โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เพราะการแต่งตัวคือสิ่งที่ช่วยเยียวยาชีวิต คุยกับ ย้วย-นภษร จากเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อ

The MATTER

อัพเดต 17 ต.ค. 2562 เวลา 05.03 น. • เผยแพร่ 16 ต.ค. 2562 เวลา 13.02 น. • Rave

ถ้าจะต้องจัดอันดับคนที่รักการเข้าห้องลองเสื้อเป็นชีวิตจิตใจ เราคงจะต้องยกให้ ย้วย—นภษร ศรีวิลาศ เป็นหนึ่งในนั้น

เธอคือเจ้าของเพจ ‘น้องนอนในห้องลองเสื้อ’ หรือ เรียกเป็นภาษาอังกฤษแบบยาวๆ แต่คล้องจองในทุกจังหวะคำว่า ‘she is sleeping in the fitting room’ นี่คือเพจที่ย้วยตั้งใจอยากให้เป็นพื้นที่สื่อสารกับคนที่รักการแต่งตัวเหมือนกัน ด้วยน้ำเสียงสำเนียงแบบเพื่อนบอกต่อเพื่อน

เรามีนัดคุยกันหลังจากที่น้องนอนในห้องลองเสื้อเวอร์ชั่นเพจเฟซบุ๊ก ได้กลายมาเป็น ‘ห้องลองเสื้อ’ ในฉบับหนังสือไซส์เล็กๆ น่ารักของสำนักพิมพ์แซลมอน

นอกจากข้อค้นพบว่า ช่วงเวลาของการลองเสื้อที่ดีที่สุดคือก่อนเที่ยงของสุดสัปดาห์แล้ว ย้วยยังได้เจออะไรสนุกๆ จากการหยิบเสื้อเข้าไปลองเสื้อในห้องลองเสื้อตามสไตล์น้องนอนในห้องลองเสื้อที่ยังไม่ได้นอน…(พอแล้ว!) อีกบ้าง

มาฟังคำตอบจากเธอไปด้วยกัน

เล่าที่มาของชื่อเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อให้ฟังหน่อย

มันมาจากชื่ออัลบั้มในเฟซบุ๊กของตัวเอง เราชอบเล่นคำอยู่แล้วด้วย และตอนนั้นมันมีแบรนด์หนึ่งที่เพิ่งเข้ามาในไทย เราเข้าไปลองนานมาก จนพนักงานมาตาม เราก็เลยแซวตัวเองว่า พนักงานคงคิดว่าเราเข้าไปนอนแน่เลย ซึ่งก็เข้าใจพนักงานได้นะ เพราะมันคือเสื้อผ้าที่ค่อนข้างแพง แล้วเราก็ลองนาน

อีกอย่างคือ เราเชื่อว่าผู้หญิงหลายคนน่าจะชอบถ่ายรูปในห้องลองเสื้อ แล้วก็ส่งให้แฟนหรือเพื่อนดู พอเราลงรูปในเฟซบุ๊กส่วนตัวเยอะเข้า ก็เลยคิดว่า เอารูปมาลงในเพจแทนดีกว่า

ทำเพจมาสองสามปีแล้ว อยากรู้ว่าคอนเทนต์ในเพจช่วงแรกๆ เป็นยังไง

ช่วงแรกมันเป็นแค่ภาพเฉยๆ เลย ไม่มีแคปชั่นอะไรมากมายด้วย เราลงวันละรูปเท่านั้นเอง

แล้วเพจมันเริ่มไปได้ไกลมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อไหร่

ยอดไลก์น่าจะเพิ่มขึ้นตอนที่เราทำคอนเทนต์ซึ่งมี reference การแต่งตัวสไตล์อื่นๆ ที่เราชอบคู่กันไปด้วย เช่น เสื้อผ้า สี หรือแบรนด์ คนน่าจะมาตามเพราะตรงนั้น

