โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เปิดใจสาวสวย อายุแค่ 25 จบ ป.เอก ไม่ได้หัวดี งานมั่นคง เผยความลับมาถึงจุดนี้

Thairath - ไทยรัฐออนไลน์

อัพเดต 10 ต.ค. 2562 เวลา 12.06 น. • เผยแพร่ 10 ต.ค. 2562 เวลา 12.00 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

มองโลกด้วยรอยยิ้ม เติมเต็มหัวใจด้วยความสุข…คงจะนิยามเรื่องราวชีวิตของผู้หญิงคนนี้ได้ดีที่สุด ดร.ไอซ์ รวิสรา ชูฤกษ์ สาวสวยวัย 25 ปี ซึ่งเธอบอกกับทีมข่าวอย่างถ่อมตัวว่า เธอไม่ใช่เด็กหัวดีที่สุด ไม่ใช่เด็กบ้าเรียน แต่วันนี้เธอจบปริญญาเอก พ่วงปริญญาตรี 2 ใบ ปริญญาโท 1 ใบ มีชีวิตที่ดี อีกทั้งยังมีหน้าที่การงานมั่นคง เธอทำได้อย่างไร อะไรคือความลับของเธอ

ดร.ไอซ์ รวิสรา เปิดใจกับทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์อย่างหมดเปลือก เกี่ยวกับความลับที่ว่า “ไม่ใช่เด็กอัจฉริยะ ไม่ใช่คนบ้าเรียน แต่ทำไมถึงสามารถเรียนจบปริญญาเอกได้ ทั้งๆ ที่แค่วัย 25 ปี และที่สำคัญ เธอยังไปเที่ยว ไปกิน หากิจกรรมอื่นๆ ที่ทำให้ชีวิตเธอมีความสุขได้อีกด้วย”

เส้นทางจบปริญญาตรีได้ ภายในอายุ 19 ปี

ดร.ไอซ์ รวิสรา เผยเส้นทางการเรียนในแบบฉบับของเธอให้ทีมข่าวฟังว่า “ไอซ์มีชีวิต และเส้นทางการเรียนเหมือนเด็กนักเรียนทั่วไป แต่เหตุผลที่ไอซ์สามารถเรียนจบปริญญาเอกได้ตั้งแต่อายุยังน้อยๆ มาจาก ตอนช่วงที่เรียน ม.5 (โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี) อายุประมาณ 16 ปี ไอซ์เรียน Pre-degree (การเรียนปริญญาตรีล่วงหน้า ใช้วุฒิการศึกษาชั้น ม.3) ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยไอซ์เลือกเรียน เอกภาษาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง”

“เหตุผลที่ไอซ์เลือกเรียนเอกภาษาอังกฤษ เพราะ ณ เวลานั้น เคยปรึกษากันกับคุณแม่เรื่องเลือกคณะเข้ามหาวิทยาลัย แม่เคยพูดไว้ว่าอยากให้ลองดูคณะสายภาษา แต่ใจไอซ์ก็ไม่ได้อยากเรียนภาษาเป็นหลัก จึงเลือกเรียน Pre-degree เอกภาษาอังกฤษ โดยตั้งใจไว้ให้เป็นทางที่ 2 ของชีวิต และก็คิดว่าเรียนใบนี้ให้แม่ จากนั้น ไอซ์ก็สามารถเรียนจบได้ภายใน 3 ปี จึงเท่ากับว่า ไอซ์เข้ามหาวิทยาลัย(จุฬาฯ) ปีที่ 2 อายุ 19 ปี ตอนนั้นก็รับปริญญาตรี เอกภาษาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงแล้ว” ดร.สาวสวย ค่อยๆ ไล่เรียงเรื่องราวชีวิต

ชีวิตแฮปปี้ ไม่เครียด แต่เรียนปริญญาตรี จุฬาฯ คู่ ปริญญาโท บางมดได้

โดยช่วงที่ ไอซ์ รวิสรา อายุ 18 ปี เธอสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วยวิธีการรับตรง ซึ่งเธอสามารถสอบติดมหาวิทยาลัย 3 แห่ง นั่นก็คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว เธอตัดสินใจเลือกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ การออกแบบสถาปัตยกรรม หลักสูตรนานาชาติ (INDA)

