โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เปิดเงื่อนไขที่ "โจ๊ก หวานเจี๊ยบ" จะกลับมาเป็นใหญ่ รีเทิร์น์ตำรวจ "วิษณุ" เคลียร์ทาง ** ลุ้นระทึก!! ส.ส.- ส.ว. กว่าร้อยคนถือหุ้นสื่อฯจะต้อง หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจศาล รธน.

Manager Online

อัพเดต 24 มิ.ย. 2562 เวลา 22.01 น. • เผยแพร่ 24 มิ.ย. 2562 เวลา 22.01 น. • MGR Online

ข่าวปนคน คนปนข่าว

**เปิดเงื่อนไขที่ "โจ๊ก หวานเจี๊ยบ" จะกลับมาเป็นใหญ่ รีเทิร์น์ตำรวจ แม้ "ลุงป้อม-บิ๊กแป๊ะ" จะบอก "ไม่มี ๆ" แต่ "วิษณุ" เคลียร์ทางเต็มที่

วันก่อนอดีตตำรวจคนดัง "โจ๊ก หวานเจี๊ยบ" พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล เคลื่อนไหวลงไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำพิธีที่ศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช ท่ามกลางขบวนต้อนรับเอิกเกริก จนกลายเป็นข่าวทอล์กออฟเดอะทาวน์ … จังหวะเดียวกันนั้น ภาพบารมีที่ปรากฏต่อสายตาชาวบ้าน ก็ช่วยกระพือกระแสข่าวลือว่า "โจ๊ก" กำลังจะรีเทิร์น กลับมาเป็นตำรวจใหญ่ ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อีกครั้ง …

เรื่องนี้ดูเผินๆ ในเวลาอันใกล้แทบจะเป็นไปได้ยากที่ประตู สตช. จะเปิดรับ "โจ๊ก" อีกทั้งคำสั่ง ม.44 เดิมที่ปลดเขาออกจากตำรวจ ให้มาเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักนายกฯ ในหลักวันนี้ก็ยังต้องพิสูจน์ว่า ผิดอะไร… พูดง่ายๆ "ปริศนาเด้งฟ้าผ่า" เมื่อเดือนเมษายน คืออะไรกันแน่ ยังไม่มีคำตอบ จะเป็นไปได้อย่างไรที่จะกลับมา

ไม่นับรวมข้อสังสัยกรณี สตม. สมัยที่"โจ๊ก" นั่งเป็นผู้บังคับบัญชา ปล่อยให้เกิดกระบวนการขายบัตร Premium Lane (Fast Track) นอกระบบ เพื่อให้ใช้ผ่านช่องทางพิเศษ (Priority Lane)ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อื้อฉาวก็ยังไม่เคลียร์ ซึ่งล่าสุด ทอท.สั่งยกเลิกเพื่อความโปร่งใส … ยังไงเรื่องนี้ "ใครผิด ใครได้ประโยชน์" ต้องมีคำตอบให้สังคม

มุมนี้เหมือนจะเป็นโคมลอยที่ออกมาหยั่งกระแส โยนหินถามทาง แต่ก็สร้างความปั่นป่วนในวงการสีกากี และความหัวเสียให้ "บิ๊กแป๊ะ" พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ที่ต้องตอบคำถามสื่อ ผบ.ตร.ถามกลับว่า "จะเป็นไปได้ยังไง!!" เพราะ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ไม่ใช่ข้าราชการตำรวจแล้ว …สื่อก็ถามย้ำเพื่อให้แน่ใจ ในวาระการแต่งตั้งในเดือนต.ค.นี้ จะมีการโยกย้ายกลับมาหรือไม่ ผบ.ตร. ตอบเพียงสั้นๆว่า ไม่ได้ยินเรื่องดังกล่าว

ดูตามหนทางนี้ของ"โจ๊ก" ก็น่าจะยากจริงๆ จู่ ๆ จะโอนย้ายกลับมาแล้วใหญ่ขึ้นไปในตำแหน่ง"ผู้ช่วย ผบ.ตร." ตามข่าวลือนี้ ก็ออกจะขัดต่อวิธีปฏิบัติ ที่เป็นไปได้ … อย่างมากก็โอนย้ายกลับมาในระนาบเดิมก่อนถูกปลดออกในระดับผู้บังคับการสัก 1 ปี และรอช่วงแต่งตั้งโยกย้ายในฤดูกาลถัดไป

ไม่งั้นจะข้ามหัวผู้อาวุโสใน สตช.ไม่รู้กี่หัว ต่อกี่หัว ใครจะไปทนไหว !!

"พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม "ลุงป้อม" ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่ามีความเอ็นดู "หลานโจ๊ก" เป็นพิเศษ ตอนเป็นตำรวจ ก็นับเป็นคนใกล้ตัว ที่ใช้ทำงานหลากหลาย รวมทั้งผลงานที่ภาคภูมิใจ งานแก้หนี้นอกระบบ ที่ "ลุง-หลาน"ได้รับคำชมมาก สามารถเอาโฉนดที่ดินกลับมาคืนให้ชาวบ้านได้หลายหมื่นโฉนด แต่ก็มิวายมีข่าวเป็นการ "สร้างภาพ-แหกตา"

"ลุงป้อม" ก็ปฏิเสธเรื่องนี้ เช่นกันกับ ผบ.ตร.บอกแต่ไม่มีๆ ตอนนี้"โจ๊ก" ยังคงเป็นข้าราชการพลเรือนตาม ม.44 ทว่า…ถึงวันนี้จะเป็นไปได้ยาก คอนเฟิร์ม ทั้ง"ลุงป้อม-บิ๊กแป๊ะ" แต่หากเวลาทอดยาวออกไปนิดล่ะ ไม่มีใครตอบ ต่างไม่รู้ไม่ทราบกันทั้งนั้น …

นี่จึงจำเป็นต้องมาดูเงื่อนไขในความเป็นไปได้ ตามทฤษฎี"ประตูสู่สวรรค์" ของ"โจ๊ก" จะเปิดกว้างอีกครั้ง

หนึ่งต้องไม่ลืมว่า "โจ๊ก" มีอายุราชการอีกยาวไกล อีกถึง 12 ปี กว่าจะเกษียณในปี 2574 จะกลับไปใหญ่ ไม่ใช่ปัญหา ยังไม่ต้องพุ่งขึ้นไปเป็น ผู้ช่วย ผบ.ตร. ตามข่าวลือหรอก … รอได้

สอง ตราบเท่าที่"ลุงป้อม" ยังนั่งในรัฐบาล และได้รับมอบหมายให้นั่งเป็นประธาน ตร. เยื่อใยและไมตรีต่อ"หลานโจ๊ก" ย่อมไม่ชืดชา หรอกกระมัง "โจ๊ก ฉายา หวานเจี๊ยบ" ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย ความสามารถในการทำงานตอบสนองผู้ใหญ่ ประเภท "ครับได้ครับ" ประจักษ์อยู่แก่ใจผู้ใหญ่หลายคน

สาม ว่ากันว่า การจะโอนย้าย"โจ๊ก" กลับตำรวจ ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจจะสั่งการยังไง สั่งเมื่อไหร่ เหตุผลต่างๆ ก็จะวิ่งมารองรับเอง

สำทับด้วยเงื่อนไขสำคัญนี้ จากคนนี้ "วิษณุ เครืองาม" รองนายกฯ ที่แทบจะหลอมรวม "วิษณุ =กฎหมาย กฎหมาย=วิษณุ" ไปแล้ว

"วิษณุ" ตอบคำถาม ทำไม"โจ๊ก"จะกลับคืนตำรวจไม่ได้ล่ะ กรณีหากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พ้นไปแล้ว คำสั่ง คสช. ตามอำนาจ มาตรา44 กรณีพักงานข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ถูกตรวจสอบจะทำอย่างไร ว่า คดีต่างๆ สามารถอยู่ต่อไปได้อย่างเดิมทั้งหมด เคลียร์จบเมื่อไหร่ บุคคลผู้นั้นถ้าไม่ผิด ก็สามารถคืนสู่ตำแหน่งเดิมได้ … เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ไล่ดูทีละคน พบว่ามีหลายคนที่สามารถปลดออกจาก คำสั่ง คสช.ได้ แต่อีกส่วนหนึ่งยังไม่ได้ เพราะติดอยู่ที่ ป.ป.ช. ถ้า ป.ป.ช. บอกว่าถึงที่สุดแล้ว พบว่าผิด ก็ต้องออกจากราชการ แต่ถ้าไม่ผิด ก็กลับเข้าสู่ตำแหน่ง ทุกคนก็จะเป็นแบบเดียวกันหมด มีจำนวนเยอะด้วย ครึ่งต่อครึ่ง …

กรณี "พล.ต.ท.สุรเชษฐ์" ที่ถูกคำสั่งลักษณะเดียวกัน จะเป็นอย่างไร "วิษณุ" บอกว่า ไม่ได้มีผลอะไร เพราะพล.ต.ท.สุรเชษฐ์ไม่ได้โดนคำสั่งมาเพื่อการลงโทษ แต่เป็นการย้ายออกจากข้าราชการตำรวจ มาเป็นข้าราชการพลเรือน ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถ้าจะย้ายกลับไป ก็สามารถใช้คำสั่งปกติได้

เคลียร์ทางซะขนาดนี้ ย้ายวันนี้พรุ่งนี้ไปเลยครับท่าน.

