โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

บันเทิง

เกิดทัน 30 ปี “เจ็ดสีคอนเสิร์ต” กับ 7 การแสดงแห่งความทรงจำ

TheHippoThai.com

เผยแพร่ 17 ก.ย 2562 เวลา 01.00 น. • THE HIPPO | Another Point Of View
เกิดทัน 30 ปี “เจ็ดสีคอนเสิร์ต” กับ 7 การแสดงแห่งความทรงจำ

ย้อนตำนานฟรีคอนเสิร์ตอันดับ 1 ของเมืองไทย ทั้งแจ้งเกิดศิลปิน และสร้างความทรงจำให้คนดูมาตั้งแต่ยุค 80’s จนถึงยุคมิลเลนเนียม

 

ลานเพลินแห่งความหลัง เมื่อเสียงของ “จักรพันธุ์ ยมจินดา” ประกาศ “ลานเพลินแห่งนี้ ยินดีต้อนรับทุกท่าน” คล้ายนาฬิกาปลุกที่บอกเวลาเที่ยงครึ่งของวันเสาร์ ให้ผู้คนได้เปิดรีโมทโทรทัศน์มาชมการแสดงของนักร้องดัง

ภาพที่คุ้นตา จะเป็นเวทีขนาดใหญ่ ผู้คนเนืองแน่น ตะโกนโห่ร้องจนเสียงดังลอดลำโพงทีวีออกมา คนดูทางบ้านก็อยากจะไปเยือนและมีส่วนร่วมสักครั้ง คอนเสิร์ตยุคแรก จัดที่ลานเพลินเจ็ดสี สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7  และทำการถ่ายทอดสดให้ผู้คนทางบ้านได้รับชม โดยมักจะเป็นนักร้องที่อยู่ในกระแส หรือเป็นศิลปินที่ต้องการอาศัยเวทีในการโปรโมทผลงาน กระนั้นไม่ใช่ทุกคนจะได้รับเลือกให้ขึ้นแสดง เพราะจะคัดเฉพาะศิลปินผู้เป็นที่สนใจเท่านั้น

ฟรีคอนเสิร์ต กำเนิดแฟนคลับวัยรุ่น เนื่องจากยังไม่มีรายได้ไปดูการแสดงที่แพงหรู บ่อยครั้งชนชั้นรากหญ้าจะปลดปล่อยความสะใจได้แค่การแสดงตามงานวัดหรือมหรสพ การแสดงฟรีมักจะเป็นกลุ่มนักร้องลูกทุ่งหรือเป็นศิลปินระดับรองซึ่งมาสร้างสีสันได้ประมาณหนึ่ง แต่นักร้องเพลงป็อปหรือร็อก ซึ่งกินตลาดเป็นวงกว้างนั้น ก็จัดการแสดงใน MBK Hall [มาบุญครองเซนเตอร์] หรือ MCC Hall [เดอะมอลล์] ไม่ก็ศูนย์วัฒนธรรมกับสนามกีฬาแบบมีค่าผ่านประตู วัยรุ่นที่ยังขอเงินพ่อแม่อาจไม่สามารถใช้เงินค่าขนมไปกับตั๋วสักใบ

ดังนั้นเมื่อมีฟรีคอนเสิร์ต จึงตอบโจทย์วัยรุ่นไทย ให้แห่กันไปจองที่นั่งกันตั้งแต่เช้าตรู่ หรือกรณีเป็นนักร้องดัง ก็อาจจะต้องเข้าคิวรอจากเช้ามืด ซึ่งวัยรุ่นจะเป็นกลุ่มที่มีอารมณ์ร่วมกับคอนเสิร์ตมาก ร้องตามกันได้ทุกเพลง ชูมือ โบกแขน เต้นโยกตามที่ศิลปินร้องขอ  ดังนั้น 7 คอนเสิร์ต จึงเป็นต้นกำเนิดของความสนุกที่ทำให้คนดูทางบ้านเห็นแล้วก็เพลินไปด้วย สมชื่อ ลานเพลิน

