โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เปิดโปงแชร์ลูกโซ่ หลอกลงทุนหมื่นเดียวได้คืน 10 ล้านบาท

TODAY

อัพเดต 21 ต.ค. 2562 เวลา 14.05 น. • เผยแพร่ 21 ต.ค. 2562 เวลา 13.59 น. • Workpoint News
เปิดโปงแชร์ลูกโซ่ หลอกลงทุนหมื่นเดียวได้คืน 10 ล้านบาท

วันที่ 21 ต.ค. ทีมข่าวเวิร์คพอยท์ได้รับการร้องเรียนให้ตรวจสอบ บริษัท ริชโกลด์ อินเตอร์เทรด จำกัด ซึ่งมี นายจรณินทร์ หมื่นจิตร หรือฉายา ช.เล็ก สุโขทัย เป็นกรรมการบริษัท มีพฤติกรรมระดมเงินจากประชาชนผ่านการตั้งโครงการต่างๆ ซึ่งมีมากกว่า 20 โครงการ มีการเสนอผลตอบแทนในอัตราที่สูงในระดับหลักพันถึงหลักหมื่นเท่าของเงินลงทุน

เช่นโครงการทุนพัฒนาชีวิตมีเสนอขายหน่วยลงทุน RGA หน่วยละ 100 บาท ซึ่งระบุว่าจะได้รับเงินปันผลสูงถึง 100,000 บาทต่อหน่วย โดยมีการเปิดกลุ่มไลน์แบ่งออกเป็นกลุ่มจังหวัดต่างๆ ระดมเงินจากผู้หลงเชื่อในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ และจะมีหัวสายทำหน้าที่ให้ข้อมูล ชักชวน และตอบคำถามสมาชิก

จากการตรวจสอบในเฟซบุ๊กนายจรณินทร์ พบว่ามีข้อความอ้างถึงโครงการฝากเงิน 7,000,000 บาท เพื่อนำไปเทรดสร้างผลตอบแทน มากถึง 150% ต่อสัปดาห์ เป็นเวลานาน 40 สัปดาห์ นั่นหมายความว่าจะได้รับผลตอบแทนรวมสูงถึง 6,000%

สมมุติว่าถ้าลงทุนเพียง 1,000 บาท จะได้รับเงินตอบแทนสูงถึง 60,000 บาท ซึ่งเข้าข่ายชักชวนประกาศระดมเงินจากประชาชนโดยเสนอผลตอบสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่การฉ้อโกงประชาชน หรือแชร์ลูกโซ่

นอกจากนี้ยังมีการชักชวนสมาชิกจองซื้อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ในราคาเพียงคันละ 50 บาท ซึ่งก็มีผู้หลงเชื่อสั่งจองกันไปไม่น้อย และเมื่อมีสมาชิกทวงถาม คำตอบที่ได้รับคือให้รอเงินจากต่างประเทศ

ขณะที่นายจรณินทร์ได้ส่งข้อความมาชี้แจงว่าอ้างว่าโครงการต่างๆที่ตนเองทำอยู่ มีส่วนเกี่ยวข้องกับหลายๆโครงการของรัฐบาล และอ้างว่ามีสมาชิกที่ร่วมโครงการนับแสนราย มีห้องไลน์สมาชิกกว่า 1,000 ห้อง แต่ก็ได้บ่ายเบี่ยงที่จะชี้แจงที่มาของผลตอบแทนที่อ้างกับผู้ลงทุน

นอกจากนี้ยังมีการโพสต์เรื่องของ โครงการยุทธศาสตร์ 10 ปี เพื่อสังคม โดยระบุว่า “แล้วแต่บุญและกรรมที่ทำมาของแต่ละคนนะ หน้าที่ผมแค่ทำตามบุญที่ทำกรรมร่วมกันมาเท่านั้น ใครที่ได้เข้าร่วม โครงการยุทธศาสตร์ 10 ปีนี้ ถือว่าเราเป็น เนื้อนาบุญซึ่งกันและกัน สาธุ” โดยวัตถุประสงค์ของโครงการคือ ให้ทุนสนับสนุนสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการเพื่อพัฒนาอาชีพสร้างงานและความเป็นอยู่ที่ดีของสมาชิกสร้างชีวิตที่ดี สู่สังคม

