โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เผยพันเอกแก่-นายพลเฒ่า มีนับร้อย ที่ยังพักบ้านราชการ (คลิป)

ไทยรัฐออนไลน์ - Politics

อัพเดต 19 ก.พ. 2563 เวลา 22.34 น. • เผยแพร่ 19 ก.พ. 2563 เวลา 22.25 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

หลังเกษียณอายุ ทบ.ขีดเส้นตาย! มีนาคมต้องออก เผยนายกฯ 29 คน พลเรือนบ้านเอง ทหาร-บ้านหลวง

เปิดแล้วศูนย์คอลเซ็นเตอร์ “สายตรง ผบ.ทบ.” รับเรื่องราวร้องเรียนแก้ปัญหา คับข้องใจให้ทหารชั้นผู้น้อย “รอง ผบ.ทบ.” เผยมี “นายพล-พันเอกพิเศษ” เกษียณแล้วยังอยู่บ้านหลวงเกือบ 100 คน ขีดเส้นย้ายออก มี.ค.นี้ ระบุจะผ่อนผันให้เป็นกรณีๆ ตามเหตุจำเป็น ยันไม่ได้กระทบทหารชั้นประทวน ยอมรับ“บ้านสวัสดิการ” เป็นโครงการที่ดี แต่พร้อมทบทวน-ยกเลิกหากถูกมองว่าเป็นปัญหา ด้านนายกรัฐมนตรี นำคณะลงพื้นที่เยี่ยมปลอบขวัญญาติเหยื่อ “กราดยิงโคราช” พร้อมมอบเงินเยียวยาร่วม 35 ล้านบาท

หลังเกิดโศกนาฏกรรมสลด จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา ทหารค่ายสุรธรรมพิทักษ์ จ.นครราชสีมา ยิงผู้บังคับบัญชาและเครือญาติเสียชีวิต เพราะโกรธแค้นเรื่องหนี้สินค่านายหน้าก่อสร้างบ้าน จากนั้นคลั่งสติแตกปล้นปืนสงครามในค่ายฯ ตระเวนกราดยิงผู้บริสุทธิ์ในวัดป่าศรัทธารวม และห้างเทอร์มินอล 21 โคราช กระทั่งถูกตำรวจวิสามัญฯ มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ 30 ศพ บาดเจ็บ 58 ราย ต่อมา พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ได้หลั่งน้ำตาขอโทษแสดงความเสียใจกับครอบครัวเหยื่อกระสุน อีกทั้งยังประกาศจะล้างบาง ธุรกิจสีเทาในค่ายทหาร และให้ทหารเกษียณออกจากบ้านหลวง พร้อมเซ็นย้ายทหารระดับนายพันเข้ากรุ แต่กระแสสังคมยังคงเรียกร้องให้เร่งปฏิรูปกองทัพอย่างจริงจัง แก้ปัญหาผลประโยชน์แอบแฝงที่หมักหมมยาวนาน โดยเฉพาะการยึดครองบ้านหลวงของอดีตนายพลวัยเกษียณที่ยังครองอำนาจในแวดวงการเมือง จนเกิดแรงกระเพื่อมโถมใส่บรรดาอดีตแม่ทัพนายกอง ลุกลามไปถึงนายกรัฐมนตรี

ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สวนรื่นฤดี เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 19 ก.พ. พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รอง ผบ.ทบ. ทำพิธีเปิดศูนย์คอลเซ็นเตอร์สายตรง แก้ไขปัญหาสำหรับกำลังพลกองทัพบก หรือ “สายตรง ผบ.ทบ.” พร้อมให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางแก้ไขปัญหาบ้านพักของกำลังพลชั้นผู้น้อยที่เกษียณไปแล้วแต่ยังเดือดร้อนเรื่องที่พักอาศัยว่า ต้องพิจารณาเป็นกรณีๆไป โดยจัดลำดับความเดือดร้อนทั้งคนที่อยู่ในราชการและเกษียณอายุราชการไปพร้อมๆกัน การแก้ปัญหาเรื่องบ้านพักของกำลังพลมี 3 แนวทาง 1.ต้องสร้างบ้านพักเพิ่ม แต่ทำอย่างไรก็ไม่เพียงพอและยังสิ้นเปลืองงบประมาณ 2.การเช่าบ้านตามสิทธิ์ของแต่ละคน และ 3.โครงการบ้านสวัสดิการ เดิมเป็นโครงการที่ดีสำหรับผู้ที่ไม่มีบ้านหลวง เพราะเป็นการออมเงินไปซื้อบ้านเป็นของตนเองอยู่ยาวไปจนถึงเกษียณ