เบิร์ดกับตั๊ก คู่หูพิธีกรได้แก่ ธงไชย แมคอินไตย์ และ มยุรา ธนะบุตร  สองผู้ดำเนินรายการยุคบุกเบิก ซึ่งรับส่งกันได้อย่างลงตัว แถมยังกลายเป็นสัญลักษณ์ของรายการให้คนจำได้ ก่อนที่ ธงไชย จะไปทุ่มให้กับการทำอัลบั้มเดี่ยว มยุราจึงมีโอกาสได้ร่วมงานกับ แซม ยุรนันท์ ภมรมนตรี จนกลายเป็นคู่ขวัญพิธีกรคู่ใหม่

7 คอนเสิร์ต แห่งความทรงจำ

1.ไมโคร ปี พ.ศ.2531 กับช่วงที่ผลงานเพลงของวงได้รับการตอบรับถึงขีดสุด อัลบั้ม หมื่นฟาเรนไฮต์ ซึ่งเก็บเกี่ยวความสำเร็จมาจากชุดแรก “ร็อคเล็ก ๆ” จนขึ้นหม้อ มีฐานแฟนวัยรุ่นชายพันธุ์ร็อกไปทั่วประเทศ  ไมโครแสดงตามต่างจังหวัดในช่วงระยะห่าง 2 ปี จากอัลบั้มที่ 1 จนถึงอัลบั้มที่ 2  ดังนั้นเมื่อกลับมาจัดการแสดงในเมืองหลวง แฟนเพลงที่ตั้งตารอ “ฟรีคอนเสิร์ต” ได้มาจับจองที่นั่งกันตั้งแต่เช้ามืด  และเมื่อเพลง “เอาไปเลย” ซึ่งเป็นเพลงสุดฮิตของอัลบั้มได้คลอขึ้นมา  ผู้คนที่ไม่สามารถเข้ามาชมได้เพราะความจุของลานเพลินไม่เพียงพอ ต่างดันตัวเองให้ผ่านทะลุประตูทางเข้า  จนเกิดเหตุการณ์ “เวทีพัง” และได้กลายเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของ 7 สีคอนเสิร์ต

ไมโคร มีคอนเสิร์ตมากมายในทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะช่วง 3 อัลบั้ม ที่เขาครองใจแฟนเพลงขายเทปเพลงกันเป็นล้านม้วนทุกชุด กระนั้น ก็ไม่มีครั้งไหน ที่จะเหมือนไมโครใน 7 สีคอนเสิร์ต กับวันที่เวทีพัง จนเป็นตำนานเล่าขานกันจนทุกวันนี้

https://youtu.be/JP6hUXDz48Y

  • เจตริน วรรธนะสิน พ.ศ.2534 เมื่อไอคอนเพลงแร็ปแห่งยุค 90’s ออกมาสร้าง “ปรากฏการณ์เจ” ปลุกกระแสวัยรุ่นให้มาคลั่งไคล้งานเพลงกลิ่นแดนซ์กับท่าเต้นแปลกใหม่ เพลงฮิตประสบความสำเร็จถล่มทลายอย่าง “กองไว้” หรือ “ฝากเลี้ยง” และอีกมากมาย ส่งผลให้ยอดขายเทปพุ่งกระฉูด และแน่นอนว่าผู้คนต่างรอคอยคอนเสิร์ตที่ใครก็คาดหวังว่าน่าจะสนุกสุดขีด ด้วยแนวเพลงกับพลพรรคแดนเซอร์ และความเป็นเบอร์ 1 ของศิลปินวัยรุ่นสมัยนั้น

แต่แล้ว บัตรคอนเสิร์ต “รีโมทคอนเสิร์ต ตอนอาการเจ” ทั้ง 2 รอบ ที่จะมีขึ้นในช่วงต้นเดือน สิงหาคม พ.ศ.2534 ถูกขายหมดก่อนกำหนด ทำเอาผู้คนที่คาดหวังจะได้ชมศิลปินคนโปรด ต้องเสียใจเป็นการใหญ่  กระนั้นค่ายเพลงก็เอาใจผู้ผิดหวัง ด้วยการส่งการแสดง “ชิมลาง” ไปที่ลานเพลิน 7 สีแห่งนี้ ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม เพื่อเป็นพรีวิวคอนเสิร์ตใหญ่ไปในตัว

