โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เงินกู้ 191 ล้าน วิบากกรรมอนาคตใหม่ ถูกบั่นคอฆ่า ยุบพรรค หรือถึงคราวล่มสลาย

ไทยรัฐออนไลน์ - Politics

อัพเดต 21 ก.พ. 2563 เวลา 05.25 น. • เผยแพร่ 20 ก.พ. 2563 เวลา 13.00 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

คดีเงินกู้ 191 ล้าน พรรคอนาคตใหม่ ต้องจับตาในวันศุกร์ที่ 21 ก.พ.นี้ ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินออกมาอย่างไร? ระหว่างถูกยุบพรรค ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์ความเป็นไปได้มากกว่า การไม่ถูกยุบพรรคหรือไม่? และสิ่งที่จะตามมาสำหรับการเมืองไทยหลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น หรือจะร้อนระอุ สะเทือนไปถึงรัฐบาล ทาง “ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” มีคำตอบ

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ระบุว่า โอกาสพรรคอนาคตใหม่จะถูกวินิจฉัยยุบพรรคมีประมาณ 50% เนื่องจากกฎหมายเขียนไม่ชัดเจนในการวินิจฉัยคดีเงินกู้ดังกล่าว อาจทำให้ไม่ถูกยุบพรรคก็ได้ ซึ่งเท่ากับว่าคำวินิจฉัยจะออกไปทางใดทางหนึ่ง วินิจฉัยว่าการกู้เงินสามารถทำได้ เพราะพรรคการเมืองไม่ใช่ภาครัฐ แต่เป็นองค์กรเอกชน ต้องใช้กฎหมายมหาชนในการตีความ อย่างกรณีต่างประเทศสามารถทำได้ และใช้วิชาการทางบัญชีว่าเงินกู้ถือเป็นรายได้

“หรือมองว่าเป็นการให้เงินแบบลับๆ เป็นเรื่องของธรรมาภิบาลทางการเมือง มองเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 60 ไม่ต้องการให้ครอบงำพรรคการเมืองจากกลุ่มทุนหรือบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับพรรค อาจนำไปสู่การยุบพรรค จากเจตนารมณ์ของกฎหมายพรรคการเมือง แต่ในแง่ของวิชาการบัญชี มองเงินกู้เป็นการกู้เงินจากบุคคลธรรมดา ไม่ได้กู้จากสถาบันการเงิน เพราะฉะนั้นโอกาสคำวินิจฉัยจะออกมาในทางไหนก็ได้ ระหว่างกู้เงินสามารถทำได้และไม่สามารถทำได้”

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รศ.ดร.ยุทธพร ให้น้ำหนัก 4 แนวทาง

  • 1. ยกคำร้อง กลายเป็นมาตรฐานหลักการต้องปฏิบัติ สำหรับพรรคการเมืองอื่นๆ สามารถกู้เงินได้ ทำให้พรรคอนาคตใหม่สามารถเดินหน้าไปต่อได้

  • 2. ไม่ถูกยุบพรรค แต่ปรับเงิน 1 ล้านบาท มองการกู้เงินเป็นนิติกรรมอำพราง เป็นความผิดตามมาตรา 66 ของกฎหมายพรรคการเมือง ซึ่งบุคคลธรรมดาไม่สามารถบริจาคเงินให้กับพรรคการเมือง โดยศาลรัฐธรรมนูญจะไม่พิจารณาคดี อาจมีคำแนะนำให้ กกต. ยื่นต่อศาลอาญา เพื่อปรับเงินพรรคอนาคตใหม่

  • 3. แนวทางหนักสุด ทั้งยุบพรรคอนาคตใหม่ และตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค อาจเกี่ยวข้องกับมาตรา 72 ที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ แม้ทางพรรคอนาคตใหม่ได้ระบุไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่มองว่าเป็นอำนาจของ กกต. และสุดท้ายจะถูกตีความว่าพรรครู้อยู่แล้วว่าเป็นเงินไม่ชอบด้วยกฎหมาย อาจหมายถึงนิติกรรมอำพรางก็ได้ ตามมาตรา 92 ทำให้ถูกยุบพรรค

  • 4. อาจไม่ร้ายแรง ถึงขั้นถูกยุบพรรค แต่กรรมการบริหารพรรคจะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง คาดว่า 5 ปี ตามาตรา 92 และหากมองเป็นนิติกรรมอำพรางก็อาจถูกปรับเงิน เป็นการวินิจฉัยแยกส่วนเป็นความผิดเฉพาะกรรมการบริหารพรรค ซึ่งคนละส่วนกับพรรค ตามกฎหมายพรรคการเมืองปี 60 แตกต่างจากอดีตในการยุบพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน ไม่ได้แยกการกระทำผิด

