โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เที่ยวไทยเท่ “ประเพณีแซนโฎนตา” เรียนรู้วิถีถิ่น “สุรินทร์-ศรีสะเกษ”

ไทยโพสต์

อัพเดต 21 ก.ย 2562 เวลา 17.01 น. • เผยแพร่ 21 ก.ย 2562 เวลา 17.01 น. • ไทยโพสต์

อนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง

 จังหวัดสุรินทร์ และศรีสะเกษ สองจังหวัดในดินแดนอีสานใต้ พื้นที่ที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์จากการผสมผสานจากอารยธรรมขอมโบราณ ส่งผลให้โบราณสถาน โบราณวัตถุ และวัฒนธรรมประเพณี มี ความงดงามในรูปแบบเฉพาะตัว

ล่าสุด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)  สำนักงานสุรินทร์ (รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดสุรินทร์และศรีสะเกษ) ได้ร่วมสนับสนุนการจัดประเพณีสำคัญในสองจังหวัดดังกล่าว ซึ่งสะท้อนวัฒนธรรมความเชื่อและอัตลักษณ์ของผู้คนในพื้นที่ เพื่อเชิญชวนให้คนทั่วไปเดินทางไปสัมผัสและท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ภายใต้แนวคิด "amazing ไทยเท่" 

นางสาวธมลวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานสุรินทร์ กล่าวว่า จังหวัดสุรินทร์ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์ และ ททท. สำนักงานสุรินทร์ กำหนดจัด “งานประเพณีแซนโฎนตาบูชาบรรพบุรุษ ประจำปี 2562” ในวันพุธที่ 25 กันยายน 2562 บริเวณอนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เพื่ออนุรักษ์ประเพณีดั้งเดิมของชาวสุรินทร์ในการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณของจังหวัดทั้งในอดีตและปัจจุบัน พร้อมกับเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสุรินทร์ไปพร้อมๆ กัน

ประกอบพิธีแซนโฏนตาบูชาบรรพบุรุษ

สำหรับ ประเพณีแซนโฎนตาบูชาบรรพบุรุษ หรือการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับไปแล้ว เป็นประเพณีสำคัญที่ชาวสุรินทร์เชื้อสายเขมร ซึ่งไปทำงานในพื้นที่ต่างๆ จะเดินทางกลับมาหาครอบครัวกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา เพื่อร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษ เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ โดยมีความเชื่อว่าเมื่อถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ประตูยมโลกจะเปิด เพื่อให้ผู้รับกรรมที่อยู่ในนรกสามารถเดินทางมาเยี่ยมญาติได้ ลูกหลานจึงจัดเตรียมทำอาหาร ขนม ข้าวต้ม ไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลที่วัด ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 โดยว่าผีบรรพบุรุษจะออกมาจากยมโลกได้ 15 วัน หลังจากนั้นต้องกลับไปรับกรรมตามเดิม

สำหรับการประกอบพิธีแซนโฎนตานั้น แต่ละบ้านจะเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ ทั้งอาหารคาว-หวาน    ผลไม้ อุปกรณ์ต่างๆ เพื่อเซ่นไหว้ศาลปู่ตาประจำหมู่บ้าน เซ่นไหว้ศาลพระภูมิประจำบ้าน ประกอบพิธีกรรมแซนโฎนตาที่บ้าน รวมทั้งไปประกอบพิธีกรรมที่วัด

พิธีกรรมดังกล่าวเชื่อว่า จะส่งผลบรรพบุรุษรับผลบุญกุศลที่อุทิศไป ทำให้บ่วงกรรมที่มีอยู่บรรเทาลง และถ้าในยุคของตนได้แซนโฎนตาให้แก่ผีบรรพบุรุษ ปู่ย่าตายาย พ่อแม่แล้ว รุ่นลูกจะต้องแซนโฎนตาให้ตนเหมือนกัน จึงทำให้มีการปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาโดยตลอด

  

              ภายในงานวันที่ 25 กันยายน มีกิจกรรมต่างๆ ดังนี้ เวลา 09.00 น. เป็นต้นไปชมการแสดงนิทรรศการมีชีวิต แสดงประวัติความเป็นมาของประเพณีแซนโฎนตา, การสาธิตทำขนมพื้นเมืองที่ชาวสุรินทร์นิยมทำเพื่อประกอบการแซนโฎนตา บริเวณเวทีไผทสราญ,  การแข่งขันขูดมะพร้าว, 15.30 น. ชมขบวนแห่แซนโฎนตา, 16.30 น. พิธีจูนโฎนตาและประกอบพิธีแซนโฎนตา, 18.30 น. ชมการแสดงแสง สี เสียง “ตำนานแซนโฎนตาบูชาบรรพบุรุษ”

ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานสุรินทร์ กล่าวต่อว่า   นอกจากนี้ ททท.ยังร่วมกับจังหวัดศรีสะเกษ อำเภอขุขันธ์ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนชาวอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ  กำหนดจัดงาน “รำลึกพระยาไกรภักดี ประเพณีแซนโฎนตา บูชาหลักเมือง ลือเลื่องกล้วยแสนหวี ประจำปี 2562” ระหว่างวันที่ 23-25 กันยายน 2562  บริเวณลานอนุสาวรีย์พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ) อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ

