โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เพราะคนดูแลก็ต้องการการดูแล “Care Giver” จะเข้มแข็งได้อย่างไรในวันที่ต้องดูแลคนป่วย

HealthyLiving

อัพเดต 16 ก.ย 2562 เวลา 12.30 น. • เผยแพร่ 13 ก.ย 2562 เวลา 00.00 น. • Healthy Living
06-content_600x600-วิธีดูแลใจ (1).jpg

คนป่วยก็เครียด คนดูแลก็เครียด ภายใต้ความกดดันที่ผู้ดูแล (Care Giver) ต้องเจอรอบด้าน ควรดูแลตัวเองอย่างไม่ให้ความรับผิดชอบในส่วนนี้ทำให้ตัวเองอ่อนแอจนป่วยตามไปอีกคน
โดยทั่วไปแล้วหน้าที่การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองมักจะตกเป็นของสมาชิกคนใดคนหนึ่งในครอบครัว ซึ่งก็ต้องเกิดจากการพูดคุยตกลงกันแล้วว่าใครจะเป็นคนรับหน้าที่นี้ ซึ่งผู้ดูแลก็ต้องทำความเข้าใจกับบทบาทใหม่ของตัวเองว่าเวลาส่วนหนึ่งในชีวิตจะหายไป ในขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและอารมณ์ของผู้ป่วย 
หากจะให้เห็นภาพมากขึ้น เราคงต้องพูดว่าหน้าที่นี้สร้างความกดดันอย่างมากมาย เพราะตัวผู้ป่วยเองก็จะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากปกติเพราะความเจ็บป่วย อาจจะหงุดหงิดและเอาแต่ใจมากขึ้น ประกอบกับภาระหน้าที่นี้ทำให้คนดูแลไม่มีเวลาส่วนตัวมากเท่าเมื่อก่อน ทำให้ไม่มีโอกาสที่จะได้ระบายความเครียด ก่อเกิดเป็นความเครียดสะสมที่อาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว แต่จะส่งผลกระทบในระยะยาวอย่างแน่นอน
ความเครียดของคนดูแลที่ไม่อาจหลีกหนีว่าด้วยความเครียดมากมายที่เกิดขึ้นจากการดูแลคนป่วย หลายคนอาจคิดว่าเกิดจากความเหนื่อยล้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีความกดดันอีกหลายอย่างที่ทำให้เกิดความเครียดได้ดังนี้ 
●กลัวและกดดัน จากอาการของผู้ป่วยที่ไม่สามารถคาดเดาได้ ไม่ว่าจะอาการปวด เป็นไข้ เกิดอาการผิดปกติกับร่างกายของคนป่วย จนคนดูแลกลัวอยู่เสมอ หากคนป่วยมีอาการหนักขึ้นก็อาจจะคิดว่าตัวเองดูแลไม่ดีพอ ●ความโดดเดี่ยว เมื่อต้องมาดูแลคนป่วยเต็มเวลาก็แทบจะตัดขาดตัวเองจากโลกภายนอก ไม่ได้ออกไปพบเจอเพื่อนฝูง หรือมีสังคมอื่น ๆ ได้ มีเวลาส่วนตัวน้อยมาก เพราะต้องใช้เวลาไปกับการดูแลคนป่วยตลอดเวลา ไม่ว่าจะป้อนข้าวป้อนน้ำ การทำความสะอาด การป้อนยา เปลี่ยนเสื้อผ้า ช่วยทำกายภาพ ฯลฯ  ●ปัญหาการเงิน ถึงแม้ว่าการดูแลแบบ Palliative Care จะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกมากถ้าเทียบกับการรักษาแบบยื้อชีวิต แต่ในมุมของผู้ดูแลที่อาจจะต้องเลิกทำงานประจำมาเพื่อปรนนิบัติผู้ป่วยแบบเต็มเวลา   จากที่เคยหาเงินได้ด้วยตัวเอง ก็อาจจะต้องใช้เงินจากญาติพี่น้องที่ส่งมาให้แทน บวกกับภาระค่าใช้จ่ายส่วนตัวที่ยังมีอยู่ จากความความเครียดทั้งหมดนี้ ไม่แปลกเลยที่คนดูแลจะป่วยตามไปด้วย บางคนอาจป่วยกาย บางคนอาจป่วยใจ จากความเครียดแปรเปลี่ยนเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นบ่อนทำลายทั้งตัวเองและคนรอบข้าง ผู้ดูแลคนป่วยจะดูแลตัวเองได้อย่างไร รวมไปถึงความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง ที่จะช่วยให้คนดูแลไม่โดดเดี่ยว 
การลดความเครียดให้ตัวเองของผู้ดูแล
1.เชื่อมต่อกับโลกมากขึ้น โซเชียลมีเดียจะช่วยคุณได้มากในเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่ประโยชน์สำหรับความบันเทิงและติดตามโลกภายนอกเท่านั้น แต่ยังช่วยให้คุณเชื่อมต่อกับกลุ่มคนที่อยู่ในสถานการณ์แบบเดียวกันได้อีกด้วย เช่น กลุ่ม Care Giver ที่รวมตัวกันในชุมชนออนไลน์หรือ Facebook Group ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ที่เป็นประโยชน์ 
