โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เคนยาสั่งห้าม ‘การฆ่าลา’ เชิงพาณิชย์ เหตุมีการส่งออกลาล็อตใหญ่เพื่อไปผลิตยาในจีน

The Momentum

อัพเดต 29 ก.พ. 2563 เวลา 05.41 น. • เผยแพร่ 29 ก.พ. 2563 เวลา 05.41 น. • THE MOMENTUM TEAM

เมื่ออัตราการลักลอบขโมย ‘ลา’ เพื่อส่งออกทำยาจีนพุ่งสูง สะเทือนวิถีปศุสัตว์ทั่วทั้งระบบ ทางการ ‘เคนยา’ จึงประกาศยุติการล่าลาเชิงพาณิชย์อย่างถูกกฎหมาย หวังรักษาประชากรลาและคืนวิถีชีวิตเดิมสู่เคนยา 

ปีเตอร์ มุนยา (Peter Munya) เลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของเคนยา อธิบายต่อสื่อมวลชนว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องประกาศห้ามล่าลาเชิงพาณิชย์ เนื่องจากการล่าสังหารลาสร้างความวุ่นวายและส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเกษตรกรเคนยาและนิเวศวิทยา ด้วยลาเป็นสัตว์ที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับเคนยาเป็นเนื้อเดียวกับงานเกษตรในเคนยา เพราะถูกใช้ทั้งสำหรับขนส่ง ใช้งานในบ้าน และผลิตนมสำหรับบริโภค

โดยผลกระทบจากมาตรการสั่งยุติการล่าลาในครั้งนี้ครอบคลุมถึงคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตของโรงฆ่าลาและให้เปลี่ยนไปสู่โรงฆ่าวัว แกะ และไก่ ภายใน 60 วัน แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะสามารถเพิ่มอัตราการจ้างงานและมูลค่าทางการค้าผ่านการค้าลา โดยนับตั้งแต่เข้าสู่ปี 2016 มาจนถึงปลายปีที่ถัดมา ทางการเคนยาได้อนุญาตให้โรงฆ่าสัตว์ฆ่าและชำแหละลาไปมากกว่า 301,977 ตัว

และปัจจุบัน เคนยามีประชากรลาเหลือเพียง 1.2 ล้านตัวจาก 1.8 ล้านในทศวรรษก่อน โดยมีการคาดการณ์จาก Brooke East Africa องค์กรเพื่อลาในแอฟริกาว่าในแต่ละวันอาจจะมีจำนวนลาในเคนยาถูกฆ่ามากกว่า 1,000 ตัว

ก่อนเจ้าของลาทั่วประเทศจะออกมาชุมนุมเรียกร้องให้ปิดโรงฆ่าลาทั้งหมดในเคนยา โดยอ้างถึงความพยายามในการขโมยลาล็อตใหญ่เพื่อส่งออกสู่ประเทศจีน ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่ได้รับสิทธิให้ทำปศุสัตว์ลาจำเป็นจะต้องเคลื่อนย้ายลาในระยะไกลมากขึ้นเพื่อเฝ้าระวังการขโมยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

ขณะเดียวกัน รายงานจาก The Donkey Sanctuary องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรของสหราชอาณาจักร ระบุว่า ประชากรลากำลังถูกคุกคามอย่างหนักจากความพยายามจะล่าสังหารเพื่อใช้หนังของพวกมันในการทำยาประกอบการแพทย์แผนจีน โดยมีลาอย่างน้อย 3 ล้านตัวถูกส่งเข้าสู่ประเทศจีนในปี 2016 เพื่อผลิตยา ‘เออเจียว’ ซึ่งเป็นยาแผนโบราณประเภทหนึ่งของจีน

ที่มา

https://edition.cnn.com/2020/02/26/africa/kenya-bans-donkey-slaughterhouses/index.html

https://www.bbc.com/news/world-africa-51629660

 ////

รูป Reuters Staff

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0