โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เตรียมความพร้อม ในการ “ผลิตมะม่วงนอกฤดู” (ตอนจบ)

เทคโนโลยีชาวบ้าน

อัพเดต 22 ก.ค. 2562 เวลา 03.41 น. • เผยแพร่ 22 ก.ค. 2562 เวลา 03.41 น.
22 มะม่วงนอกฤดู

ถ้าต้นมะม่วงติดผลดก การใส่ปุ๋ยควรจะใส่ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น สูตร 16-16-16 ให้กับต้นมะม่วงด้วย มีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอจนผลมะม่วงมีอายุได้ 1 เดือน ถึง 1 เดือนครึ่ง ก็จะงดการให้น้ำได้ หรือให้น้ำบ้างตามสภาพแวดล้อมในแต่ละพื้นที่ ทางใบอาจจะมีการฉีดพ่นปุ๋ย สูตร 20-20-20 หรือ 10-20-30 ผสมกับฮอร์โมนธาตุอาหารเสริม เช่น แคลเซียม-โบรอน ฮอร์โมนโปรดั๊กทีฟ เพื่อทำให้ผลมะม่วงมีความสมบูรณ์

ในระยะดอกเริ่มโรยและติดผลอ่อน เกษตรกรต้องหมั่นดูแล เพราะหากเพลี้ยไฟหรือโรคแอนแทรคโนสเข้าทำลายผลอ่อน ผิวจะไม่สวย ขายไม่ได้ราคา ติดผลอ่อนฉีดล้างโรคแมลงทำผิวให้สวย เมื่อดอกมะม่วงเริ่มโรย เราจะสังเกตเห็นผลอ่อนของมะม่วงติดผลเล็กขนาดไข่ปลาถึงหัวไม้ขีด ช่วงนี้ต้องระวังเพลี้ยไฟกับโรคแอนแทรคโนสให้มาก ระยะนี้เกษตรกรจะใช้สารเคมีที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพดี เช่น สารไซฮาโลทริน (เช่น เคเต้) อัตรา 10 ซีซี หรือใช้สารคาร์โบซัลแฟน (เช่น โกลไฟท์) อัตรา 30-40 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นร่วมกับสารกำจัดโรคแอนแทรคโนส เช่น โพรคลอราซ (เช่น เอ็นทรัส) หรือ เบนโนมิล (เช่น เมเจอร์เบน) คาร์เบนดาซิม อะซ็อกซีสโตรบิน เป็นต้น

ถ้าเคยทำมะม่วงมา 2-3 ปี ก็จะพอมีประสบการณ์ พอจะรู้ว่ามะม่วงช่วงระยะไหน แมลงชนิดใดจะเข้าทำลาย ยกตัวอย่างเช่น เมื่อช่อดอกแทงยาวประมาณ 2 นิ้ว จะมีหนอนมาทำลาย เราก็จะฉีดยาฆ่าหนอน อาจจะใช้ยากลุ่มเมโทมิล หรือ เซฟวิน-85 ก็ได้ ฉีดพ่นประมาณ 1-2 ครั้ง หนอนก็จะไม่ทำลาย หรือในระยะดอกบานเพลี้ยไฟจะระบาด ทางราชการเขาให้งดการฉีดพ่นสารเคมี เพราะจะไปทำลายแมลงที่มาช่วยผสมเกสร แต่จริงๆ แล้ว ถ้าเราไม่ฉีด เพลี้ยไฟกินดอกมะม่วงเราหมดก่อนแน่ ก็ต้องฉีด แต่การฉีดจะต้องเน้นใช้ยาที่ไม่ทำลายดอก เช่น กลุ่มยาผง อย่าง “สารโปรวาโด” ส่วนยาน้ำมันที่ลงท้ายด้วย EC ให้พยายามหลีกเลี่ยง เพราะเป็นยาร้อนจะทำให้ดอกแห้ง เวลาฉีดก็ควรฉีดพ่นในช่วงเช้าหรือเย็น ห้ามฉีดเวลากลางวันเพราะอากาศร้อนจัด