แล้วเพจมันก็มาในช่วงที่สื่อแฟชั่นกระแสหลักหลายแห่งปิดตัวไป เรารู้สึกว่าทางเลือกในการแต่งตัวมันน้อยจัง อย่างญี่ปุ่นเขาก็จะมีทั้งแมกกาซีน ซีรีส์ หนัง คือ Genre ของการแต่งตัวมันเยอะมาก แต่ในบ้านเรานั้น ถ้ามันไม่ได้ฮิตเขาก็ไม่ได้เอามาขาย ในยุคนึงเราเลยจะเห็นว่าเสื้อผ้ามันเหมือนกันหมด แต่ในยุคนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว คนอยากแต่งอะไรก็แต่ง ใครชอบสไตล์ญี่ปุ่น สแกนดิเนเวีย ยุโรป หรือมินิมัลก็แต่งไปตามที่ตัวเองชอบ เราเข้ามาทำเพจในจังหวะนี้พอดีด้วย บางคนที่แต่งตัวคล้ายๆ เราก็เลยเหมือนมีเพื่อน เพจมันน่าจะมีคนสนใจเพิ่มขึ้นเพราะปัจจัยแบบนี้

จากการเป็นคนที่ชอบไปลองเสื้อบ่อยๆ เลยอยากรู้ว่าห้องลองเสื้อที่ย้วยชอบมันคือแบบไหน

เริ่มจากสเปซก่อน เราชอบห้องที่มันกว้างพอที่จะกางแขนได้ ไฟกับกระจกบานใหญ่ๆ สะอาดๆ พื้นห้องก็ต้องสะอาด แล้วก็ชอบกลิ่น คือถ้าเราสังเกตดีๆ แต่ละร้านก็จะมีกลิ่นของตัวเองอยู่ มูจิก็จะมีกลิ่นแบบนึง ซาร่าก็จะมีอีกกลิ่นนึง เรายังชอบห้องที่จัดไฟดีๆ ด้วยเหมือนกัน

ถ้าถามห้องในอุดมคติของเราเป็นแบบไหน เราชอบห้องที่ผสมกันระหว่างความเป็นญี่ปุ่นกับแบรนด์จากสแกนดิเนเวีย อย่างสแกนดิเนเวียก็จะมีเฟอร์นิเจอร์เล็กๆ กระจกบานใหญ่ๆ แล้วก็มีชั้นวางของ เหมือนเขาคิดมาแล้วว่า คนที่ไปลองเสื้อเขาอยากได้อะไรบ้าง เราชอบที่แบรนด์คิดเผื่อสำหรับการลองเสื้อให้สวย คนมีความสุขและอยากซื้อ

กว่าจะถอดความชอบมาได้เป็นองค์ประกอบแบบนี้ แสดงว่าต้องผ่านมาห้องลองเสื้อมาเยอะมาก

ก็ทำเพจมาแล้วกว่าสามปี เราลองทุกอาทิตย์ อาทิตย์ละหลายๆ วัน

เริ่มรู้สึกตัวอย่างจริงจังว่าเราชอบการลองเสื้อตั้งแต่เมื่อไหร่

น่าจะมันเป็นช่วงที่เสื้อผ้ามินิมอลเข้ามาเยอะๆ เราชอบลองมากขึ้นตอนที่หลายๆ แบรนด์เอาเสื้อผ้าที่เป็นทางเลือก เช่น มีคัตติ้งดีๆ สีสวยๆ เข้ามาในไทย เมื่อก่อนมันจะมีไม่กี่สีหรอก เดี๋ยวนี้คือคนที่คัดเลือกให้แต่ละแบรนด์น่าจะเป็นคนรุ่นๆ เดียวกับเรา เราเลยได้มีทางเลือกเยอะ แล้วเมื่อมีทางเลือกเยอะ เราก็มีความสุขกับการหยิบเข้าไปในห้องลองเสื้อ คือถ้าทุกอย่างเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เราก็รู้สึกว่าไม่รู้จะลองทำไม อย่างที่เคยมีช่วงนึงเหมือนกันที่ลองเสื้อผ้าไม่ค่อยสนุก

แล้วความสนุกในการลองเสื้อคืออะไร

มันคือการได้มิกซ์และได้ใส่สิ่งที่อยากใส่ ก่อนไปลองเสื้อเรามักจะทำการบ้านว่า ช่วงนี้แฟชั่นเป็นยังไง สีไหนกำลังมา ใส่สีไหนแล้วน่าจะสวย พอไปถึงที่ร้านก็หยิบสิ่งที่อยากใส่ก็ได้ใส่ มันก็มีความสุขแล้ว