ที่ไหนได้ ผู้คนที่พลาดจากการจองตั๋วคอนเสิร์ต ต่างไปอัดกันอยู่ที่ประตูทางเข้าตั้งแต่รุ่งสาง หมายจะเข้าไปชมศิลปินคนดังให้จงได้ คนดูที่เข้าไปในคอนเสิร์ตนี้ จึงสนุกเต็มที่และลุกขึ้นเต้นตั้งแต่เพลงแรกไปจนจบ เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเห็นในประเทศ เนื่องจากแนวเพลงเต้นรำมันจะต้องอาศัยนักร้องที่เจ๋งพอจะทำให้คนดูมีอารมณ์ร่วม แล้วเจตริน ก็เอาคนดูอยู่หมัด

https://youtu.be/RZMHDVqwWeo

  • Earth Day ครั้งที่ 2 พ.ศ.2535 การแสดงส่งเสริมวันคุ้มครองโลก ซึ่งจัดต่อเนื่องในทุกปี แต่ครั้งที่ 2 นี้ รวมเอานักร้องที่กำลังขึ้นหม้อถึงขีดสุดในปีนั้น มารวมกับ ร้องเพลงและหาเงินให้กองทุนสิ่งแวดล้อม แม้ว่าจะมี Earth Day ครั้งที่ 1 ซึ่งว่า เยี่ยมยอดแล้ว แต่ Earth Day ครั้งที่ 2 จัดในช่วงเวลาที่เหมาะสม และขยายพื้นที่ซึ่งรองรับผู้ชมได้มากกว่า ทีมนักร้องเต็มเหยียดเวที การแสดงที่เริ่มจากกลางวันจนถึงกลางคืน ถ่ายทอดยาว ผู้ชมหลั่งไหลกันไปจับจองที่นั่งและอยู่กันจนจบ ส่งเสียงร้องตะโกน แถมยังไม่แบ่งฝักฝ่าย ร่วมใจกันร้องเพลงของนักร้องทุกคนโดยพร้อมเพรียงกัน เสียงดังสนั่นหวั่นไหว ตั้งแต่เพลงแรก จนถึงเพลงปิดท้าย “โลกสวยด้วยมือเรา” ซึ่งเป็นเพลงหลักของคอนเสิร์ต

นักร้องแห่งปี อย่าง “ใหม่ เจริญปุระ” ผู้ที่ขายเทปไปร่วม 3 ล้านม้วน มีเพลงฮิตทั้งอัลบั้ม , “เจตริน วรรธนะสิน” ที่ดังยาวข้ามปีและมีฐานแฟนเพลงเหนียวแน่น หรือ “คริสติน่า อากีลาร์” ที่สวยเซ็กซี่กว่าใคร และ “วงนูโว” ร่วมเป็นหัวเรือใหญ่  นำทัพพร้อมวงร็อกอย่าง อินคา ที่ขายเทปกันไปเป็นล้านม้วน , ราชาเพลงรัก อย่าง วสันต์ โชติกุล , หนุ่มเสียงหวาน “ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี” เจ้าของเพลง ปาฏิหาริย์อันโด่งดัง , นักร้องสาวแถวหน้า มาช่า วัฒนพานิช และเจ้าชายแห่งวงการมวยที่ผันตัวมาเป็นนักร้องเสียงเหน่อดังคับประเทศ “สามารถ พยัคฆ์อรุณ

แฟนคลับเบียดแน่นและพยายามจะสื่อสารกลับมายังศิลปินที่ตนเองโปรด จนคนแถวหน้าที่อยู่ตรงแผงกั้นถูกเบียด รถพยาบาลต้องวิ่งมารับผู้บาดเจ็บขึ้นรถกันไปหาหมอ แต่ไม่วายคนไข้ที่อาการยังไหว ยืนกรานจะอยู่ต่อจนคอนเสิร์ตจบ สร้างนิยามของคำว่า คอนเสิร์ตแห่งปีไปครอง

