โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เช็คให้รู้ ดูให้แน่! วิธีตรวจสอบ 'เงินในบัญชีหาย' จริง หรือ มั่ว?

กรุงเทพธุรกิจ

เผยแพร่ 18 ม.ค. 2563 เวลา 02.30 น.

จากกรณีของดาราหนุ่ม ศรราม เทพพิทักษ์ ที่ได้ไปแจ้งความ หลังจากพบว่าเงินในบัญชีธนาคารแห่งหนึ่งหายไปหลายแสนบาท กว่าจะรู้ก็ตอนที่ไปทำธุรกรรมที่สาขาธนาคารที่ไปเปิดบัญชี

ล่าสุดธนาคารต้นสังกัดที่ถูกกล่าวถึง ได้ตรวจสอบหาสาเหตุของเงินที่หายไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวครั้งนี้ พบว่าเป็นฝีมือของคนใกล้ตัว หนุ่ม-ศรรามเอง

ไประเด็นนี้เป็นสิ่งที่หลายคนตั้งคำถามกันว่า จริงๆ แล้ว เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เงินที่มีอยู่ในบัญชีธนาคารต่างๆ คงเหลือเท่าไหร่ เพราะบางคนอาจไม่ได้ไปธนาคารบ่อยๆ หรือบางคนอาจจะฝากเงินอย่างเดียว แล้วไม่เคยถอนออกมาใช้

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จึงรวบรวบวิธีการเบื้องต้นที่จะเป็นตัวช่วยให้เรารู้ความเคลื่อนไหวบัญชีธนาคารของเรา

เริ่มจากวิธีการแรก ง่ายๆ แบบดั้งเดิม คือการถือสมุดบัญชีเงินออมทรัพย์ไปที่สาขาธนาคารจะเป็นที่ไหนก็ได้ ขอให้เป็นธนาคารเดียวกับที่เราเปิดบัญชีไว้ เพื่อขอให้พนักงานอัพเดตข้อมูลให้เป็นล่าสุด หรืออาจใช้เครื่องปรับสมุดเงินฝากอัตโนมัติ ที่มักจะติดตั้งตามสถานที่ต่างๆ เช่น สาขาธนาคาร ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น เพียงสอดสมุดบัญชีเข้าไปในเครื่อง ระบบจะทำการอัพเดตให้อัตโนมัติ วิธีการนี้ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ จะได้รู้ด้วยว่าวันที่เท่าไหร่ มีเงินฝากเข้า หรือถอนออก

วิธีต่อมา คือการเดินไปที่ตู้เอทีเอ็มพร้อมบัตรเดบิตของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นธนาคารไหนก็สามารถใช้ได้เหมือนกัน และไม่เสียค่าธรรมเนียมแม้แต่บาทเดียว ก็สามารถเช็คได้ สิ่งสำคัญที่ต้องระวัง คือ การเอามือป้องเมื่อกดรหัสผ่าน หรือ PIN เพื่อป้องกันคนอื่นเห็นแล้วนำไปใช้ได้

โดยวิธีการหลังจากใส่รหัสผ่านเรียบร้อยแล้ว หน้าจอที่ตู้เอทีเอ็มจะขึ้นเมนูมามากมายทั้งซ้ายและขวา ให้เลือกเมนูสอบถามยอดเงิน หลังจากนั้นก็เลือกว่าเป็นบัญชีออมทรัพย์ กระแสรายวัน หรือบัตรเครดิต เป็นต้น ระบบจะแสดงยอดเงินคงเหลือขึ้นมา เราก็จะได้รู้ว่าเงินเหลือเท่าไหร่

หากไม่สะดวกเดินทางออกนอกบ้าน ก็สามารถโทรสายด่วนหรือ Call Center ของธนาคารต่างๆ เพื่อสอบถามยอดเงินคงเหลือได้เช่นกัน แต่อาจมีค่าใช้จ่ายด้วย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ กด 1333, ธนาคารกสิกรไทย 02-8888888, ธนาคารไทยพาณิชย์ 02-777-7777, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 1572, ธนาคารกรุงไทย 0-2111-1111 และ ธนาคารออมสิน 1115 ฯลฯ

หรือวิธีที่ตอบโจทย์คนต้องการความสะดวกสบาย ก็คือ การสมัครบริการ SMS แจ้งความเคลื่อนไหวของบัญชีเงินฝากของธนาคาร เพื่อให้มีการแจ้งเตือนตลอดเวลาที่มีการทำธุรกรรม ก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ดี แต่วิธีจะเสียค่าใช้จ่าย ส่วนใหญ่เป็นรายเดือน เช่น 20 บาท ซึ่งจะหักค่าธรรมเนียมจากบัญชีเงินฝาก

