โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เด็ดอนาคตใหม่ สะเทือน กกต. ยกต่อไป ‘ธนาธร’ ดวลคดี 14 จำเลย

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 23 ก.พ. 2563 เวลา 16.57 น. • เผยแพร่ 23 ก.พ. 2563 เวลา 16.57 น.
8-2 เด็ดอนาคตใหม่

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับพรรคอนาคตใหม่ กลายเป็น “คู่พิพาท” ในสังเวียนการเมืองขณะนี้ เมื่อ กกต.กลายเป็นต้นเรื่องที่นำไปสู่การตัดสินชะตาชีวิตพรรคอนาคตใหม่ พรรคที่มีอายุเกือบครบ 3 ปี

หนึ่ง กรณีถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งเข้าข่ายเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการสื่อ อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ซึ่งเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของ ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)

สอง กรณีพรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จำนวน 191,200,000 บาท เป็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่ และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

Side Effect 2 คดีของพรรคอนาคตใหม่ กับ กกต. เกิดการฟ้องร้องกันอีนุงตุงนังอาจกล่าวได้ว่าเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษ ที่องค์กร กกต.ต้องกลายเป็น “ผู้ถูกกล่าวหา” ในชั้นศาล 

หลังจากพ้น กกต.ยุค “พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ” ที่ถูก “ถาวร เสนเนียม” รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น เป็นโจทก์ยื่นฟ้องว่า พล.ต.อ.วาสนา ประธาน กกต. นายปริญญา นาคฉัตรีย์ และนายวีระชัย แนวบุญเนียร กกต. เป็นจำเลย ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งโดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 

ร่วมกันจัดการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตรอบใหม่ เมื่อวันที่ 23 และ 29 เมษายน 2549 โดยไม่มีอำนาจ และออกหนังสือเวียนถึง ผอ.กต.เขต ให้รับผู้สมัครรายเดิมเวียนเทียนสมัครใหม่ อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 2541 มาตรา 24 และ 42 ผ่านไปสิบกว่าปี อดีต กกต.ก็ถูกจำคุก

ถัดจากนั้นมากที่สุด กกต.ต้องเผชิญหน้ากับการถูกตรวจสอบ ถูกร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ถอดถอน กกต. ไม่ว่าจะเป็น กกต.ยุคอภิชาต สุขัคคานนท์ กกต.ยุคศุภชัย สมเจริญ 

แต่ใน กกต.ยุคอิทธิพร บุญประคอง ต้องส่งเจ้าหน้าที่ขึ้นศาลชี้แจงในชั้นศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบในรอบ 1 ทศวรรษกว่า และอาจกล่าวได้ว่าไม่เคยอุบัติขึ้นมาก่อน ที่ กกต.ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ เพราะเพิ่งแยกแผนกออกมาจากศาลอาญาแผนกคดีทุจริต เปิดทำการศาลเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2559  

อำนาจ กกต.ถูกท้าทายในศาลใหม่ ครั้งแรกเป็นกรณีที่ “นายสุรทิน พิจารณ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ ยื่นฟ้อง กกต.รวม 7 คน กรณีออกประกาศ กกต.เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 62 เรื่องการแจ้งรายชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นแคนดิเดตนายกฯพรรคพลังประชารัฐโดยไม่ชอบ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์เป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ซึ่งถือเป็นบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ทั้งที่มีข้อโต้แย้ง ทักท้วง ถึงความไม่ถูกต้อง ของ กกต.ทั้ง 7 โดยตรงและโดยอ้อมจากสื่อสาธารณะโดยทั่วไป 

ซึ่งศาลอาญาได้รับคำร้อง แต่ที่สุด “สุรทิน” ก็ถอนฟ้องเพราะได้เป็น 1 ในพรรคร่วมรัฐบาลได้เปลี่ยนใจถอนฟ้อง แต่ก็เป็น “บรรทัดฐาน” ให้พรรคอนาคตใหม่ใช้ช่องนี้ยื่นฟ้อง กกต.ทั้ง 7 คน ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และ 89 และตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. พ.ศ. 2560 มาตรา 69 กรณี กกต.รวบรัด-เร่งรัดยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่อนุกรรมการไต่สวนยังสอบไม่เสร็จจากเหตุนี้ ในกรณีที่ “ธนาธร” ถือหุ้นบริษัทวีลัคฯ 

ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “ธนาธร” สิ้นสภาพการเป็น ส.ส.เมื่อ 20 พ.ย. 2562 แต่ที่สุดแล้ว เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2562 ศาลอาญาคดีทุจริตฯ มีคำสั่งยกฟ้อง โดยเห็นว่าคณะกรรมการ กกต.ทั้ง 7 ราย ดำเนินการถูกต้อง

ครั้นมาถึงคดีเงินกู้ 191.2 ล้านบาท “ธนาธร” เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง กกต. 7 คน+เจ้าหน้าที่ กกต. โดยมีนายเกรียงศักดิ์ ม่วงอ่อน เป็นจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นประธานกรรมการสืบสวนและไต่สวนคดีเงินกู้ 191.2 ล้าน 

พร้อมด้วยนายนิยต ดำรงประภักดิ์ จำเลยที่ 2 นายสุชาติ เพชรอาวุธ จำเลยที่ 3 พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา จำเลยที่ 4 นางสุกัญญา รัตนนาคินทร์ จำเลยที่ 5 พล.ท.สมชาย ชัยวณิชยา จำเลยที่ 6 พล.ต.ต.ชนะชัย ลิ้มประเสริฐ จำเลยที่ 7 นายอิทธิพร บุญประคอง จำเลยที่ 8 นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ จำเลยที่ 9 นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย จำเลยที่ 10 นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี จำเลยที่ 11 นายปกรณ์ มหรรณพ จำเลยที่ 12 นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ จำเลยที่ 13 นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ จำเลยที่ 14

โดยศาลรับเป็นคดีหมายเลขดำที่ อท.185/2562 ในฐานะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 มาตรา 86 มาตรา 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งปี 2560 มาตรา 69 ซึ่งแต่เดิมศาลนัดฟังคำวินิจฉัย 20 ก.พ. 2563 ก่อน ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินชะตากรรมอนาคตใหม่เพียง 1 วัน แต่ศาลเลื่อนการอ่านคำวินิจฉัยไปก่อน เป็นวันที่ 2 เม.ย. 2563 และให้จำเลยส่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาให้ศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิจารณาภายใน 30 วัน

ขณะที่ฝั่ง กกต.เตรียมขยายผลต่อ เพื่อเอาผิด “ธนาธร” เช่นกัน ตามมาตรา 151 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 จากเหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “ธนาธร” พ้นการเป็น ส.ส.จากกรณีถือหุ้นสื่อวีลัคฯ 

กรณีรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิสมัคร ส.ส. แต่ไปลงสมัคร โทษจำคุก 1-10 ปี ตัดสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี ปรับ 2 หมื่น-2 แสนบาท ไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

“อิทธิพร” กล่าวถึงขั้นตอนการพิจารณาเอาผิดอาญา “ธนาธร” ว่า คณะกรรมการไต่สวนได้ส่งเรื่องมาให้ กกต.พิจารณาแล้ว แต่ กกต.ได้ส่งเรื่องกลับไปเพื่อให้ไปพิจารณาประเด็นอื่นเพิ่มเติม อยู่ระหว่างการรอคณะกรรมการไต่สวนส่งกลับมาอีกครั้ง  ระหว่างศึกตัดสิทธิ-ยุบพรรค มีผลข้างเคียงตามมามากมาย ใครแพ้-ใครชนะ คำตอบอย่างที่เห็นกันอยู่

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0