โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เปิดลิสต์ภาพยนตร์ประจำปีของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา

The Momentum

อัพเดต 17 ม.ค. 2563 เวลา 20.06 น. • เผยแพร่ 17 ม.ค. 2563 เวลา 20.06 น. • สิรินารถ อินทะพันธ์

In focus

  • The Last Black Man in San Francisco(2019) ผู้กำกับภาพยนตร์ โจ ทาร์บอต เติบโตมาในซานฟรานซิสโกพร้อมกับเพื่อนของเขาที่ชื่อจิมมี่ ในปี 2015 พวกเขาปล่อยพรีวิวตัวอย่างออกไปเพื่อระดมทุนสร้างหนังเรื่องนี้และเปิดตัวแคมเปญใน Kickstarter ซึ่งประสบความสำเร็จเกินคาด
  • The Farewell (2019) เขียนบทและกำกับโดยผู้กำกับหญิง ลูลู่ หวัง ที่หยิบเอาประสบการณ์ในชีวิตจริงมาเติมแต่งจนกลายเป็นเรื่องราวครอบครัวที่ชวนให้มีน้ำตา เธอพยายามอย่างมากในการหาเงินสนับสนุนในการถ่ายทำ เมื่อผู้ผลิตชาวอเมริกาคัดค้านที่จะมีนักแสดงเอเชียทั้งหมด 
  • Ford v Ferrari (2019) ผลงานเรื่องล่าสุดของเจมส์ แมนโกลด์ (ผู้กำกับ Walk the Line(2005), The Wolverine(2013), Logan (2017) และอีกหลากเรื่อง) คราวนี้เขาหยิบเอาประวัติศาสตร์ยานยนต์ยุค 60s ที่เป็นการชิงชัยระหว่างฟอร์ดกับเฟอร์รารีมาถ่ายทอดกันจนกระหึ่มจอ

หนึ่งในสิ่งที่หลายคนมักทำเมื่อถึงสิ้นปีก็คือการมองย้อนกลับไปว่าตลอดขวบปีที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นบ้างในชีวิต เราเติบโตหรือล้มเหลว มีน้ำตาหรือเสียงหัวเราะ สุขภาพดีขึ้นหรือแย่ลง มันเป็นการประมวลภาพชีวิตเพื่อบันทึกไว้ในความทรงจำ พร้อมกันนั้นก็ได้มาทบทวนว่ามีเป้าหมายอะไรบ้างที่เราตั้งไว้แล้วไปถึง เช่น อ่านหนังสือให้ได้ปีละ 60 เล่ม, ลดน้ำหนักให้ได้ 10 กิโลกรัม, ฝึกภาษาที่สองหรือที่สามให้คล่องแคล่ว หรือวิ่งให้ได้อย่างต่ำสัปดาห์ละ 25 กิโลเมตร สำหรับผู้เขียน สิ่งที่จะขาดไปไม่ได้จากบทสรุปก็คงเป็นความบันเทิงทั้งหลายแหล่ที่ชอบที่สุดในรอบปี ทั้งหนัง หนังสือ ซีรีส์ เกม และคอนเสิร์ต รวมถึงชอบที่จะอ่านบทสรุปของคนรอบๆ ตัวด้วยว่าชีวิตของพวกเขาเป็นอย่างไรกันบ้าง

แต่หากพูดถึงการจัดอันดับสิ่งที่ชอบของบุคคลที่มีชื่อเสียง หนึ่งในคนที่เราติดตามก็คืออดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา มันแทบจะกลายเป็นธรรมเนียมที่เขาเองก็ทำทุกสิ้นปี ซึ่งทำให้เราอยากรู้ไปด้วยว่ารายชื่อในปีปีนี้ของเขาคืออะไร และสำหรับปี 2019 โอบามาก็ได้เปิดเผยถึงผลงานที่ชื่นชอบผ่านโซเชียลมีเดียของตัวเองไปแล้ว รายชื่อภาพยนตร์ที่เราหยิบยกมานี้เป็นเพียง 5 เรื่องจาก 18 เรื่องเท่านั้น ซึ่งถ้าใครอยากชมก็คงตามหามาดูได้ไม่ยากนัก

The Last Black Man in San Francisco (2019)