หลังจากที่ นายจรณินทร์ รู้ว่าสื่อกำลังตรวจสอบพฤติกรรมของบริษัท ก็ได้มีการออกคลิปเสียงกล่อมลูกทีมให้เชื่อมั่นว่าเขายังสบายดี และไม่กังวลใดๆ รวมทั้งโจมตีว่าผู้สื่อข่าวเอาเอกสารข้อมูลจากผู้เสียหายที่ได้รับเงินคืนไปแล้ว มาใช้เป็นข้อมูลประกอบ โดยไม่ขออนุญาตจากเจ้าของเอกสาร แต่ผู้สื่อข่าวก็มีหลักฐานยืนยันว่าเป็นเอกสารที่ผู้เสียหายเต็มใจให้ผู้สื่อข่าว เพื่อเป็นข้อมูลในการแฉพฤติกรรมของบริษัทนี้

วันที่ 21 ต.ค. ทีมข่าวเวิร์คพอยท์ได้เดินทางไปตรวจสอบสำนักงานใหญ่ของ บริษัท ริชโกลด์ อินเตอร์เทรด จำกัด ซึ่งระบุในหนังสือรับรองเอกสารทะเบียนนิติบุคคล ที่บ้านเลขที่ 298/7 ซอยทวีวัฒนา 25 แยก 24 แขวงและเขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร พบว่าเป็นเพียงบ้านทาวเฮ้าส์สองชั้นสภาพเก่า ไม่มีส่วนไหนบ่งบอกถึงความเป็นบริษัทที่อ้างว่ามีสมาชิกนับแสนรายทั่วประเทศ โดยมีเจ้าของบ้านออกมาให้ข้อมูลว่าไม่ได้รู้จักกับนายจรณินทร์ส่วนตัว แต่มีเพื่อนสนิทที่ลงทุนกับนายจรณินทร์มาขอใช้บ้านเป็นสถานที่ตั้งบริษัท
ซึ่งเจ้าของบ้านไม่ค่อยได้อยู่บ้านหลังนี้ ที่ผ่านมาก็มีเพื่อนบ้านเล่าว่า มีคนมาถามหานายจรณินทร์ที่บ้านหลังนี้หลายรายแล้ว ไม่รู้ว่าเรื่องอะไร แต่ไม่พบตัว

ล่าสุดเจ้าของบ้านเกรงจะมีปัญหาจึงได้ติดต่อเพื่อให้นายจรณินทร์ทำเรื่องย้ายที่ทำการบริษัทไปใช้ที่อื่น แต่ยังไม่มีการดำเนินการ

ขณะเดียวหันมีผู้เสียหายหญิงสาวรายหนึ่งได้เข้าให้ข้อมูลกับทีมข่าวเวิร์คพอยท์ ระบุว่าเริ่มต้นได้รับการชักชวนจากคนรู้จัก ให้นำเงินมาลงทุนในโครงการที่เรียกว่า “ออมบุญ” โดยเธอเริ่มต้นลงทุนไป 10,000 บาท และจะได้รับเงินกลับคืนมา 10,000,000 ล้านบาท หรือมากถึง 1,000 เท่า แต่พอถึงกำหนดเวลาก็ไม่ได้เงินที่ว่านี้ และบอกให้รอเงินจากต่างประเทศ นอกจากนี้ยังชักชวนให้ลงเงินเพิ่มเรื่อยๆ สุดท้ายผู้เสียหายรายนี้หมดเงินไป 195,000 บาท จนถึงขณะนี้ผ่านไป 7 เดือนแล้วก็ยังไม่ได้เงินคืนกลับมาแม้แต่บาทเดียว