“แต่ปัจจุบันเกิดปัญหาเรื่องนี้ขึ้นก็ต้องมาดูว่าเกิดจากอะไร เป็นที่คนหรือระบบ หากสามารถแก้ได้ ก็ต้องเดินหน้าต่อ แต่ถ้ากองทัพบกมองแล้วว่าเป็นปัญหาก็ต้องยกเลิก ความจริงโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี ขอทำความเข้าใจว่าบางครั้งเรื่องที่ดีอาจจะเดินไม่ได้เพราะสังคมมองว่าเป็นเรื่องทุจริต โกง ผลประโยชน์ของนายทหารผู้ใหญ่ ซึ่งความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น หลายโครงการเป็นโครงการที่ดีให้กำลังพลชั้นผู้น้อยมีบ้านเป็นของตัวเอง” พล.อ.ณัฐพลกล่าว

เมื่อถามว่า มีทหารเกษียณอายุราชการที่อยู่บ้านหลวงจำนวนเท่าไหร่ พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า กำลังให้หน่วยสรุปเข้ามาว่ามีเท่าไหร่ ขีดเส้นว่าเดือน มี.ค.นี้ ต้องเรียบร้อย และแจ้งไปว่าขอให้ส่งคืนด้วย แต่ขอให้เข้าใจว่าสังคมไทยยืดหยุ่นได้ แต่ก็ต้องขีดเส้นเป็นระยะๆไป ในบางกรณีที่ต้องผ่อนผันก็ต้องมีกรอบเวลา ในอดีตยอมรับว่าได้ผ่อนผันกันหลายปี เช่นทหารที่ทำงานตามชายแดนเกษียณแล้วไม่มีบ้านพัก ต้องพิจารณาตามกรณี เพราะจำนวนบ้านพักทั้งหมดในส่วนกลางมีไม่เกิน 100 หลัง สำหรับระดับชั้นนายพลและพันเอกพิเศษ ในระหว่างดำเนินการคาดจะมีคนทยอยออกไปเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ที่เกิดปัญหาคือทหารที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดและเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ที่อยู่ในต่างจังหวัดไม่ค่อยมีปัญหาเพราะเขามีบ้านอยู่แล้ว ในส่วนของอดีตทหารที่เป็น สว.ยังไม่เห็นรายชื่อว่ามีอยู่เท่าไหร่

ส่วนการตั้งคำถามของสังคมว่า เหตุใดนายทหารระดับสูงที่มีเงินเดือนสูงกลับไม่มีกำลังทรัพย์ซื้อบ้านของตนเอง แต่มาอยู่บ้านหลวง พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัว ต้องไปถามแต่ละคน อาจมองได้ว่ายังมีงานที่ต้องรับใช้ประเทศชาติอยู่ อยากฝากสื่อมวลชนว่าไม่ต้องเป็นห่วง เพราะนายพลที่ยังอยู่บ้านหลวง ก็กระทบกับบ้านของชั้นนายพลด้วยกัน ไม่ใช่นายพลจะไปอยู่บ้านนายสิบ จนทำให้ทหารชั้นผู้น้อยไม่มีบ้านอยู่ เป็นคนละส่วนกัน

ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุมพิจารณาขอให้สภาฯศึกษาการกราดยิงใน จ.นครราชสีมา เสนอแนะให้รัฐบาลพิจารณาหาทางแก้ไขไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีกต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว โดยนางอมรรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายว่า ขอเรียกร้องความรับผิดชอบจาก ผบ.ทบ.ให้ลาออกเพราะการกราดยิงเป็นโศกนาฏกรรมที่ร้ายแรงที่สุด หากกองทัพสกัดเหตุได้ทัน มีคนในค่ายทหารออกมาติดตามคนร้ายอย่างทันท่วงที ความเสียหายคงไม่มากขนาดนี้ ขณะนี้สังคมมีฉันทามติร่วมกันต้องปฏิรูปกองทัพจริงจัง วัฒนธรรมเจ้าขุนมูลนายทำให้เกิดการกดขี่ละเมิดสิทธิมนุษยชนในกองทัพ ส่วนการบริจาคเงินช่วยเหลือนั้น ควรเป็นกองทัพรับผิดชอบเพียงฝ่ายเดียว เพราะกระทรวงกลาโหมได้งบฯ เพิ่มขึ้นทุกปี

