โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เก็บเงินเท่าไหร่จึงจะพอใช้ไปตลอดชีวิต

aomMONEY

อัพเดต 24 มิ.ย. 2561 เวลา 16.13 น. • เผยแพร่ 14 มิ.ย. 2561 เวลา 11.35 น. • นายปั้นเงิน ปีศาจแห่งการลงทุน
เก็บเงินเท่าไหร่จึงจะพอใช้ไปตลอดชีวิต
เก็บเงินเท่าไหร่จึงจะพอใช้ไปตลอดชีวิต

ผมเชื่อว่าหลายคนที่อ่านบทความนี้ยังคงทำงานหาเช้ากินค่ำกันอยู่ และเชื่อว่าคนส่วนใหญ่มีเป้าหมายชีวิตในอนาคตที่ชัดเจนแล้ว นั่นคือ..

“การเกษียณออกจากงานเพื่อใช้อย่างสุขสบายในบั้นปลายชีวิต”

แบบที่มีเงิน มีเวลาเหลือ ใช้ชีวิตตามที่ต้องการ แต่ขนาดเป้าหมายของแต่ละคนไม่เท่ากัน เพราะความต้องการในชีวิตวัยเกษียณของเราต่างกัน
ใครที่มีแผนจะอยู่อย่างสุขสบายไม่กังวลเรื่องเงินทองมากนัก ก็ควรเตรียมตัวไว้ตั้งแต่เริ่มทำงานใหม่ๆ ส่วนใครที่ต้องการอยู่อย่างพอเพียง ก็เลือกวางเป้าหมายขนาดย่อม และใช้เงินที่มีในวัยเกษียณอย่างประหยัดให้เพียงพอก็ได้
ก่อนจะรู้ว่าเก็บเงินเท่าไหร่ สำรวจค่าใช้จ่ายของตัวเองก่อน
วิธีคำนวณเงินให้พอใช้ในวัยเกษียณ บอกเลยว่าไม่ยากเกินไป ทุกคนสามารถคำนวณด้วยตัวเองได้ เริ่มต้นด้วยการทำความรู้จัก “ค่าใช้จ่าย” ของตัวเองที่มีอยู่ในปัจจุบันก่อน
ค่าใช้จ่ายมี 2 ประเภท คือ “ค่าใช้จ่ายคงที่” และ “ค่าใช้จ่ายผันแปร” แต่ละคนจะมีสัดส่วนของค่าใช้จ่ายแต่ละประเภทต่างกัน ถ้ามีสัดส่วนของค่าใช้จ่ายผันแปรมากกว่า ถ้าเราอยากเกษียณอย่างสบายใจ ควรลดสัดส่วนให้ค่าใช้จ่ายคงที่เหลือให้น้อยที่สุด จะได้ใช้เงินที่สะสมมาสำหรับวัยเกษียณ ไปกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันโดยปลอดภาระ
วิธีคำนวณเงินให้พอใช้ในวัยเกษียณ 
คำนวณดูว่าในแต่ละเดือนเรามีการใช้จ่ายรวมเดือนละเท่าไหร่? สัดส่วนของค่าใช้จ่ายในปัจจุบันโน้มเอียงไปทางไหน? พอใจกับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ในปัจจุบันแล้วหรือยัง? ลองไปดูตัวอย่างสมมติง่ายๆกัน…
นายปั้นเงิน อายุ 30 ปี เป็นโสด มีค่าใช้จ่ายรายเดือน 40,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายผันแปร 15,000 บาท และค่าใช้จ่ายคงที่ 25,000 บาท (โดยเป็นค่าผ่อนคอนโด 20,000 บาท จะครบกำหนดภายใน 10 ปีข้างหน้า นั่นแปลว่าในอนาคตนายปั้นเงินจะมีเงินออมเพิ่มขึ้นจากการลดภาระค่าใช้จ่ายคงที่ได้อีก 20,000 บาท และอีก 5,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆของรถยนต์)
ซึ่งนายปั้นเงิน “ไม่พอใจ”กับชีวิตที่อยู่ในปัจจุบัน อยากมีค่าใช้จ่ายผันแปรเดือนละประมาณ 20,000 บาท เมื่อตอนเกษียณ
พอคำนวณค่าใช้จ่ายรายปีในวัยเกษียณของนายปั้นเงิน จะได้เป็น
ค่าใช้จ่ายผันแปรปีละ 20,000 x 12 = 240,000 บาท
และค่าใช้จ่ายคงที่ 2,000 x 12 = 24,000 บาท
ค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมด 264,000 บาทต่อปี ถ้านายปั้นเงินวางแผนเพื่อเกษียณอายุตอน 55 ปี และคาดว่าจะมีชีวิตอยู่จน 80 ปี นั่นคือนายปั้นเงินมีเวลาใช้เงินที่เก็บสะสมลงทุนทั้งหมด 25 ปี จึงต้องเตรียมเงินสำหรับการเกษียณอายุทั้งหมด 264,000 x 25 = 6,600,000 บาท
ค่าใช้จ่ายต่างๆที่อาจเกิดขึ้นในวัยเกษียณ 
“ค่าเดินทางท่องเที่ยว” ที่คนสูงอายุส่วนใหญ่นิยมไปกัน เพราะมีเวลามากขึ้น โดยค่าใช้จ่ายอยู่ปีละ 20,000-50,000 บาท “ค่าบำรุงรักษาสิ่งของต่างๆ” เช่น บ้านที่อยู่ รถที่ขับ สิ่งของต่างๆ ที่ใช้ย่อมเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา ค่าซ่อมบำรุงมักจะเกิดขึ้นมาโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ หากประมาณการคร่าวๆ ค่าซ่อมบำรุงจะตกอยู่ครั้งละ 10,000-50,000 บาท
และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “ค่ารักษาพยาบาล” สุขภาพเป็นสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญมากที่สุด ค่าตรวจสุขภาพประจำปีแบบเต็มรูปแบบที่โรงพยาบาลเอกชนอย่างดีก็ 10,000-30,000 บาท
เบ็ดเสร็จเรามีค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้นอีก 40,000-120,000 บาทต่อปี

