โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เชิงบันไดทำเนียบ : ถอดรหัส ‘บิ๊กแดง’ ต่อคิวนั่ง นายกฯ ‘บิ๊กป้อม’ เชียร์ชัด ‘บิ๊กตู่’ เก้าอี้ร้อน ?

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 20 ต.ค. 2562 เวลา 07.36 น. • เผยแพร่ 20 ต.ค. 2562 เวลา 07.36 น.
เชิง

‘บิ๊กแดง’พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ยังแรงไม่หยุด จากปรากฏการณ์‘บิ๊กแดงเอฟเฟกต์’ หลังจัดบรรยายพิเศษ ล่าสุดที่ประชุมสภาได้มีการพูดชื่อพาดพิง โดยมาจาก ‘วิสาร เตชะธีราวัฒน์’ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ที่คาดว่า ผบ.ทบ. จะเป็น นายกฯ ต่อจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ที่มีการจับตาบทบาท ‘บิ๊กแดง’ หลังเกษียณฯ ก.ย.63 จะไปดำรงตำแหน่งสำคัญใดต่อ แต่การกล่าวในสภาเช่นนี้ก็ทำให้การจับตามองครั้งนี้ถูกประกาศในพื้นที่สำคัญทางการเมือง อีกทั้งถูกตอกย้ำจาก ‘บิ๊กป้อม’พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่ไม่ได้ปฏิเสธ แถมเชียร์ ‘บิ๊กแดง’ ด้วย
.
“ก็ไม่รู้สิ แต่ถ้าเป็นได้ก็ดี” พล.อ.ประวิตร กล่าว

คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า ‘บิ๊กแดง’ จะมาเป็น นายกฯ ได้อย่างไร ? จะซ้ำรอย ‘บิ๊กตู่’ ในรูปแบบไหน ? และจะมาเป็น นายกฯ หรือไม่ ? เป็นคำถามที่ต้องไปดูตาม รธน.60 ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ เป็น ส.ว. โดยตำแหน่งกับ ผบ.เหล่าทัพและปลัดกลาโหม รวม 6 คน
.
ซึ่งตาม ม.98 นั้น ได้ระบุว่าผู้ที่เป็น ส.ว. หรือเคยเป็น ส.ว. หากพ้นตำแหน่ง ส.ว. ไม่เกิน 2 ปี ถือว่ามีคุณสมบัติต้องห้ามในการมาเป็น นายกฯ โดย พล.อ.อภิรัชต์ เกษียณฯก.ย.63 ดังนั้นหากจะมาเป็น นายกฯ ก็ต้องรอไป 2 ปี นั่นคือ ต.ค.65 ซึ่งก็สามารถต่อคิว พล.อ.ประยุทธ์ ได้ทันที เพราะในขณะนั้น รบ.ประยุทธ์ จะมีอายุราว 3 ปี แต่สถานการณ์ทางการเมืองย่อมอะไรเปลี่ยนแปลงได้เสมอ
.
ดังนั้นหาก พล.อ.อภิรัชต์ จะมาตามกลไกของ รธน. ก็ต้องรอถึง ต.ค.65 ทั้งการลงในนามพรรคการเมืองเป็น ‘แคนดิเดตนายกฯ’ หรือการเป็น ‘นายกฯคนนอก’ แต่ก็มีทางลัดอื่นๆ เช่น มีการแก้ไข รธน.60 เป็นต้น เพื่อเป็นทาง แต่ถ้าไม่อาศัยกลไกตาม รธน. ก็ต้องใช้ ‘แผนเผชิญเหตุสุดท้าย’ นั่นคือ ‘รัฐประหาร’ นั่นเอง
.
คำถามที่ว่า พล.อ.อภิรัชต์ จะทำรัฐประหาร พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่นั้น ถือเป็นสิ่งที่แทบเป็นไปไม่ได้ในเวลานี้ ด้วยสายสัมพันธ์ของทั้งคู่ที่แนบแน่น เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ก็คืออีกผู้ผลักดันให้ พล.อ.อภิรัชต์ ได้เป็น แม่ทัพภาคที่1 จนได้เป็น ผบ.ทบ. ด้วย อีกทั้งแอคชั่นของ พล.อ.อภิรัชต์ ตั้งแต่ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ก็มีท่าทีทางการเมืองที่ชัดเจน โดยเฉพาะการกรำศึกกับฝ่ายค้านที่นิยามว่า ‘ซ้ายจัด ดัดจริต’ ถือเป็น ‘ผลบวก’ ที่ส่งมายังรัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งสิ้น เรียกได้ว่า พล.อ.อภิรัชต์ เป็นกองหนุนสำคัญของ พล.อ.ประยุทธ์ อีกคนในเวลานี้