ทีมข่าวเวิร์คพอยท์ได้ประสานไปยัง พล.ต.ต.ไมตรี ฉิมเฉิด ผู้บังคับการตำรวจปราบปรามอาชกรรมทางเศรษฐกิจ หรือบก.ปอศ. เพื่อให้ตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมายกับบริษัท ริชโกลด์ อินเตอร์เทรด จำกัด เพื่อปกป้องไม่ให้มีผู้หลงเชื่อขยายวงกว้างไปมากกว่า โดยพล.ต.ต.ไมตรี ได้นัดหมายให้ผู้เสียหายเข้าให้ข้อมูลแล้ว

อีกด้าน ธนภัทร ติรางกูล ผู้สื่อข่าวเวิร์คพอยท์ ได้เดินทางไปสอบถามณัฐพล พรหมเวช ที่ปรึกษาคดีแชร์ลูกโซ่ ประจำสำนักงานทนายความแห่งหนึ่ง ซึ่งกล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มมิจฉาชีพที่มีพฤติกรรมแชร์ลูกในประเทศไทย มีความประมาณ 200 - 300 คดี แต่ทุกคดีกลับมีลักษณะการก่อเหตุที่คล้ายคลึงกัน คือการชักชวนให้ประชาชนมาร่วมนำเงินไปลงทุนในธุรกิจที่จะมีผลตอบแทน หรือ ส่วนแบ่งกำไรที่สูงเกินจริง ตั้งแต่ 10% - 92% ซึ่งไม่ความเป็นจริงไม่ที่ทางเป็นไปได้ และที่สำคัญเมื่อเหยื่อขอสอบถามถึงที่มาขอการเงิน ก็จะถูกบ่ายเบี่ยง หรือมีข้ออ้างแปลกๆอยู่เสมอ

ส่วนกรณีที่มีผู้ร่วมลงทุนบางรายอ้างว่าได้รับเงินปันผลจริงนั้น เกิดจากการที่มิจฉาชีพนำเงินบางส่วนที่ได้มาจากการหลอกลวง จ่ายมาให้ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ เพื่อที่จะให้บุคคลๆ นั้นไปขยายเครือข่ายให้มากยิ่งขึ้นนั่นเอง แต่ระยะเวลาส่วนใหญ่ของวงจรแชร์ลูกโซ่จะอยู่ประมาณไม่เกิน 1 ปี ก่อนจะเข้าสู่ระยะ “แชร์ล้ม” ที่รายรับไม่สมดุลกับรายจ่าย นำไปสู่การหยุดจ่ายเงินปันผล โดยจะมีข้ออ้างต่างๆ นานา เช่น จำนวนเงินทั้งหมดถูกอายัดเพื่อตรวจสอบ หรือ เอกสารบางอย่างที่ต่างประเทศมีปัญหา ไม่สามารถจ่ายเงินให้ได้ในตอนนี้ ก่อนที่กลุ่มมิจฉาชีพจะเงียบหายไป และมักจะมีการจ่ายเงินให้กับผู้เสียหายบางคนที่จะเข้าแจ้งความเอาผิดเพื่อเป็นการปิดปาก สร้างความเชื่อมั่นให้กับตนในการก่อเหตุครั้งต่อไป

ที่ปรึกษาด้านกฎหมายรายนี้ กล่าวต่อไปว่า อยากให้ประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อตั้งสติ แล้วนำหลักฐานทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทั้งการเอาผิดเกี่ยวกับประมวลกฏหมายอาญามาตรา 341 และมาตรา 343 ข้อหาฉ้อโกงประชาชน พ.ร.ก.กู้ยืมเงินในการฉ้อโกงประชาชนและหากมีการหลอกลวงผ่านมาสื่อโซเชียล ก็จะเข้าข่าย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 คือความผิดฐานนำข้อความอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ที่สำคัญยังสามารถยื่นเรื่องร้องไปทาง ปปง.เพื่อเข้าสู่กระบวนการอายัดเส้นทางการเงินนำไปตรวจสอบอีกด้วย

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0