โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

เจ๊งครับพี่น้อง! CHEVROLET เลิกขายรถในไทยสิ้นปีนี้

ไทยรัฐออนไลน์ - Auto

อัพเดต 18 ก.พ. 2563 เวลา 03.29 น. • เผยแพร่ 18 ก.พ. 2563 เวลา 03.00 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

หลังจากขายไม่ดีมานานหลายปี สุดท้ายก็ไปไม่รอด ล่าสุดกับข่าว Chevrolet ประกาศเลิกขายรถยนต์ในไทยภายในช่วงสิ้นปีนี้ ส่วนรถเก่าที่ลูกค้าใช้งานสามารถนำเข้าซ่อมบำรุงที่ศูนย์บริการของ Chevrolet รวมถึงการรับประกันคุณภาพที่ยังคงมีอยู่ตามเงื่อนใข การจากไปของค่ายรถอเมริกันเจ้าของสัญลักษณ์โบร์ไท กลายเป็นข่าวร้ายช่วงต้นปีในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทย อะไรก็ตามที่ขายไม่ได้ หรือขายไม่ออก สุดท้ายก็จะตามมาด้วยสภาวะขาดทุนที่ผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับต่อไปได้

Chevrolet เคยมีรถดีๆ ออกมาขายอย่างต่อเนื่อง ทั้งรถเก๋งและรถกระบะ ก่อนที่ปัญหาต่างๆ จะเริ่มเข้ามารุมเร้า โดยเฉพาะการผลิตรถรุ่นใหม่ที่คนไทยไม่ชอบ การเอาของที่มีอยู่แล้วแต่ขายไม่ดีมาดัดแปลงตกแต่งเพิ่มเติมซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยทำเป็นรุ่น Limited Edition ออกมาขายนับสิบรุ่น ยกตัวอย่างเช่นรถกระบะ Colorado ซึ่งไม่สามารถแข่งขันกับรถของคู่แข่งที่ดีกว่าได้ รถอเนกประสงค์ที่เคยขายได้อย่าง Captiva พอกลายมาเป็นรถรุ่นใหม่กลับลดระดับลงอย่างไม่น่าให้อภัย ทั้งเครื่องยนต์ ช่วงล่าง ระบบเกียร์ กลายเป็นรถที่ถูกหั่นต้นทุนเพื่อขายในราคาถูกแต่ดันไม่มีใครชอบ รวมถึงปัญหาการบริหารงานภายในองค์กรณ์ที่มีแต่เรื่องวุ่นวายขายปลาช่อนคอยกัดกร่อนมานานแสนนาน บวกกับปัญหาของศูนย์บริการบางแห่งที่มีบริการไม่น่าประทับใจ ทำให้ลูกค้าขาดความเชื่อมั่นในแบรนด์ การขายเฉพาะปิกอัพและเอสยูวีที่คล้ายการนำเอาสินค้าเก่าออกมาเลหลัง ยิ่งทำให้ Chevrolet พบกับจุดจบเร็วขึ้นอีกด้วย 

Chevrolet เริ่มต้นประกอบธุรกิจยานยนต์ในไทยประมาณปี พ.ศ.2536 จากการที่ผู้บริหารของ GM ในสหรัฐอเมริกา เล็งเห็นถึงการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยแบบก้าวกระโดด หลังเข้ามาทำตลาด GM ควักเงินทุน 30,000 ล้านบาท เปิดโรงงานผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ในจังหวัดระยองในปี พ.ศ.2539 เป็นโรงงานของ GM ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน รับหน้าที่ประกอบรถ เครื่องยนต์และระบบส่งกำลังของ Chevrolet สำหรับรถยนต์ Chevrolet รุ่นแรกที่ขายในประเทศไทยก็คือ รถ MPV รุ่น Zafira ซึ่งได้รับความนิยมพอสมควรจากความอเนกประสงค์ของรถตู้ทรงกล่องแบบ 7 ที่นั่ง ตามด้วยซีดานไซส์กลาง 4 ประตู Chevrolet Lumaina โดยมี ภราดร ศรีชาพันธุ์ ยอดนักเทนนิสขวัญใจชาวไทยในปีนั้นเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ ตามด้วยเก๋งเล็ก Chevrolet Optra รถเล็กรุ่นขายดีที่มียอดขายพอไปวัดไปวาได้ 