มีเคล็ดลับอีกข้อสำหรับป้องกันผลอ่อนร่วงและเร่งการเจริญเติบโตของผลอ่อน เกษตรกรจะใช้ปุ๋ยทางใบสูตร 12-12-12 อัตรา 30-40 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นร่วมกับฮอร์โมน “จิบเบอเรลลิน” เช่น จิ๊บทรี หรือ จิ๊บแซด ใช้อัตรา 5 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น 1-2 ครั้ง จะทำให้ผลโตเร็ว ลดการหลุดร่วงของผลได้มาก

ระยะผลเจริญเติบโต แนะนำการให้ปุ๋ยช่วงการติดผลไว้ว่า “หลังจากมีการติดผล ผลมะม่วงภายในช่อจะร่วงมากในระยะ 2 สัปดาห์แรก จากนั้นการร่วงก็จะลดลง เมื่อผลมะม่วงขยายขนาดเต็มที่และเริ่มเข้าไคล อาจจะเพิ่มคุณภาพของผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งรสชาติหวาน โดยการให้ปุ๋ยทางดิน 0-0-60 อัตรา 50 กรัม ต่อต้น หรือ ปุ๋ย 13-13-21 อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อต้น และมีการให้น้ำหรือให้ปุ๋ยทางใบด้วยปุ๋ยโพแทสเซียมไนเตรต (13-0-46) อัตรา 50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร 1 ครั้ง การใช้ปุ๋ยทางดินนั้น อัตราการใช้ขึ้นอยู่กับขนาดของต้นและจำนวนผลบนต้น”

“การขยายขนาดผลมะม่วง เมื่อเห็นว่ามะม่วงติดผลแล้ว ก็แนะนำให้ใช้ปุ๋ยทางใบที่มีไนโตรเจนสูงแล้วทางดินก็เช่นกัน ก็ควรให้ปุ๋ยสูตรที่มีไนโตรเจนสูง เพื่อช่วยในการขยายขนาดของผล แล้วควรที่จะมีการให้น้ำที่สม่ำเสมอ เพราะน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในกระบวนการยืดขยายขนาดของเซลล์ผลมะม่วง”

ผลมะม่วงเท่าไข่ไก่ ต้องห่อผล

*เพื่อให้ผิวสวยและป้องกันโรคแมลง *

การซื้อหรือขาย มะม่วงน้ำดอกไม้ ในปัจจุบัน พ่อค้าแม่ค้าจะนิยมซื้อผลมะม่วงที่ห่อก่อน เพราะมะม่วงที่ห่อผล ผิวจะสวย ขายได้ราคาดีกว่ามะม่วงที่ไม่ได้ห่อ พ่อค้าบางคนเวลาไปติดต่อซื้อผลมะม่วงน้ำดอกไม้ จะถามก่อนว่า “ห่อหรือเปล่า” แปลงไหนห่อผลจะขายง่าย แปลงที่ไม่ห่อบางครั้งไม่มีคนซื้อ เมื่อผลมะม่วงมีขนาดโตกว่าไข่ไก่ (ขนาดประมาณ 3 นิ้วมือ) เกษตรกรจะต้องตัดแต่งผลกะเทยออก ช่อไหนติดผลดกเกิน หรือรูปทรงไม่สวยงามจะต้องตัดทิ้งไป คัดผลดีๆ ที่ผิวสวยไว้เพียง 1-3 ผล ต่อก้าน เพื่อควบคุมคุณภาพให้ผลมะม่วงออกมาสม่ำเสมอ ผลไม่เล็กนัก (เกษตรกรบางรายดูแลดีมาก สามารถไว้ผล 3-5 ผล ต่อก้าน)

การผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้เพื่อการค้าต้องห่อผล ช่วงที่ติดผลอ่อน โดยเฉพาะมะม่วงการค้าของไทยอย่างมะม่วงน้ำดอกไม้ ซึ่งหลังจากนี้ไปก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการห่อผลมะม่วงด้วยถุงห่อคาร์บอน เพื่อทำให้มะม่วงน้ำดอกไม้มีผิวสวยและป้องกันแมลงวันทองได้ มะม่วงน้ำดอกไม้จะมีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ “มะม่วงน้ำดอกไม้ เบอร์ 4” และ “น้ำดอกไม้สีทอง” โดยทั่วไปแล้วราคามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองจะสูงกว่ามะม่วงน้ำดอกไม้ เบอร์ 4 ซึ่งความแตกต่างก็จะเป็นที่เปลือก มะม่วงน้ำดอกไม้ เบอร์ 4 จะผิวเขียวกว่า ส่วนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองจะออกสีเหลืองมากกว่า และเมื่อสุกสีจะแตกต่างชัดเจน (กรณีไม่ห่อผล) โดยมะม่วงน้ำดอกไม้ทั้งหมดจะห่อผลด้วยถุงห่อคาร์บอน เพื่อให้ผิวมีสีเหลืองสวยทั้งหมด เป็นที่ต้องการของตลาดและป้องกันแมลงวันทอง

ส่วนรสชาติมะม่วงน้ำดอกไม้ เบอร์ 4 รสชาติจะหวานฉ่ำกว่าและเนื้อนิ่มกว่า ส่วนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองจะออกหวานแต่ไม่หวานจัดเท่ามะม่วงน้ำดอกไม้ เบอร์ 4 และเนื้อจะแข็งกว่า ในเรื่องความนิยม มะม่วงน้ำดอกไม้ เบอร์ 4 นั้นจะได้รับความนิยมมากในผู้ที่กินกับข้าวเหนียวมูนจะเข้ากันมาก เพราะรสชาติที่หวานจัด ส่วนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองนั้นความนิยมก็ไม่ได้แพ้กัน เนื่องจากผิวที่เหลืองสวยงามกว่า เนื้อมะม่วงค่อนข้างทนต่อสภาพอากาศ เก็บไว้ได้นานกว่า แม้รสชาติจะเป็นรองมะม่วงน้ำดอกไม้ เบอร์ 4 แต่ก็เป็นที่นิยมส่งออกไปยังต่างประเทศเพราะผิวสวยแล้วยังเก็บรักษาได้นาน เนื้อแข็งกว่า มะม่วงน้ำดอกไม้ เบอร์ 4 นั่นเอง

ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ต้องห่อผล ทุกวันนี้ถ้าเราปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ ไม่ว่าจะเป็นมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองหรือมะม่วงน้ำดอกไม้ เบอร์ 4 เพื่อการส่งออกหรือขายในประเทศ ก็ต้องห่อผลให้ผิวมะม่วงมีสีสวย หรือยกตัวอย่าง ตลาดในบ้านเราไม่ว่าจะเป็นตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง ถ้ามะม่วงของเราไม่ห่อผล เขาก็จะไม่รับซื้อ หรือซื้อก็จะถูกตีราคาถูกเป็นมะม่วงยำ แล้วบางสวนห่อผลมะม่วงโดยใช้ถุงคาร์บอนไม่มีความรู้ในการห่อผล ขาดประสบการณ์ คิดเอาเองว่ามันต้องเป็นอย่างไร บางสวนห่อมะม่วงไปนับหมื่นถุง แต่พอถึงเวลาเก็บเกี่ยว แกะถุงคาร์บอนออกมากลับพบว่า มะม่วงที่ห่อไว้มีแต่เพลี้ยแป้งเต็มไปหมดก็มี

“สวนคุณลี” จังหวัดพิจิตร จึงมีข้อแนะนำดีๆ มาให้ปฏิบัติ พบว่าแก้ไขปัญหาเพลี้ยแป้งนั้นไม่ยากเลยสักนิด เพียงแต่เราต้องรู้จักการใช้สารเคมี คือใช้ยากลุ่ม “มาลาไธออน” ฉีดสลับกับ “เมโทมิล” ซึ่งเป็นยาที่ค่อนข้างถูก ไม่แพงแต่อย่างใด ในช่วงที่เราฉีดพ่นมะม่วงระยะสะสมอาหาร (ยังไม่ออกดอก) ก็จะเริ่มมีการใช้ยากลุ่มนี้คุมไปตลอด จะเป็นการกำจัดและป้องกันเพลี้ยแป้งไว้แต่ต้น ซึ่งพบว่าเพลี้ยแป้งจะบางเบาจนเกือบจะไม่มีเลยทีเดียว เหมือนการตัดวงจรการระบาดออกไปแต่แรก

