (เช่นเดียวกันกับห้องนอนของเบส) สมาชิกทุกคนในบ้านมีความเป็นส่วนตัวอย่างสูง แทบไม่ต้องแบ่งปันพื้นที่กับคนอื่นๆ ในครอบครัว ไม่เกิดการทะเลาะกระทบกระทั่งให้ปวดหัว

แปลนบ้าน 3 ห้องนอน 4 ห้องน้ำ

 

บ้านหลายห้องนอนหลายห้องน้ำที่นำมาซึ่งความเป็นส่วนตัวขั้นสูงของสมาชิกในครอบครัว แม้จะทำให้การกระทบกระทั่งเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันของคนในครอบครัวหมดไป แต่การใช้เวลาร่วมกันของคนในครอบครัวที่ต้องพยายามแบ่งปันกันก็หายไปด้วย สิ่งที่ขาดหายตามมาคือทักษะการใช้ชีวิตร่วมกันกับคนอื่น เหตุการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง รวมไปถึงทักษะการต่อรองกับผู้อื่น การจัดการกับความไม่พอใจของตนเอง ความอดทน การเอาใจเขามาใส่ใจเรา ที่สมาชิกในครอบครัวน่าจะได้เรียนรู้และฝึกฝนจากการใช้ชีวิตในพื้นที่ร่วมกันกับคนใกล้ตัว

การอยู่อาศัยในพื้นที่ที่ให้ความเป็นส่วนตัวสูงมากๆ อย่างในปัจจุบันนี้ เป็นเรื่องใหม่ในการดำรงชีวิตของมนุษย์ในสังคมสมัยใหม่ โดยเฉพาะชนชั้นกลางขึ้นไป ด้วยมนุษย์มีการอยู่อาศัยเป็นกลุ่มเป็นหมู่เหล่ามาช้านาน หน่วยย่อยที่สุดที่เป็นครอบครัวก็ยังเป็นครอบครัวขยายที่มีคนหลายรุ่นหรือมีหลายครอบครัวย่อยอยู่ร่วมกันในพื้นที่จำกัด ไม่ว่าจะเป็นในสังคมเกษตรกรรมที่ต้องการแรงงานจำนวนมากในการทำการเกษตร หรือสังคมเมืองที่ต้องการการพึ่งพาอาศัยกันในเรื่องต่างๆ มากมาย ด้วยเทคโนโลยีและทรัพยากรมีจำกัด การใช้พื้นที่ร่วมกันกับคนในครอบครัวหรือในชุมชนจึงเป็นเรื่องสามัญ ไม่เว้นแม้กระทั้งพื้นที่ที่ในปัจจุบันเห็นว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัวมากที่สุดอย่างห้องน้ำ เช่น ในเขตเมืองของญี่ปุ่นในสมัยก่อน แต่ละบ้านไม่มีห้องอาบน้ำส่วนตัว การอาบน้ำต้องใช้บริการโรงอาบน้ำสาธารณะที่มีอยู่ในชุมชนต่างๆ เพราะการทำให้น้ำร้อนจนอาบได้นั้นเป็นการใช้ทรัพยากรมากมาย (เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วในโตเกียว ห้องเช่าที่ไม่มีห้องอาบน้ำส่วนตัวยังมีอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะห้องเช่าราคาถูกสำหรับนักเรียน) โรงอาบน้ำของแต่ละชุมชนกลายเป็นพื้นที่ทางสังคมที่สำคัญมาก ที่คนในชุมชนจะมาใช้ร่วมกัน เป็นแหล่งข้อมูล ข่าวสาร ซุบซิบ และการปฏิสัมพันธ์ต่างๆ

ในช่วงที่โลกกำลังพัฒนาจากสังคมชนบทมาสู่สังคมเมืองใหญ่ เริ่มมีแรงงานจากเมืองเล็กและชนบทหลั่งไหลเข้าสู่เมืองใหญ่ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 คนจำนวนมากต้องจากถิ่นที่เป็นบ้านของตนเองไปทำงานในเมืองอื่นที่ไม่รู้จักใคร จังหวะนั้นเป็นช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงการอยู่อาศัยมากมายเพื่อรองรับคนเหล่านี้ ในยุโรปและสหรัฐอเมริกามีรูปแบบการอยู่อาศัยที่คล้ายกันกับหอพักในปัจจุบัน เรียกว่า boarding house เป็นห้องเช่าในบ้านหรืออาคารรวมสำหรับคนหนุ่มสาวที่มาทำงานในเมืองที่มีรูปแบบต่างกัน อาจจะมีการจำกัดเฉพาะผู้หญิง หรือผู้ชาย หรืออาชีพเฉพาะ มีบริการทำความสะอาด และซักเสื้อผ้าในบางกรณี แต่ที่สำคัญคือนอกจากห้องนอนแล้ว มีบริการอาหารเช้าและอาหารเย็น โดยผู้อาศัยทุกคนใน boarding house นี้ต้องกินอาหารเช้าและอาหารเย็นพร้อมกันในห้องอาหารรวม เพราะในสมัยนั้นการกินอาหารในร้านอาหารน่าจะเป็นเรื่องไม่ปกติและราคาแพง การมีครัวเพื่อทำอาหารกินคนเดียวยิ่งน่าจะเป็นเรื่องที่ยากกว่า ด้วยความจำเป็นและข้อจำกัดเหล่านี้ การกินอาหารร่วมกันบนโต๊ะอาหารเดียวกัน กลายเป็นการใช้พื้นที่ร่วมกันที่สามารถสร้างความเป็นบ้านใหม่ สังคมใหม่ให้กับผู้มาอยู่ในเมืองที่ไม่รู้จักใคร เปิดโอกาสให้ผู้อยู่อาศัยได้มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน กลายเป็นคนในครอบครัวเดียวกันแบบชั่วคราว ไม่โดดเดี่ยวจนเกินไปนักในเมืองใหญ่ที่มีแต่คนแปลกหน้า

