โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เทรนด์ใหม่ผู้ประกอบการ “เถ้าแก่วัยเก๋า” ​ส่วนกลุ่ม “อายุน้อย” เริ่มปั้นธุรกิจตั้งแต่ ม.ต้น พร้อมอินไซต์ และ Mindset ทำธุรกิจให้สำเร็จ 

Brandbuffet

อัพเดต 18 ก.ค. 2562 เวลา 10.24 น. • เผยแพร่ 18 ก.ค. 2562 เวลา 02.14 น. • Insight

ช่วงที่ผ่านมา สังคมไทยคุ้นเคยกับการที่เด็กรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาปั้นธุรกิจของตัวอง เพราะไม่อยากเป็นมนุษย์เงินเดือน และอยากประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างรวดเร็วกว่าการไต่เต้าตาม Career Path ที่ต้องใช้เวลาหลายปี กว่าจะได้เงินเดือนที่สูงขึ้น หรือโอกาสที่จะเป็นผู้บริหารระดับสูง ขณะที่บางคนรอจนเกือบเกษียณแล้วก็ยังไม่มีโอกาสไปถึงจุดนั้นเลยก็เป็นไปได้

ทำให้ช่วงเกือบทศวรรษที่ผ่านมา จะเห็นเทรนด์ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ จากการมีเถ้าแก่หรือเจ้าของธุรกิจในกลุ่ม “อายุน้อยร้อยล้าน” เติบโตเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ มีหนึ่งเทรนด์เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ประกอบคนไทย ที่เราจะเห็นคนอายุใกล้วัยเกษียณ ลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของธุรกิจในวัย 50+ กันมากขึ้น ซึ่งข้อมูลจากหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยลุกขึ้นมาทำธุรกิจอย่าง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. โดย คุณสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการ สสว. ให้ข้อมูลว่า มีกลุ่มผู้สูงวัยที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป สนใจเข้ามาขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการเริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเองกันมากขึ้น โดยมีธุรกิจของกลุ่มสูงวัยในเครือข่าย สสว. และเริ่มต้นทำธุรกิจจริงแล้วกว่า 200 ราย​

สาเหตุที่คนสูงวัยเริ่มเข้ามาทำธุรกิจมากขึ้น มีหลากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะการได้แรงบันดาลใจจากการเห็นคนรุ่นใหม่ประสบความสำเร็จเพิ่มมากขึ้น ทำให้บางคนอยากรู้ อยากลอง ประกอบกับความพร้อมทั้งในเรื่องของเงิน และมีเวลาเพิ่มมากขึ้น หรือบางคนไม่อยากอยู่เหงาๆ อยากรู้สึกมีคุณค่า มีเพื่อน มีสังคม หรือแม้แต่เป็นหนึ่งในแพลนของการวางแผนชีวิตหลังจากเกษียณอายุแล้ว ซึ่งการผันตัวเองมาเป็นเจ้าของธุรกิจก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความพร้อมทางการเงิน แต่ยังไม่มีโมเดลธุรกิจของตัวเอง การทำธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์จะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ มีแนวทางต่างๆ ให้เดินตามได้เลย แบรนด์ส่วนใหญ่ก็เป็นที่รู้จักของตลาด และมีกลุ่มเป้าหมายอยู่แล้ว จึงไม่เสียเวลาลองผิดลองถูก​ ส่วนกลุ่มสูงวัยที่สนใจทำธุรกิจแต่อาจจะยังไม่มีความพร้อม ทาง สสว. ก็มีโครงการบ่มเพาะความรู้และทักษะต่างๆ ให้เช่นเดียวกัน”

หนึ่งในลักษณะเด่นของผู้ประกอบการสูงวัยคือ จะมีความมั่นคงทางอารมณ์ เพราะมีประสบการณ์ในชีวิตมามาก และมีความรู้ต่างๆ สั่งสมมานาน แต่ต้องมาเสริมเรื่องทักษะทางเทคโนโลยีต่างๆ ตามสภาพแวดล้อมและการแข่งขันในตลาด รวมทั้ง หนึ่งในลักษณะเด่นของผู้ประกอบการกลุ่มนี้ คือ ไม่กล้าเผชิญความเสี่ยงมากนักเหมือนกลุ่มที่ยังอายุน้อยอยู่ ​แต่เลือกทความมั่นคงหรือค่อยๆ เติบโต​มากกว่าต้องแบกรับความเสี่ยงสูง