แต่ต้องบอกเลยว่าปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีก้าวล้ำเข้ามาในชีวิตประจำวันของเราในทุกๆ ส่วน ซึ่งเราเองต้องรู้จักใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด หากพูดถึงในแง่ของการเงินการธนาคาร เหล่าธนาคารหลากสีต่างพัฒนาแอพพลิเคชั่นของตัวเองขึ้นมา ที่สามารถทำธุรกรรมต่างๆ ได้เหมือนไปธนาคารสาขาเลย หรือที่เรียกว่าMobile Banking หรือInternet Banking และแน่นอนว่าหนึ่งในนั้นคือ สามารถตรวจสอบยอดเงิน

โดยทุกๆ คน สามารถดาวน์โหลดแอพฯ ของธนาคารที่เราเปิดบัญชีไว้ ทำการลงทะเบียน (บางธนาคารต้องลงทะเบียนด้วยตัวเองที่สาขา) จากนั้นก็สามารถตรวจสอบความเคลื่อนไหวของบัญชี พร้อมยอดเงินคงเหลือได้แบบเรียลไทม์ โดยไม่ต้องไปที่ตู้เอทีเอ็ม หรือสาขาธนาคาร ที่เปิด-ปิดเป็นเวลาและสามารถตั้งให้มีการแจ้งเตือนในโทรศัพท์ เหมือนกับการใช้แอพพลิเคชั่นอื่นๆ โดยชื่อเรียกโมบายแบงกิ้งนี้จะแตกต่างกันไปยกตัวอย่างเช่น

  • ธนาคารกสิกรไทย พัฒนาแอพชื่อว่า K PLUS และ K-Cyber ขึ้นมา
  • ธนาคารไทยพาณิชย์ ใช้ชื่อแอพพลิเคชั่นว่า SCB Easy
  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา คือ KMA หรือ KrungSri Mobile App
  • ธนาคารกรุงไทย คือ Krungthai Next
  • ธนาคารทหารไทย คือ TMB TOUCH
  • ธนาคารกรุงเทพ ใช้ชื่อว่า Bualuang MBanking
  • และธนาคารออมสิน คือ MYMO BY GSB

โดยวิธีนี้แต่ละคนจะต้องเปิดบัญชีกับธนาคารนั้นๆ ก่อน โดยจะต้องดาวน์โหลดและติดตั้งแอพพลิเคชั่นโมบายแบงกิ้งในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งหากเพิ่งเข้าใช้เป็นครั้งแรกจะต้องลงทะเบียนตามขั้นตอน แต่ไม่ควรที่จะให้คนอื่นรู้ เพราะว่าต้องกรอกข้อมูลส่วนตัว เช่น เลขบัตรประจำตัวประชาชน เลขที่บัญชี รวมถึงการตั้งรหัสประจำตัว (User ID) และรหัสผ่าน (Password) ด้วย แต่ต้องระมัดระวังเทคโนโลยีที่ทันสมัยนี้ด้วย เพราะปัจจุบันสามารถสแกนใบหน้าเพื่อปลดล็อกเข้าสู่แอพพลิเคชั่นได้

ทั้งนี้ทั้งนั้นเราต้องรู้จักป้องกัน ด้วยการทำธุรกรรมต่างๆ อย่างรอบคอบ ตรวจสอบเลขที่บัญชีในการฝากเข้า ถอนออกให้เรียบร้อย รวมถึงเมื่อทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือ ควรเปลี่ยนรหัสผ่านอย่างสม่ำเสมอ และควรรู้เฉพาะแค่เราเท่านั้น เพื่อป้องกันคนอื่นเอาไปใช้ และที่สำคัญคือ หากใช้อินเทอร์เน็ตแบงกิ้งเรียบร้อยแล้ว ควรจะ Log out ทุกครั้ง

แต่ถ้าพบว่าเงินในบัญชีหายไปแล้ว สิ่งที่ควรทำอันดับแรกคือ การเช็คยอดเงินที่เหลืออยู่ รวมถึงการโทรสายด่วนธนาคารหรือใช้โมบายแบงกิ้งเพื่ออายัดบัตรเอทีเอ็มนั้นๆ ไว้ก่อน หลังจากนั้นติดต่อธนาคารเพื่อแจ้งให้ตรวจสอบ และไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ หากเรื่องนี้ยังไม่คืบหน้าสามารถติดต่อศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของธนาคารแห่งประเทศไทยได้ที่เบอร์ 1213

ที่มา : วิกิฮาว, page365.net, มันนี่ฮับ, แบรนด์อินไซด์

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0