แต่การป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งให้ได้ผลดีที่สุด ก็ต้องย้อนไปกำจัดจุดเริ่มต้นของเพลี้ยแป้งคือ กำจัด “มด” โดยเฉพาะมดดำ ที่มันจะคาบเอาเพลี้ยแป้งที่มันอาศัยอยู่บริเวณใต้ใบหญ้า ใต้โคนต้นมะม่วง ขึ้นไปบนต้นมะม่วงเพื่ออาศัยกินสิ่งขับถ่ายของเพลี้ยแป้ง จึงทำให้เกิดการระบาดของเพลี้ยแป้งในมะม่วงนั้นเอง

ดังนั้น ชาวสวนต้องเริ่มที่กำจัดมดให้ได้เสียก่อน ก่อนที่มดจะคาบเพลี้ยแป้งขึ้นต้นมะม่วง ตัวยาที่ฉีดได้ผลดีมากคือ ยากลุ่ม “คาร์บาริล” (เช่น S-85, เซฟวิน 85) ฉีดทั้งต้นมะม่วงและบริเวณดินโคนต้นมะม่วง เมื่อมดหมดไป เพลี้ยแป้งก็น้อยมาก ทำให้เราฉีดยากลุ่มมาลาไธออนและเมโทมิลน้อยลง ทำให้แทบจะไม่เจอปัญหาเพลี้ยแป้งอีกเลย

ก่อนห่อทุกครั้งต้องฉีดพ่นล้างโรค-แมลงเสียก่อน ด้วยการพ่นสารเอ็นทรัส หรือ ฟลิ้นท์+แอนทราโคล เพื่อป้องกันกำจัดโรคแอนแทรคโนส และต้องพ่นสารมาลาไธออน (เช่น แซดมาร์ค) อัตรา 30 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้ง เพราะหากไม่ฉีดพ่นสารกำจัดโรคแมลงตอนนี้ เมื่อเราห่อถุงไป โรคแมลงจะติดอยู่บนผิวมะม่วงโดยที่เราไม่สามารถรู้ หรือมองเห็นได้

ส่วนการห่อผลมะม่วงน้ำดอกไม้อย่างไรให้ผลสวย ซึ่งระยะการห่อนั้นผลมะม่วงน้ำดอกไม้จะต้องมีขนาดเท่าไข่ไก่ หรือถ้านับอายุจากวันที่ดอกบานจนเป็นผลอ่อนที่เริ่มห่อผลได้ ก็ราวๆ 45 วัน ซึ่งผลมะม่วงน้ำดอกไม้จะยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร หลังจากห่อผลได้ประมาณ 50-60 วัน ก็จะเก็บเกี่ยวจำหน่ายได้ แต่การแก่ของผลถ้าเป็นอากาศร้อนมาก อาจจะใช้เวลาเพียง 50 วัน ในถุงห่อ แต่ถ้าอากาศค่อนข้างเย็นในบางพื้นที่ อาจจะให้เวลา 60 วันขึ้นไป เป็นต้น เกษตรกรต้องแกะสุ่มดูเป็นระยะๆ

ห่อผลมะม่วงในระยะที่เหมาะสม การจะทำให้ผลมะม่วงน้ำดอกไม้มีสีเหลืองสวยงาม หรือมะม่วงสายพันธุ์อื่นที่มีเปลือกสีเขียว เช่น มะม่วงอาร์ทูอีทู เขียวใหญ่ แก้วขมิ้น เป็นต้น จะต้องห่อผลโดยใช้ถุงห่อคาร์บอน (แบบ 2 ชั้น) ของ บริษัทชุนฟง ซึ่งเป็นถุงห่อที่มีคุณภาพดี โดยทั่วไปแล้วเกษตรกรจะเริ่มห่อผลที่มีความยาว 5 เซนติเมตร หรือ 2 นิ้ว หลังการหลุดร่วงของผลสิ้นสุดลง