** ลุ้นระทึก!! กรณีถือหุ้นสื่อฯ ของ 41 ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และส.ส.ฝ่ายค้านที่กำลังจะตามไปอีกประมาณ 50 คน รวมทั้ง 21 ส.ว. และอาจลามไปถึงครม.ชุดใหม่บางคน จะต้อง หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว หรือไม่ ล้วนขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล รธน. เท่านั้น

ปัญหานักการเมืองถือหุ้นสื่อฯ จากกรณีของ ส.ส.ได้ลามไปถึง ส.ว.แล้ว เมื่อ "เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ไปยื่นคำร้องต่อ กกต. ขอให้ตรวจสอบสมาชิกภาพของ 21 ส.ว. สิ้นสุดลง เนื่องจากเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือ สื่อมวลชนใดๆ ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามตามรธน.หรือไม่ และขอให้ส่งศาลรธน. เพื่อวินิจฉัย และสั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ เหมือนที่ศาลรธน. เคยสั่งให้ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.เป็นการชั่วคราวจน กว่าศาลฯ จะมีคำวินิจฉัยออกมา

จะว่าไปแล้ว การถือครองหุ้นสื่อฯ ของบรรดาส.ส. และ ส.ว. ที่ถูกร้องเรียนนั้น แต่ละคนอาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน อย่างเช่น มีการจดทะเบียนตั้งบริษัท เพื่อทำธุรกิจสื่อฯ อย่างชัดเจน มีรายได้จากการทำธุรกิจสื่อฯจริง… หรืออาจจะเป็นการจดทะเบียนตามแบบฟอร์มมาตรฐานของกรมธุรกิจการค้า ที่มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจสื่อฯ พ่วงอยู่ด้วย แต่ในความเป็นจริง ไม่เคยทำธุรกิจสื่อฯ… หรืออาจจดทะเบียนโดยแจ้งความประสงค์แนบท้ายพ่วงไปว่า มีวัตถุประสงค์ในการทำธุรกิจสื่อฯ ซึ่งในความเป็นจริง จะทำ หรือไม่ทำก็ตาม แต่ก็ถือว่ามีจุดประสงค์ที่จะทำชัดเจน… นอกจากนี้ยังมีเรื่องเงื่อนเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องว่า ก่อนลงสมัครรับเลือกตั้ง ได้โอนหุ้นออกไปหรือยัง หรือโอนหลังจากสมัครไปแล้ว

มีกรณีที่มักถูกยกขึ้นมาพูดถึงในเชิงเปรียบเทียบอยู่บ่อยๆ เช่น กรณีของ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" นั้นถือหุ้น "วี-ลัค มีเดีย" จริง บริษัทมีรายได้จากธุรกิจสื่อฯ จริง และต่อมา "ธนาธร" ก็ได้โอนหุ้นออกไปให้ผู้อื่นแล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า โอนก่อนสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือโอนหลังสมัคร ส.ส. ซึ่งเรื่องนี้ได้มีผู้ร้องไปที่ กกต. ซึ่ง กกต. ก็ตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ กกต. ซึ่งสุดท้าย กกต.เห็นว่ามีมูล จึงมีมติส่งเรื่องให้ศาลรธน. พิจารณาวินิจฉัย โดยทำสำนวนชี้มูลความผิด พร้อมตั้งข้อสังเกตไปให้เสร็จสรรพ เมื่อศาลรธน.รับเรื่องไว้พิจารณา ก็สั่งให้ "ธนาธร" ยุติการปฏิบัติหน้าที่ส.ส.เป็นการชั่วคราว เพราะเห็นว่า ถ้ายังให้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ อาจก่อให้เกิดความเสียหายจนเกินที่จะเยียยาได้ เพราะขณะนั้นยังไม่มีการเลือกประธานสภาฯ และ เลือกนายกรัฐมนตรี …

หรือกรณีของ "นายภูเบศวร์ เห็นหลอด" ผู้สมัคร ส.ส.เขต 2 จ.สกลนคร ของพรรคอนาคตใหม่ ที่เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของ "หจก.มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส" ซึ่งในช่วงจดทะเบียนก่อตั้ง ได้เพิ่มวัตถุประสงค์ ประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ และออกหนังสือพิมพ์ พ่วงไปด้วย … แต่ในความเป็นจริงแล้ว เขาประกอบธุรกิจด้านก่อสร้างอาคาร ไม่ได้ทำธุรกิจด้านสื่อฯเลย และได้แจ้งยกเลิกกิจการ ของ หจก. ดังกล่าวไปแล้ว … แต่จากหลักฐานเอกสารปรากฏว่า เป็นการแจ้งเลิกกิจการ หลังจากเขาได้สมัคร ส.ส.ไปแล้ว "ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง" จึงสั่งให้ถอนชื่อ นายภูเบศวร์ ออกจากการเป็นผู้สมัคร ส.ส. เขต 2 จ. สกลนคร