จากการประเมิน 4 แนวทางในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นในช่วงบ่ายวันที่ 21 ก.พ.นี้ ทำให้คอการเมืองต่างลุ้นระทึก โดยเฉพาะจากข้อกฎหมายเขียนไม่ชัดเจน อาจทำให้ศาลรัฐธรรมนูญนำเขตอำนาจของศาลมาพิจารณา จากการแถลงของนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ได้ยกรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 ระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจยุบพรรค และไม่มีอำนาจตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค

“เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาคดีตามรัฐธรรมนูญ ก็เท่ากับว่าไม่มีอำนาจยุบพรรค แต่ในทางกฎหมายมหาชน มีความแตกต่างกัน 2 แนวทาง แนวทางแรกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้เฉพาะที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเท่านั้น และอีกแนวทางมองว่าเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ อาจมองว่าเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญก็ได้ ดังนั้นศาลก็มีอำนาจมีโอกาสที่จะหยิบยกว่าสามารถทำได้ ส่วนการจะยุบหรือไม่ยุบ ต้องดูที่พยานหลักฐาน”

หากสมมติว่าพรรคอนาคตใหม่ ไม่ถูกยุบพรรค แต่กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ในแนวทางที่ 4 ก็เท่ากับว่าจะมีการขยับผู้มีรายชื่อปาร์ตี้ลิสต์อันดับต่อไป ขึ้นมาเป็น ส.ส.แทนกรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิ์ แต่พลังในการทำหน้าที่จะลดน้อยลง เนื่องจากแกนนำคนสำคัญถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองไปทั้งหมด จะทำได้เพียงการเชื่อมต่อกับแกนนำสำคัญที่เคลื่อนไหวเล่นการเมืองนอกสภาเท่านั้น

ส่วนคำวินิจฉัยแนวทางที่ 3 ถูกยุบพรรคและตัดสิทธิ์กรรมการบริหาร จะไม่มีการขยับผู้มีรายชื่อปาร์ตี้ลิสต์อันดับต่อไปขึ้นมา แทนกรรมการบริหารพรรคทั้ง 10 คนที่ถูกตัดสิทธิ์ นั่นหมายความว่า จำนวนที่นั่ง ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่หายไป เหลือเพียง ส.ส. 60 คนเศษๆ จะกลายเป็น ส.ส.ไม่มีสังกัดพรรค เนื่องจากได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ โดยสามารถเข้าร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ ขณะหาพรรคการเมืองสังกัด หรืออาจมีพรรคการเมืองจัดตั้งไว้แล้ว

กรณีเลวร้ายสุดมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ จะเกิดผลกระทบต่ออนาคตใหม่ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกสภา เนื่องจากคำสั่ง คสช.ห้ามการชุมนุมยังมีอยู่ ยังไม่สามารถทำได้ทันทีหลังจากมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ การระดมคนคงไม่ง่ายในการร่วมม็อบ เพราะคงไม่มีใครต้องการ แต่ระยะยาวการหาแนวร่วมรวบรวมคนก็อาจเป็นไปได้ จากการขยายตัวของคนที่ร่วมลงชื่อในแคมเปญรณรงค์ “คัดค้านยุบพรรคอนาคตใหม่” บนแพลตฟอร์ม change.org ซึ่งมีหลายคนเคยไม่เห็นด้วยกับพรรคอนาคตใหม่มาก่อน อาจส่งผลกระทบทำให้รัฐบาลขาดความชอบธรรม

“แม้ในทางนิตินัยรัฐบาลไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินคดีเงินกู้ 191 ล้านบาท แต่ในทางพฤตินัยเป็นเรื่องของความรู้สึก จะส่งผลกระทบต่อความชอบธรรมของรัฐบาล แม้ในระยะสั้นไม่น่ากังวล แต่มีหลายๆ สารพัดปัญหาสะสมมารวมกัน เมื่อถึงจุดนั้น โดยเฉพาะการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่สามารถตอบคำถามได้ จะทำให้หลังการอภิปราย มีโอกาสที่รัฐบาลจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน อาจมีการปรับ ครม. ส่วนการยุบสภาคงยาก หรืออย่างน้อยอีกครึ่งปี ถึง 1 ปีอาจยุบสภา แต่มีความเป็นไปได้ในการปรับ ครม.มากกว่า ยกเว้น 3 ป. และมองว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จะเป็นคนแรกที่ถูกปรับออก เพราะถูกจับจองในหลายประเด็น” รศ.ดร.ยุทธพร ทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจ.

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0