โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เผยความจริง กรณีรปภ.หนุ่มสอบติดจุฬาฯ?

Johjai Online

อัพเดต 23 พ.ค. 2562 เวลา 07.38 น. • เผยแพร่ 22 พ.ค. 2562 เวลา 17.00 น. • johjaionline.com
เผยความจริง กรณีรปภ.หนุ่มสอบติดจุฬาฯ?
สื่อมากมายหลายสำนักใช้ข้อความพาดหัวว่า “รปภ.หนุ่ม สอบติดสัตวแพทย์ฯ จุฬาฯ” นี่มันจริงไหมครับ  

ช่วงนี้ก็เป็นฤดูกาลประกาศผลสอบเข้ามหาวิทยาลัยนะครับ บางมหาวิทยาลัยก็เพิ่งประกาศรายชื่อนักเรียนที่สอบติด บางมหาวิทยาลัยก็เริ่มให้ว่าที่นิสิตนักศึกษาไปรายงานตัวกันแล้ว และหนึ่งในว่าที่นิสิตจุฬาฯ ที่มาแรงแซงทุกทางโค้งในช่วงนี้ก็คือน้องวี ว่าที่นิสิตคณะสัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สื่อลงข่าวกันโครม ๆ ว่า “รปภ.หนุ่ม สอบติดสัตวแพทย์ฯ จุฬาฯ นั่นแหละครับ”
ถามกันตรงนี้เลยดีกว่าครับว่า คุณว่าการที่สื่อมากมายหลายสำนักใช้ข้อความพาดหัวว่า “รปภ.หนุ่ม สอบติดสัตวแพทย์ฯ จุฬาฯ” นี่มันจริงไหมครับ มันถูกไหมครับ แล้วมันจริงแค่ไหน มันถูกแค่ไหน เราลองมาคิดไปด้วยกันนะครับ
แต่ก่อนอื่นผมต้องขอออกตัวก่อนนะครับว่าผมชื่นชมน้องวี (นายวีระพงษ์ แซ่หาญ) มากครับ ชื่นชมและยินดีกับน้องมากจริง ๆ ทั้งในฐานะที่เป็นรุ่นพี่ร่วมมหาวิทยาลัย และในฐานะบุคคลทั่วไปใครก็ไม่รู้ที่เห็นคนอื่นประสบความสำเร็จทางการศึกษาไปอีกขั้นหนึ่ง
ตั้งแต่วันแรกที่น้องเริ่มเป็นข่าว สื่อทั้งหมดที่ผมเห็น ย้ำนะครับว่า “ทั้งหมดที่ผมเห็น” ใช้ข้อความทำนองเดียวกันว่า "รปภ. หนุ่มตั้งใจอ่านหนังสือ จนสอบติดสัตวแพทย์ จุฬาฯ" ผมถามว่าข้อความ “รปภ.หนุ่มตั้งใจอ่านหนังสือ” คุณเห็นภาพอะไรครับ ภาพที่ผมเห็นคือ น้องเป็นรปภ.นั่งอ่านหนังสืออย่างขะมักเขม้นอยู่ในป้อม เวลาต้องออกไปเดินตรวจตราก็วางหนังสือทิ้งไว้ พอตรวจเสร็จเรียบร้อยก็กลับไปนั่งอ่านหนังสือ ใช้ชีวิตคร่ำเคร่งแบบนี้เป็นปี ๆ จนถึงวันสอบ ก็ไปสอบ แล้วผลก็ออกมาว่าน้องสอบติดคณะสัตวแพทย์ฯ จุฬาฯ
จนวันนี้น้องมารายงานตัวแล้ว ก็ยังเห็นสื่อใช้ข้อความทำนองนี้อยู่ครับ
บางท่านที่อ่านแต่พาดหัวข่าว (แล้วก็อาจจะจะกดแชร์ด้วย ทั้งที่ยังไม่อ่าน) อาจจะคิดว่า ก็ถูกแล้วนี่ ก็น้องเขาเป็นรปภ. ตั้งใจอ่านหนังสือจนสอบติด ก็ต้องเป็นภาพแบบที่ว่ามาข้างต้นน่ะสิ จะให้เป็นแบบไหนไปได้
นั่นแหละครับ พาดหัวข่าวแบบนั้นก็ต้องเป็นภาพแบบนั้น