2.รับความช่วยเหลือจากผู้อื่น อย่างที่บอกไว้ว่าการดูแลแบบประคับประคองเป็นการตกลงกันของครอบครัว ดังนั้น สมาชิกคนอื่น ๆ ก็สามารถยื่นมือให้ความช่วยเหลือได้ อาจจะเป็นการแบ่งเบาภาระในส่วนอื่น ทำให้ผู้ดูแลไม่รู้สึกว่าต้องแบกรับทุกอย่างอยู่คนเดียว เช่น งานบ้าน อาหาร ค่าใช้จ่ายจิปาถะ งานเหล่านี้อาจจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวได้ 
3.อย่าละทิ้งสุขภาพของตัวเอง การดูแลผู้ป่วยแบบเต็มเวลา ไม่ได้แปลว่าคุณจะต้องละเลยสุขภาพของตัวเอง เพราะถ้าคุณไม่ดูแลตัวเองให้แข็งแรงทั้งกายและใจ ก็จะไม่สามารถดูแลคนอื่นให้ดีได้เลย อย่าเพิ่งตัดพ้อว่าการดูแลผู้ป่วยกินเวลาส่วนมากในชีวิตของคุณไปแล้ว เพราะคุณสามารถขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ๆ ได้ อาจจะขอคนมาเปลี่ยนมือสักวันละ 1 ชั่วโมง เพื่อไปออกกำลังกายแบบง่าย ๆ หรือสั่งซื้ออาหารเพื่อสุขภาพมากินวันละมื้อ ก็จะช่วยให้คุณรู้สึกว่าได้ทำอะไรเพื่อตัวเองแล้วในแต่ละวัน 
4.อย่าทิ้งงานอดิเรกที่ชอบการได้ทำงานอดิเรกจะทำให้คุณหลุดออกจากความเครียดได้ กิจกรรมยามว่างบางอย่างไม่ได้เรียกร้องเวลามากนัก อีกทั้งคุณยังสามารถทำที่บ้านได้ด้วย เรียกว่าเป็นวิธีคลายเครียดที่ทำได้ทันทีที่พอจะมีเวลาว่าง เช่น งานศิลปะ งานฝีมือ งานประดิษฐ์สิ่งของแบบ DIY ที่เคยทำ กิจกรรมเหล่านี้จะเปลี่ยนจุดสนใจ ทำให้คุณไม่ต้องโฟกัสกับคนป่วยตลอดเวลาจนเกิดอาการจิตตกแบบไม่รู้ตัว 
5.หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วย ให้โทรหาหมอและพยาบาล  เพราะการหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตด้วยตัวเองอาจจะเป็นดาบสองคม แม้จะสะดวกก็จริง แต่บางครั้งก็ได้ข้อมูลที่ชวนให้วิตกกังวลเกินจริง และไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้อง การโทรไปหาหมอเจ้าของไข้น่าจะได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากกว่า  นอกจากนี้ยังมีบริการจาก Healthy Living Talk บริการประเภท Telemedicine ที่ช่วยให้คุณได้รับคำปรึกษาจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญได้ทันทีโดยไม่ต้องออกจากบ้าน 
6.หาคนรับฟังการดูแลผู้ป่วยทำให้เกิดความเครียด การมีคนรับฟังจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยสมาชิกคนอื่นในครอบครัวสามารถรับหน้าที่นี้ได้ หรือจะโทรหาสายด่วนสุขภาพจิตที่เบอร์ 1667 ก็ได้ นอกจากนี้ยังมีองค์กรที่คอยให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาอย่างกลุ่ม Peaceful Death เยือนเย็น และชีวามิตร รวมถึงหน่วยงานของโรงพยาบาลที่เป็นศูนย์กลางเรื่องการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองที่พร้อมจะให้คำปรึกษาได้เสมอ และถ้าไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรลองติดต่อกลุ่ม Peaceful death ที่เบอร์ 081-408-3534 หรือเพจที่เพจ Peaceful Death เพื่อขอคำแนะนำเบื้องต้นได้  
คำแนะนำสำหรับสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวสำหรับคนที่ไม่ได้รับหน้าที่ดูแลผู้ป่วย แม้จะสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ แต่ก็จะมีหน้าที่บางอย่างเพิ่มเข้ามาด้วยในช่วงที่มีการดูแลแบบประคับประคอง เพราะจะต้องช่วยเหลือผู้ดูแลในด้านต่าง ๆ ที่สามารถทำได้ ตั้งแต่การให้กำลังใจ ให้เวลา ไปจนถึงการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน เพราะคนดูแลก็ต้องการการดูแล สมาชิกคนอื่นในครอบครัวจึงต้องรับหน้าที่นี้ เพื่อให้คนดูแลมีเวลาส่วนตัวบ้าง ไม่ใช่ว่าต้องแบกรับทุกอย่างและรู้สึกโดดเดี่ยวอยู่คนเดียว  อย่าลืมว่าการดูแลแบบ Palliative Care มีความหมายรวมไปถึงการดูแลจิตใจของคนทุกคน ทั้งผู้ป่วย ผู้ดูแล และสมาชิกคนอื่นในครอบครัว มันจึงเป็นการให้ความช่วยเหลือกันและกันคนละไม้คนละมือในส่วนที่สามารถทำได้ เพื่อไม่ให้มีใครรู้สึกว่าถูกทิ้งไว้ข้างหลัง 
 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0