 *แนวโน้มเถ้าแก่น้อย ยิ่งเด็กลง *

ในส่วนของกลุ่มผู้ประกอบการในกลุ่มคนรุ่นใหม่ แนวโน้มเทรนด์ดังกล่าว ก็ยังคงเติบโตได้ในระดับ​สูงอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ อายุ​ของผู้เริ่มต้นทำธุรกิจที่เด็กลงเรื่อยๆ จากก่อนหน้านั้น คนรุ่นใหม่ที่จะเริ่มทำธุรกิจ จะอยู่ในช่วงวัยเรียนมหาวิทยาลัย อายุประมาณ 19-20 ปี แต่ปัจจุบัน เริ่มเห็นเด็กอายุเพียงแค่ 14-15 ปี ก็เริ่มต้นทำธุรกิจอย่างจริงจังแล้ว   

“คนรุ่นใหม่จะมีแรงบันดาลใจจากกลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นไอดอลหรือแบบอย่างให้คนรุ่นใหม่ๆ ไม่อยากเสียเวลาไปเป็นลูกจ้าง โดยเทรนด์การทำธุรกิจของคนรุ่นใหม่ จะเน้นที่เทคโนโลยี โดยเฉพาะการปั้นโมเดลสตาร์ทอัพ นำเสนอไอเดีย และความคิดสร้างสรรค์ในการเข้ามาแก้ Pain Point ต่างๆ หรือออกแบบบริการที่เข้ามาเติมเต็มช่องว่างต่างๆ ในตลาด เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตให้กับธุรกิจตัวเอง”

นอกจากสองกลุ่มดังกล่าวแล้ว ยังมีเทรนด์ผู้ประกอบการใหม่ในสังคมไทยที่น่าสนใจ เช่น กลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิง ที่เริ่มมีจำนวนเติบโตเป็นเทรนด์ที่ชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ทำงานประจำ หรือกลุ่มแม่บ้าน เพราะผู้หญิงไทยเก่ง และมีความสามารถมากอยู่แล้ว รวมทั้งมีความอดทน จริงจัง และไม่ยอมแพ้ แต่เมื่อธุรกิจต้องเผชิญกับความเสี่ยงอาจจะถอยเร็วกว่าผู้ชาย

รวมทั้งเทรนด์จาก กลุ่ม Content Entrepreneur หรือผู้ประกอบการด้านคอนเทนต์ ตามการเติบโตของแพลตฟอร์มต่างๆ โดยเฉพาะดิจิทัลแพลตฟอร์ม หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น จำนวนบล็อกเกอร์ Influencer  หรือกลุ่ม e Writer ที่มีจำนวนเติบโตเพิ่มมากขึ้น และสร้างรายได้จนยึดเป็นอาชีพได้

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการกลุ่มใดก็ตาม การจะขับเคลื่อนให้ธุรกิจสำเร็จ ก็ยังมาจากปัจจัยสำคัญ 3 ประการ คือ ธุรกิจต้องมีความแตกต่าง  มีความโดดเด่น และโดนใจกลุ่มเป้าหมาย เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้วยราคา โดยเฉพาะในกลุ่ม SME ที่ไม่ได้มีทุนหนาและไม่สามารถสู้กับธุรกิจขนาดใหญ่ได้ ถ้าเริ่มเกมแข่งราคาเมื่อไหร่ก็เตรียมเปิดประตูแพ้ได้เลย เพียงแต่ว่าช้าหรือเร็วเท่านั้น

*“เงิน” ไม่ใช่ปัญหาของคนอยากทำธุรกิจ *

หนึ่งอินไซต์ที่น่าสนใจ สำหรับคนอยากทำธุรกิจคือ หลายคนมองว่า “เงิน” คือ ปัญหาสำคัญที่ทำให้ธุรกิจ SME ส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จ แต่จากการสำรวจความต้องการความช่วยเหลือของกลุ่มธุรกิจ SME ในช่วง 1-2 ปีล่าสุดนี้ เงิน ไม่ได้ติดอยู่ใน TOP 3 ที่ผู้ประกอบการต้องการด้วยซ้ำ