ผู้กำกับภาพยนตร์ โจ ทาร์บอต เติบโตมาในซานฟรานซิสโกพร้อมกับเพื่อนของเขาที่ชื่อจิมมี่ ทั้งสองเคยพูดคุยกันถึงความเป็นไปได้ในการสร้างภาพยนตร์สักเรื่องหนึ่งด้วยกัน แต่พวกเขาก็พบว่ามันยากมากที่ความฝันนั้นจะเป็นไปได้ด้วยปัจจัยหลายด้าน จนในปี 2015 พวกเขาปล่อยพรีวิวตัวอย่างออกไปเพื่อระดมทุนสร้างและเปิดตัวแคมเปญใน Kickstarter ซึ่งประสบความสำเร็จเกินคาด ภายในหนึ่งเดือนมีผู้ร่วมสนับสนุน 1,500 คน รวมเป็นยอดกว่า 75,000 เหรียญ และนี่ก็เป็นเหมือนใบเบิกทางแรกให้พวกเขาได้ลงมือทำฝันให้เป็นรูปร่างขึ้นมาจริงๆ

จิมมี่ เป็นชายหนุ่มผิวสีที่อาศัยอยู่ในย่านเบย์วิว-ฮันเตอร์พ้อยท์ เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการที่จะสร้างชีวิตผู้ใหญ่ในแบบของตัวเอง และในตอนนี้เขาพยายามอ้างสิทธิ์ในการครอบครองบ้านสไตล์วิคตอเรียนหลังหนึ่ง บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ในกลางเมืองซานฟรานซิสโก และครั้งหนึ่งมันเคยเป็นของคุณปู่เขา ซึ่งเป็นคนดำคนแรกในฐานฟรานซิสโก แต่ด้วยเศรษฐกิจที่ไม่ดีนัก ครอบครัวเขาจึงสูญเสียทรัพย์สินที่มีไป

แม้ว่าตอนนี้บ้านจะอยู่ในการครอบครองของคนอื่น แต่จิมมี่ก็หาจังหวะเข้าไปสำรวจบ้านหลังนั้นจนได้ เขาเดินดูทุกซอกทุกมุมและทุกห้องของบ้าน ขณะเดียวกันเราก็ได้สำรวจความรู้สึกของจิมมี่ไปด้วย ซานฟราสซิสโกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งจากภายนอกและภายในตัวผู้คน แต่จิมมี่คล้ายกับคนที่พยายามจะต้านทานความเปลี่ยนแปลงนั้น เขาเหมือนคนที่ผลักความจริงออกจากตัว และเก็บเกี่ยวไว้แต่สิ่งที่เขาเลือกจะเชื่อ บางอย่างที่เขาไม่ยอมรับนั้นเป็นสิ่งที่ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเขาเอง ซานฟรานซิสโกได้เปลี่ยนไปแล้ว และบางทีมันก็ไม่มีที่สำหรับพวกเขาซึ่งมันน่ากลัว นั่นเพราะตรงนั้นเป็นที่ๆ เขาเคยอยู่ตลอดมา

Parasite (2019)

ภาพยนตร์เกาหลีเรื่องแรกที่มีดีกรีรางวัลปาล์มทองคำ (Palme d’Or) เป็นผลงานการกำกับของบอง จุนโฮ ผู้ยังคงวาดฝีไม้ลายมือในการหยิบจับประเด็นชนชั้นมาเล่าได้อย่างมีชั้นเชิง ในบทสัมภาษณ์ชิ้นหนึ่งถามบองจุนโฮว่า Parasiteนั้นมีความคล้ายกับ Snowpiercer และ Okjaแต่สองเรื่องดังกล่าวสร้างออกมาเป็นภาษาอังกฤษ แล้วทำไมเรื่องนี้ถึงเป็นภาษาเกาหลี เขาตอบว่ามันเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เขาอาศัยอยู่ในกรุงโซล และต้องการจะบอกเรื่องราวเกี่ยวกับคนรอบตัว โดยเจาะลึกลงไปในความจริงที่แวดล้อมอยู่ราวกับว่ากำลังมองผ่านกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งเขาก็ได้ขยายภาพให้ออกมาชัดเจน ตรงประเด็น แฝงไปด้วยอารมณ์ตลกร้าย จนมันผลิดอกออกผลเป็นทั้งรางวัลและคำวิจารณ์ที่ดีมากทีเดียว