ระหว่างชุดที่เจอโดยบังเอิญ กับชุดที่เราเตรียมตัวค้นข้อมูลมาจากบ้าน ส่วนใหญ่ได้ลองอย่างไหนมากกว่ากัน

เจอความชอบที่หน้างานจะบ่อยกว่า ส่วนใหญ่ก็จะคือความว่างแล้วก็ได้เดินดูว่ามีอะไรน่าลอง ก็หยิบมาลองต่อ คอนเทนต์ที่คนจะสนใจก็คือตอนที่เราไม่ได้คิดอะไรไปเลย คนจะรู้สึกว่ามันมีแฟชั่นแบบนี้ออกมาด้วย ซึ่งไม่ได้อยู่ในการโปรโมทของสื่อหลักด้วย

ในฐานะที่ย้วยก็เป็นคนวัยทำงานคนนึง คิดว่าการแต่งตัวมันช่วยให้เรามีความสุขกับการทำงานได้ยังไงบ้าง

ช่วยได้มากเลย เวลาเรารู้สึกดาว์นๆ หรืออกหัก เราก็อยากแต่งตัวให้สวย งานมันเครียด อยากคุยกับเจ้านายให้รู้เรื่อง อยากขายงานให้ผ่านก็แต่งตัวให้สวย หรือแม้กระท่ังขายงานผ่านแล้วมีความสุข เราก็อยากแต่งตัวให้สวย มันคือความมั่นใจในตัวเองที่ออกมาผ่านเสื้อผ้า

ตอนแรกๆ เราไม่เชื่อว่าสิ่งนี้มันจะช่วยได้ เราเป็นคนไม่มีความมั่นใจในการทำงาน แต่หลังจากที่เราไปบำบัดตัวเองด้วยการเข้าห้องลองเสื้อ เราแฮปปี้ขึ้นนะ เริ่มรู้สึกว่า ถ้าวันไหนเรื่องราวมันอาจจะไม่ดี แต่วันนี้ก็ขอให้ได้แต่งตัวตามที่อยากแต่งก็พอ แต่ก็ไม่ใช่ทุกวันที่ดีได้หมดนะ

ไม่ใช่ทุกวันที่ดีนี่คือยังไง

เช่น วันนี้เราอาจคิดว่าอยากจะใส่กระโปรงตัวนี้ให้เข้ากับเสื้อตัวนี้ แต่พอไปถึงที่ทำงานกลับนั่งไม่สบาย เพราะต้องนั่งทั้งวัน หรืออยากใส่รองเท้าบางคู่ที่เราชอบ แต่มันก็ไม่โอเคเพราะเราต้องเดินทั้งวัน มันก็มีพลาดบ้าง แต่หลักๆ แล้ว เราไม่รู้นะว่าจะมีคนทักหรือไม่ทักเรื่องการแต่งตัวของเรารึเปล่า แต่เราเข้าใจในตัวเองพอ

คิดว่าการแต่งตัวมันเป็นสิ่งที่ช่วยเยียวยาตัวเราได้ไหม

มันคือความมั่นใจ ต่อให้ไม่มีใครมามั่นใจในตัวเรา แต่การแต่งตัวก็ช่วยให้เรามั่นใจในตัวเองได้แล้วนะ แต่ละวันเราเจอโลกที่ไม่ได้ดั่งใจ เพราะเราคาดหวังกับอะไรบางอย่าง จนบางทีเราก็ลืมไปว่า การส่องกระจกแล้วเห็นว่าวันนี้ตัวเราก็โอเค มันก็เป็นเรื่องที่สำคัญ

เวลาเราพูดถึงการแต่งตัว หลายคนก็อาจจะคิดว่า เราแต่งตัวออกไปเพื่อให้ได้รับคำชมจากคนอื่น สำหรับย้วยแล้วคิดแบบนั้นไหม

ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็อาจจะเคยรอดูว่า ถ้าวันนี้แต่งตัวแบบนี้แล้วคนจะพูดถึงรึเปล่า แต่เดี๋ยวนี้ไม่เป็นแล้ว เรารู้สึกว่ายังไงก็ชมตัวเองไว้ก่อน ยังไงก็รอดแล้ว (หัวเราะ)