https://youtu.be/NFsUX4npYZc

  • ธงไชย แมคอินไตย์ พ.ศ.2537 กลับมาในฐานะศิษย์เก่า ผู้เคยเป็นพิธีกร แม้ พี่เบิร์ด ธงไชย จะมีอัลบั้มฮิตคับฟ้าอย่าง “บูมเมอแรง” และ “พริกขี้หนู” แต่ในยุคที่ 2 อัลบั้มดังกำลังร้อนแรง  คอนเสิร์ตส่วนใหญ่จะถูกจัดในสถานที่ปิดอย่าง ศูนย์วัฒนธรรม หรืออินดอร์สเตเดียม ซึ่งมีการเก็บตั๋วในราคาที่ไม่ถูกเลย เนื่องจากนักร้องกำลังโด่งดังเป็นพลุแตก

อัลบั้ม ธ ธง ซึ่งเป็นอัลบั้มที่มีเพลงเปิดตัวฮิต และเพลงในอัลบั้มที่กลายมาเป็นตำนานหลายเพลง อัลบั้มนี้ออกมาในช่วงที่ ธงไชย แมคอินไตย์ ได้กลายเป็น ศิลปิน อันดับ 1 ของประเทศไทยในสมัยนั้นแบบที่ไม่มีข้อกังขา หรือไม่มีศิลปินคนใดในยุคทัดเทียมความนิยมได้เลย  ดังนั้น  ฟรีคอนเสิร์ต ที่ลานเพลิน 7 สี จึงเป็นการเชื่อมใจแฟนเพลงกลุ่มวัยรุ่นและรากหญ้าที่รอคอยนักร้องคนโปรดมาเปิดการแสดงให้ชมโดยไม่ต้องเสียค่าตั๋ว

แถวหน้า สาวโรงงานและนักเรียนหญิงที่เป็นแฟนคลับพี่เบิร์ด ลางานหรือโดดเรียนพิเศษมาจับจองกันตั้งแต่ ตี 3 จนถึงกับหอบหมอนมานอนรอตรงทางเข้า เพื่อที่จะได้ใกล้ชิดศิลปินอันดับ 1 ของประเทศ แล้ว ธงไชย แมคอินไตย์ ก็ไม่เคยทำให้คนดูทุกระดับผิดหวัง เพลงฮิตถูกขนมาถ่ายทอดให้ทุกคนได้มีความสุขกับวันแห่งความทรงจำอีกวันหนึ่งของรายการนี้

https://youtu.be/TS8dQQEygR0

  • โมเดิร์นด็อก พ.ศ.2538 เมื่อตลาดแนวเพลงอัลเทอร์นาทิฟร็อกเป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย หนึ่งในกลุ่มนักร้องที่โดดเด่นในยุคเริ่มต้น คือวงโมเดิร์นด็อก ผู้ชนะเลิศจากการประกวดเวทีโค้กมิวสิกอวอร์ดเมื่อปี พ.ศ.2535 ได้บ่มเพาะวิชาและสร้างสมชื่อเสียงจากการออกอัลบั้มชุดแรก มีเพลงเอกอย่าง “บุษบา” และ “ก่อน” ซึ่งฮิตระเบิด ในปี พ.ศ.2537 สร้างกระแสความนิยมสำหรับคอเพลงแนวที่ต่างออกไป เสียงลือเสียงเล่าเรื่องการแสดงบนเวทีของพวกเขาเริ่มเข้าหูในยุคที่การบอกต่อยังต้องใช้เวลาสักพัก

แล้วเมื่ออัลบั้มออกมาได้ร่วมปี ความนิยมสะสมจนฟูมฟัก คอนเสิร์ตเดี่ยวครั้งแรกก็มีขึ้นที่ลานเพลินเจ็ดสีในปี พ.ศ.2538  มันสร้างปรากฏการณ์ใหม่อีกครั้ง เมื่อเด็กช่างและเด็กเทคนิคกรูกันเข้าประตูมา หลังจากมารอเข้าคิวตั้งแต่เช้าตรู่ ลานแน่นเอียดไปด้วยฮอร์โมนเพศชาย ความหยาบกร้านและเม็ดเหงื่อพร้อมจะสะบัด