ครอบครัวคิมเป็นครอบครัวชนชั้นล่างที่พยายามหาเช้ากินค่ำไปวันๆ พวกเขาอยู่กันสี่คนพ่อแม่ลูกในอพาร์ตเมนต์โทรมๆ ที่ไม่ได้สูงไปกว่าพื้นถนน แต่เหมือนโชคชะตาจะเมตตา (บ้าง) เมื่อวันหนึ่งคิมกีวู ลูกชายของบ้านได้รับหินแห่งความมั่งคั่งมา แล้วยังได้รับการฝากฝังให้ไปทำงานสอนพิเศษลูกสาวตระกูลพัค ครอบครัวมหาเศรษฐีที่มีกินมีใช้และบ้านหลังโตผิดกันมหาศาลกับตระกูลคิม

เมื่อช่องทางที่หนึ่งเปิด ช่องทางอื่นๆ ที่เหลือก็ตามมา คิมกีวูเริ่มวางแผนในการพาพ่อแม่และน้องสาวของตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย เริ่มจากคิมคิจอง ทำงานเป็นครูสอนศิลปะให้กับลูกชายคนเล็ก, คิมกีแท็ก พ่อที่เข้ามาเป็นโชเฟอร์ให้กับคุณผู้ชาย และคิมชุงซุค แม่ที่เข้ามาเป็นแม่บ้าน และคอยรับคำสั่งจากคุณผู้หญิง สิ่งที่พวกเขาทำไม่ต่างจากปรสิตที่เขาไปสูบเลือดสูบเนื้อ กอบโกยทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ แต่พร้อมกันนั้นก็ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดีที่สุด สิ่งสำคัญหนึ่งอย่างคือพวกเขาต้องการจะมีงานทำให้พอได้ลืมตาอ้าปาก ทุกอย่างเป็นไปตามแผน 100% จนกระทั่งความลับของแม่บ้านคนก่อนถูกเปิดเผย แผนที่เคยวางไว้จึงต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ แต่งานนี้ใครจะรอดหรือใครจะร่วงต้องตามไปดูกันเอาเอง

Ford v Ferrari (2019)

ผลงานเรื่องล่าสุดของเจมส์ แมนโกลด์ (ผู้กำกับ Walk the Line(2005), The Wolverine(2013), Logan (2017) และอีกหลากเรื่อง) คราวนี้เจมส์หยิบเอาประวัติศาสตร์ยานยนต์ยุค 60s ที่เป็นการชิงชัยระหว่างฟอร์ดกับเฟอร์รารีมาถ่ายทอดกันจนกระหึ่มจอ บนสังเวียนศึกสุดโหดอย่างสนามเลอมองส์ รายการแข่งขันรถสูตร 1 ที่ต้องขับเคี่ยวกันกว่า 24 ชั่วโมงถึงจะตัดสินแพ้ชนะได้

ในการเตรียมตัวสำหรับเรื่องนี้ คริสเตียน เบล ลงเรียนการขับรถแข่งอย่างจริงจังที่โรงเรียนสอนขับรถ Bondurant ซึ่งผู้ก่อตั้งโรงเรียนนี้เป็นเพื่อนกับคน ไมล์ส จริงๆ ดังนั้นการที่เบลมาที่นี่ นอกจากจะได้เรียนขับรถแล้วเขายังได้ฟังเรื่องราวการแข่งขันในช่วงปี 1960 อีกด้วย นอกจากนี้เบลยังลดน้ำหนักลงไปอีกกว่าเจ็ดสิบปอนด์ก่อนที่จะเริ่มการถ่ายทำ เพราะภาพยนตร์ก่อนหน้านี้ในเรื่อง Vice(2018) เขาเพิ่มน้ำหนักจนกลายเป็นชายร่างท้วม เบลมีเวลาในการลดน้ำหนักประมาณ 7 เดือน และเขาก็ทำมันได้จริงๆ ซึ่งแมตต์ เดมอน ประทับใจเขาเป็นอย่างมาก เพราะเบลเองเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาอยากมีส่วนร่วมในภาพยนตร์เรื่องนี้

ในปี 1963 สถานะการเงินของฟอร์ดค่อนข้างอยู่ในช่วงย่ำแย่ รถของเขายอดขายตกและแทบไม่ทำกำไร ทีมผู้บริหารจึงคิดหาหนทางที่จะทำให้ฟอร์ดกลับมาผงาดอีกครั้ง พวกเขาลงทุนบินไปถึงอิตาลี เพื่อไปพูดคุยกับผู้บริหารเฟอร์รารี แต่กลายเป็นว่าฟอร์ดดันถูกลูบคมกลับมา แน่นอนว่าเฮนรี่ ฟอร์ด ที่สอง ย่อมไม่ยอมอยู่เฉย เขาตัดสินใจก้าวสู่สนามการแข่งขันรถสูตร 1 โดยการฟอร์มทีมของตัวเองขึ้นมา

