โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เขย่าบัลลังก์ "หัวเว่ย" โอกาสขึ้นเบอร์ 1 สะเทือน

ไทยรัฐออนไลน์ - Economics

เผยแพร่ 25 พ.ค. 2562 เวลา 22.01 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

คำสั่งบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ให้เอกชนสหรัฐฯ ยุติการทำธุรกิจกับบริษัทต่างชาติที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ อันนำไปสู่การสิ้นสุดความเป็นพันธมิตรระหว่างกูเกิลและหัวเว่ย ในเวลาต่อมานั้น อาจทำให้เป้าหมายของหัวเว่ย ในการก้าวขึ้นสู่การเป็นมือถือที่ครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ของโลกต้องห่างไกลออกไปอีก

ไตรมาสแรกที่ผ่านมา บริษัทวิจัย IDC ได้รายงานยอดจำหน่ายมือถือทั่วโลก ผลปรากฏว่าหัวเว่ยทำยอดขายเติบโตได้ถึง 50% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะที่คู่แข่งอีก 2 ราย อย่างซัมซุงและแอปเปิล ทำยอดขายลดลง 8% และ 30% ตามลำดับ

ด้วยความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทำให้หัวเว่ยทะยานขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 ของตลาดมือถือโลก ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 19% ขยับเข้าใกล้ซัมซุงที่ครองส่วนแบ่งเบอร์ 1 ที่ 23.1% ส่วนแอปเปิลที่เคยเป็นที่ 2 หล่นลงไปอยู่ที่ 3 ด้วยส่วนแบ่งตลาด 11.7%

กราฟชีวิตที่พุ่งปรี๊ดของหัวเว่ย ทำให้เป้าหมายที่จะครองส่วนแบ่งตลาดมือถืออันดับ 1 ของโลกในปี 2563 ขยับเข้าใกล้กว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยคาดกันว่าหัวเว่ยน่าจะบรรลุเป้าหมายได้ภายในสิ้นปี 2562

แต่เมื่อความแน่นอนคือความไม่แน่นอน การยุติการทำธุรกิจกับหัวเว่ยและให้มีผลทันทีของกูเกิลเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ได้ทำให้ความหวังที่จะก้าวขึ้นสู่การเป็นเบอร์ 1 ยากเย็นและห่างไกลออกไปอีก

ผลจากการกระทำของกูเกิล ทำให้มือถือของหัวเว่ย ซึ่งทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ จะไม่สามารถใช้บริการของกูเกิลที่มีไลเซนส์ได้ ไม่ว่าจะเป็นกูเกิล แม็ป, ยูทูบ รวมไปถึงการอัปเดตกูเกิล เพลย์สโตร์ ไปจนถึงระบบความปลอดภัยเวอร์ชันใหม่ๆ

แม้หัวเว่ยจะยังสามารถใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ซึ่งเป็นระบบเปิดได้อยู่ แต่บริการอื่นๆ ที่เป็นสิทธิของกูเกิลและเป็นที่ต้องการของลูกค้านั้น ใช้ไม่ได้

กูเกิล ซึ่งเชื่อว่าไม่มีทางเลือกอื่น ออกมาแถลงว่า ต้องปฏิบัติตามคำสั่งบริหารของประธานาธิบดีและกำลังประเมินผลที่จะตามมา โดยบริการบนกูเกิลเพลย์และระบบความปลอดภัยบนกูเกิลเพลย์ จะยังคงทำงานต่อบนมือถือของหัวเว่ยที่มีอยู่ในตลาดทั้งหมด

แถลงการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ชัดเจนว่า กูเกิลเลือกที่จะไม่พูดถึงมือถือหัวเว่ยในรุ่นใหม่ที่จะออกสู่ตลาดหลังจากนี้ รวมถึงบริการอื่นๆ บนมือถือรุ่นปัจจุบันที่มีอยู่ในท้องตลาด ว่าจะใช้ได้หรือใช้ไม่ได้

อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ เชื่อว่ากูเกิลจำเป็นที่จะต้องดูแลฐานลูกค้าของตนที่ใช้มือถือหัวเว่ยด้วย และนั่นทำให้ในที่สุดกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐฯ ได้ยืดเวลาให้หัวเว่ยและกูเกิลได้เตรียมความพร้อม ลดผลกระทบที่จะเกิดกับลูกค้า ด้วยการขยายเวลาให้อีก 90 วัน

หัวเว่ย ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักและสำคัญของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ พึ่งพาบริการของกูเกิลอยู่ค่อนข้างมาก โดย 49% ของยอดขายมือถือหัวเว่ย เป็นการขายในตลาดต่างประเทศ ขณะที่มือถือหัวเว่ยที่ขายในจีน ทำงานด้วยระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ แต่ไม่มีการติดตั้งแอปพลิเคชันอื่นๆของกูเกิลลงไปเลย เพราะรัฐบาลจีนไม่อนุญาตให้ใช้

เมื่อ 49% ของมือถือหัวเว่ยที่นำออกขายทั่วโลก ไม่สามารถใช้บริการยอดนิยมของกูเกิลได้ โอกาสในการแซงซัมซุงขึ้นที่ 1 จึงเหมือนถูกปิดประตูตาย

นอกจากกูเกิลแล้ว ยังมีข่าวตามออกมาว่าไมโครซอฟท์ รวมทั้ง 2 ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ ทั้งควอลคอมม์ และอินเทล ก็กำลังยุติการทำธุรกิจกับหัวเว่ยแบบเงียบๆ เช่นกัน เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งบริหารของประธานาธิบดี

บลูมเบิร์กรายงานว่า ซัพพลายเออร์สหรัฐฯ ที่ผลิตชิ้นส่วน อุปกรณ์สำหรับโทรศัพท์มือถือและเน็ตเวิร์กโทรคมนาคมให้กับหัวเว่ยนั้น ปัจจุบันมีมากกว่า 30 ราย ซึ่งนโยบายการค้าแบบตาต่อตา ฟันต่อฟันเช่นนี้ ทำให้หัวเว่ยต้องพลิกกลยุทธ์หันมาพึ่งพาตัวเองมากขึ้น เช่นการมีระบบปฏิบัติการ (OS) ของตัวเอง อย่างเช่นแอปเปิลที่มีไอโอเอส (iOS) รวมทั้งการผลิตชิปของตัวเอง ซึ่งแม้ต้องทำให้ได้ แต่ก็มีโจทย์ที่ท้าทายรออยู่อีกเยอะ.

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0