มนุษย์เราอยู่กันในแบบที่ต้องแบ่งพื้นที่ แบ่งทรัพยากรกันมาโดยตลอด เราจึงโหยหาความเป็นส่วนตัวที่ไม่ต้องยุ่งกับใคร (ที่โดยปกติแล้วเป็นสิทธิของคนจำนวนไม่มากที่อยู่บนยอดพีรามิดในสังคม) ณ เวลาของเราในปัจจุบันนี้ น่าจะเป็นช่วงเวลาที่เรามีรูปแบบการอยู่อาศัยที่มีความเป็นส่วนตัวสูงสุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเลยก็ว่าได้ เราร่ำรวยและมีพัฒนาการทางเทคโนโลยีมากพอที่จะให้คนจำนวนหนึ่งมีห้องน้ำ ห้องนอน หรือแม้แต่ห้องครัว เป็นของตัวเองคนเดียว โดยที่ไม่ต้องแบ่งปันกับใคร เรามีบริการและสินค้ามากมายเพียงพอที่จะทำให้คนคนหนึ่งอยู่ได้โดยแทบไม่ต้องเจอใครๆ เลย ถ้ามีอำนาจทางเศรษฐกิจมากพอ (ลองคิดภาพว่าถ้าเราสั่งของทุกอย่างผ่านการซื้อของออนไลน์ รวมไปถึงอาหารในแต่ละมื้อ) ทุกอย่างแสนสะดวกสบาย

หากในวันหนึ่งๆ เราไม่ต้องใช้พื้นที่ร่วมกับใครแบบที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์ เราไม่ค่อยได้คุยกับใคร แม้กระทั่งกับคนในครอบครัว นานๆ ไปทักษะในการใช้ชีวิตร่วมกันกับเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกก็คงลดทอนไปตามลำดับ และแน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือความโดดเดี่ยว เมื่อสภาวะเช่นนี้ซ้อนทับกันเข้าไปกับสภาพความสัมพันธ์ของมนุษย์ในเมืองใหญ่ ที่โดยปกติแล้วทุกคนล้วนเป็นคนแปลกหน้าต่อกัน (ต่างกันกับสังคมหมู่บ้านที่ทุกคนล้วนรู้จักกัน)​ ความโดดเดี่ยวแล้งปฏิสัมพันธ์นั้นยิ่งเป็นเท่าทวีคูณ​ มนุษย์สายพันธ์ุเหงาแบบในหนังสือของมูราคามิจึงเกิดขึ้น โดยมีสถาปัตยกรรมเป็นตัวการสำคัญหนึ่ง

แม้ว่าการติดต่อสื่อสารและสังคมในโลกดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทกับการดำรงชีวิตในปัจจุบันอย่างมากมาย ความสัมพันธ์แบบออนไลน์พัฒนาไปอย่างซับซ้อนและหลากหลาย แต่ความสัมพันธ์ระหว่างกันในโลกกายภาพที่จับต้องได้ก็ยังเป็นสิ่งที่มนุษย์ขาดไม่ได้ (และอาจจะโหยหาเมื่อขาดไป) สถาปัตยกรรมในฐานะผู้ให้พื้นที่ทางกายภาพ เป็นกลไกสำคัญในการสร้างความสมดุลในความสัมพันธ์ทางกายภาพของมนุษย์ จึงต้องพัฒนาปรับตัวไปให้ซับซ้อนและตอบรับกับความสัมพันธ์ ความเป็นส่วนตัว ความเป็นส่วนรวม และเงื่อนไขของการใช้พื้นที่ในรูปแบบใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น แต่จะทำอย่างไรนั้น เป็นโจทย์สำคัญของการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง

เบสเพิ่งตกปากรับคำชวนจากเพื่อนให้ไปเช่าคอนโดฯ ใกล้มหาวิทยาลัยอยู่ด้วยกัน เพราะปีหน้าต้องทำ senior project จะได้ไม่ต้องเดินทางวันละ 2-3 ชั่วโมง คอนโดฯ นี้เป็นคอนโดฯ เก่ามีเพียง 1 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ ต้องอยู่กัน 3 คน แม้จะไม่แน่ใจว่าจะอยู่ได้หรือไม่เบสก็คิดว่าจะลองดู อาจจะมีคนคุยด้วยมากขึ้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0