โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

เช็กอัพตัวเองหรือยัง ? “โรคซึมเศร้า” ทำแบบทดสอบเบื้องต้น คุณกำลังเสี่ยงอยู่ใช่ไหม ?

new18

อัพเดต 17 มิ.ย. 2562 เวลา 07.40 น. • เผยแพร่ 17 มิ.ย. 2562 เวลา 07.30 น. • new18
เช็กอัพตัวเองหรือยัง ? “โรคซึมเศร้า” ทำแบบทดสอบเบื้องต้น คุณกำลังเสี่ยงอยู่ใช่ไหม ?
ควรเลิกคำพูดเชิงเปรียบเทียบว่า “ดูคนนั้นสิเขาลำบากกว่าตั้งเยอะ เขายังไม่เศร้าเลย” ซึ่งนั่นไม่ช่วยอะไรพวกเขาเลย และไม่ควรโฟกัสกับการเร่งรัดที่จะให้เขาหาย แค่พยายามให้ความรักความใส่ใจและเข้าใจเขาก็เพียงพอ …

สืบเนื่องจากข่าวอาการป่วย"โรคซึมเศร้า" ของไอดอลสาวชาวเกาหลี"คิมแทยอน" สมาชิกวงเกิร์ลกรุ๊ป"Girls' Generation" ที่ขณะนี้เธอกำลังต่อสู้กับมันอย่างมีสติ และพร้อมเปิดเผยเรื่องราวของเธอให้แก่แฟนคลับทั่วโลกรับรู้ โดยเธอไม่คิดจะปิดบังเพราะเธอเชื่อว่าจะสามารถผ่านพ้นภัยร้ายที่กำลังทำลายชีวิตของเธอได้ในเวลาไม่ช้านาน …

ด้วยทีมข่าวบันเทิง นิว 18 เห็นว่าข่าวการป่วยของ "คิมแทยอน" นั้น มีความสำคัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก ซึ่งในปัจจุบันโรคนี้กำลังเป็นภัยเงียบไร้สัญญาณเตือนใดๆ และสามารถคร่าชีวิตเราทุกคนได้อย่างง่ายดาย วันนี้ทีมข่าวจึงนำแบบทดสอบโรคซึมเศร้าง่ายๆ จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยให้เพื่อนๆ ทำดูก่อน เผื่อจะได้รู้ตัวเองในขั้นต้นว่าเรานั้นเข้าค่ายเป็นโรคนี้หรือไม่ …

ประเมินความเสี่ยงโรคซึมเศร้าในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

จดคำตอบของแต่ละข้อเอาไว้ แล้วมารวมคะแนนทีหลัง
จงเลือกตอบคำถามข้อ 1-9 ด้วยตัวเลือกเหล่านี้
>> ไม่เป็นเลย
>> เป็นบางวัน (1 - 7 วันต่อสัปดาห์)
>> เป็นบ่อย (มากกว่า 7 วันต่อสัปดาห์)
>> เป็นแทบทุกวัน

--------------------------------------------------------------------------------------
1. เบื่อ !! ไม่สนใจอยากทำอะไรทั้งนั้น
2. ไม่สบายใจ ซึมเศร้า ท้อแท้

3. หลับยาก หลับๆ ตื่นๆ หรือหลับมากเกินไป

4. เหนื่อยง่าย ไม่ค่อยมีแรง

5. เบื่ออาหาร หรือกินมากเกินไป

6. รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง คิดตลอดเวลาว่าตัวเองไม่ดีพอ เป็นคนล้มเหลวในชีวิต ทำให้ตัวเองและครอบครัวผิดหวัง

7. ไม่ค่อยมีสมาธิกับสิ่งที่ทำ เช่น ดูโทรทัศน์ เล่นอินเทอร์เน็ต ฟังเพลง หรือทำงานที่ต้องใช้ความตั้งใจ

8. พูด หรือทำอะไรช้าเกินไปจนคนอื่นสังเกตเห็น หรือกระสับกระส่ายอยู่ไม่สุข ไม่สามารถอยู่นิ่งๆ ได้เหมือนเคย

9. เคยคิดจะทำร้ายตัวเอง คิดว่าตัวเองไม่อยู่แล้วคงจะดี

--------------------------------------------------------------------------------------
** คิดคะแนนโดย **

ไม่เป็นเลย = 0 คะแนน
เป็นบางวัน = 1 คะแนน
เป็นบ่อยๆ = 2 คะแนน
เป็นแทบทุกวัน = 3 คะแนน
หากได้คะแนน 0-6 คะแนน
คุณ = ปกติ
ควรดูแลสุขภาพจิตของตัวเองให้ดีแบบนี้ต่อไป
หากได้คะแนน 7-12 คะแนน