การแต่งตัวของเรา มันไม่ได้เริ่มจากการแต่งตัวแล้วมีคนชม มันเริ่มจากเรื่องที่เราแต่งตัวแล้วมีคนสงสัยกับการแต่งตัวของเรา ว่าทำไมเราไม่แต่งแบบคนอื่น ทำไมเราแต่งตัวเหมือนผู้ชายจัง ทำไมเราถึงชอบใส่เสื้อผ้าที่ตัวใหญ่ๆ ทำไมใส่เสื้อเชิ้ต

เรามักจะถูกตั้งคำถามมาตลอดว่า ทำไมไม่แต่งตัวให้ดูเป็นผู้หญิงบ้าง แต่มันก็ยิ่งผลักดันให้เราคิดว่า ถ้าเราอยากจะแต่งแบบนี้แล้วจะทำไม แต่งแบบนี้มันก็ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนนะ เราก็เป็นอย่างนั้นมาเรื่อยๆ เพราะการเป็นตัวเองมันก็สนุกดี

เคยโดนตำรวจแฟชั่น มาวิจารณ์บ้างไหม ถ้าเคยเจอย้วยดีลกับเรื่องนี้ยังไง

ตอนแรกเราก็หงุดหงิดนะ เวลามีคนมาว่าเราเรื่องใส่แจ็กเก็ตตัวใหญ่ แต่พอมานึกอีกทีนึง เราคิดว่าเขาอาจจะไม่เคยเห็นคนแต่งแบบนี้รึเปล่า

เคยมีครั้งหนึ่งที่เราไปเป็นพิธีกรงานแต่งของเพื่อน ซึ่งวันนั้นใส่แจ็กเก็ตตัวใหญ่ไป ออแกไนซ์เซอร์ก็เดินมาขอให้เราเอาแจ็กเก็ตออกไปได้ไหม เพราะดูแล้วมันใหญ่เทอะทะไม่สวย เราก็หงุดหงิดว่าเขาจะมาอะไรกับเรา ตอนนั้นก็รู้สึกเกรี้ยวกราดนะ แต่พอทำอย่างนั้นไป เราก็รู้สึกว่า ตัวเราเองก็ไปตัดสินเขาที่มาตัดสินเราเหมือนกัน

ถามว่ารับมือกับมันยังไง จริงๆ ไม่รับมือกับมันเท่าไหร่ ใครว่าก็ว่า ถ้าเราไปฟังเขา เราก็ต้องฟังทุกคนไปหมดเลย ถ้าเพื่อนว่าไม่ดี คนอื่นบอกว่าไม่ดี แล้วอะไรมันจะดีกับตัวเรากันแน่นะ

ไม่ใช่เราไม่ฟังคนอื่นนะ แต่แค่รู้ว่ากาละเทศะในการแต่งตัวมันควรเป็นยังไง แคร์ในสิ่งที่ควรแคร์ก็พอแล้ว แคร์งาน แคร์สถานที่ก็พอแล้ว

ถ้ามีคนที่ติดตามเพจ ส่งข้อความมาปรึกษาย้วยว่าถูกวิจารณ์เรื่องการแต่งตัวมา ย้วยจะให้คำแนะนำเขากลับไปยังไง

เราจะขอให้แต่งตัวแบบนั้นมากขึ้นไปอีก เราคิดว่า เวลามีฟีดแบคด้านลบหรือกลางๆ กลับมาที่การแต่งตัวของเรา แปลว่ามันน่าจะโอเคแล้ว หมายถึงว่า ถ้าเราแต่งแล้วมีแค่คำชมก็น่าจะแปลกๆ แต่ถ้ามีคนมาเบรคๆ เราก็แปลว่ามีคนมอง มันน่าจะมาถูกทางนิดๆ แล้วรึเปล่า

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องกลับมามองตัวเองด้วยว่า เราแคร์คนที่มาบอกเราไหม ถ้าแคร์ก็ฟัง แต่ถ้าคนนั้นไม่ได้มาช่วยให้เราแต่งตัวสวยขึ้นหรือแย่ลง เราคิดว่าไม่ต้องไปแคร์เลย