เมื่อนำค่าใช้จ่ายต่างๆที่อาจเกิดขึ้นในวัยเกษียณ ไปคำนวณรวมกับค่าใช้จ่ายสำหรับการกินอยู่ในตอนแรกจะเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างต่ำ 40,000 x 25 = 1,000,000 บาท หรืออย่างมาก 3,000,000 บาท
จากเดิมที่เคยคำนวณไว้ 6.6 ล้านบาทจะกลายเป็น 7.6-9.6 ล้านบาททันที
ถ้าเงินทั้งหมดที่ต้องเตรียมตลอดชีวิต สามารถคำนวณออกมาได้ง่ายขนาดนี้ แล้วมันพอใช้จริงๆก็คงจะดี
อย่าลืมเรื่องเงินเฟ้อที่จะกัดกินมูลค่าของเงินในอนาคตอีก เฉลี่ยปีละ 3% ซึ่งถ้านำเงินเฟ้อเข้าไปคำนวณรวมกับค่าใช้จ่ายรายปีแล้ว เงินสำหรับเกษียณฯ ทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นจาก 7.6 ล้านบาท เป็น 24.5 ล้านบาทโดยประมาณ (ลองใช้ตารางวางแผนการเกษียณที่ผมเคยแจกให้ คำนวณดูก็ได้นะครับ)

วิธีเตรียมเงินสำหรับใช้ตลอดชีวิต 
เห็นตัวเลขแล้วอย่าตกใจแรง เพียงแค่เราวางแผนลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีมากกว่า 3% ซึ่งผมคิดว่ากองทุนรวมเป็นคำตอบที่ดีสำหรับมนุษย์เงินเดือน
.
สุดท้ายเงินทั้งหมดที่เตรียมไว้ จะเพียงพอต่อการเกษียณฯ หากมีวินัยในการใช้จ่ายตามแผนที่วางไว้ และต้องไม่มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ มารบกวนเงินก้อนนี้ ถ้าหากมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่อาจจะเกิดแล้วเรา “พอจะคาดเดาได้” อย่างเช่น ซื้อบ้านใหม่ ซื้อรถคันใหม่ ให้ญาติกู้ยืม ให้เราลองประมาณการค่าใช้จ่ายเหล่านี้คร่าวๆ แล้วเตรียมเพิ่มจากเงินก้อนเดิมอีกที
.
แต่ค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดฝันอย่างค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุ หรือ โรคภัยไข้เจ็บร้ายแรง อาจมาหาเราโดยไม่รู้ตัว ผลกระทบด้านการเงินจากเหตุการณ์เหล่านี้ค่อนข้างรุนแรง เพราะค่ารักษาบางโรคเริ่มต้นที่หลักแสนจนถึงหลักล้านเลย ยังไม่รวมค่าห้องด้วยนะ
“ประกันสุขภาพ” จึงเป็นเครื่องมืออีกชนิดที่ทุกคนควรมี ใช้เงินก้อนเล็กแลกกับเงินก้อนใหญ่ เป็นการสร้างเกราะคุ้มกันเงินที่ใช้ในยามเกษียณอีกทีหนึ่ง
และทั้งหมดคือการเก็บเงินไว้ใช้ตลอดชีวิต ใครที่ยังเป็นวัยรุ่นหรือวัยกลางคนอยู่ ให้ตระหนักถึงเงินก้อนที่จะใช้ในอนาคตได้แล้วนะครับ เริ่มลงมือ และเตรียมความพร้อมได้เลย
เพราะแผนการเกษียณยิ่งเริ่มไว ยิ่งทำให้สำเร็จง่ายและใช้เงินน้อยกว่า

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0