นี่เองจึงเป็นหนทางให้คารอล เชลบี อดีตแชมป์เลอมองส์ก้าวเข้ามาในสำนักงานฟอร์ด แต่เชลบีมาในฐานะวิศวกรออกแบบรถแข่งเท่านั้น เพราะเขาป่วยจนไม่สามารถขับรถแข่งได้อีก เชลบีจึงพาเพื่อนคนหนึ่งเข้ามาด้วย นั่นคือ เคน ไมลส์ นักแข่งรถและเจ้าของอู่ถังแตก ไมลส์เป็นคนปากร้าย ยียวนกวนประสาท แต่ความสามารถในการบังคับพวงมาลัยไม่เป็นรองใคร แถมยังเข้าใจเครื่องยนต์ดีกว่าพวกผู้บริหารทุกคน การแข่งขันของฟอร์ดกับเฟอร์รารีครั้งนี้จึงมีเชลบีและไมลส์เป็นฟันเฟืองหนึ่ง พร้อมกับตั้งเป้าหมายสำคัญไว้ที่การคว้าแชมป์สนามเลอมองส์ และสยบคำสบประมาทจากเฟอร์รารีให้สิ้นซาก

The Farewell (2019)

The Farewellเขียนบทและกำกับโดยผู้กำกับหญิง ลูลู่ หวัง ที่เธอหยิบเอาประสบการณ์ในชีวิตจริงมาเติมแต่งจนกลายเป็นเรื่องราวครอบครัวที่ชวนให้มีน้ำตา เธอพยายามอย่างมากในการหาเงินสนับสนุนในการถ่ายทำ ผู้ผลิตชาวอเมริกาคัดค้านที่จะมีนักแสดงเอเชียทั้งหมด พร้อมกับยืนยันว่าต้องการเพิ่มตัวละครที่เป็นคนขาวเข้าไป และทางฝั่งผู้ผลิตชาวจีนก็คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของคนอเมริกามากเกินไปและต้องการเพิ่มตัวละครคนขาวเช่นกัน ดังนั้นหวังจึงพยายามต่อไปในการหาทุนสร้าง ซึ่งเธอก็ทำมันได้สำเร็จ พร้อมกวาดคำชมและรางวัลไปมากมาย นอกจากนี้เธอยังเล่นเปียโนในเพลงประกอบภาพยนตร์เองอีกด้วย

วันที่ญาติๆ ทุกคนจะมาอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาคงมีแค่ไม่กี่วัน เมื่อต่างคนต่างแยกย้ายไปมีครอบครัวของตัวเอง และต้องอยู่ในที่ๆ ไกลกันออกไป วันเหล่านั้นหากไม่ใช่วันเทศกาลก็ต้องเป็นวันที่จะมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น เช่น วันแต่งงาน หรือวันที่ใครบางคนจากไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ สิ่งที่เกิดขึ้นกับบิลลี่ครั้งนี้เป็นทั้งสองอย่าง ทั้งวันแต่งงานและวันกล่าวคำอำลาจากอาม่า

บิลลี่ เป็นชาวจีนโดยกำเนิด แต่เติบโตที่อเมริกา แล้วอยู่มาวันหนึ่ง เธอก็ทราบข่าวว่าอาม่าที่อยู่เมืองจีนกำลังป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย และคงมีชีวิตอยู่อีกไม่นาน ญาติพี่น้องทั้งหมดจึงจะกลับไปเยี่ยมอาม่า แต่พวกเขากลับแต่งเรื่องขึ้นมาว่าหลานชายของบ้านกำลังจะแต่งงาน เพื่อปกปิดความจริงเกี่ยวกับอาการป่วย เพราะเกรงว่าหากอาม่ารู้เข้าคงตรอมใจแล้วทำให้อาการทรุดหนักเร็วขึ้น การแต่งงานจึงเป็นข้ออ้างชั้นดีที่จะทำให้ทุกคนมารวมตัวกัน ซึ่งลึกๆ พวกเขาก็รู้อยู่แล้วว่าการมาพบกันหนนี้ไม่มีคำยินดี มันจะมีก็แต่ความเศร้าที่ต้องแบกรับกันเอาไว้ และแน่นอนว่าย่อมมีบางคนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำแบบนี้ โดยเฉพาะบิลลี่ ความคิดเห็นของครอบครัวทับซ้อนกันระหว่างตะวันออก-ตะวันตกยิ่งส่งผลบางอย่างขัดแย้งกันไปมา แต่ประเด็นสำคัญคือ สิ่งที่เรากำลังโกหกอยู่นี้ช่วยให้สถานการณ์ทุกอย่างมันดีจริงๆ หรือว่ามันเป็นแค่ความสบายใจที่เราต้องการให้มันเป็น เพราะท้ายที่สุดแล้วความจริงก็ไม่สามารถเปลี่ยนได้อยู่ดี