คุณ = ซึมเศร้าเล็กน้อย
ควรได้รับคำปรึกษา หรือบำบัดทางจิตเวชโดยจิตแพทย์
หากได้คะแนน 13-18 คะแนน

คุณ = ซึมเศร้าปานกลาง
ควรได้รับคำปรึกษา หรือบำบัดทางจิตเวชโดยจิตแพทย์
หากได้คะแนน 19-27 คะแนน
คุณ = ซึมเศร้ารุนแรง
ควรได้รับคำปรึกษา หรือบำบัดทางจิตเวชโดยจิตแพทย์อย่างเร่งด่วน
---------------------------------------------------------------------------------------
แต่อย่างไรก็ตาม แบบประเมินฟอร์มนี้เป็นเพียงการประเมินด้วยตนเองในเบื้องต้นเท่านั้น หากได้มากกว่า 7 คะแนน หรือรู้สึกทรมาน ไม่มีความสุข เริ่มรู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนไปจนคนรอบข้างสังเกตเห็น ควรปรึกษาจิตแพทย์โดยตรงจะดีที่สุด

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง "แทยอน"   แฟนคลับทั่วโลกส่งกำลังใจ หลังทราบข่าว "แทยอน" ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า

"คำว่าไม่เป็นไรเนี่ยแหละ ที่จริงแล้ว มันโคตรเป็น…"
สุดท้ายนี้เราต้องทำตัวยังไงเมื่อรู้ว่าคนใกล้ชิดมิตรสหายกำลังถูกภัยซึมเศร้าเข้าคุกคาม 

"คนที่เป็นโรคซึมเศร้าเขาต้องการเพื่อนมากกว่าหมอ จึงเป็นที่มาของกลุ่มอาสาสมัครอดีตผู้ป่วยที่ใช้ประสบการณ์ตัวเองบำบัดผู้อื่น ล่าสุดจะมีหลักสูตรการรับมือกับโรคทางจิตเวชของสมาคมสายใยครอบครัว ซึ่งมีจุดประสงค์สอนผู้ดูแลผู้ป่วย เช่น สำหรับแม่ดูแลลูก พี่เลี้ยงดูแลผู้ป่วยโรคจิตเวช ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถเข้าเรียนรู้จากคลาสนี้ได้ พอเรียนจบจะสามารถถ่ายทอดประสบการณ์เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยได้อีกทาง"

***“สำหรับผู้ป่วยแล้วสิ่งที่เขาต้องการที่สุดไม่ใช่หมอ แต่คือเพื่อนที่ป่วยเหมือนกัน ต้องการคนที่เข้าใจกัน เราเข้าใจความต้องการนี้ จึงมีการรวบรวมอาสาสมัคร ทั้งนักวิชาชีพ นักสังคมสงเคราะห์ เกิดเป็นเครือข่ายความสุขจากโรคซึมเศร้าขึ้นมา เดินสายให้การอบรมแบบฟรีๆ ตามสถาบันศึกษา”


นั่นคือจุดเริ่มต้นของเครือข่ายอาสาสมัคร‘ความสุขจากโรคซึมเศร้า’ การรวมตัวกันของผู้มีจิตอาสาที่จะทำงานกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าแบบไม่แสวงหารายได้ โดยสมาชิกในกลุ่มนี้เกือบทั้งหมดเป็นผู้มีประสบการณ์จากการเป็นผู้ป่วยทางจิตเวชมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นอาการไบโพลาร์ อาการป่วยจากโรคซึมเศร้า
สิ่งที่เครือข่ายฯ เน้น คือการเฝ้าระวังไปที่กลุ่มเยาวชนชั้นมัธยมฯ เนื่องจากการฟักตัวของโรคเริ่มตั้งแต่คนวัยนี้ เยาวชนจึงต้องทำให้เด็กรู้จักตัวเองตั้งแต่ต้นทาง ต้องหัดสังเกตตัวเองว่าเริ่มเหงา เริ่มเศร้า เริ่มก้าวร้าว เริ่มเหนื่อยไม่อยากพบคน แบบนี้หรือไม่ อย่าปล่อยให้ถึงมือแพทย์เมื่อสายไป

