โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เปลี่ยนโปรไฟล์ สวมรอยเป็นคนอื่น: ว่าด้วยด้านมืดของการอยากมีตัวตนในโลกโซเชียลมีเดีย

The MATTER

อัพเดต 24 ม.ค. 2563 เวลา 03.24 น. • เผยแพร่ 22 ม.ค. 2563 เวลา 13.37 น. • Social

เคยสงสัยไหม ทำไมเวลามีข่าวเด่นข่าวดัง ถึงมีแอคเคาท์โซเชียลมีเดียปลอมของผู้ตกเป็นข่าวเหล่านั้นกระจายอยู่เต็มไปหมด?

การอยากมีตัวตนในโลกออนไลน์ เป็นเรื่องธรรมดาทั่วไป และไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด ถึงอย่างนั้นก็มี 'การอยากมีตัวตน' บางรูปแบบ ที่น่าเป็นกังวลอยู่เช่นกัน อย่างการสร้างแอคเคาท์ของคนที่กำลังตกเป็นประเด็นอยู่ในสังคม ไม่ว่าจะในแง่ไหนก็ตาม

คำถามที่ตามมาก็คือ ทำไมถึงการเกิดปลอมแอคเคาท์เหล่านี้ขึ้นมาได้?

ช่องโหว่ของโซเชียลมีเดีย ต้นเหตุของแอคเคาท์ปลอม

ชื่อจริง นามสกุล อีเมล เบอร์โทรศัพท์ วันเกิด และเพศ ข้อมูลพื้นฐานในการสร้างแอคเคาท์ของเฟซบุ๊ก ที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อสร้างระบบในการยืนยันตัวตน ซึ่งหากเปรียบเทียบกับนอดีต การจะสร้างแอคเคาท์โซเชียลมีเดียในปัจจุบันจำเป็นจะต้องพึ่งพาข้อมูลในโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ถึงจะดึงข้อมูลจากโลกแห่งความเป็นจริงมาช่วยแล้ว เฟซบุ๊กกลับมีแอคเคาท์ปลอมจำนวนมากวนเวียนมาให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ทั้งในรูปแบบของอวตารที่ใช้รูปการ์ตูน แสงแดด ดอกไม้ หมาแมว โดยรายงานจาก The New York Times เมื่อปี ค.ศ.2019 ระบุว่า 3 ใน 4 แอคเคาท์เฟซบุ๊กที่มีการใช้งานหรือแอคทีฟอยู่นั้น เป็นแอคเคาท์ปลอม

นอกจากการสร้างแอคเคาท์อวตารที่ใช้รูปการ์ตูน แสงแดด หรือหมาแมวเหล่านั้นแล้ว การปลอมแอคเคาท์เป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริง อย่างนักการเมือง บุคคลสาธารณะ หรือเหล่าคนในข่าวที่กำลังเป็นกระแส ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สร้างความปวดหัวให้กับเฟซบุ๊กและประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะแม้จะเป็นสิ่งที่ถูกห้ามในกฎระเบียบของเฟซบุ๊ก แต่แอคเคาท์ปลอมเหล่านี้ กลับมีจำนวนมากกว่าแอคเคาท์อวตารเสียอีก โดยข้อมูลจากเฟซบุ๊กเปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี ค.ศ.2018 มีจำนวนของแอคเคาท์ปลอมที่ถูกสร้างขึ้นมามากถึง 255 ล้านแอคเคาท์

เพื่อจัดการกับปัญหานี้ ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม เมื่อปี ค.ศ.2019 เฟซบุ๊กจัดการดีดนิ้ว ลบแอคเคาท์ปลอมในระบบไปถึง 2.2 พันล้านแอคเคาท์ ซึ่งถือเป็นการล้างบางแอคเคาท์ปลอมครั้งใหญ่ และยังประกาศว่า ได้พัฒนาอัลกอริทึมใหม่ เพื่อมาจัดการกับปัญหาเหล่านี้ รวมถึงการโพสต์เนื้อหาที่มีความรุนแรง โดยไม่ต้องรอการกดรีพอร์ตจากผู้ใช้งานจริงด้วย