หลังจบปริญญาตรี ที่ ม.รามฯ ไอซ์ก็เรียนต่อปริญญาโททันที โดยไอซ์เลือกเรียนการออกแบบและวางแผน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ซึ่ง ณ เวลานั้น ไอซ์ก็เรียนปริญญาตรีที่จุฬาฯ ไปด้วยควบคู่กันนะคะ

เมื่อถามว่า เรียนเยอะ เรียนซ้อนหลายมหาวิทยาลัย แบ่งเวลาชีวิตอย่างไร? เธอตอบว่า “ตอนเช้าถึงบ่าย เรียนเสร็จที่จุฬาฯ ตกเย็นไอซ์ก็ไปเรียนต่อที่บางมด (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี) เรียนเสร็จประมาณ 3-4 ทุ่มก็กลับบ้านค่ะ”

“พอเล่าแบบนี้แล้วดูเหมือนเครียดนะคะ แต่ความจริงแล้วไอซ์เป็นคนที่มีความคิดที่ว่า จุดไหนที่ทำให้เรามีความสุข เราก็พาตัวเองไปอยู่จุดนั้น แต่จุดที่เราจะพาตัวเองไป มันต้องไม่ทำให้เราเหนื่อย มันต้องไม่ทำให้เราอ่อนล้า เพียงเพื่อให้เราไปถึงจุดนั้น และในขณะเดียวกัน ไอซ์ก็เป็นคนที่แฮปปี้เวลาที่ชีวิตได้ทำอะไรหลายๆ อย่างไปพร้อมกัน” ดร.สาวสวย เผยเทคนิคบาลานซ์ความสุข

เรียน เล่น กิน เที่ยว…แต่คนชอบมองว่า บ้าเรียน

ดร.ไอซ์ พูดติดตลกว่า “หลายคนมักจะมองว่า ไอซ์เรียนเยอะ จนทำให้ดูเหมือนเด็กบ้าเรียน แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เลย เพราะอันที่จริงแล้ว ไอซ์มีเวลาพักผ่อนเยอะ ไอซ์ไปเที่ยว ไปกินของอร่อย มีเวลาไปทำกิจกรรมหลายอย่าง เช่น ประกวดเต้น ประกวดร้องเพลง เล่นดนตรี”

“ในช่วงจังหวะที่เราเรียนปริญญาตรีจุฬาฯ และเรียนปริญญาโท บางมดไปพร้อมกัน เราก็ยังทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ทำให้เราแฮปปี้ไปด้วย นั่นก็คือ การเล่นละครสถาปัตย์, ละครเวทีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้ทุนเรียนภาษาที่ประเทศอังกฤษ (จากส่งประกวดเรียงความภาษาอังกฤษ) ทุน workshop สถาปัตย์ที่ญี่ปุ่น ซึ่งเวลาชีวิตของเราไม่ได้เทไปกับการเรียน แต่เรายังหาความสุขอื่นๆ มาเติมเต็มให้กับชีวิตไปด้วย” ดร.ไอซ์ กล่าวด้วยรอยยิ้ม

จบปริญญาโท อายุ 20 ก้าวไปเป็นอาจารย์มหา’ลัย

ก่อนที่เธอจะเรียนจบปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอก็สามารถเรียนจบ ปริญญาโท คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ภายในอายุ 20 ปีเท่านั้น

“หลังจากเรียนจบปริญญาโท เธอมีโอกาสได้ไปเป็นอาจารย์พิเศษ สอนภาษาอังกฤษที่ ม.รังสิต, สอน Research Methodology สาขา interior design ม.กรุงเทพ และสอนวิชา Eco Design สาขา DBTM ม.ธรรมศาสตร์”

เมื่อถาม ดร.ไอซ์ว่า การเป็นอาจารย์อายุน้อย และต้องไปสอนนักศึกษาที่มีอายุไล่เลี่ยกัน มีอุปสรรคหรือไม่? เธอตอบว่า “จากที่คิดว่าจะมีอุปสรรค แต่มันกลับกลายเป็นแรงผลักดัน เพราะเมื่อนักศึกษารู้ว่า เราอายุใกล้ๆ กับพวกเขา แต่เราก้าวไปได้อย่างรวดเร็ว พวกเขาก็จะเกิดแรงฮึดสู้ เพราะเห็นเราเป็นแรงบันดาลใจ บางคนกำลังจะโดนรีไทร์ พอได้มานั่งพูดคุยปรึกษากับเรา เขาก็สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ จนขณะนี้กำลังจะได้เกียรตินิยม