ขณะที่นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า หากกองทัพยังไม่มีการ บริหารจัดการที่ดี เหตุการณ์ที่ จ.นครราชสีมา จะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นที่ต่างประเทศ เชื่อว่า กองทัพบก แม่ทัพภาคที่ 2 และนายกรัฐมนตรีถูกฟ้องไปแล้ว แม้จะบอกว่า ทำเต็มที่แล้ว แต่ถ้าทำได้แค่นี้จะดูแลประชาชนได้อย่างไร ด้านนายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เป็นไปได้อย่างไรที่ในกองทัพไม่มีระบบดูแลความปลอดภัยเรื่องการเก็บรักษาอาวุธในค่ายทหารชัดเจน ถือว่ากองทัพหละหลวม ไม่มีการแจ้งตำรวจหรือหน่วยสกัดกั้นภายหลังที่ถูกปล้นอาวุธออกไป วันนี้กองทัพต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ อย่าอายตัวเอง ผู้นำกองทัพควรปรับปรุงแก้ไขการบริหารงานในกองทัพ ต้องสร้างทหารให้มีศักดิ์ศรี ไม่ใช่เป็นทหารรับใช้ไปกดขี่กัน ต้องเป็นทหารอาชีพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 29 คน ในอดีตผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีทั้งที่พักอาศัยอยู่ในบ้านหลวงและบ้านพักส่วนตัว โดยรายนามนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย 1.พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ดำรงตำแหน่ง พ.ศ.2475-2476) พักอาศัยบ้านส่วนตัว 2.พระยาพหลพลพยุหเสนา (2476-2481) ไม่พบข้อมูล 3.จอมพลแปลก พิบูลสงคราม (2481-2487, 2491-2500) พักบ้านหลวงรวมทั้งทำเนียบรัฐบาล 4.นายควง อภัยวงศ์ (2487-2488, 2490- 2491) พักบ้านส่วนตัวหน้าสนามกีฬา 5.นายทวี บุณย–เกตุ (2488) พักบ้านส่วนตัว 6.ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช (2488,2518,2519) พักบ้านส่วนตัวซอยเอกมัย 7.นายปรีดี พนมยงค์ (2489) นายกฯ และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พักทำเนียบท่าช้าง 8.พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (2489-2490) พักบ้านส่วนตัว 9.นายพจน์ สารสิน (2500) พักบ้านส่วนตัว

10.จอมพลถนอม กิตติขจร (2501,2506-2516) พักบ้านหลวงเกษะโกมล 11.จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (2502-2506) พักบ้านสี่เสาเทเวศร์และบ้านหลังกองพลที่ 1 12.นายสัญญา ธรรมศักดิ์ (2516-2518) พักบ้านส่วนตัว 13.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (2518-2519) พักบ้านส่วนตัวในซอยสวนพลู 14.นายธานินทร์ กรัยวิเชียร (2519-2520) พักบ้านส่วนตัว 15.พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (2520-2523) พักบ้านส่วนตัวย่านบางเขน 16.พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (2523-2531) พักบ้านสี่เสาเทเวศร์จนถึงแก่อสัญกรรม 17.พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (2531-2534) พักบ้านส่วนตัวในซอยราชครู 18.นายอานันท์ ปันยารชุน (2 มี.ค.2534-6 เม.ย.2535, 10 มิ.ย.2535-22 ก.ย.2535) พักบ้านส่วนตัว 19.พล.อ.สุจินดา คราประยูร (7 เม.ย.2535-24 พ.ค.2535) พักบ้านหลวงบ้าง บ้านส่วนตัวในซอยระนอง 1 บ้าง 20.นายชวน หลีกภัย (23 ก.ย.2535-19 พ.ค.2538, 9 พ.ย.2540-16 ก.พ.2544) พักบ้านส่วนตัวในซอยหมอเหล็ง

21.นายบรรหาร ศิลปอาชา (18 ก.พ.2538-29 พ.ย.2539) พักบ้านส่วนตัวริมถนนจรัลสนิทวงศ์ 22.พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ (29 พ.ย.2539-6 พ.ย.2540) พักบ้านส่วนตัวซอยปิ่นประภาคม ย่านสนามบินน้ำ 23.พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (17 ก.พ.2544-19 ก.ย.2549) พักบ้านจันทร์ส่องหล้า ย่านบางพลัด 24.พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ (1 ต.ค.2549-29 ม.ค.2551) พักบ้านส่วนตัวบ้าง บ้านหลวงบ้าง 25.นายสมัคร สุนทรเวช (29 ม.ค.2551-9 ก.ย.2551) พักบ้านส่วนตัวในหมู่บ้านโอฬาร ย่านถนนนวมินทร์ 26.นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (18 ก.ย.2551-2 ธ.ค.2551) พักบ้านส่วนตัวในหมู่บ้านเบเวอรี่ ฮิลล์ ถนนแจ้งวัฒนะ 27.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (17 ธ.ค.2551-4 ส.ค.2554) พักบ้านส่วนตัวย่านสุขุมวิท 28 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (5 ส.ค.2554-7 ส.ค.2557) พักบ้านส่วนตัวในซอยโยธินพัฒนา 3 ถนนประดิษฐ์มนูธรรม และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (24 ส.ค.2557-ปัจจุบัน) พักบ้านหลวงในกรมทหารราบที่ 11