แต่ถ้าสวนขนาดใหญ่ๆ จะห่อผลที่มีขนาดเล็กกว่านั้นเล็กน้อย เพื่อจะได้ห่อผลได้ทันเวลา โดยให้เหตุผลว่าการห่อผลมะม่วงที่มีขนาดเล็กลงมาหน่อย เนื่องจากผิวจะเหลืองสวยไร้รอยโรคและแมลง มากกว่าที่ห่อมะม่วงขนาดผลที่ใหญ่ อีกอย่างหนึ่งจะได้ห่อผลทันเวลา การห่อผลมะม่วงด้วยถุงห่อคาร์บอน นอกจากจะทำให้ผิวมะม่วงสวยแล้ว ยังสามารถป้องกันการเข้าทำลายของแมลงวันทองหรือแมลงวันผลไม้ได้ แล้วยังลดการใช้สารเคมีฉีดพ่นแมลงได้เป็นอย่างมาก รวมถึงช่วยให้ผลมะม่วงปลอดภัยจากสารเคมีที่ฉีดพ่นได้แล้ว อีกอย่างการห่อผลจะทำให้เกษตรกรนั้นสามารถคาดการณ์ผลผลิตของสวนตัวเองได้ค่อนข้างแม่นยำ เพราะคำนวณจากจำนวนถุงห่อที่ได้ใช้ไปคูณกับน้ำหนักผลมะม่วง 1 ผล (สายพันธุ์ที่ตัวเองปลูกว่ามีค่าเฉลี่ยน้ำหนัก 1 ผล คร่าวๆ เท่าไร)

ปัญหามะม่วงอ่อน ทำตลาดพัง

“ปัญหามะม่วงอ่อน เป็นอีกปัญหาเรื้อรังที่ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง สาเหตุหลักมาจากความเห็นแก่ตัวของเกษตรกรและพ่อค้าที่หวังแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์และภาพลักษณ์ของส่วนรวม” ซึ่งฝากไว้เป็นข้อคิดสำหรับทุกฝ่ายในกระบวนการผลิตมะม่วงที่จะต้องช่วยกันรักษาคุณภาพและตลาดมะม่วงไทยให้เกิดความมั่นคง

ซึ่ง “มะม่วงอ่อน” คือ มะม่วงที่เกษตรกรเก็บผลผลิตขายก่อนครบกำหนด ทำให้คุณภาพผลผลิตไม่ตรงตามสายพันธุ์ ยกตัวอย่าง มะม่วงฟ้าลั่น และเพชรบ้านลาด เป็นมะม่วงบริโภคผลดิบ จะต้องเก็บผลผลิตหลังดอกบาน ประมาณ 95-110 วัน ถึงจะได้มะม่วงที่มีรสชาติหวานมัน อมเปรี้ยวนิดๆ

การเก็บผลอ่อนจะได้ผลผลิตที่มีรสเปรี้ยวเพียงอย่างเดียว ไม่มีความหวานมันเลย มะม่วงน้ำดอกไม้เป็นมะม่วงบริโภคผลสุก จะต้องเก็บผลผลิตหลังดอกบาน ประมาณ 110-120 วัน ถึงจะได้มะม่วงที่เมื่อสุกแล้วมีรสชาติหวาน หอม เนื้อแน่น กินแล้วอร่อยหวานชื่นใจ แต่ถ้าเก็บผลอ่อน เมื่อบ่มแล้วผลจะเหี่ยว เนื้อไม่สวย เป็นโพรง รสชาติไม่หวานจะออกเปรี้ยวมาก ไม่ถูกปากผู้บริโภค

ปัญหาการเก็บมะม่วงอ่อนนี้ เป็นปัญหาหลักที่ทำให้ราคาผลผลิตตกต่ำ ผู้ซื้อจะเข็ดกับมะม่วงอ่อนมาก จนทำให้เกิดปัญหา “ตลาดตาย” เป็นผลเสียโดยตรงต่อตัวของเกษตรกรเอง และเป็นการสูญเสียภาพลักษณ์ของมะม่วงประเทศไทยถ้าถูกส่งออกไปขายยังต่างประเทศ อันนี้ฝากทิ้งท้ายเป็นข้อคิดในการผลิตมะม่วง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0