โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เถียงกันไม่จบ “หิ้วของนอกเข้าไทย” กรมศุลฯ ชี้เป็นดุลพินิจ ใช้เอง 2 หมื่นไม่เก็บภาษี

ไทยรัฐออนไลน์ - Economics

เผยแพร่ 17 ก.ค. 2562 เวลา 00.50 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

กรมศุลฯ ยืนยันอีกครั้ง หิ้วของมาใช้เองไม่ถึง 2 หมื่นบาทไม่เสียภาษี หลังมีคนโพสต์ซื้อชุดอาบน้ำเข้ามาราคา 1,500 บาท แต่เจ้าหน้าที่เก็บภาษี 10,000 บาท ระบุ คนไทยไม่ต้องกลัวหากไม่ได้นำมาขาย ขณะที่คนส่วนใหญ่ยังไม่มีความมั่นใจ เพราะกฎหมายไม่ระบุปริมาณที่ชัดเจน แต่ให้ใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่กรมศุลฯ เป็นหลัก

นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยกรณีมีผู้โดยสาร โพสต์ข้อความลงสื่อโซเชียล โดยมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีสำหรับการนำเข้าของติดตัวผู้โดยสารทางท่าอากาศยาน โดยระบุว่า ซื้อชุดเซ็ทอาบน้ำมาจากต่างประเทศ ในราคา 1,500 บาท แต่ต้องเสียภาษีนำเข้าถึง 10,000 บาทนั้น กรมศุลกากร ขอชี้แจงว่า ตามประกาศของกรมฯ ผู้โดยสารจะได้รับยกเว้นอากรสำหรับของส่วนตัวเพื่อใช้เองหรือใช้ในวิชาชีพมูลค่าไม่เกิน 20,000 บาท โดยจะต้องไม่เป็นของต้องห้าม อาทิ ยาเสพติด บุหรี่ไฟฟ้า เป็นต้น หรือเป็นของต้องมีใบอนุญาต (ของต้องกำกัด) อาทิ อาวุธปืน พืช เป็นต้น และไม่มีลักษณะทางการค้า

อย่างไรก็ตาม หากผู้โดยสารนำของที่มีมูลค่าเกิน 20,000 บาทหรือเป็นของที่มีลักษณะเชิงพาณิชย์ หรือ สินค้าเพื่อการค้าขาย แม้จะมีมูลค่าไม่เกิน 20,000 บาท ของดังกล่าว ถือเป็นของต้องเสียภาษีอากร ซึ่งผู้โดยสารสามารถมาสำแดงของเพื่อเสียภาษีอากร ที่ช่องตรวจมีของต้องสำแดง (ช่องแดง) และหากของนั้นเป็นของต้องกำกัด ของนั้นต้องได้รับอนุญาตให้นำเข้าจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน และถ้าหากผู้โดยสารเสียภาษีสินค้าแล้วจะต้องได้รับใบเสร็จจากเจ้าหน้าที่ทุกครั้ง ถ้าหากไม่ได้รับใบเสร็จจะถือว่าเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจในทางมิชอบสามารถร้องเรียนได้ ส่วนใครที่ไม่ต้องการจะเสียภาษีนำเข้าสินค้าถ้าหากถูกเรียกเก็บภาษีสามารถยกสินค้าเหล่านั้นให้เป็นของรัฐบาลได้

ทั้งนี้ อัตราภาษีอากรนำเข้าจะแตกต่างกันตามชนิดและประเภทสินค้า เช่น กระเป๋า 20% นาฬิกา 5% เครื่องสำอาง 30% เข็มขัด 30% เป็นต้น และสินค้าเหล่านี้จะต้องรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) อีก 7% ด้วย โดยค่าภาษีทั้งหมดที่ต้องชำระ คืออากรขาเข้ารวมกับภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น กรณีซื้อเซ็ทอาบน้ำมาใช้มูลค่า 1,500 บาท จะถูกคิดภาษีในอัตรา 30% หรือเสียภาษีเพียง 450-500 เท่านั้น เป็นต้น ดังนั้น กรณีประเด็นที่มีการร้องเรียนว่าซื้อ เซ็ทอาบน้ำมา 1,500 บาท เสียภาษีถึง 10,000 บาท นั้น คิดว่าเจ้าของโพสต์อาจจะบอกรายละเอียดไม่หมด

“ใครที่กลัวว่า ซื้อสินค้านำเข้ามาเพื่อใช้เองเป็นจำนวนมาก จะถูกมองว่านำสินค้ามาขายนั้น เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้าที่นำเข้ามาและปริมาณที่นำติดตัวเข้ามา โดยหากนำเข้าประมาณ 1-3 ชิ้น เจ้าหน้าที่กรมศุลฯ คงไม่มองว่านำสินค้ามาค้าขาย แต่ทั้งนี้ ตามกฎหมายไม่ได้ระบุว่านำเข้าสินค้าปริมาณเท่าใดถึงจะถูกเรียกว่านำสินค้ามาใช้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งตรงนี้จะอยู่ที่ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่”

นายชัยยุทธ กล่าวต่อว่า หากผู้โดยสารคิดว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการจัดเก็บภาษีของเจ้าหน้าที่ศุลกากร หรือพบเห็นเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ศุลกากร สามารถร้องเรียนได้ตามช่องทางต่างๆ ได้แก่ โทรศัพท์สายด่วนรับเรื่องร้องเรียน 1332 ร้องเรียนผ่านทาง Application LINE ID : @customshearing ร้องเรียนด้วยตนเองผ่านศูนย์ประสานงานแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน ตามโครงการ “ระฆังศุลกากร” ของแต่ละส่วนราชการที่ท่านใช้บริการ รวมถึงส่งไปรษณีย์มาที่กรมศุลฯ หรือส่ง E-mail มาได้ที่ ctc@customs.go.th”

นอกจากนี้ ยังสามารถมาร้องเรียนด้วยตนเองที่กลุ่มคุ้มครองและส่งเสริมจริยธรรม ณ กรมศุลกากร หรือร้องเรียนผ่านสำนักนายกรัฐมนตรี GCC 1111 และยังสามารถร้องเรียนไปหน่วยราชการอื่น เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หรือร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนได้อีกด้วย และหากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร ณ จุดปฏิบัติงานที่สนามบินนั้นๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ถึงแม้จะมีการชี้แจงการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าต่างๆ จากกรมศุลกากรแล้ว แต่ประชาชนส่วนใหญ่ ยังมีความกังวลในประเด็นที่ว่า อย่างไรถึงจะเป็นการนำเข้า “เชิงพาณิชย์” และกรณีการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ศุลกากร ที่จะเป็นผู้พิจารณาว่าสินค้าที่นำเข้ามานั้น นำมาใช้เองหรือเป็นสินค้าที่นำเข้ามาขาย เพราะยังมีความไม่ชัดเจน และเกณฑ์ที่เข้าใจได้ในการจัดเก็บภาษี เพราะแม้จะชี้แจงแล้ว ไม่อาจทราบ ได้ว่าเกณฑ์ตัดสินขึ้นอยู่กับสิ่งใด.

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0