สำหรับ งานรำลึกพระยาไกรภักดี ประเพณีแซนโฎนตา บูชาหลักเมือง ลือเลื่องกล้วยแสนหวี เป็นประเพณีที่ชาวอำเภอขุขันธ์และชาวจังหวัดศรีสะเกษที่มีเชื้อสายเขมรสืบทอดกันมาอย่างยาวนานเช่นกัน แต่เดิมประกอบพิธีเฉพาะในครอบครัวและชุมชน ต่อมาจัดงานยิ่งใหญ่ขึ้นทำให้ผู้คนได้รู้จัก

 งานจัดขึ้นบริเวณลานอนุสาวรีย์พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ) อำเภอขุขันธ์กิจกรรมในงานมี 2 ส่วนด้วยกันคือ ส่วนแรก เป็นขบวนแห่เครื่องเซ่นไหว้ในพิธีเซ่นไหว้อนุสาวรีย์พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ), พิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ การประกวดสำรับเครื่องเซ่นไหว้ ส่วนที่สอง เป็นการแสดงแสง สี เสียงตำนานการสร้างเมืองขุขันธ์ที่ยิ่งใหญ่ตระการตา พิเศษสำหรับปีนี้มีการแสดงโขนเมืองขุขันธ์

หมู่บ้านทอผ้าไหมโบราณบ้านท่าสว่าง

หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง

                ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานสุรินทร์ กล่าวต่อว่า เมื่อมาเที่ยวสองจังหวัดแล้ว ก็ไม่ควรพลาดสถานที่ท่องเที่ยวไฮไลต์สำคัญ อาทิ แหล่งท่องเที่ยวชุมชนในจังหวัดสุรินทร์ ได้แก่ "หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง"  อำเภอท่าตูม เป็นชุมชนที่นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสความผูกพันระหว่างคนในชุมชนกับช้างอย่างใกล้ชิด, "หมู่บ้านทอผ้าไหมโบราณบ้านท่าสว่าง" อำเภอเมือง ชมงานทอผ้าไหมที่มีการออกแบบลวดลายที่สลับซับซ้อน ผสมผสานงานออกแบบลวดลายและการทอแบบราชสำนักกับเทคนิคการทอผ้าแบบพื้นบ้าน จนกลายเป็นผ้าทอที่มีความงดงามอย่างมหัศจรรย์และมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก, "บ้านสวาย" ตำบลสวาย เป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงด้านการผลิตผ้าไหมสวยที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดสุรินทร์, "หมู่บ้านเครื่องเงินเขวาสินรินทร์" อำเภอเขวาสินรินทร์ มีชื่อเสียงในการทอผ้าไหมพื้นเมืองที่เรียกว่า ผ้าโฮล และโดดเด่นเรื่องการทำเครื่องเงินโบราณ มีการผลิตลูกประคำเงินที่เป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้าน เรียกกันว่า "ลูกประเกือม", "หมู่บ้านท่องเที่ยวไหมบ้านพญาราม" ที่มีความโดดเด่นเรื่องการเลี้ยงไหมพื้นบ้าน มีการอนุรักษ์งานด้านหม่อนไหม มีผ้าไหมที่สวยงามและมีคุณภาพ ฯลฯ เป็นต้น

ภาพสลักนูนต่ำ อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร

บ้านขุนอำไพพาณิชย์​​​​​​​

ส่วนพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจหลายแห่ง อาทิ "อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร" ชมผามออีแดง ภาพสลักนูนต่ำอันเลื่องชื่อ ต่อด้วย "บ้านขุนอำไพพาณิชย์"  อาคารโบราณของข้าหลวงพาณิชย์ที่สร้างมากว่าร้อยปี ตามศิลปะจีนผสมมอญ, "พระธาตุเรืองรอง" อำเภอเมืองศรีสะเกษ เป็นพระธาตุที่สร้างผสมผสานศิลปะอีสานใต้สี่เผ่าไท ได้แก่ ลาว เขมร กวย และเยอ มีความงดงาม, "วัดหนองตะเคียน" วัดที่มีพระอุโบสถตามศิลปะแบบขอม-ล้านนา และ "วัดป่ามหาเจดีย์แก้ว" หรือวัดล้านขวด ที่สิ่งปลูกสร้างตกแต่งด้วยขวดแก้วนับล้านใบ โดยเฉพาะศาลากลางน้ำ "ศาลาฐานสโมสรมหาเจดีย์แก้ว" ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหยกขาวและพื้นหลังองค์พระที่ตกแต่งลวดลายด้วยฝาจีบของเครื่องดื่มต่างๆ เกิดเป็นลายสวยสดงดงาม

วัดป่ามหาเจดีย์แก้ว

                "เชื่อว่างานประเพณีแซนโฎนตาบูชาบรรพบุรุษ  จะทำให้คนทั่วไปได้รับทราบวิถีชีวิตของคนไทยเชื้อสายเขมร ที่มีคติธรรมความเชื่อ การดำรงชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว แต่ก็แฝงแก่นแท้ของความดีงามเหมือนกับผู้คนในสังคมไทยที่ให้ความสำคัญกับความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ แม้ว่าสภาพสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างรวดเร็ว ถือเป็นเรื่องควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้คนรุ่นหลังได้รับทราบต่อไป" ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานสุรินทร์กล่าว

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานสุรินทร์ (รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดสุรินทร์และศรีสะเกษ) โทร. 0-4451-4447-8 อีเมล  tatsurin@tat.or.th, h ttp://www.tourismthailand.org/surin w ww.facebook.com/TATSurinOffice

                               

   สรณะ รายงาน 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0