คิดว่าการแต่งตัวมันช่วยเพิ่มความรักในตัวเองมากขึ้นไหม

เราเคยมีปัญหากับเรื่องนี้มากเลยนะ เรารู้สึกตั้งแต่สมัยเรียนแล้วว่า เราไม่เก่ง หรือไม่สู้คนอื่นไม่ได้ตลอดเลย เรารู้สึกว่ามันไม่ได้มีทางออกหรอก เราก็แค่ทดลองค้นหาอะไรทำไปเรื่อยๆ จนมาสนใจเรื่องการแต่งตัวมากขึ้น คือวันนี้เราไม่ใช่กูรูนะ แต่เราอยู่ในจุดที่มีโอกาสทำอะไรแบบนี้มั้ง จริงๆ มันก็ไม่ได้อะไรเยอะมากหรอก แค่เดินเข้าไปลองเสื้อ

พอเราทำคอนเทนต์เรื่องลองเสื้อ มันเลยกลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายตัวเองไปเรื่อยๆ และคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้มันก็ช่วยให้มีความสุขแล้วนะ ถ้าตัวเราในมุมอื่นมันจะไม่ดีก็ไม่รู้ มันต้องหาจุดหนึ่งในชีวิตเพื่อการยึดเหนี่ยวในตัวเอง

เราเคยห็นคนมาถามในเพจเรื่องไม่พอใจในเรื่องรูปร่างตัวเองเท่าไหร่ แล้วย้วยก็ตอบเขากลับไปด้วยความเห็นที่น่าสนใจเหมือนกันว่า เราอาจไม่พอใจในบางส่วน แต่มันก็อาจจะมีบางส่วนที่ดีและเราลืมมองไปก็ได้

เพราะหลายครั้งเวลาเราไม่พอใจในตัวเอง เช่น ทำไมหน้าใหญ่เกินไป ไหล่กว้างไป ตัวเตี้ยไป แล้วเราก็รู้สึกไม่มั่นใจกับการแต่งตัวเลย ทำไมคนอื่นเขาแต่งตัวสวยกันนะ แต่เราเชื่อว่ามันยังมีมุมอื่นที่ดีแหละ บางที เราอาจจะเป็นคนยิ้มสวยมากๆ การที่เราขาสั้น มันก็มีวิธีการแต่งตัวที่ช่วยเรื่องนั้นได้นะ หรือไม่ก็เลือกตัดและลดทอนบางส่วนเอา เราคงต้องลองไปเรื่อยๆ

แต่ไม่ถึงขั้นว่า ฉันใส่เสื้อผ้าแล้วต้องแคร์สายตาว่าทุกคนต้องมองฉัน สำหรับเราคิดว่า แค่มองกระจกแล้วรู้สึกว่ามั่นใจก็โอเคแล้ว

จนถึงวันนี้ห้องลองเสื้อ มันกลายเป็นเซฟโซนของย้วยไปแล้วรึเปล่า

มันช่วยเยียวยาเราได้จริงๆ ไม่ว่าเรื่องงานหรือเรื่องอะไรก็ตาม มันเหมือนเราได้เป็นเลือกบ้าง ต่างไปจากบางอย่างในชีวิตที่เราไม่ได้เลือกเลย เช่น การทำงานที่ต้องแก้ไขตามคอมเมนต์ของลูกค้า หรือชีวิตการทำงานที่ไม่ได้ดั่งใจ แต่การเข้าไปอยู่ในห้องลองเสื้อ เราสามารถเลือกได้ว่าจะหยิบอะไรเข้าไป

*ถ้าพูดแบบโรแมนติกมากๆ เลยนะ เราคิดว่าทุกคนก็มีห้องลองเสื้อของตัวเองรึเปล่า ในฐานะสเปซที่ช่วยเราเยียวยาชีวิตได้ *

ใช่ แล้วมันก็คือการลองไปทำสิ่งที่เราไม่เคยทำด้วยนะ

เคยมีไหมเวลาลองแล้วซื้อออกไป แต่เวลาใส่จริงๆ กลับไม่ชอบเท่าตอนลองมัน

มีนะ เราก็จะใช้วิธีว่าจะไม่กลับไปซื้อถ้ายังไม่ชอบจริงๆ ยกเว้นจะรู้ว่ามันมีน้อย หรือเคยลองแล้วแต่ไม่ได้ซื้อ กลับมาอีกทีมันก็หมดแล้ว อันนี้ก็เป็นความพลาดของตัวเราเองเหมือนกัน เรื่องนี้เราเป็นประจำเลย (หัวเราะ)