อยากเป็น Someone ในโลกออนไลน์

บางคน แค่โพสต์สเตตัสสั้นๆ ที่ใจความกำกวม แต่ยอดไลก์ก็ไปแตะหลักพันแล้ว

เรารู้กันดีว่า สื่อโซเชียลมีเดีย คือพื้นที่ที่จะช่วยให้เรื่องราวของผู้ใช้งานแพร่หลายมากขึ้น แต่ในโลกออนไลน์ที่ข้อมูลล้นทะลักนั้น สารส่วนใหญ่ที่ผู้คนจะเลือกเปิดรับ ก็คือสารจากคนที่เป็น ‘Someone’ หรือเป็นที่รู้จักไม่ทางใดก็ทางหนึ่งนั่นเอง

แล้วต้องทำอย่างไร ถึงจะกลายเป็นคนที่ใครๆ ก็รับฟัง?

ก่อนจะไปถึงเรื่องนั้น ต้องเล่าถึงคุณสมบัติของสื่อโซเชียลมีเดีย ที่แตกต่างจากสื่อเก่าอย่างมากก่อน

เรารู้กันดีว่า สื่อโซเชียล เป็นพื้นที่ที่ทำให้คนเราสามารถสร้างทุนทางสังคม หรือก็คือการมีตัวตน ชื่อเสียง อันจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เรียกความสนใจจากคนในโลกออนไลน์ และเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถสร้างตัวตนใหม่ที่อาจจะไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงขึ้นมาได้

การศึกษาเรื่อง What teens said about social media, privacy, and online identity ระบุว่า วัยรุ่นอเมริกันให้ความสำคัญกับการสร้างตัวตนที่คนบนโลกออนไลน์พึงพอใจ และยังมีการศึกษาที่ระบุว่า สื่อออนไลน์ทำให้คนสร้างอัตลักษณ์ ตัวตนที่หลากหลายเพื่อตอบสนองการได้รับการยอมรับและความชื่นชอบบนเครื่อข่ายสังคมบนโลกออนไลน์ที่แตกต่างกัน บางคนตัวตนบนโลกออนไลน์กับตัวจริงแตกต่างกัน บางคนเชื่อมอัตลักษณ์จากออนไลน์สู่บุคลิกและพฤติกรรมในชีวิตจริง

แปลว่า ผู้ใช้จะกลายเป็น Somebody ในสังคมนี้ได้นั่นเอง

“คนส่วนใหญ่ อยากเป็น Someone ให้คนรู้จักอยู่แล้ว ไม่มีใครอยากเป็น unknown หรอก” คำกล่าวจาก นพ.ทรงภูมิ เบญญากร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก ‘โลกสมาธิสั้น’

คุณหมอยกตัวอย่างด้วยว่า เด็กที่ไม่มีตัวตนด้านสามัญ เช่น เล่นกีฬา วาดรูป เล่นดนตรี มักจะรู้สึกว่า จะต้องทำอะไรสักอย่างให้ตัวเองมีตัวตนออกมา ซึ่งเป็นที่สังเกตว่า เด็กที่มีพฤติกรรมประมาณนี้ โดยมากจะเป็นเด็กที่ไม่มีต้นทุนทางสังคม

แต่เมื่อแอคเคาท์ปลอม ซึ่งหนึ่งในวิธีที่ทำให้คนเป็น Someone (แบบผิดๆ) เกิดแพร่หลายขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาที่สังคมกำลังกระตือรือร้นกับข้อมูลข่าวสารนั้นๆ เช่น แอคเคาท์ปลอมของคนที่กำลังตกเป็นข่าว หรือกำลังเป็นที่สนใจของสังคม แล้วเราจะป้องกันการปลอมนี้ได้อย่างไร?

Cropped shot of an unrecognizable woman using a cellphone
Cropped shot of an unrecognizable woman using a cellphone

แล้วจะทำอย่างไร เมื่อเจอกับแอคเคาท์ปลอม?