ป๊อด ธนชัย อุชชิน กับเสื้อนักเรียนมัธยมรัดติ้วติดกระดุมคอ และกางเกงขากระบอกใหญ่ตัวหลวมโครก กระโดดโยกย้ายส่ายหัวเกรียนอยู่หน้าเวที ผู้คนก็เกิดอาการบ้าคลั่งยืนและเต้นขย่มตัวตามกันโดยไม่ได้นัดหมาย แม้จะอุดมไปด้วยเด็กช่างกลต่างสถาบัน แต่พวกเขามารวมใจต่อหน้านักร้องวงโปรดและสามัคคีกันสร้างความสนุกในวันแห่งความทรงจำ

https://youtu.be/szdkwFNyYdY

  • โลโซ พ.ศ.2541 เมื่ออัลบั้มชุดแรก “โลโซไซตี้” ของ วงโลโซ พ.ศ.2539 ที่ใครหลายคนคิดว่าดังจนไม่รู้จะดังอย่างไรแล้ว แต่เมื่ออัลบั้มชุดที่ 2 ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ.2541 กลับกลายเป็นว่า อัลบั้มชุดนี้ เป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของวงการเพลงไทย และมีเพลงที่ขึ้นหิ้งอย่าง “ซมซาน” ซึ่งกลายเป็นเพลงฮิตระเบิดประจำปี ไม่รวมเพลงช้า อย่าง “อะไรก็ยอม” หรือ “เลิกแล้วแต่กัน” ก่อนจะตบปิดอัลบั้มด้วยเพลง “แม่” ที่คนยังใช้เปิดในงานเทศกาลจนถึงทุกวันนี้

รอยต่อ 2 ปี จากอัลบั้มที่ 1 จนถึง อัลบั้มที่ 2 นั้น โลโซก็มีคอนเสิร์ตอยู่ไม่น้อย ทั้งตามต่างจังหวัดและงานมหรสพคิวแน่นเหยียด โดยเฉพาะแนวเพลงและเนื้อร้องที่เข้าถึงคนภูธรได้เป็นอย่างดี กระนั้น การกลับมาเปิดฟรีคอนเสิร์ตในช่วงที่กำลังดังสุดขีด ไม่มีอะไรจะยิ่งใหญ่ให้คนกรุงได้ชมไปกว่า 7 สีคอนเสิร์ต นั่นเอง

ช่วงปี 2540 เป็นต้นมา 7 สีคอนเสิร์ตได้ย้ายการแสดงมายัง พระปิ่นเกล้าฮอลล์ เซ็นทรัลพลาซา ปิ่นเกล้า ซึ่งหลายคนออกความเห็นว่าไกล กระนั้นก็ไม่ได้ทำให้ลานการแสดงที่จุคนได้มากมายดูหลวมสายตาลงเลย กลับยิ่งแน่นเบียด แถมเต็มไปด้วยผู้คนชาวฝั่งธนที่มาแวะเวียนดูคอนเสิร์ตอยู่เสมอ ยิ่งเมื่อเป็น โลโซ วงดนตรีร็อกอันดับ 1 ของประเทศในยุคนั้นด้วยแล้ว ความมันจึงบังเกิด

การแสดงใช้เพลงทั้ง 2 อัลบั้ม ซึ่งมีจำนวนเพลงฮิตมากเพียงพอที่จะทำให้คนดูเต้นและร้องตามได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ทำเอานักร้องและนักดนตรีถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ในช่วงที่ผู้คนตะโกนเรียกร้องให้เล่นอีกแม้การแสดงถึงเวลาต้องจบลง กลายเป็นอีกหนึ่งความทรงจำของ 7 สีคอนเสิร์ตที่ยากจะลืม

https://youtu.be/GkLGpsTCVxs

  • แคลช พ.ศ.2546 วงดนตรีร็อกน้องใหม่ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดแห่งยุคมิลเลนเนียม โดยเฉพาะคำวิจารณ์จากนักฟังและสื่อมวลชน ส่วนหนึ่งเพราะมาจากสายประกวด คุณภาพของงานจึงโดดเด่นกว่าวงร็อกรุ่นเดียวกัน แถมอยู่ในมือยักษ์ใหญ่อย่างแกรมมี่ จึงทำให้เพลงแต่เพลงถูกแต่งแต้มจนโดนใจผู้ฟัง