สิ่งที่ไม่ควรทำกับผู้ป่วยนั้นก็ไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่คิด ย้ำว่า อย่ากลัวที่จะพูดคุย โดยเฉพาะสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างการพูดให้กำลังใจแบบส่งๆ เช่น “สู้ๆนะ”, “อย่าท้อ ต้องผ่านไปให้ได้” หรือมองว่าเขาเป็นคนอ่อนแอ ไม่สู้ แต่ควรให้กำลังใจด้วยวิธีการรับฟังปัญหา คอยสังเกตพฤติกรรม
อย่าลืมว่าปัญหา และอาการของโรคที่เกิดขึ้นกับแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางครั้งปัญหาของผู้ป่วยอาจมาจากเรื่องทั่วไป ที่คนภายนอกไม่มองว่าเป็นเรื่องใหญ่ หรืออาจเป็นเรื่องคอขาดบาดตายที่เราคาดไม่ถึงก็ได้ จนเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งอยากพ้นจากปัญหา ความทุกข์ หรือสภาพแวดล้อมที่เผชิญอยู่
โรคซึมเศร้าจึงเฝ้าระวังและป้องกันได้ เช่นเดียวกับอาสาสมัครที่แม้จะเคยป่วย แต่ก็ร่วมแชร์ประสบการณ์ของตัวเอง และสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่น

** รู้หรือไม่ ?

คำพูดต้องห้าม ที่พยายามอย่าใช้กับผู้ป่วย

ซึ่งคำเหล่านี้นอกจากผู้ป่วยจะไม่ได้รับกำลังใจเพิ่มแล้ว ยังทำให้พวกเขาอาการหนักกว่าเดิมได้อีกด้วย เช่น ร้องไห้ทำไม, เดี๋ยวก็ดีเอง, อย่าคิดมาก, แค่นี้เอง หรือคำเชิงต่อว่าอย่าง จะเศร้าไปถึงไหน, เอาแต่เศร้าไม่เหนื่อยบ้างเหรอ เป็นต้น โดยในทางจิตวิทยาเรียกว่า Ignorance คือเป็นการปล่อยให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าเผชิญเรื่องร้ายอยู่คนเดียว

คำพูดที่ควรใช้สำหรับผู้ป่วย 

จากคำต้องห้ามข้างต้นหลายคนอาจจะถามว่า แล้วควรพูดยังไงดีล่ะ ซึ่งคำพูดที่เราควรใช้เป็นกำลังใจแก่ผู่ป่วย ช่วยให้เขารับรู้ว่าเราอยู่เคียงข้างกับเขา เช่น ฉันไม่รู้หรอกว่าเธอแย่ขนาดไหนแต่ฉันพร้อมจะเข้าใจเธอตลอดนะ, ฉันเชื่อว่าอีกไม่นานเธอจะดีขึ้น อดทนไว้นะ หรือสำหรับบางคนอาจมีการจับมือกันหรือโอบกอด ถ่ายทอดความรู้สึกดี ๆ ให้กับเขา ผู้ป่วยจะเริ่มเข้าใจว่ามีคนคอยอยู่เคียงข้างพวกเขาทำให้เขามีความหวังขึ้น

ปิดปากและเปิดใจ

สิ่งที่ผู้ป่วยซึมเศร้าต้องการมากที่สุดคือใครสักคนที่อยู่เคียงข้างรับฟังปัญหาของพวกเขา ซึ่งหากใครที่มีคนใกล้ตัวเป็นโรคซึมเศร้า คุณควรถามหรือกระตุ้นให้เขาเล่าในสิ่งที่เขาไม่สบายใจ โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องแสดงความเห็นใด ๆ ยกเว้นเพียงฟังเขาอย่างตั้งใจให้ได้มากที่สุด

อย่าปล่อยให้เก็บตัว

อีกหนึ่งหนทางที่สามารถทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นได้ ก็คือการพาเขาออกไปเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง ซึ่งโดยปกติผู้ป่วยอาจจะเก็บตัว ปลีกตัวออกจากสังคม โดยเราอาจพาเขาออกมาเดินเล่น หรือออกไปกินข้าวใกล้ ๆ บ้านบ้างก็ได้ ถ้าให้ดีก็พาไปเที่ยวสนุกๆ ไปเลยถ้าทำได้ มันช่วยได้จริงๆ นะ
อย่างไรก็ตาม การดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้นควรใช้ความอดทนและเข้าใจ จิตใจต้องเข้มแข็งเพราะไม่งั้นอาจจะจิตตกดิ่งตามไปอีกคนก็เป็นได้ และควรเลิกคำพูดเชิงเปรียบเทียบว่า “ดูคนนั้นสิเขาลำบากกว่าตั้งเยอะ เขายังไม่เศร้าเลย” ซึ่งนั่นไม่ช่วยอะไรพวกเขาเลย และไม่ควรโฟกัสกับการเร่งรัดที่จะให้เขาหาย แค่พยายามให้ความรักความใส่ใจและเข้าใจเขาก็เพียงพอ

ขอบคุณข้อมูล : Bottom Line , รพ.จุฬาลงกรณ์
ขอบคุณภาพ : แฟนคลับแทยอนทางทวิตเตอร์

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0