ทั้งนี้การทำรัฐประหารในปัจจุบันมี ‘ปัจจัย’ ที่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยเฉพาะ ‘ปัจจัยภายใน’ หลัง ทบ. มีการปรับโครงสร้างหน่วยกำลังรบ หรือ ขุมกำลังปฏิวัติในอดีตใหม่ทั้งหมด รวมทั้ง ‘ปัจจัยภายนอก’ ที่ยังไม่มีสิ่งเร้าให้เกิดขึ้น เช่น การชุมนุมใหญ่ทางการเมือง เป็นต้น ที่ในอดีตเคยเป็นสิ่ง ‘ปูทาง’ ไปสู่การรัฐประหารมาแล้ว รวมทั้งท่าทีของ ‘แกนนำม็อบ’ ในอดีต ที่เปลี่ยนไปจากเดิม เห็นพ้อง ‘หมดยุคนำม็อบลงถนน’ ซึ่งหลายคนยังต้องสู้คดีอยู่ หลายคนขอกลับมาใช้ชีวิตเงียบๆแทน
.
ทว่าการออกมาจัดบรรยายพิเศษของ พล.อ.อภิรัชต์ ในทางการเมืองก็เท่ากับเป็น ‘การตบเท้า’ อย่างหนึ่ง ที่สะท้อนถึงจุดยืนทางการเมือง โดยเฉพาะการโจมตีพรรคอนาคตใหม่ ที่เพ่งเป้าไปที่ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’หน.พรรคฯ ก่อนหน้านี้ช่วงปลายเดือน มี.ค.62 ‘บิ๊กกบ’พล.อ.พรพิพัฒน์ คงสมพงษ์ ผบ.ทหารสูงสุด ก็เคยนำ ปลัดกลาโหม – ผบ.เหล่าทัพ ยืนเรียงแถวแถลงแถลงข่าวร่วมกัน ถึงกรณีคณะกรรมการมูลนิธิศิษย์เก่า ร.ร.เตรียมทหาร มีมติถอดชื่อ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ตท.10 ออกจากการเป็นศิษย์เก่าเตรียมทหารดีเด่นและเรียกคืนรางวัลเกียรติยศจักรดาว ที่ได้รับเมื่อปี2534 ด้วยเหตุผลสืบเนื่องจากที่ ‘ทักษิณ’ เคยถูกถอดยศทางตำรวจ โดยคำสั่ง ‘หัวหน้า คสช.’ ผ่านอำนาจ ม.44 เมื่อปี58
.
โยเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ ‘บิ๊กเซอร์ไพรส์’ 8ก.พ.62 และ ‘ฮ่องกงเอฟเฟกต์’ ที่เกิดขึ้นในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งในขณะนั้น ผบ.สูงสุด ก็ปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์เหล่านี้ โดยย้ำว่าดำเนินการตามขั้นตอน เพราะเรื่องการ ‘ถอดยศ’ มีมาตั้งแต่ปี58 เมื่อมีข้อมูลมาถึงจุดๆหนึ่ง ที่ต้องดำเนินการอย่างไร ก็เลือกระยะเวลาที่เหมาะสม เพราะไม่อยากให้ส่งผลกระทบไปเรื่องในการเมือง
.
ย้อนกลับไปอีกคือปรากฏการณ์กรณี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หน.พรรคเสรีรวมไทย อดีตผบ.ตร. (ตท.8) ได้ต่อว่านายทหารที่ไปติดตามขณะลงพื้นที่หาเสียง จ.ปราจีนบุรี เพราะในเวลานั้นยังมีการทำหน้าที่ของ กกล.รส. ทำให้ ‘บิ๊กแดง’ ได้นำ ผบ.หน่วยคุมกำลัง กล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณตน เบื้องหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 ก่อนการประชุมหน่วยขึ้นตรง ทบ. วาระพิเศษ เมื่อ 7มี.ค.ที่ผ่านมา มาพร้อมปรากฏการณ์ ‘เพลงหนักแผ่นดิน’ ที่ พล.อ.อภิรัชต์ สื่อสารไปยังพรรคฝ่ายค้าน ที่หาเสียงกับการโจมตีกองทัพ และเป็นที่มาของการเปิด ‘เพลงปลุกใจทหาร’ ในรั้ว บก.ทบ. เพื่อปลุกศักดิ์ศรีทหารและให้ทหารสำนึกรู้หน้าที่ตัวเอง

จากไทม์ไลน์ที่เกิดขึ้น จึงเกิดการตีความว่าเป็น ‘รัฐประหารเงียบ’ ที่ไม่ต้องขนกำลังและยุทโธปกรณ์มายึดอำนาจเช่นในอดีต และไม่ใช่การ ‘รัฐประหารตัวเอง’ ด้วย เพราะไม่ได้มีการล้มกระดานหรือเซตซีโร่ใดๆ ดังนั้นภาพการทำรัฐประหารในยุคนี้อาจเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ที่มีความแยบยลมากกว่าเดิม รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้ ‘ยาแรง’ เช่นในอดีต
.
ท่ามกลางการต่อสู้ทางการเมืองในยุคที่สังคมแบ่งขั้วอุดมการณ์ชัดเจนขึ้น ถูกนิยามเป็น ‘พวกซ้าย’ และ ‘พวกขวา’ ทำให้ต่อสู้จึงต้องมีชั้นเชิงมากกว่าเดิม หนึ่งในนั้นคือผ่าน ‘ตัวแทนทางการเมือง’ ต่างๆ ซึ่งแต่ละฝ่ายนำ ‘บทเรียนในอดีต’ มาถอดและปรับการต่อสู้ทางการเมือง โดยเฉพาะกองทัพที่มีบทเรียนมาตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 และ รัฐประหาร 19ก.ย.2549 ที่จะไม่ให้ ‘เสียของ’ เช่นในอดีตอีก

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0