หรืออย่างกรณีของ "นายดอน ปรมัตถ์วินัย" รมว.ต่างประเทศ ที่ถือหุ้นสัมปทานรัฐ แต่ ศาลรธน.ไม่ได้ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะเห็นว่า ถ้าหยุดปฏิบัติหน้าที่ จะมีผลกระทบต่อการบริหารราชการในกระทรวงการต่างประเทศ เพราะมีเขาเป็นรัฐมนตรีว่าการอยู่ตำแหน่งเดียว… ตรงนี้ไม่เกี่ยวกับว่า คดีมีมูล หรือ ไม่มีมูล

ทั้ง 3 กรณีที่ยกตัวอย่างมานี้ ล้วนมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน แต่ก็มักจะถูกเอามาเปรียบเทียบ ในเชิง”หาประโยชน์เข้าตัว” ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องหุ้นสื่อฯ

สำหรับกรณี 21 ส.ว.ที่ "เรืองไกร" ยื่นคำร้องต่อ กกต.นั้น เขาได้ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็น ส.ว. ต้องโอนหุ้น เมื่อได้รับการทาบทามจากคณะกรรมการสรรหา คือ ประมาณช่วงต้นเดือน ก.พ.62 ไม่ใช่มาโอนหุ้นเอาในช่วงเดือน เม.ย. ที่ คสช.กำลังจะประกาศรายชื่อส.ว.ออกมาแล้ว … ทั้งนี้ การยื่นเรื่องร้องเรียนผ่านช่องทาง สำนักงานกกต.นั้น ตามขั้นตอน กระบวนการ ทางสำนักงานฯ จะต้องตั้งคณะกรรมการ สืบสวน สอบสวน และเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องได้ชี้แจงแสดงหลักฐาน แก้ข้อกล่าวหาเป็นรายๆไป ก่อนจะสรุปว่า เรื่องมีมูลหรือไม่ แล้วส่งให้ที่ประชุม กกต.วินิจฉัย หากที่ประชุมกกต. เห็นพ้องว่ามีมูลจริง ก็จะมีมติส่งศาลรธน. พร้อมสำนวนการชี้มูลความผิดและข้อสังเกต แนบไปด้วย

แน่นอนว่า เรื่องที่กกต.มีมติส่งไป ศาลรธน.ต้องรับไว้พิจารณา เพราะมาตามช่องทางที่กฎหมายระบุไว้ แต่เมื่อรับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว จะสั่งให้ ส.ว. หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของที่ประชุมตุลาการศาลรธน.

ซึ่งเรื่องนี้ "วิษณุ เครืองาม" รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย มีความเห็นว่า การจะสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ หรือไม่ แม้จะเป็นดุลยพินิจของศาลฯ แต่ก็มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอยู่ โดยดูจากความเสียหายที่จะได้รับ หรือที่จะเกิดขึ้น… กล่าวคือ ถ้าหยุดแล้วไม่เกิดความเสียหาย ศาลฯอาจให้หยุด แต่ถ้าหยุดแล้ว ทีหลังเกิดมีคำวินิจฉัยได้ความเป็นอย่างอื่นและเกิดความเสียหายในระหว่างนั้น ศาลฯ ก็สั่งไม่ให้หยุด ไม่เกี่ยวว่า เรื่องมีมูล หรือไม่มีมูล

ส่วนในขั้นตอนการสรรหา ส.ว.นั้น "วิษณุ" ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการสรรหาส.ว. ก็รู้ว่า เรื่องการถือหุ้นสื่อของส.ว. อาจมีปัญหา แต่ที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับกรณีเช่นนี้ ที่มีผลผูกมัดเป็นการทั่วไป จึงต้องปล่อยไป เพราะถ้าเห็นแค่ถือหุ้นในบริษัท ที่มีวัตถุประสงค์ในการทำธุรกิจสื่อฯ แต่ไม่รู้ว่าได้ทำจริงหรือไม่ เลิกกิจการไปแล้วหรือยัง ก็ไปตัดสิทธิ์เลย ถ้าทำเช่นนั้น ก็แทบไม่มี ส.ว. ชุดนี้

ดังนั้น 41 ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ที่ถูกร้องว่าถือหุ้นสื่อ และอีกประมาณ 50 ส.ส.ฝ่ายค้าน ที่กำลังจะถูกยื่นตามไป รวมทั้ง 21 ส.ว. และอาจมีรัฐมนตรีบางคน ในครม.ชุดใหม่ ถูกยื่นคำร้องเรื่องถือหุ้นสื่อฯ ตามไปอีก จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ … ล้วนขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลรธน.เท่านั้น ที่จะเป็นผู้ชี้ชะตา

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0