สรุปว่าอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย พักบ้านส่วนตัวขณะดำรงตำแหน่ง 20 คน ที่เหลือเป็นผู้ที่พักบ้านของทางราชการ คือบ้านพักทหาร ทั้งๆที่ในยุคหลังๆ มีการกำหนดให้บ้านพิษณุโลก เป็นบ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ไม่มีนายกรัฐมนตรีคนใดไปพักอาศัยอยู่อย่างจริงจัง

สายวันเดียวกัน ที่สนามบินกองบิน 1 ต.ปรุใหญ่ อ.เมืองนครราชสีมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะเดินทางลงพื้นที่ จ.นครราชสีมา เพื่อมอบเงินเยียวยาให้กับญาติ ผู้เสียชีวิตจากเหตุกราดยิงโคราช ทันทีที่ลงจากเครื่องบิน นายกฯเดินทางต่อด้วยรถตู้โตโยต้า อัลพาร์ด ทะเบียน กย 1111 นครราชสีมา ไปสักการะอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) จากนั้นเดินทางไปยังหอประชุมเปรมติณสูลานนท์ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา มอบเงินช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิต เป็นเงินจากกองทุนผู้ประสบสาธารณภัยสำนักนายกรัฐมนตรี รวมทั้งสิ้น 34.8 ล้านบาท มอบให้ครอบครัวผู้เสียชีวิต 24 ราย จากทั้งหมด 27 ราย รายละ 1 ล้านบาท ผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส 19 ราย จาก 21 ราย รายละ 2 แสนบาท และผู้ได้รับบาดเจ็บไม่สาหัส 32 ราย จากทั้งหมด 36 ราย รายละ 1 แสนบาท ส่วนผู้ที่ไม่ได้มารับในวันนี้จะประสานจ่ายเงินให้ตามภูมิลำเนา

ต่อมาเวลา 10.00 น. นายกฯและคณะ เดินทางไปยังศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โคราช ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา ตรวจพื้นที่และเยี่ยมเยียนผู้ประกอบการร้านค้าและประชาชน พล.อ.ประยุทธ์ ได้ไปยังชั้น LG และชั้น G บริเวณที่ประชาชนใช้หลบภัยช่วงเกิดเหตุกราดยิง พูดคุยกับผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ชื่นชมพลเมืองดี ระบุจะทำประกาศนียบัตรให้เพื่อเป็นเกียรติ และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่มาปฏิบัติงาน และอุดหนุนสินค้าในร้านค้าต่างๆ เช่น ร้านโดนัทที่ ผบ.ตร. ได้อุดหนุนในช่วงปฏิบัติภารกิจเข้าจับกุมคนร้าย

ระหว่างนั้นมีประชาชนหลายคนกล่าวถึงเหตุการณ์ที่ยังรู้สึกสะเทือนใจและมีน้ำตาคลอ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ ร้านค้า เจ้าของห้างสรรพสินค้า และได้รับปากจะจัดโปรโมชันให้ประชาชน พร้อมเขียนข้อความให้กำลังใจติดบนกระดานรวมดวงใจก้าวไปด้วยกันว่า “ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน ทุกภาคส่วนต่อไปด้วยกัน ด้วยพลังแห่งรัก แห่งความสามัคคี รัฐบาล นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี จะทำงานอย่างเต็มกำลังสติปัญญาในการขับเคลื่อนไปข้างหน้าและเราจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ร่วมกันนำพาประเทศชาติ ประชาชนไทยไปข้างหน้า เพื่อผ่านพ้นวิกฤติต่างๆไปด้วยกัน ขอบคุณภาคเอกชน หอการค้าอุตสาหกรรม ทุกภาคส่วน ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จทุกประการ ด้วยรักและห่วงใยเสมอ” จากนั้นคณะของนายกรัฐมนตรีได้เดินทางกลับ กทม.

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จัดทำหนังสือจดหมายเหตุเหตุการณ์ที่ จ.นครราชสีมา ลักษณะคล้ายกับการบันทึกประวัติศาสตร์เหตุการณ์ช่วยชีวิต 13 หมูป่า ออกจากวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ให้เน้นในด้านสิ่งดีๆ การช่วยเหลือของสังคม การบริจาค จิตอาสา โดยเฉพาะพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงรับทั้ง 27 ศพ ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ และพระราชทานเพลิงศพ มุ่งหมายให้เป็นเครื่องเตือนใจ แสดงความมีน้ำใจของคนไทย ตนสั่งการให้สำนักหอจดหมายเหตุ กรมศิลปากร รับไปดำเนินการ ให้รวบรวมลำดับเหตุการณ์ ตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุ จะเก็บรวบรวมทั้งภาพ บันทึกเหตุการณ์ จากสื่อมวลชนแขนงต่างๆ เรื่องเล่า และการสัมภาษณ์เก็บข้อมูลจากบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้จัดทำประกาศเกียรติคุณยกย่องบุคคลที่อยู่เบื้องหลังด้วย

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0