Little Women (2019)

Little Womenสร้างจากนวนิยายคลาสสิกของลุยซา เมย์ อัลคอตต์  ต้นฉบับถูกตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 1868 และถูกหยิบยกมาดัดแปลงหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งคราวนี้เป็นทีของเกรตา เกอร์วิก ที่ขนทีมนักแสดงมากความสามารถมาอย่างคับคั่ง อาทิ ทิโมธี ชาลาเมต์, เซียร์ชา โรแนน, เอ็มมา วัตสัน, ฟลอเรนซ์ พิวจ์, เอลิซา สแกนเลน, ลอร่า เดิร์น และเมอรีล สตรีป

เอ็มมา วัตสัน อาจไม่ใช่ตัวเลือกแรกสำหรับบทเม็ก เพราะเกรตาหมายตาเอ็มมา สโตน ไว้ก่อน แต่ด้วยเวลาที่ทับซ้อนกับ The Favorite(2018) ซึ่งก่อนหน้านี้สโตนเคยได้บทมีอาในหนัง La La Land (2016) ที่พาเธอไปชนะรางวัลออสการ์ และที่สโตนคว้าบทนี้ไปได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะวัตสันถอนตัวออกไปก่อน เพราะติดคิวถ่ายภาพยนตร์เรื่อง Beauty and the Beast(2017) เกรตาจึงเลือกวัตสันเข้ามาแทน ส่วนฟลอเรนซ์ พิวจ์ เข้ามาหลังจากถ่ายทำ Midsommar(2019) จบ การได้รับบทเอมีถือเป็นหนึ่งในตัวช่วยให้เธอได้ผ่อนคลายลงจากความกดดันอันหนักหน่วงที่เพิ่งผ่านมา

ภาพยนตร์มีเส้นเรื่องหลักอยู่ที่พี่สาวคนที่สองของบ้านอย่าง ‘โจ’ ผู้หลงรักในการอ่านเขียน และเดินตามเส้นทางนั้นเรื่อยมาด้วยความดื้อรั้นเล็กๆ ผสมกับความมุ่งมั่น ปัจจุบันเธออาศัยอยู่ในนิวยอร์ก รวมถึงมีผลงานเป็นชิ้นเป็นอันดั่งใจหวัง แต่ไม่นานหลังจากที่เราได้เห็นหน้าค่าตาเธอ โจก็ต้องกลับไปยังบ้านที่เปี่ยมไปด้วยความทรงจำ และนั่นจะทำให้เราได้ไปรู้จักกับสี่สาวดรุณี

บ้านมาร์ชประกอบไปด้วยเด็กสาวอีกสามคน ได้แก่ เม็ก พี่สาวคนโตที่เปรียบกับหญิงสาวในอุดมคติ เธออยากมีครอบครัวที่น่ารักและช่างฝันถึงความงดงามในชีวิต, เอมี น้องสาวคนรองสุดท้อง เป็นคนรักอิสระ ซื่อตรงต่อตัวเอง ชอบการวาดรูปเป็นชีวิตจิตใจ และเบธ น้องคนเล็กที่มีนิสัยขี้อาย แต่ก็มีความชอบชัดเจนเป็นของตัวเองในด้านดนตรี  แต่ละคนในบ้านล้วนมีความชอบ ความเก่งกาจ และความทะเยอทะยานเป็นของตัวเอง ซึ่งการจะไปสู่จุดนั้นทุกคนต้องผ่านเรื่องราวที่มีทั้งความสุขและความเศร้าปะปนกันไป ประเด็นหลักๆ อยู่ที่การต่อสู้กับกรอบของสังคม ผู้หญิงควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร และผู้หญิงในบ้านมาร์ชก็เป็นตัวแทนทางความคิดของกรอบๆ นั้น ที่เกรตาจับมาเล่าได้โดยไม่ทำให้เรารู้สึกเบื่อหน่ายไปกับการชมภาพยนตร์รีเมคเลย

Fact Box

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0