ปี พ.ศ.2547 ค่าย GM ยังคงเดินหน้ารุกตลาดรถยนต์ของไทยอย่างต่อเนื่อง ด้วยการผลิตรถกระบะรุ่น Colorado แล้วออกขายในปี พ.ศ.2547 ด้วย โดยใช้ความเป็นแบรนด์อเมริกันที่เชี่ยวชาญด้านการผลิตรถปิกอัพ ทำการปรับหน้าตาของ Colorado ให้คล้ายกับรถปิกอัพของอเมริกันมากยิ่งขึ้น จนได้รับความนิยมไปพอสมควร ในปี พ.ศ.2549 Chevrolet ส่งรถเล็กแบบ City Car ลงสู้ในสงครามรถราคาถูกด้วย Chevrolet รุ่น Aveo เก๋งเล็กที่มีค่าตัวแค่ 4.99 แสนบาท

หลังจากการดำเนินงานในประเทศไทยผ่านไปได้ด้วยดี Chevrolet เริ่มต้นปี 2553 ด้วยรถเก๋งรุ่นใหม่ Chevrolet Cruze ซึ่งมีขายทั้งในประเทศไทย เกาหลีใต้ และจีน Cruze เป็นรถเก๋งที่มีช่วงล่างใช้ได้และมีภายในที่ค่อนข้างสวยงาม แต่ปัญหาระบบเกียร์ สมองกล ECU ที่ควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ เกิดอาการรวน เป็นความจุกจิกกวนใจที่เริ่มเข้ามาบั่นทอนความมั่นใจของลูกค้า ทำให้เกิดสโลแกน ขวัญใจรถยกขึ้นมาในช่วงนั้น ตามด้วยความไม่พอใจของลูกค้าทั้งในด้านความคงทนและการดูแลหลังการขายที่กลายเป็นประเด็นหลักของความเชื่อมั่นที่ลดลง เกิดเป็นคดีความฟ้องร้องถึงโรงถึงศาลกันมามากต่อมากแล้ว ต่อมาในปี พ.ศ.2555 เปิดตัวรถกระบะดัดแปลง PPV-SUV รุ่น Trailblazer ออฟโรดอเนกประสงค์ที่ขายได้บ้าง แม้จะไม่มากเท่าที่ควร

ช่วงปี พ.ศ.2551 เกิดวิกฤตการณ์ Hamburger Crisis ทำให้ GM ขาดทุนมหาศาล และเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ผู้บริหารของ GM ต้องตัดสิ่งที่ไม่ทำให้เกิดรายได้ออกไป นั่นก็คือการยุบแบรนด์ในเครือทิ้ง แต่สุดท้ายวิธีคิดของผู้บริหารอเมริกันก็ยังใช้สไตล์เดิมๆ นั่นก็คือการเข้ามาทำกำไรในระยะสั้นบนตลาดรถราคาถูกในเอเชีย หากเจ๊งหรือขายไม่ออกขึ้นมาเมื่อไหร่ก็จะถอนหนีทันที ไม่มีการปรับแผนงานเพื่อสู้ต่อในระยะยาว
พ.ศ.2555 Chevrolet ปลุกตลาดรถเล็กให้มีความคึกคักด้วยรถเก๋งเล็กรุ่น Sonic เป็นรถที่มีการทรงตัวดี มีภายในที่น่าใช้ และมีรุ่นที่ปรับระบบจ่ายเชื้อเพลิงใหม่ให้สามารถเติม E85 ได้ แต่หลังจากออกขายไม่นานก็ตามมาด้วยปัญหาราคาอะไหล่ที่ลูกค้าบ่นกันว่าแพงเกินจริง รวมถึงการซ่อมบำรุงที่ล่าช้า มีปัญหาในเรื่องของระบบส่งกำลังและชิ้นส่วนบางชิ้นในเรื่องความคงทน จนกลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทำให้ความเชื่อมั่นในแบรนด์ลดต่ำลงเรื่อยๆ ปี พ.ศ.2556 Chevrolet เปิดตัวรถครอบครัวขนาดกะทัดรัดแบบ MINI MPV รุ่น Spin โดยหมายมั่นปั้นมือว่าเจ้า Spin น่าจะเป็นรถเล็กรุ่นขายดี แต่กลับขายไม่ออก เนื่องจากเป็นรถที่ไม่มีจุดเด่นอะไรทั้งสิ้นนอกจากราคาถูกเท่านั้น จนทำให้ค่าย GM Thailand เริ่มประสบกับสภาวะขาดทุน