ปุ่มรีพอร์ตช่วยคุณได้

ปัญหาของแอคเคาท์ปลอมที่แพร่ระบาดอยู่ก็คือ การเผยแพร่ข้อมูลปลอม (ที่ปลอมมาตั้งแต่ต้นทาง) จนสร้างความเข้าใจผิดให้กับคนในสังคม

สำหรับสื่อโซเชียลมีเดียขนาดใหญ่อย่างเฟซบุ๊ก อดัม มอสเซรี (Adam Mosseri) ผู้รับผิดชอบนิวส์ฟีดของบริษัท เคยออกมาประกาศเมื่อเดือนธันวาคม ปี ค.ศ.2016 ว่า เฟซบุ๊กได้ออกมาตรการ 4 ข้อ เพื่อจัดการกับปัญหาข่าวปลอม ได้แก่

ปรับฟีเจอร์ให้ผู้ใช้รายงานข่าวปลอมได้ง่ายขึ้น ทำงานร่วมกับองค์กรที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง อย่าง Snopes.com, Factcheck.org และ Politifact ถ้าหากองค์กรเหล่านี้ 'ติดธง' ว่าข่าวชิ้นนั้นมีปัญหา เฟซบุ๊กจะขึ้นคำว่ามีปัญหา (disputed) ให้เห็นในนิวส์ฟีด การรับข้อมูลของเฟซบุ๊กมาจัดอันดับข่าวในนิวส์ฟีดใหม่ เช่น ถ้าข้อมูลชิ้นนี้มียอดการแชร์น้อยกว่าปกติ ทั้งที่มีผู้ใช้งานกดเข้าไปอ่านแล้ว แปลว่า อาจมีปัญหาอะไรบางอย่าง เฟซบุ๊กจะปรับอันดับของข่าวทำนองนี้ให้แสดงน้อยกว่าปกติในนิวส์ฟีด ใช้โค้ดของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จัดการกับเว็บไซต์ที่สำนักข่าวปลอมทั้งหลาย แต่นอกจากพึ่งพิงความช่วยเหลือจากเฟซบุ๊กแล้ว อีกหนึ่งทางแก้ที่จะช่วยแก้ปัญหาในระยะยาวได้ คือการสร้างสังคมที่มีความรู้เท่าทันสื่อ

การรู้เท่าทันสื่อ (Media literacy) คือ ทักษะ ความสามารถในการรับสื่อโดยสามารถรับรู้ วิเคราะห์ และแยกแยะเนื้อหาสาระได้อย่างมีสติและรู้เท่าทัน รวมไปถึง สามารถตั้งคำถามการสารที่ได้รับมาได้ด้วย ซึ่งจะช่วยป้องกัน การแชร์ข่าวปลอมโดยไม่ได้ต้ังใจ

สกุลศรี ศรีสารคาม อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เคยเขียนเรื่อง Social Media กับการสร้างตัวตนของวัยรุ่น เอาไว้ว่า เทคโนโลยีถูกสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ในการใช้งาน แต่ผู้ใช้ต้อง ‘รู้เท่าทัน’ และ ‘เข้าใจประโยชน์’ ของเทคโนโลยี เลือกใช้ เลือกสร้างคอนเทนต์ เลือกสร้างตัวตนแบบรู้ทัน และต้องรู้ว่า Digital Footprint หรือสิ่งที่สร้างไว้บนโลกออนไลน์ คือผลกระทบต่อตัวเองในระยะยาว

ดังนั้นแล้ว สิ่งที่จำเป็นในการแก้ปัญหานี้ จึงไม่ใช่แค่เพียงการพึ่งพิงอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างสังคมที่มีความตระหนักรู้เท่าทันสื่อ เพื่อเป็นการป้องกันในระยะยาวเสริมด้วยเช่นกัน

อ้างอิงจาก

nytimes.com

truecenterpublishing.com

cnn.com

pewresearch.org

dpu.ac.th

thematter.co

Illustration by Kodchakorn Thammachart

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0