ระหว่างลองแล้วพลาดกับไม่พลาด เจอกับสิ่งไหนเยอะกว่ากัน

ถ้านับจนถึงวันนี้ เราลองแล้วไม่ค่อยพลาด แต่เมื่อก่อนก็พลาดเยอะ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่มีใครตายจากการลองพลาดของเราด้วยแหละ เราจะเป็นคนรู้เองว่าการลองครั้งไหนมันจะรอดหรือไม่รอด แล้วก่อนลองเราก็จะคิดแล้วคิดอีกก่อนจะหยิบอะไรเข้าไปลองด้วยเหมือนกัน

ถ้าจะชวยคุยในภาพที่ใหญ่ขึ้น นอกจากการเรื่องเสื้อผ้าแล้วช่วงชีวิตที่ผ่านมาย้วยลองผิดลองถูกมากแค่ไหนบ้าง มันช่วยให้เราเป็นเราในวันนี้ยังไงบ้าง

ชีวิตเรามันคล้ายกับการลองเสื้ออยู่เหมือนกันนะ ตั้งแต่เริ่มเรียนจบจนถึงวันนี้ มันเป็นอะไรที่รวมกันจนกลายเป็นเรา เราเรียนจบเศรษฐศาสตร์มา แต่เราไม่ได้ชอบทำงานในวงการลงทุนหรือหุ้น เราชอบแค่เรื่องที่มันขับเคลื่อนให้ชีวิตคนดีขึ้น แต่ตอนนั้นเรายังหางานที่มันรองรับความเชื่อนี้ของเราไม่เจอ เราก็เก็บความชอบนี้ไว้

เราเริ่มทำงานใน กลต. (สํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) ก่อน เป็นฝ่ายแบรนด์ดิ้งในนั้น เราอาจจะเข้าทำงานได้เพราะเคยฝึกงานที่นี่มาก่อนมั้ง มันก็เป็นการเข้าไปทำงานแบบงงๆ อยู่นิดหน่อยแหละ เราลองทำดู แล้วก็เรียนรู้เรื่องแบรนด์ดิ้งไป

พอทำงานนี้ได้ เราก็เริ่มอยากเป็นคนที่เล่าเรื่องเป็น เลยเปลี่ยนไปทำงานกับองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมที่อยู่ภายใต้สังกัดของ สสส. หน้าที่ของเราคือหาคอนเทนต์ให้คนไทยได้เข้าใจว่าองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมคืออะไร และทำหน้าที่อะไร การทำงานที่นี่ มันก็เหมือนได้ทดลองอีกเหมือนกันนะ เราอยากเป็นคนที่สื่อสารได้ดี ช่วงนั้นเคยได้รู้จัก a day bulletin เพราะที่ทำงานเก่าเคยซื้อโฆษณา

หลังจากนั้นเราก็สมัครไปทำงานที่นั่น แต่ไม่ได้มีพอร์ทอะไรเท่าไหร่นะ มีแค่บทความที่เรารีวิวหนังลงบนเฟซบุ๊ก ตอนที่ได้เริ่มงานตอนแรกก็ซัฟเฟอร์มาก  เพราะเราต้องเขียนให้เป็น แต่เราก็ได้เรียนรู้วิธีการเล่าเรื่องเพิ่มเติมขึ้นอีกเยอะ

พอทำสักพัก เรารู้สึกอิ่มตัว เราออกไปทำงานคอนเซาท์ ไปเป็นผู้ช่วย สักพักก็กลับมารู้สึกว่า เรายังอยากทำงานที่เกี่ยวกับการเล่าเรื่องอยู่ มันเหมือนการแต่งตัวนะ ว่าเราอยากลองแบบนี้ ลองแบบนั้น แต่การลองในชีวิตจริงมันคือการเอาตัวเราเข้าไปลองทั้งตัว ไม่ได้แค่แบบแตะๆ