ทั้งนี้ ความต้องการของ SME ในปีก่อนหน้า พบว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการ SME ยังรู้สึกว่าขาดและต้องการได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐหรือหน่วยงานสนับสนุนต่างๆ คือ 1. เรื่องของการตลาด 2.เรื่องของการผลิต 3.เรื่องของการบริหารจัดการธุรกิจ ขณะที่เงินเป็นปัจจัยที่ตามมา ส่วนในปีล่าสุดนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการมากที่สุด คือ การผ่อนคลายกฏระเบียบหรือข้อบังคับที่เป็นข้อจำกัด ​ที่ทำให้การเริ่มต้นทำธุรกิจเป็นไปได้ยาก เช่น การขอเอกสาร หรือขั้นตอนต่างๆ เพื่อขออนุญาตทำธุรกิจ ที่ซ้ำซ้อนหรือมากเกินไป ตามมาด้วยเรื่องของการตลาด การผลิต และการบริหารจัดการ ขณะที่เงินก็ขยับออกไปในอันดับน้อยลงไปอีกเช่นกัน

โดย ผอ. สสว. คุณสุวรรณชัย ขยายความเข้าใจในเรื่องนี้ว่า “*ไม่ได้หมายความว่าเงินไม่สำคัญ แต่คนที่เตรียมจะทำธุรกิจจะต้องมีความพร้อม หรือเตรียมทุนสักก้อนหนึ่งไว้อยู่แล้ว เพราะหากยังไม่มีเงินเลยแต่อยากจะทำธุรกิจ ก็เป็นวิธีคิดตั้งต้นที่ผิดแล้ว เหมือนเราอยากจับปลาแต่ไม่ลงน้ำ มันไม่มีทางเป็นไปได้ ดังนั้น คนจะเข้ามาทำธุรกิจต้องเตรียมเงินไว้ลงทุนส่วนหนึ่งอยู่แล้ว ทำให้เงินไม่ใช่ปัญหาของคนที่จะเริ่มทำธุรกิจ แต่ต้องการเครื่องมือที่ทำให้สามารถรักษาและต่อยอดจากทุนก้อนที่มีอยู่นี้ให้ได้มากที่สุดมากกว่า จนเมื่อทำธุรกิจไปได้สักระยะแล้วอยากต่อยอด อยากขยายธุรกิจ หรืออยากได้เงินลงทุนเพิ่ม จึงค่อยมองหาความช่วยเหลือทางการเงินให้กับธุรกิจ*”

ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจในช่วงตั้งต้นธุรกิจ (SME Start up) หรือ SME Early State จึงเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตสูง สะท้อนการเติบโตของความต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจของคนไทย แต่ก็เป็นกลุ่มที่เผชิญกับความท้าทายสูงมากที่สุดด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นโปรดักต์ที่พัฒนาขึ้นไม่ตอบโจทย์ตลาด โมเดลธุรกิจไม่สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ขาดความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจ หรือการบริหารจัดการทางด้านการเงินหรือบัญชี

ขณะที่ กลุ่มผู้ประกอบการที่สามารถผลักดันให้ธุรกิจเติบโตได้สำเร็จ ส่วนใหญ่มาจากการมี Mindset ของความเป็นผู้ประกอบการ ดังต่อไปนี้

1. ชอบสังเกตสิ่งรอบตัว รวมทั้งชอบเรียนรู้ ติดตามเทรนด์ธุรกิจอยู่เสมอ และนำมาต่อยอดเป็นความคิดริเริ่มที่สร้างสรรค์

2. มีความอดทน อดทนที่จะทำในสิ่งที่มีความเชื่อ เมื่อล้มเหลวก็พร้อมที่จะลุกขึ้นสู้ต่อ เพื่อทำให้ความฝันกลายเป็นความจริงให้ได้

3. ต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต มี Passion ที่เป็นแรงผลักดันไปสู่เป้าหมาย และสร้างธุรกิจขึ้นมาจากใจ

4. มีนิสัยชอบเสี่ยง เพราะ “ธุรกิจ”​ กับ “ความเสี่ยง” ​เป็นของที่ควบคู่กัน และมาพร้อมปัญหาและความท้าทายรอบด้าน หากยอมแพ้หรือไม่กล้าเสี่ยงก็จะไม่มีทางประสบความสำเร็จ

5. มีแผนงานเป็นระบบ หรือมี Business Plan เพราะแนวคิดในการทำธุรกิจต้องมาพร้อมแผนงานที่เป็นระบบ ผู้ประกอบการต้องมีความสามารถในการสร้างแผนธุรกิจ หรือมี Map ที่จะพาไปสู่จุดหมาย ทั้งจะทำอะไร ทำที่ไหน ทำอย่างไร ทำกับใคร โดยใคร ​เมื่อใด ใช้เงินทุนเท่าไหร่ จะได้ผลอย่างไร เพื่อจะทำให้ไม่หลงทาง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0