อัลบั้มที่ 2 ในชุด ซาวด์เชก ได้รับความนิยมสูงจากเพลงที่ติดชาร์ตยอดนิยม โดยเฉพาะเพลง “ขอเช็ดน้ำตา” หรือ “เธอจะอยู่กับฉันตลอดไป” และอีกหลายบทเพลง และเมื่อรวมกับเพลงฮิตในอัลบั้มชุดที่ 1  จึงทำให้คอนเสิร์ตของเขาในช่วงเวลานี้ มีเพลงไพเราะถูกใจชาวร็อกวัยรุ่นมากเพียงพอที่จะทำให้คนฟังพร้อมจะกระโดดโลดเต้นตามตั้งแต่ต้นการแสดงไปจนจบ

แบงค์ ปรีติ บารมีอนันต์ นักร้องนำกับการก้าวเข้าสู่ฐานะไอคอนร็อก เป็นขวัญใจของวัยรุ่นชาย และเป็นที่ชื่นชอบของวัยรุ่นหญิง กับเสื้อกล้ามสีดำ ผมทรงยอดแหลมอันเป็นเอกลักษณ์ ได้ร่ายบทเพลงใน 7 สีคอนเสิร์ต ซึ่งได้ย้ายอีกครั้งมาแสดงใน พระราม 2 ฮอลล์ ชั้น 4 ของห้าง เซ็นทรัลพลาซา พระราม 2 ซึ่งนอกจากจะอุดมไปด้วยวัยรุ่นพันธุ์ร็อกแล้ว ยังมีวัยรุ่นแรงงานชาวพม่าที่ชื่นชอบไอดอลของเขา แห่กันเข้ามาชมกันจนเต็มความจุ และเมื่อเพลงช้าคลอมากับดนตรีที่เบาลง เสียงของคนดูก็ร้องตามกันสนั่นฮอลล์ นับเป็นปรากฏการณ์ที่อยู่ในความทรงจำอีกหนึ่งคอนเสิร์ตอันแสนยากจะลืมเลือน

https://youtu.be/v8U9Rnj4sTg

ยังมีอีกหลายการแสดงที่ผู้คนคับแน่น และสร้างความสนุกให้ลานเพลงของ 7 สีคอนเสิร์ต ไม่ว่าจะเป็น การแสดงของนักร้องดังอย่าง ริกกี้ มาร์ติน หรือวงเกาหลีใต้อย่าง BTS ที่ผู้คนเข้าชมจนล้นหลาม  แม้บางครั้งจะมีดราม่าประกาศยุบวงกลางเวทีของนักร้องวง สาว สาว สาว ให้ชวนเศร้าใจอยู่บ้าง

ยุคหลังที่ 7 สีคอนเสิร์ต เน้นนำศิลปินหนังละครเดินสายโชว์ตัวเป็นการทัวร์ตามจังหวัดต่าง ๆ ทำให้เข้าถึงคนต่างจังหวัดมากขึ้น จนกระทั่งเวทีได้อำลาไปในปี พ.ศ.2558  รวมระยะเวลาแห่งการสร้างความสนุกให้คนดูเกือบ 30 ปีเต็ม

ในยุคที่คนดู ยังไม่ยกโทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่ายรูป กดแชร์ หรือให้เวลากับการเช็คอิน  ศิลปินบนเวทีต่างได้รับการสนใจกลับมา เมื่อนักร้องขอให้ชูมือ หรือร้องตาม ไม่เคยได้รับการปฏิเสธ และผู้คนก็มีอารมณ์ร่วมตามพร้อมส่งมอบมันกลับไปศิลปินคนโปรด  ยิ่งพอเป็น 7 สีคอนเสิร์ตแล้วด้วย  นักร้องล้วนแล้วแต่อยู่ในกระแสแห่งความนิยม ผู้ชมจึงไม่อยากที่จะพลาดสิ่งตรงหน้าแม้แต่วินาทีเดียว  ความสนุกแบบนั้น.. แบบวันวาน

หวนคิดถึงความเก่าแก่ที่ถูกเก็บ ก่อนจะเหลือแค่เพียงความทรงจำ..

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0