สุดท้ายแล้ว เราก็ได้มาทำอยู่ที่ The Cloud ในวันนี้ มันก็กลายเป็นตัวเรา ที่เป็นเด็กเศรษฐศาสตร์ มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจ รู้เรื่องกิจการเพื่อสังคมที่ดี รู้เรื่องผู้คน รู้วิธีการเล่าเรื่อง

มันก็เหมือนกับเรื่องเสื้อผ้าวันนี้ มีคนมาถามว่า ย้วยชอบใส่เสื้อสไตล์ไหน เราก็ตอบไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ลองทุกแบบนะ แต่เราเห็นอะไรที่มันดีและเหมาะกับเรา เราก็หยิบสิ่งนั้นมาลอง มันคือการลองไปเรื่อยๆ

ทุกวันนี้ก็เลยไม่ได้นิยามว่าชอบแต่งตัวแบบไหนเป็นหลัก

ใช่ ก็แล้วแต่ความชอบเราในตอนนั้น

พูดอย่างนี้ได้ไหมว่า ปลายทางของย้วยแล้ว มันอาจจะไม่ใช่เสื้อตัวใดตัวหนึ่ง แต่มันคือการลองไปเรื่อยๆ รึเปล่า

แต่เราจะมีประสบการณ์และความระวังบางอย่างอยู่ ถ้าเทียบกับเรื่องแต่งตัวก็คือว่า ถ้าพรุ่งนี้เขาใส่เสื้อเปิดไหล่กันทั้งเมือง เราก็คงไม่ได้ใส่มัน เพราะเรารู้ว่า เราใส่เสื้อเปิดไหล่แล้วไม่รอดแน่ๆ เราก็จะไม่ลองมัน

เหมือนกันกับเรื่องงาน ถ้าวันนี้มีคนมาชวนเราไปทำงานด้วย แต่ถ้าเรารู้ว่า เราไม่สามารถเข้ากับงานใหม่ได้แน่ๆ เราก็คงไม่ไป เพราะเรามีประสบการณ์มาก่อน มันไม่ได้แปลว่า เราจะกระโดดเข้าหาทุกโอกาสเสียทีเดียว

หมายความว่าปลายทางมันไม่ใช่การตามหาเสื้อตัวใดตัวหนึ่งที่จะเข้ากับเราที่สุด

เพราะเราไม่ได้มองหาเสื้อตัวนั้นตั้งแต่แรก บางคนแต่งตัวเพื่อจะหาว่า สุดท้ายแล้วเราอยากจะแต่งแบบไหนที่เป็นยูนิฟอร์มฉัน เขาอาจจะตามหาจุดนั้น แต่เราไม่ได้ตั้งต้นว่า ฉันจะทำสิ่งนี้เพื่อที่เอาเสื้อชุดนี้เป็นสูทประจำตัว ถ้าทุกคนเจอเราจะเห็นเสื้อสูทตัวนี้ของเรา

แต่ตอนนี้มันกลายเป็นว่า คนจะจำเราได้ ไม่ว่าเราแต่งตัวแบบไหน ถ้ามีคนมองเห็นจากไกลๆ ก็จะรู้แล้วว่านั่นคือเรา นั่นแปลว่า มันอาจไม่ใช่แค่เรื่องแต่งตัวแล้ว แต่เพราะมันคือตัวเรา และบุคลิกเราที่ออกมาผ่านการแต่งตัว

สุดท้ายแล้วการแต่งตัวมันช่วยทำให้เรารักตัวเองขึ้นยังไงบ้าง

เราตอบไม่ได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า รักตัวเองมากขึ้นกว่าเดิมไหม แต่จริงๆ แล้วก็แค่เจอสิ่งที่ตัวเราเองมีความสุข เราไม่อยากตอบสวยๆ ว่ามันคือความสุขหรือความมั่นใจในตัวเองแล้วก็จบ เพราะโลกนี้มันมีเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้หลายเรื่อง

แต่ในโลกที่เป็นแบบนี้ ถ้าเราหาอะไรที่เราควบคุมได้บ้าง มันก็ดีเหมือนกันนะ ซึ่งสำหรับเราแล้ว มันก็คือช่วงเวลาในห้องลองเสื้อนั่นแหละ

Photo by Asadawut Boonlitsak

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0