เมื่อรถที่ผลิตขายไม่ได้ทำให้ GM เกิดปัญหาใหญ่ตามมานั่นก็คือ ตัวเลขการขาดทุนในไทย เวลาผ่านไป 2 ปี ต่อมาจากปี พ.ศ.2556 จนถึง พ.ศ.2558 Chevrolet Thailand อยู่ในสภาวะชะงักงัน โดยไม่มีการเปิดตัวรถใหม่ออกมาสู่ตลาดอีกเลย เป็นแค่การเอารถที่มีอยู่แล้วมาเขียนหน้าทาปากใหม่ในแบบไมเนอร์เชนจ์ หรือรุ่นปรับโฉมเท่านั้น การดันรถที่มีอยู่แล้วโดยใช้การปรับปรุงเล็กๆ น้อยๆ กลายเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงสถานการณ์ที่ไม่ปกติของ Chevrolet การถอดใจถอนตัวออกจากโครงการรถเล็กราคาถูก หรือ Eco Car เฟส 2 กับโครงการลดจำนวนพนักงานด้วยการสมัครใจลาออก แสดงออกถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับค่ายรถของอเมริกันเจ้านี้ได้ไม่มากก็น้อย

เดือนมีนาคม พ.ศ.2562 Chevrolet นำรถต้นแบบ New Captiva มาจัดแสดงเพื่อให้คนที่สนใจได้รับชมและสัมผัสกับตัวเป็นๆ ภายในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ New Captiva รุ่นใหม่ล่าสุดเป็นรถที่ GM หันไปร่วมมือพัฒนากับค่ายรถของจีนเพื่อเป็นการลดต้นทุน หลังจากนั้นก็เชิญสื่อมวลชนเดินทางไปขับที่ประเทศจีนก่อนการเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ในประเทศไทย แต่การหั่นต้นทุนจนแทบจะไม่เหลืออะไรที่โดดเด่นกว่า Captiva รุ่นเก่า หรือแม้แต่รถคู่แข่งในตลาด ทำให้ New Captiva ขายไม่ออก แม้จะมีตัวถังที่ใหญ่พอใช้ แต่เครื่องยนต์ ระบบเกียร์ และช่วงล่าง กลับไม่ได้ทำให้สมรรถนะของมันดีขึ้นแม้แต่น้อย New Captiva ถูกนำมาลดราคาเพื่อกระตุ้นยอดขาย แต่กลับกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ GM ต้องม้วนเสื่อกลับบ้านไปในที่สุด
จากอดีตจนถึงปัจจุบัน การเข้ามาทำตลาดในประเทศต่างๆ ทั่วโลกของ Chevrolet เป็นไปในแนวอเมริกันสไตล์ นั่นก็คือการตีหัวเข้าบ้าน ถ้าขายไม่ได้ ขายไม่ออก ขาดทุนเมื่อไหร่ก็พร้อมจะโยกหนีทันที Chevrolet ก็ทำแบบนี้มานานมากแล้ว และงานนี้ก็เหมือนเดิมคือมีคนที่ไม่ชอบลุงตู่เอาไปโยงกับเศรษฐกิจของประเทศและการบริหารงานของรัฐบาล บอกเลยว่าไม่เกี่ยวข้องกันแม้แต่น้อย อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง อาจไม่ก้าวกระโดดเหมือนในอดีต แต่ก็ไม่ได้ย่ำแย่อย่างที่มีกองแช่งฝ่ายตรงข้ามลุงพยายามจะเอามาผูกรวมกัน great wall motor ที่เข้ามาซื้อโรงงานแล้วดำเนินงานต่อนั้นมีรถหลากหลายรุ่นให้เลือกมากกว่าค่ายอเมริกันเยอะมาก การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จึงนับเป็นการเปลี่ยนผู้เล่นที่มีความพร้อมที่จะลุยไปข้างหน้ามากกว่าพวกที่กล้าๆ กลัวๆ และยังแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีความแข็งแกร่งและเปิดกว้างสำหรับการลงทุน นักลงทุนยังมองว่าประเทศไทยมีความพร้อมและสามารถขยับขยายธุรกิจเพื่อเติบโตได้อีกมาก ไม่อย่างนั้นค่ายยักษ์จากจีนคงไม่มาซื้อโรงงานทั้งหมดเพื่อดำเนินการและขยายธุรกิจหรอกครับ.
อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail chang.arcom@thairath.co.th
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-5253692475053

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0