กระทั่งได้เข้าไปอ่านเนื้อหาข่าว ถึงได้พบว่า ความจริงแล้วไม่ได้เป็นอย่างภาพที่เรานึกเลย ความจริงคือน้องวีก็เป็นนักเรียนมัธยมปกตินี่แหละครับ เรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนท่าวังผา จ.น่าน แล้วก็สอบตามปกติ ยื่นเข้าโครงการพิเศษนี้ตามสิทธิ์ที่น้องพึงมี (โครงการนี้ชื่อโครงการจุฬาฯ-ชนบท เป็นทุนให้เปล่าสำหรับนิสิตขาดแคลนทุนทรัพย์ที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ตามที่จุฬาฯ กำหนด อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.rural.chula.ac.th ) แล้วพอยื่นคะแนนเรียบร้อย น้องถึงค่อยไปสมัครเป็นรปภ. เพื่อหารายได้ระหว่างรอประกาศผล รอเปิดเทอม และเมื่อถึงวันประกาศผล ก็ปรากฏว่าสอบได้คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
คือก่อนน้องจะสอบติด น้องไม่ได้เป็นรปภ. ครับ น้องเป็นนักเรียนที่ตั้งใจเรียนในห้องเรียนเหมือนกับนักเรียนคนอื่นทั่วไปนี่แหละครับ
เห็นไหมครับว่า “ภาพที่เกิดขึ้นตอนอ่านพาดหัวข่าว” กับ “ภาพที่เกิดขึ้นตอนอ่านเนื้อหาข่าว” มันออกมาเป็นภาพคนละอย่างเลยนะครับ แล้วมันก็ส่งผลต่อการรับรู้ของผู้เสพข่าวด้วย คือภาพ “รปภ.อ่านหนังสือจนสอบติดจุฬาฯ” กับ “​ว่าที่นิสิตจุฬาฯไปทำงานเป็นรปภ.ระหว่างรอเปิดเทอม” มันมีระดับความสะเทือนอารมณ์ต่างกันมาก พอบอกว่า “รปภ. อ่านหนังสือจนสอบติดจุฬาฯ” หลายคนที่เห็นข้อความนี้ก็จะรู้สึกว้าวขึ้นมาทันที เพราะคงมีรปภ.ไม่กี่นายที่จะเอาจัดสรรเวลามาอ่านหนังสือเตรียมสอบ แล้วสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ (ตรงนี้ไม่ได้ดูถูกรปภ. ว่ารปภ. ไม่สามารถทำแบบนี้ได้นะครับ อย่าเข้าใจผิด) แต่ถ้าบอกว่า "นักเรียนมัธยมสอบติดจุฬาฯ" จะกลายเป็นข้อความธรรมดา ๆ ไปเลย เพราะปีหนึ่งมีนักเรียนมัธยมสอบติดจุฬาฯ เป็นหมื่น ๆ คน
ถ้าพูดง่าย ๆ ก็คือ “รปภ. สอบติดจุฬาฯ” คือสิ่งที่เกิดขึ้นน้อยกว่า “นักเรียนมัธยมสอบติดจุฬาฯ” ผู้เสพข่าวก็จะ “ว้าว” กับการที่ “รปภ. สอบติดจุฬาฯ” มากกว่านั่นเองครับ
อย่างไรก็ดี การใช้ข้อความทั้ง 2 แบบนี้ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใครหรอกครับ แต่มันก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนเลยครับว่าเมื่อใช้คำต่างกัน อารมณ์ความรู้สึกและภาพที่เกิดขึ้นในหัวของผู้อ่านที่มีต่อสถานการณ์นั้น ๆ ก็ย่อมต่างไปด้วย
ยินดีกับน้องวีอีกทีครับ ขอให้ใช้ชีวิตมหาวิทยาลัยอย่างมีความสุขนะครับ
อ้างอิงภาพจาก : ข่าวเวิร์คพอยท์

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0