“เราพยายามชี้ให้นักศึกษาเห็นว่า ตัวเราเองไม่ใช่คนบ้าเรียน แต่เราเรียนไปเรื่อยๆ และมีความสุขกับมัน และชี้ให้เขาเห็นด้วยว่า ปู่ย่าตายายแก่แล้ว แต่พวกท่านอยากเห็นเราเรียนจบนะ ถ้าเราทำมันได้ นอกจากเราจะมีความสุข เราก็จะแบ่งปันความสุขให้กับคนที่รักเราอีกด้วย”

“เมื่อเราเห็นความเปลี่ยนแปลงของชีวิตใครคนหนึ่ง แม้ว่าจะเป็นคำพูดจากเพียงไม่กี่ประโยคที่ออกจากปากเรา แต่มันกลับพลิกชีวิตของคนๆ หนึ่งได้ มันทำให้เราอิ่มเอมใจอย่างบอกไม่ถูกเลยค่ะ” ดร.ไอซ์ กล่าวอย่างภาคภูมิ

เบื้องหลัง ชีวิตที่ก้าวกระโดดของ “ด็อกเตอร์อายุน้อย”

จากนั้นไม่นาน เธอก็ได้รับทุนมหาวิทยาลัยและเรียนจบปริญญาเอก สหวิทยาการสภาพแวดล้อมสรรค์สร้าง (Built Environment) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยอายุ 25 ปีเท่านั้น โดยปัจจุบัน เธอทำงานที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมาได้ 3 ปี และแบ่งเวลาไปเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงทำงานในด้านๆ อื่นอีกด้วย

เมื่อถามว่า การเลี้ยงดูของพ่อแม่มีส่วนกับความคิด อุปนิสัย และการใช้ชีวิตหรือไม่? ดร.ไอซ์ อธิบายให้เห็นภาพว่า “ตั้งแต่เด็กๆ เวลาคุณแม่ทำงาน(คุณแม่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย) คุณแม่มักจะเอาไอซ์ไปด้วยเสมอ คุณแม่จะไม่ปล่อยให้ไอซ์ไปนั่งรอตามลำพัง หรือปล่อยไอซ์ไปเดินเตร็ดเตร่ที่ไหน ซึ่งไอซ์ก็ไม่ใช่เด็กซน ไอซ์ก็จะนั่งนิ่งๆ และฟังสิ่งที่ผู้ใหญ่พูดคุยกัน เพราะด้วยเหตุผลนี้ จึงทำให้เราค่อยๆ ซึมซับวิธีคิดของผู้ใหญ่ไปเรื่อยๆ และพอเราโตขึ้นมาจึงเป็นคนที่สามารถคิดวิเคราะห์ได้เร็ว มีเหตุมีผล และสามารถจัดการชีวิตได้ดี

“เคยมีคนบอกว่า การที่ไอซ์เรียนเร็วแบบนี้ ทำให้สิ่งต่างๆ ในชีวิตวัยเด็กถึงวัยรุ่นของไอซ์ขาดหายไปหรือเปล่า คำตอบ คือ ไม่เลย เราใช้ชีวิตแบบเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง เรามีเพื่อน เรามีกิจกรรมต่างๆ ทำมากมาย เรามีความสุขกับมัน และเราก็มีความสุขกับการเรียนไปด้วย เพราะท้ายที่สุดแล้ว ความสุขของคนเราไม่เหมือนกัน แต่ความสุขของไอซ์คือ การก้าวเดินไปข้างหน้า โดยที่เรามีความสุขกับทุกอย่างที่ทำ”

สุดท้าย ดร.ไอซ์ ฝากข้อคิดไว้ให้กับคนที่กำลังหมดไฟ และหมดกำลังใจในการเรียนไว้ว่า “แน่นอนว่าชีวิตคนไม่ได้มีความสุขทุกวัน แต่เราเชื่อว่าทุกอย่างที่ทุกคนลงมือทำด้วยความรักและตั้งใจ อาจจะพาคุณไปเจอกับรอยยิ้มที่ปลายทาง แบบที่คุณไม่คาดคิดก็ได้นะคะ”.

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0